25 ส.ค. 2020 เวลา 07:30 • อาหาร
#ทำไม!! เกษตรกรรุ่นใหม่ต้องให้ความสำคัญกับ GAP
เพราะ GAP เป็นระบบที่ป้องกันหรือลดความเสี่ยงของอันตรายที่เกิดขึ้นในสินค้าเกษตรและอาหาร และเพราะประเทศไทยเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก แต่ที่ผ่านมาผลผลิตสินค้าเกษตรและอาหารยังไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคเท่าที่ควร เนื่องจากมีสารเคมีตกค้าง มีศัตรูพืชและจุลินทรีย์ปนเปื้อน ทำให้คุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิตไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้า
GAP เป็นแนวทางในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด โดยขบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมีไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุน การผลิตตามมาตรฐาน GAP ก่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเกษตร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
มาตรฐาน GAP เป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมการผลิตสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร ตั้งแต่ ปัจจัยการผลิตการผลิต การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งการผลิต
สำหรับการผลิตสินค้าเกษตร 3 ประเภท ได้แก่
1. พืชผล เช่น ผัก ผลไม้ ชา กาแฟ ฯลฯ
2. ปศุสัตว์ เช่น วัวควาย แกะ หมู ไก่ฯลฯ
3. สัตว์น้ำ เช่น ปลาน้ำจืดประเภท ลำตัวยาวมีเกล็ด ดังเช่น ปลาแซลมอน และปลาเทร้าท์ กุ้ง ปลา สังกะวาด ปลานิล ฯล
สำหรับประโยชน์ของสินค้า GAP
1. มีความรู้และผลิตพืชอย่างมีระบบ ทำให้ลดต้นทุนการผลิต และป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกวิธี
2.ได้ผลผลิตมีคุณภาพปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมี เชื้อโรค และ ศัตรูพืช เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
3.ได้การรับรองระบบการผลิตและผลผลิตเป็นที่ยอมรับ
4. ผลผลิตมีคุณภาพ ผู้บริโภคมั่นใจ
ปลูกพืช GAP...ผลิตผลได้มาตรฐานปลอดภัย ปลอดศัตรูพืช คุณภาพ สอดคล้องความต้องการของตลาด
🌿🌲🌱🌴มารู้จัก GAP 🌾🍁🍉🍊
GAP (Good Agricultural Practice)
หมายถึง ระบบการผลิตที่ถูกต้องในฟาร์ม
# พื้นที่การปลูก
# การดูแลรักษา
# การเก็บเกี่ยว
# การจัดการหลังเก็บเกี่ยว
เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการ มีความปลอดภัยต่อการบริโภค ประเทศไทยได้มีการเริ่มจัดทำระบบ GAP ของแต่ละพืช ตั้งแต่พ.ศ. 2541 โดยเน้นการปฏิบัติตามคู่มือการผลิต สำหรับประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจรับรองระบบการจัดการคุณภาพ : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) โดยได้กำหนดข้อกำหนด กฎเกณฑ์และวิธีการตรวจประเมิน ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่สอดคล้องกับ GAP ตามหลักการสากล เพื่อใช้เป็นมาตรฐานการผลิตพืชในระดับฟาร์มของประเทศ รวมทั้งได้จัดทำคู่มือการเพาะปลูกพืชตามหลัก GAP สำหรับพืชที่สำคัญของไทยจำนวน 24 ชนิด ประกอบด้วย ผลไม้ ทุเรียน ลำไย กล้วยไม้ สับปะรด ส้มโอ มะม่วง และส้มเขียวหวาน พืช ผัก มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง ผักคะน้า หอมหัวใหญ่ กะหล่ำปลี พริก ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ผักกาดขาวปลี ข้าวโพดฝักอ่อน หัวหอมปลี และหัวหอมแบ่ง ไม้ดอก กล้วยไม้ตัดดอก และปทุมมา พืชอื่นๆ กาแฟโรบัสต้า มันสำปะหลัง และยางพารา
ข้อกำหนดของ GAP เกษตรดีที่เหมาะสม 8 ประการดังนี้
1. การจัดการดินที่ดี มีการรักษา และปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ โดยวิธีการเพิ่มอินทรีย์วัตถุลงในดิน เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก การปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกพืชคลุมดินเพื่อลดการชะล้างหน้าดินเมื่อฝนตก มีการปรับความเป็นกรดด่างของดิน เลือกชนิดปุ๋ยเคมีตามปริมาณ ตามระยะที่พืชต้องการในตำแหน่งที่พืชจะใช้ประโยชน์ได้ง่าย และรวดเร็ว ระวังการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในปริมาณสูงเกินไป จนเกิดปัญหาการปนเปื้อนในรูปของไนเตรตและฟอสเฟต มีการใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานกันระหว่างปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีตรงกับระยะเวลา และอัตราที่เหมาะสมของพืชแต่ละชนิด
2. การจัดการน้ำ เลือกใช้ระบบการให้น้ำมีประสิทธิภาพสูง คุ้มค่ากับการลงทุน ให้น้ำตามปริมาณและเวลาที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด และหลีกเลี่ยงน้ำที่ก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนกับผลผลิต
3. การผลิต คัดเลือกสายพันธุ์พืชที่ต้านทานโรคและแมลงศัตรู การจัดระยะปลูก อย่างเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดของศัตรูพืช จัดลำดับการปลูกพืชในแปลงปลูกให้มีความหลากหลายที่เกื้อกูลประโยชน์ต่อกัน เช่น ปลูกพืชตระกูลถั่ว เพื่อเพิ่มธาตุไนโตรเจนที่ได้จากไรโซเดียมในปมรากถั่ว มีการทำระบบเกษตรผสมผสานพืช สัตว์ และปลา ปฏิบัติตามกฎระเบียบของความปลอดภัยที่รัฐกำหนดไว้
4. การป้องกันกำจัดศัตรูพืช มีการตรวจสอบและพยากรณ์ช่วงการระบาดของโรคและแมลงอย่างสม่ำเสมอและ วิธีการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสานมาใช้ ให้มีประสิทธิภาพปลอดภัย และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เมื่อมีการระบาดในระดับไม่รุนแรง ก็อาจจะกำจัดโดยวิธีเผาทำลาย เมื่อพบการระบาดในระดับหนึ่งอาจจะมีการควบคุมด้วยชีววิธี เช่น ใช้ตัวห้ำ ตัวเบียฬ ไส้เดือนฝอย เป็นต้น แต่เมื่อมีการระบาดถึงระดับที่ทำความเสียหายรุนแรงก็อาจจะต้องมีการใช้สิ่ง ทดแทนสารเคมีที่ปลอดภัยกว่า เช่น สารสกัดจากสะเดา เชื้อจุลินทรีย์ เชื้อไวรัส NPV เป็นต้น ถ้าใช้สารเคมีดูที่มีการขึ้นทะเบียนมีฉลากระบุวิธีการใช้และข้อระวังอย่างชัดเจน ปฏิบัติตามฉลากอย่างเคร่งครัด เก็บรักษาสารเคมีก่อน - หลังนำมาใช้ในสถานที่ห่างไกลจากเด็กและสัตว์เลี้ยง
5. การเก็บเกี่ยวและการแปรรูปในระดับไร่นา เก็บเกี่ยวผลผลิตในเวลาที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ให้มีผลตกค้างของสารเคมีในระดับที่เป็นอันตราย มีการล้างทำความสะอาดผลผลิต มีการเก็บรักษาผลผลิตในแหล่งที่สะอาดถูกสุขลักษณะและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม บรรจุผลผลิตในภาชนะที่สะอาดก่อนการขนส่งไปยังแหล่งจำหน่าย
6. การจัดการพลังงานและของเสียจากไร่นา จัดหาและใช้พลังงานไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหรือถ่านที่ใช้เป็นแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสมและเพียงพอ มีการบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรตามกำหนดเวลา มีการเก็บปุ๋ยและสารเคมีการเกษตรในที่มิดชิดปลอดภัยจากเด็กและสัตว์เลี้ยง
7. สวัสดิภาพ สุขภาพและความปลอดภัยของเกษตรกรหรือผู้ปฏิบัติ การผลิตสินค้าเกษตรต้องมีรายได้พอเพียงกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตมีความปลอดภัยและมีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ รัฐต้องเป็นผู้ให้ความรู้ในการใช้เครื่องมือหรือเครื่องจักรอย่างถูกวิธี นายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนเหมาะสมให้กับลูกจ้าง
8. ไม่ทำลายพันธุ์สัตว์ พันธุ์พืชป่า มีการกำจัดวัชพืชอย่างเหมาะสม มีการใช้สารเคมีอย่างระมัดระวัง มีการจัดการน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำไม่ให้มีสารพิษปนเปื้อน อันจะเกิดอันตรายกับสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์
สุดท้ายจะต้องมีการ บันทึกข้อมูลการปฏิบัติการ ในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ หากเกิดข้อผิดพลาดบกพร่อง จะสามารถจัดการแก้ไขหรือปรับปรุงได้อย่างทันท่วงที
🌿👉👉สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช โทร : 02-5792665 02-5796425-7 ต่อ 1221-2 โทรสาร : 02-5792531 E-Mail : gap1812@hotmail.com ฐานข้อมูลออนไลน์ gap.doa.go.th
1
โฆษณา