26 ส.ค. 2020 เวลา 11:00 • กีฬา
ผิดตรงไหนที่ฉันอยากใส่เสื้อบอล?
#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย
กลายเป็นประเด็นร้อนที่อยู่ๆก็โผล่ขึ้นมาท่ามกลางความโกลาหลบนโลกสังคมออนไลน์เมื่อช่วงบ่ายวานนี้หลังมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งดันทวีตข้อความเรียกทัวร์ว่าการใส่เสื้อฟุตบอลออกไปเดินข้างนอกนั้นมันเป็นเรื่องที่ไม่สมควร แถมยังมีการอธิบายขยายความเข้าไปอีกด้วยว่า “เสื้อบอลไม่ใช่แฟชั่นและบุรุษเพศนั้นควรใส่เสื้อเชิ๊ตออกนอกบ้านถึงจะหล่อ”
“โอ้ว!” คือคำอุทานแรกๆที่ออกจากปากผู้เขียนทันทีที่มีคนส่งข่าวมาให้ลองอ่าน แล้วก็ตามด้วย “หรอ...?” เมื่อผมอ่านจนจบเรียบร้อยจนถึงคำสุดท้าย ผมคิดว่าการวิจาร์ณเป็นสิทธิส่วนบุคคลนะแต่เรื่องของ “รสนิยม” และแฟชั่นมันก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลด้วยเหมือนกันและการจะฟันธงว่าต้องใส่แบบไหนออกไปเดินนอกบ้านถึงจะดูดีราศีจับนั้น “เอาอะไรมาเป็นตัววัด?”
ไม่ขอพูดถึงเรื่องความเหมาะสมแบบ “แต่งกายให้ถูกต้องตามกาลเทศะ” เพราะเชื่อว่าหลายท่านในที่นี้ย่อมรู้กันดีอยู่แล้ว และคงไม่มีใครบ้าใส่เสื้อฟุตบอลไปงานศพหรือใส่เสื้อบอลออกไปเดินเฉิดฉายในเวลาทำงานภายในบริษัททั้งๆที่ก็รู้ดีอยู่แล้วว่าที่นั่นมีระเบียบ-ข้อบังคับในด้านการแต่งกาย
และหากจะกล่าวหาว่าการสวมใส่เสื้อบอลทำให้คนใส่ไร้เสน่ห์-ดูไม่กิ๊บเก๋ยูเรก้าเมื่อเทียบกับเสื้อเชิ๊ตอาจเป็นคำกล่าวที่ไม่ค่อยจะถูกต้องซักทีเดียวนัก เพราะในโลกปัจจุบันบรรดาแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของโลกมากมายต่างก็พาเหรดขอจองคิวเป็นสปอร์นเซอร์ใหญ่ให้บรรดาสโมสรต่างๆในยุโรป
หลุยส์ วิตตอง กับ เอซี มิลาน, วิคตอเรีย ซีเคร็ท กับ เอเอส โมนาโก, มิสเตอร์ เลดี้ กับ เอฟซี เนิร์นแบร์ก หรือแม้แต่คอลเลคชั่นที่พึ่งผ่านพ้นไปของแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของโลกอย่างบาเลนเซียกาในชุด AW20 การออกแบบก็ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากกีฬาฟุตบอลล้วนๆ พูดง่ายๆเสื้อบอลที่ใครบางคนบอกว่าใส่แล้วดูโลว์และไม่เหมาะที่จะออกไปเดินเฉดฉายนอกบ้านนั้น บรรดาแบรนด์ชั้นนำระดับไฮเอ็นด์กลับเห็นต่าง!
ยิ่งถ้าลงลึกถึงรายละเอียดในด้านของคุณค่า, มูลค่าและความมีเสน่ห์ ผมคิดว่าเสื้อบอลนี่แหละที่มีครบทั้งสามองค์ประกอบที่ว่า
มีให้เห็นกันมาแล้วตั้งไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งตามหน้าเว็ปต่างๆที่มีคนออกมาตามหาเสื้อบอลเก่าเก็บหรือเป็นคอลเล็คชั่นพิเศษที่ออกมาเพื่อกิจกรรมบางอย่างโดยเฉพาะ (รุ่นพิเศษที่ผลิตเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษบางอย่างเช่นครบรอบสโมสร, ฉลองแชมป์ หรือแม้แต่เพื่อระลึกถึงบุคคลอันมีคุณูปการ ณ เวลานั้น) ราคาที่สนนกันเด้งไปจนอาจทำให้ใครบางคนแทบนึกไม่ถึง
ดูอย่างเสื้อทีมชาติบราซิลเบอร์ 10 ที่เปเล่ใส่พาทีมได้แชมป์โลกปี 1970 สิ ราคาประมูลถูกบิดไปปิดที่ 225,109 เหรียญ(ตีเป็นเงินไทยคร่าวๆก็ปาเข้าไปตั้งเจ็ดล้านกว่าบาท)
แม้แต่เสื้อทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์โลกปี 1966 ก็ยังเคยมีคนให้ราคาสูงถึง £91,750 (คูณ 40 เล่นๆยังเห็นถึงเกือบสี่ล้าน) พูดง่ายๆราคาพุ่งทะยานไปเป็นหมื่นเท่าตัวชนิดที่แย่งกันซื้อ มีเท่าไหร่ก็หมด
ยิ่งไปกว่านั้นธุรกิจเสื้อบอลในยุคนี้ดูจะกลายเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ยอดขายของเสื้อบอลที่จัดจำหน่ายโดยสโมสรต่างๆกลายเป็นรายได้หลักเข้าสโมสร แม้แต่บรรดาห้างร้านที่เปิดกิจการขายเสื้อบอลแบบแนวย้อนยุคหรือรีโทรสไตล์ยังผุดขึ้นมาใหม่มากมายอย่างกะดอกเห็ดสะท้อนให้เห็นว่ารสนิยมหรือเทรนการใส่เสื้อฟุตบอลในยุคปัจจุบันมันไม่ได้เอ้าท์เหมือนอย่างที่ใครบางคนคิด
และคงจะเป็นเรื่องที่แปลกและชวนขบขันถ้าใครจะป้ายว่าการใส่เสื้อบอลออกนอกบ้านเป็นการแต่งกายที่ไม่ควรทำเพราะใส่แล้วดูน่าเกียจแถมยังสะท้อนให้เห็นรสนิยมของคนใส่ในด้านความเข้าใจแฟชั่นที่อ่อนด้อย
“It’s not about design. It’s about feelings.” (แปลเป็นไทยคือ “มันไม่เกี่ยวนักหรอกกับการออกแบบดีไซน์ หากแต่เป็นความรู้สึกต่างหากที่ทำให้คุณอยากสวมใส่”) คำกล่าวของ Alber Elbaz ดีไซเนอร์ชื่อดัง อดีตครีเอเตอร์แบรนด์แฟชั่นชั้นนำของโลกอย่าง “Lanvin (Paris)” แถมยังเป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกายให้ดาราระดับฮอลลีวูดมากมายอย่างนิโคล คิดแมน, เคต มอส, โคลอี เซเวอนี และโซเฟีย คอปโปลา
การที่เราเห็นใครบางคนใส่เสื้อบาเยิร์น มิวนิคเดินตามห้างอาจไม่ใช่เพราะเขาไม่มีเสื้อตัวอื่นในตู้ให้เลือกใส่ หากแต่เป็นความภูมิใจในฐานะของแฟนบอลเสือใต้ ทีมที่พึ่งคว้าสามแชมป์มาได้หมาดๆต่างหาก
เฉกเช่นเดียวกับแฟนบอลไทยหลายคนที่สวมใส่เสื้อทีมชาติไทยเดินจับจ่ายใช้สอยในห้างร้านและใช้ชีวิตประจำวันภายใต้เสื้อตัวนั้น ไม่ใช่เพราะเขายากจนหรือเป็นคนไร้รสนิยมในการเลือกเครื่องแต่งกาย หากแต่สิ่งที่เขาเหล่านั้นพยายามจะสื่อให้เราได้เห็นคือ “เขาคือคนไทยและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติ” ต่างหาก
เสื้อบอลไม่ใช่แพะ! และหากการใส่เสื้อเชิ้ตจะทำให้ดูดี, ดูเท่และถูกยกให้เป็นผู้นำด้านแฟชั่น ผมคนนึงล่ะที่ขอเลือกที่จะไม่เท่และยอมเป็นผู้ตาม เพราะ “เท่แบบขัดใจ มันสู้อินเนอร์ที่อยู่ข้างในเมื่อได้สวมใส่เสื้อบอลไม่ได้!”
โฆษณา