26 ส.ค. 2020 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
KAMU ร้านชาสัญชาติไทย ที่รายได้โตระเบิดถึง 163%
รู้ไหมว่า เชนร้านชาที่กำลังได้รับความนิยม จนมีลูกค้าต่อคิวยาวเหยียดในบางสาขาอย่าง “KAMU”
ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าเป็นแฟรนไชส์นำเข้าจากต่างประเทศ
แต่จริงๆ แล้ว ผู้ก่อตั้งและเจ้าของแฟรนไชส์ KAMU เป็นคนไทย..
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2554
คุณทินกฤต สินทัตตโสภณ ซึ่งอดีตเคยทำงานเป็นวิศวกรไอทีดูแลเรื่องพัฒนาเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ที่สหรัฐฯ นานกว่า 5 ปี
ได้ตัดสินใจลาออกจากงานที่มั่นคง รายได้สูง และบินมาที่เมืองไทย
เพื่อเปิดร้านชาตาม Passion ของตัวเองที่หลงใหลการดื่มชามาตั้งแต่เด็กๆ
โดยใช้เงินเก็บของตัวเองหลักล้านบาทมาลงทุนเปิดร้าน
“ผมอยากมีธุรกิจส่วนตัว อยากเปิดร้านขายชาที่มีเมนูหลากหลาย
ส่วนตัวชอบดื่มชาเขียวมัตฉะของประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับได้สูตรชานมจากญาติที่อยู่ไต้หวัน
เลยเห็นโอกาสเปิดร้านชานมไข่มุกที่ไทย” คุณทินกฤต กล่าว
 
ซึ่งช่วงแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ ก็ลองผิดลองถูกหลายอย่าง
มีการปรับสูตร ปรับรสชาติเครื่องดื่มกว่า 6 เดือน เพื่อให้ได้เมนูที่คิดว่าดีที่สุด
โดยเขาเปิดร้าน KAMU สาขาแรกที่อาคารอินเตอร์เชนจ์ 21 อโศก และมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ “พนักงานออฟฟิศ”
ทั้งนี้ KAMU เป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งแปลว่า เคี้ยวหรือกัด
ดังนั้นคอนเซ็ปต์ของแบรนด์คือการเป็น "ชาที่เคี้ยวได้" นั่นเอง
คุณทินกฤต กล่าวว่า ตอนนั้นเปิดสาขาแรกได้ไม่นาน ปรากฏว่าขายดีมาก เลยต้องขยายสาขาอื่นๆ เพิ่ม โดยจะเน้นทำเลตามสำนักงานออฟฟิศเป็นหลัก
เพราะว่าในปี พ.ศ. 2554 - 2556 เป็นช่วงที่เกิดกระแส “ชานมไข่มุก” ขึ้นที่ไทย
KAMU เลยได้รับอานิสงส์ตรงนี้ไปด้วย
อย่างไรก็ดี 2 ปีถัดมา กระแสชานมไข่มุกก็เงียบไป..
และเกิดกระแส “กาแฟสด” เข้ามาแทนที่
แต่ถึงตลาดจะไม่เอื้ออำนวย KAMU ก็ยังเลือกเดินหน้าขยายสาขาต่อ
โดยกำหนดกลยุทธ์ คือ ต้องเพิ่มความหลากหลายของเมนูชาให้มากขึ้น
รวมถึงขยายตลาดไปสู่ “กลุ่มวัยรุ่น” มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะวัยทำงานอย่างเดียว เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขาย
และมีการปรับโฉมร้านใหม่ เพื่อให้หน้าร้านเป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาดเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของแบรนด์
ไปสู่ผู้บริโภคทั้ง พนักงานออฟฟิศ และกลุ่มวัยรุ่น
นอกจากนี้ KAMU ยังแทบไม่ได้ทุ่มซื้อโฆษณาเลย แต่ใช้การตลาดแบบ “ปากต่อปาก” ของลูกค้าที่ประทับใจในเครื่องดื่มในการโฆษณาให้แบรนด์แทน
ทั้งนี้ อย่างที่รู้กันเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็เหมือนมีการฉายหนังซ้ำ
เพราะตลาดชานมไข่มุกได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง จากกระแสชานมฟีเวอร์ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เช่น ไต้หวันและฮ่องกง
ซึ่งกระแสชานมนิยมครั้งนี้ ก็ได้ดึงดูดคู่แข่งหน้าใหม่ๆ จำนวนมากให้เข้ามาร่วมวงเกาะเทรนด์นี้ด้วย
จนตลาดกลายเป็นทะเลเลือดที่มีไข่มุกเป็นหน้าท็อปปิง
1
เพื่อให้รอดชีวิตจากสงครามไข่มุกนี้ KAMU จึงได้กำหนดกลยุทธ์เพื่อสร้างความแตกให้แบรนด์
ไม่ว่าจะเป็น การออกเมนูใหม่ๆ เฉลี่ยเดือนละ 1 เมนู
การทำแพ็กเกจจิงให้สวย เพื่อให้ลูกค้าถ่ายรูปได้
หรือใช้พลังของโซเชียลมีเดีย ในการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ สื่อสารกับผู้บริโภค และทำโปรโมชัน เป็นต้น
1
ด้วยกลยุทธ์ที่กล่าวมา บวกกับคุณภาพและรสชาติของเครื่องดื่ม
ทำให้ KAMU เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค และมียอดขายเติบโตท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด
บริษัท คามุ คามุ จำกัด
ปี 2560 มีรายได้ 67 ล้านบาท ขาดทุน 6 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 154 ล้านบาท กำไร 21 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 405 ล้านบาท กำไร 69 ล้านบาท
โดยปี 2562 รายได้เติบโตจากปีก่อนหน้า 163% และกำไรเติบโตถึง 224%..
ปัจจุบัน KAMU มีเมนูเครื่องดื่มมากกว่า 40 เมนู เช่น นมสด น้ำตาลไหม้ ไข่มุกนุ่ม, ชาชีส, ชาเขียวมัตฉะชีส, ไมโลโรงเรียน, พรีเมียมมัตฉะนม, ดาร์ก โกโก้
โดยเมนูของ KAMU จะโฟกัสความเป็นธรรมชาติ
อย่างวัตถุดิบ เช่น ชาเขียวมัตฉะ และชาเขียวโฮจิฉะ ก็มีการนำเข้าจากเมืองชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น
ส่วน "ไข่มุก" ที่เป็นท็อปปิงสุดฮิตของทางร้าน
เกิดจากการนำมาเคี่ยวกับน้ำตาลทรายแดง ต้มในอุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 2 ชั่วโมง
จนได้ไข่มุกที่สุกนุ่มกำลังดี และรสชาติไม่จืดชืด
และ KAMU มีร้านกว่า 100 สาขา ซึ่งแบ่งเป็นในประเทศ 80 สาขา
และต่างประเทศ 20 สาขา อาทิ อินโดนีเซีย, กัมพูชา, ลาว
ซึ่งกระจายตามตึกออฟฟิศ, ห้างสรรพสินค้า, แหล่งวัยรุ่น และคีออส
โดย KAMU มีการใช้โมเดลแฟรนไชส์ในการช่วยขยายสาขา
สำหรับคนที่สนใจธุรกิจ เฉพาะค่าสิทธิ์แฟรนไชส์เริ่มต้น 1.5 ล้านบาท
และคิดเป็นเงินลงทุนทั้งหมดในปีแรกราวๆ 2 - 2.5 ล้านบาทต่อสาขา
1
เรื่องความท้าทายที่ KAMU กำลังเผชิญในตอนนี้ มี 2 เรื่องหลักๆ คือ
เรื่องแรก ปีนี้เทรนด์กระแสนิยมบริโภคชานมในเมืองไทย อาจร้อนแรงน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ
 
ซึ่งคุณทินกฤตก็มองว่า ปี 2563 อาจเป็นช่วงขาลงของธุรกิจชานมไข่มุก
เขาจึงตัดสินใจชะลอการขยายสาขาในประเทศไทย และจะเน้นขยายธุรกิจในต่างประเทศแทน
โดยปีนี้จะเริ่มไปตีตลาดที่ประเทศมาเลเซีย
เรื่องต่อมาคือ COVID-19
ที่ได้แช่แข็งกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้หยุดชะงัก จนเกือบทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า
KAMU เองก็ต้องปิดหน้าร้านสาขาบางส่วนไปชั่วคราว ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า
ถึงแม้จะมียอดคำสั่งซื้อเครื่องดื่มผ่านแอปฟู้ดดิลิเวอรี มาช่วยพยุงธุรกิจบ้างก็ตาม
แต่ยอดขายในส่วนนี้ก็ชดเชยในส่วนของหน้าร้านไม่ได้มากนัก
ดังนั้น หลังจากที่รัฐได้คลายมาตรการล็อกดาวน์ ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติกันมากขึ้น
และ KAMU เองก็ทยอยกลับมาเปิดร้านอีกครั้ง
ธุรกิจก็น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีสาวกจำนวนไม่น้อยที่ยังชื่นชอบรสชาติชาของ KAMU อยู่ และพร้อมอุดหนุน
สังเกตได้จากเวลาเดินผ่านหน้าร้าน KAMU บางสาขา
เราก็จะเห็น ผู้คนกำลังต่อคิวยาวเหยียด เพื่อรอซื้อเครื่องดื่ม..
 
อ้างอิง :
โฆษณา