26 ส.ค. 2020 เวลา 11:40 • ประวัติศาสตร์
การไหว้แบบมลายู
Menjunjung Kasih Tuanku พลางยกมือพนมไหว้ของผู้ประกาศข่าวช่องสาม มาเลเซีย กล่าวถวายพระพรเนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
1
สร้างกระแสฮือฮาในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก อันเนื่องจากน้อยครั้งมากที่จะมีการนำเอาวัฒนธรรมการไหว้มาใช้ในการเปิดรายการทางสื่อมีเดีย อนึ่งมีการแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันที่จะรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวมลายูที่มีมาแต่อดีต โดยที่ไม่ขัดแย้งกับหลักการศาสนาอิสลามแต่ประการใด
เมื่อนึกถึงการไหว้ ส่วนใหญ่จะนึกถึงขนมธรรมเนียมของชาวบูชารูปเคารพ โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชน และชาวพราห์มฮินดู ทว่าเมื่อสืบประวัติของวัฒนธรรมการไหว้แล้ว จะเป็นวัฒนธรรมการแสดงเชิงสัญลักษณ์เพื่อการเคารพของชาวเอเชีย หมายรวมไปถึงที่อื่นๆ ทั่วโลกที่ไม่ใช่วัฒนธรรมที่ติดมากับสายเลือด เช่นชาวฝรั่งตะวันตก แต่มักจะเห็นการพนมมือไหว้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงการขอโทษ เป็นต้น
ซึ่งถือเอาการแสดงออกทางอารมณ์ด้วยการใช้อวัยวะของร่างกายออกมาให้อีกฝ่ายได้เห็นถึง นั่นคือมือ
การไหว้ในภาษามลายู - ชวา เรียกว่า Sembah อ่านว่า ซึมบัฮ (สำเนียงปาตานีออกเสียงว่า ซือเมาะฮฺ และ สมาแย ) มีความหมายถึงการพนมมือไหว้แบบอย่างไทย ลาว เขมร พม่า ซึ่งคำว่าซึมบัฮ ถูกนำมาใช้ในการเรียกถึงการกราบไหว้อัลลอฮฺ หรือ ละหมาด หลังจากศาสนาอิสลามถูกนำมาเผยแผ่ในคาบสมุทรมลายู เรียกว่า Sembahyang อ่านว่า ซึมบัฮยัง อันให้ความหมายตามตัวคือ การกราบไหว้เทพเจ้าหรือทุกสรรพสิ่ง เนื่องด้วยสมัยแรกเริ่มของการเผยแผ่อิสลาม ยังไม่มีการนำเอาคำว่า ซอลาฮ ที่แปลว่าละหมาดในภาษาอาหรับมาใช้
เมื่อคำดั้งเดิมของพราห์มฮินนำมาใช้ จึงถูกเรียกเช่นนี้เสมอมา และเป็นเสมือนการบัญญัติความหมายตายตัวในหมู่ชาวมลายูมุสลิมว่าหมายถึง การละหมาดไปโดยปริยาย เฉกเช่นเดียวกับคำว่า ละหมาด ซึ่งมีรากศัพย์มาจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า นมาซ หรือนมัสการ ซึ่งให้ความหมายว่าเป็นการเคารพบูชาเทพเจ้า
ทว่าคำว่า ซึมบัฮยัง นั้น ในบางวัฒนธรรม เช่น บาหลี จะมีความหมายถึงการบูชาเทพเจ้าฮินดู หรือในกลุ่มชาวคริสต์ จะหมายถึงการบูชาพระเยซูหรือพระเจ้าด้วย
ในทีนี้ จะพูดถึงการซึมบัฮ ที่เป็นการไหว้ ในรูปแบบการแสดงความเคารพนับถือ (Lambang kehormatan) หรืออาจจะเป็นการทักทายกันโดยปกติธรรมดาในโลกมลายูบางส่วน โดยมากในปัจจุบัน ในมาเลเซีย บรูไนและอินโดนีเซีย การไหว้จะใช้สำหรับสุลต่านหรือเชื้อพระวงศ์เท่านั้น ส่วนการทักทายโดยทั่วไปจะใช้การจับมือสลามกันแบบมุสลิมปกติ
การไหว้องค์สุลต่านหรือเชื้อพระวงศ์ ภาษามลายูเรียกว่า เมองังกัต ซึมบัฮ (Mengangkat Sembah) หรือการไหว้แบบยกมือสูงๆ เพื่อแสดงความเคารพ (ตามภาพ)
สำหรับการไหว้องค์สุลต่านหรือพระราชาธิบดี นิ้วโป้งอยู่เหนือคิ้ว การไหว้พระราชวงศ์ผู้ใหญ่ นิ้วโป้งอยู่หว่างคิ้ว การไหว้พระราชวงศ์ผู้น้อย นิ้วโป้งอยู่ที่จมูก เมื่อต้องทำความเคารพต่อสุลต่าน จะต้องพนมมือยกเหนือคิ้ว มือตรงไม่เอียง ในบางกรณีเช่นการรับเสด็จฯ ไหว้เสร็จแล้วจะต้องทำการจูบพระหัตถ์ด้วย
ในอดีตการไหว้แบเมองังกัตนั้น อาจจะต้องทำการคุกเข่าทั้ง 2 ข้าง หรือทำการคุกเข่าข้างหนึ่ง แล้วทำการไหว้ (ตามภาพ) แต่ปัจจุบันจะนิยมยืนแล้วไหว้มากกว่า เพื่อลบความสุ่มเสี่ยงในเรื่องหลักการศาสนา
อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมมลายูไม่มีการกราบพระบาท เพราะเป็นท่าเดียวกับการสุญูดหรือกราบ ซึ่งในศาสนาอิสลาม ท่านี้ได้สงวนไว้เฉพาะกับองค์อัลลอฮ์เท่านั้น
ปัจจุบัน ในหลายๆ รัฐของมาเลเซียที่มีสุลต่านหรือราชาปกครองอยู่ ก็นิยมเคารพด้วยวิธินี้ เพื่อแสดงความเคารพต่อองค์สุลต่านหรือพระบรมวงศานุวงศ์
ยกเว้นในบางรัฐ ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงประเพณีไปนานแล้ว เช่น รัฐญะโฮร์ ที่ได้เปลี่ยนการเคารพมาเป็นการคำนับหรือการจูบพระหัตถ์แทนการไหว้ซึมบัฮ ส่วนในยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดฯ ยังคงมีการนิยมไหว้สุลต่านอยู่ โดยยังมีการคุกเข่าไหว้เพื่อทำความเคารพต่อองค์สุลต่านแห่งยอกยาการ์ตากันอยู่เหมือนในยุคก่อน
สำหรับทัศนะของอิสลามนั้น โดยปกติถือว่าเป็นเรื่องที่อนุโลมได้เพราะถือเป็นการแสดงความเคารพที่ไม่เหนือพระเจ้ามากนัก จึงไม่ได้มีการพูดถึงใดๆ
อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของอิสลามสายเคร่ง มองว่าการไหว้ เป็นวัฒนธรรมยุคเก่าของฮินดู เป็นการแสดงความเคารพที่มาจากศาสนาอื่น จึงเป็นฮารอม
โดยปกติ การแสดงความเคารพของชาวมลายูนั้น จะนิยมทำการสลามกันตามวิถีทางของมุสลิมโดยทั่วไป คือการแตะมือกันหรือมือแตะอกเพื่อทักทาย
ส่วนวัฒนธรรมชวา เนื่องจากยังมีอิทธิพลฮินดูอยู่มาก จึงยังทำการไหว้แบบวัฒนธรรมโบราณได้ ยกเว้นพวกซันตรี (Santri) ที่นิยมทักทายแบบอิสลาม
ปล.เดิมมลายู หรือ คาบสมุทรมลายูนั้นนับถือฮินดู อิสลามเข้ามาภายหลัง วัฒนธรรมจึงผสมผสานกันทั้ง ฮินดู พุทธ อิสลาม และจีน (พหุวัฒนธรรม) ประเพณีบางอย่างยังคงได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู เช่น ความเชื่อเรื่องกริซ บูชากริซ และการแห่นก ตลอดจนพระราชพิธีต่างๆในราชวงศ์ล้วนได้รับจากฮินดู เป็นต้น
ธีรยุทธ ณ อรุโณทัย, 070763, NegeriRahman
CR : Tuan Ameen
โฆษณา