26 ส.ค. 2020 เวลา 23:16 • การเกษตร
เรื่องเล่าเกี่ยวกับ “ปลานิล”
ประวัติของ “ปลานิล” หรือชื่อภาษาอังกฤษ Nile Tilapia (ต้นกำเนิดเดิมมาจากทวีปแอฟริกาแถวลุ่มแม่น้ำไนล์) ที่ชาวบ้านนิยมรับประทานกันแพร่หลายในประเทศไทยนั้น คนไทยน้อยคนที่จะรู้จักประวัติที่มาของปลานิลในไทย
ผมได้รับมอบหมายให้ไปช่วยควบคุมกำกับดูแลการถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับปลานิล เรื่อง Vivit ของสถานี Tokyo Broadcasting System (TBS) เลยได้เกร็ดข้อมูลมาเล่าให้เพื่อนๆฟัง
ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ.2508 มกุฏราชกุมารอากิฮิโต (พระยศในขณะนั้น) ได้ทูลเกล้าฯถวายปลานิลจำนวน 50 ตัว ให้แก่ ในหลวง ร.9 โดยในหลวง ร.9 ได้ทรงนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธ์ุในบ่อน้ำโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาเป็นที่แรก
1
ในหลวง ร.9 ได้ทรงเล็งเห็นว่า ปลานิล คือปลาที่เลี้ยงง่าย เนื้อเยอะ สามารถเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกให้กับคนไทยได้ดี จึงได้มีการเพาะเลี้ยงขยายพันธ์ออกไป จนปัจจุบันคนไทยเรามีปลานิลทานกันมาเป็นเวลามากกว่า 50 ปีแล้ว
และจากปลานิล 50 ตัวแรกก็กลายเป็นปลานิลหลายร้อยหลายพันล้านตัว รวมทั้งที่กลายเป็นปลาทับทิม ให้คนไทยได้ทาน ได้เป็นอาชีพค้าขาย สร้างเนื้อสร้างตัวกันมาได้จนถึงทุกวันนี้
สถานี TBS ได้ตั้งใจมาถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับปลานิลเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิอากิฮิโต (ที่จะทรงประกาศสละราชสมบัติในวันที่ 4 เม.ย.ศกนี้ โดยมกุฏราชกุมารนารุฮิโต จะทรงขึ้นครองราชย์แทน) รวมทั้งเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.9 ด้วย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างสองราชวงศ์ไทย-ญี่ปุ่น
ทางคณะถ่ายทำได้ไปถ่ายทำที่ รร.วัดพลอยกระจ่างศรี นครนายก ที่เป็น รร.ตัวอย่างในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่มีการเพาะเลี้ยงปลานิลเอามาประกอบอาหารเลี้ยงนักเรียน รวมทั้งแปรรูปเป็นสินค้าออกขายด้วย
ทางคณะได้ไปถ่ายทำที่ศูนย์เพาะเลี้ยงของ ทร. ที่นครนายก และสถานีวิจัยประมงกำแพงแสน มก.วิทยาเขตนครปฐมด้วย
นอกจากนี้คณะฯก็ได้ตระเวนถ่ายทำตามตลาดต่างๆที่มีการขายปลานิล รวมทั้งไปสัมภาษณ์ผู้ที่สั่งปลานิลเป็นอาหารตามร้านอาหารต่างๆด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อทางคณะฯ TBS สัมภาษณ์คนไทยที่ทานปลานิล ปรากฏว่าส่วนใหญ่ไม่ทราบประวัติของปลานิลเลย
เมื่อถามว่าทำไมถึงเรียกว่าปลานิล ส่วนใหญ่ก็ตอบว่าเป็นเพราะสีดำมั้งเลยเรียกว่า นิล
ผมเองเท่าที่รับรู้มาตลอดก็เข้าใจว่า คำว่า นิล มาจากคำว่า Nile ซึ่งเป็นชื่อภาษาอังกฤษของปลา
แต่เมื่อมาคุมคณะฯ TBS นี้เองถึงได้ทราบข้อมูลอีกด้านจาก Producer ชาวญี่ปุ่นว่า คำว่า นิล หรือ ญิน (ออกเสียงขึ้นจมูก) มาจากคำพ้องเสียงตัวอักษรคันจิ ซึ่งเป็นพระนามคำสุดท้าย “ฮิโต” ของสมเด็จพระจักรพรรดิ ถ้าอ่านแบบจีน ดังนั้น คนญี่ปุ่นจึงถือว่าปลานิลนี้ถือเป็นปลาที่เป็นตัวแทนพระนามของสมเด็จพระจักรพรรดิ
จึงถือได้ว่า “ปลานิล” นั้นเป็นปลาที่เป็นตัวแทนเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ไทยและราชวงศ์ญี่ปุ่นนั่นเอง
โฆษณา