27 ส.ค. 2020 เวลา 00:42 • ปรัชญา
เมื่อถูกดูหมิ่น bully ถูกทำร้ายน้ำใจ ถูกดูถูกเหยียดหยาม
ถูกนินทาว่าร้าย
ยาบรรเทาอาการเจ็บปวดที่สำคัญก็คือ
"พรหมวิหาร 4" นี่แล
การที่หลวงปู่หลวงตาครูบาอาจารย์รวมถึงพระพุทธเจ้าทำให้ยึดมั่นและทรงพรหมวิหารไว้
ก็เพื่อการมีใจดั่งพรหม ใจที่ประเสริฐ เบาสบายและเป็นสุข
บ้างว่าถูกทำร้ายหัวใจขนาดนั้น
จะเอาสติเอาปัญญาใดมายึดมั่นมาส่งอารมณ์ไว้ล่ะ
ทุกสิ่งล้วนต้องฝึกฝนและทำอย่างสม่ำเสมอ
จึงเป็นที่มาของการสวดมนต์การภาวนาและการฝึกฝนตัวเองในทางธรรม
ให้ชีวิตอยู่กับกระแสของธรรมะกระแสของบุญให้มาก
สวดมนต์และทรงพรหมวิหารฯ
บันดาลความสุขสงบให้คุณได้
แม้จะถูกทำร้ายน้ำใจ
อันได้แก่
คำว่า "เมตตา"
คือปรารถนาให้เขามีความสุข
หมายรวมไปถึงความเห็นอกเห็นใจ
ลองพิจารณาดูว่าการที่เขาเป็นคนที่ชอบทำร้ายจิตใจ ชอบนินทาว่าร้าย ก็คงมีต้นสายปลายเหตุ
มีเหตุและปัจจัยของมัน อาจจะเพราะเรา รู้จักธรรมชาติของเขา หรืออาจจะกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันมา
หากมันคิดทบทวนหลากหลายมุม
ประคับประคองความเมตตาไว้
ระลึกเสมอว่าถ้าเราเมตตากับตัวเองเราจะไม่ยอมเป็นอย่างเขา
หากเราเมตตากับตัวเองเราจะไม่ยอมเป็นทุกข์เป็นเดือดร้อนกับเขา
เพราะเรารู้ตัวเองดีว่าไม่ได้เป็นอย่างที่เขาตำหนิหรือไม่ได้เป็นอย่างที่เขานินทาว่าร้าย
ทุกอย่างก็จบที่ความเมตตา
คือเมตตาจิตใจตัวเอง
และเมตตาสงสารเข้าอกเข้าใจในธรรมชาติของเขา
จากนั้นก็ "กรุณา"
คือความปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์
จิตใจของเรามีความสำคัญที่สุด
เพราะถือเป็นผู้ที่อนุญาตให้เรามีความสุขความทุกข์
สังเกตได้ว่าเรื่องบางเรื่องแทนที่จะทุกข์แสนทุกข์
เรากลับมีความรู้สึกเฉยเมยรู้สึกเฉยๆหรือบางครั้งบางทียังรู้สึกเป็นสุขได้
แต่กับก็เรื่องเป็นเศษตะกอนเพียงเล็กนิดเดียว ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เรากระทบเจ็บปวดเสียใหญ่โต
เพราะเป็นเรื่องที่ตรงกับจิตตรงกับใจ
ธรรมะสอนว่าทุกสิ่งมีใจเป็นประธาน
หัวใจสำคัญที่สุด
หากรู้เช่นนั้นเราจะอยากให้ตนเองพ้นจากทุกข์
ไม่ยอมให้ตัวเองอยู่กับความทุกข์นั้น
สลัดความทุกข์หรือละวางความความทุกข์
พิจารณาทุกอย่างด้วยเหตุและผลยังครบทุกมุมทุกมิติ
เราจะพบว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนใครได้
นอกเสียจากการเปลี่ยนตัวเอง
เราทำให้คนนินทาว่าร้ายทำร้ายหัวใจ
หยุดการกระทำไม่ได้
แต่เราจบความรู้สึกนั้นที่ตัวเราเองได้
ไม่หล่อเลี้ยงไม่ขยายความรู้สึกไม่ตกต่ำดำดิ่งไปกว่าเดิม
ด้วยความกรุณาตัวเอง
ด้วยความรู้สึกอย่างเต็มหัวใจว่า ปรารถนาจะให้ตัวเองพ้นทุกข์ไม่อยากอยู่กับความทุกข์ที่ไม่ใช่ของตน
ไม่ว่าจะเริ่มจากใคร
แต่ทุกอย่างจบได้ที่เรา
เมื่อใจที่ฝึกฝนอย่างมากพอ
ลำดับขั้นที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ
"การมุทิตา"
คือการยินดีกับความสุขของผู้อื่น
การละวางความอิจฉาริษยา ความอยากได้ อยากมีอยากเป็น ละกิเลสในใจเรา ให้เบาบาง
ด้วยการรู้สึกยินดีกับความสุขของผู้อื่น
ยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่น
แม้นผู้นั้นจะเป็นคนที่ทำร้ายหัวใจเรา ทำร้ายจิตใจเรา เหมือนคนนั้นจะเป็นคนนินทาว่าร้ายเรา
ไปฝึกคิดเสียว่า ดีแล้วที่เขามีความสุข
ดีแล้วที่เขาเป็นสุข ดีแล้วที่เขาประสบความสำเร็จ
เหมือนหลวงตาท่านพูดเชิงขบขันว่า
ขอให้เขาเป็นสุขเป็นสุขนะครับ
ขอให้เข้าไปในที่ชอบที่ชอบนะครับ
เพราะถ้าเขาเป็นสุข เข้าไปในที่ที่เขาชอบ
เราก็ไม่ต้องวนเวียนมาเจอกันอีกไม่เป็นกรรมต่อกันอีก
หากเรายินดีกับเขาก็เท่ากับการตัดบ่วงกรรมได้ไปเปลาะหนึ่ง
สำคัญที่สุดคือใจเราที่ได้ฝึกฝนการละกิเลิส
ฝึกฝนการวางเฉย ตรงนั้นแหละสำคัญที่สุด
การทรงอารมณ์ให้เบาสบาย
แล้วสุดท้ายจบด้วย
ยาเม็ดสุดท้ายของชุดนี้ที่เรียกว่า "อุเบกขา"
คือการวางเฉย การวางตัวเป็นกลาง วางใจให้เป็นกลาง เข้าใจด้วยเหตุและผลว่าทุกสิ่งนั้นมีเหตุและปัจจัยมีกรรมต่อเนื่องกัน
ทุกสิ่งที่ได้เกิดมาด้วยเหตุบังเอิญ
แต่มีเหตุและปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นเกิด
สิ่งนั้นไม่เกิด สิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี
สิ่งนั้นมี สิ่งนั้นไม่มี
เมื่อเมตตา กรุณา มุทิตาแล้ว
หรือเรียกว่าทำอย่างดีที่สุดแล้ว
ก็จงวางอุเบกขาเสีย
สวดมนต์แผ่บุญให้เขา
ที่สุดก็เพื่อตัวเราเองในการสร้างบุญบารมี
การส่งอารมณ์ให้เบาสบาย
เบี่ยงเบนอารมณ์ที่คุกรุ่น
เปลี่ยนอารมณ์ที่เป็นทุกข์ให้เป็นสุขกับธรรมะ
จดจำไว้เสมอว่าไม่มีใครใหญ่เกินกรรม
สุดท้าย
ใครจะว่าร้ายใครจะว่าเราใครจะทำร้ายน้ำใจ
จะมีผลมากหรือน้อยก็อยู่ที่เราจะยอมรับให้ตัวเองรู้สึกกับมันไหม
กับใจที่เป็นพรหม
อันเป็นผู้เป็นใหญ่ หัวใจที่เป็นใหญ่
ผู้ประเสริฐ หัวใจของผู้ประเสริฐ
ย่อมเป็นสุขสงบได้ที่หัวใจเรา
โฆษณา