28 ส.ค. 2020 เวลา 00:09 • ข่าว
ความขัดแย้งในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากสหรัฐฯ พยายามยั่วยุ จนทำให้จีนต้องตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นในการซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือมากขึ้นหรือไม่
การซื้อเรือดำน้ำของไทยไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ เนื่องจากไทยควรผลักดันให้เกิดการใช้เวทีพูดคุยในกรอบความร่วมมือมากกว่า
 
อุณหภูมิความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจสหรัฐฯ กับจีน เหนือพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้คุกรุ่นเรื่อยมาหลังจากกองทัพจีนยิงขีปนาวุธต่อต้านเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลูก ไปในพื้นที่พิพาทเพื่อส่งสัญญาณเตือนไปยังสหรัฐฯ ตรงๆ
South China Morning Post รายงานว่า ขีปนาวุธทั้ง 2 ลูก คือ ตงเฟิง - 26 บี และตงเฟิง - 21 ดี ขีปนาวุธลูกแรกถูกยิงจากมณฑลชิงไห่ทางตะวันตก ส่วนขีปนาวุธอีกลูกยิงจากมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออก
ขีปนาวุธทั้ง 2 ลูก ไปตกลงในน่านน้ำ ระหว่างมณฑลไห่หนานกับหมู่เกาะพาราเซลในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้
เมื่อวันอังคาร สหรัฐฯ ส่งเครื่องบินเข้าไปสอดแนมบริเวณเขตห้ามบินในทะเลปั๋วไห่ของจีน โดยไม่ได้รับอนุญาต
การสอดแนมของสหรัฐฯ เกิดในจังหวะที่จีนซ้อมรบทางทะเลด้วยกระสุนจริงไม่ต่างจากการกระตุกหนวดมังกร
ขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า การส่งเครื่องบินเข้าไปในพื้นที่ครั้งนี้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับสากล )
ความขัดแย้งร้อนระอุขึ้น หลังสหรัฐฯ เดินหน้าคว่ำบาตร-ขึ้นบัญชีดำเจ้าหน้าที่และรัฐวิสาหกิจสัญชาติจีน
กระทรวงพาณิชย์ขึ้นบัญชีดำบริษัท 24 แห่ง เพื่อจำกัดการส่งออกสินค้า-เทคโนโลยีมายังบริษัทเหล่านี้
หน่วยงานที่โดนหางเลขคือ China Communications Construction และ China Shipbuilding Group
ส่วนเจ้าหน้าที่ทางการจีนที่ถูกขึ้นบัญชีดำในครั้งนี้ จะไม่สามารถยื่นขอวีซ่าเพื่อเดินทางไปยังสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากหน่วยงานและบุคคลเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสิ่งปลูกสร้างบนเกาะเทียมในทะเลจีนใต้
หลังจากเมื่อเดือนกรกฎาคม สหรัฐฯ ประกาศว่า การอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนเหนือทะเลจีนใต้ขัดต่อกฎหมาย
การเปิดฉากเล่นงานจีนอย่างต่อเนื่องในระยะหลัง อาจเป็นส่วนหนึ่งของเกมการต่อรองของทั้ง 2 ประเทศนอกจากนี้ยังตอบโจทย์ทางการเมืองของสหรัฐฯ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย
 
แม้ว่าไทยจะไม่มีส่วนเกี่ยวของกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้และสามารถเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่นักวิชาการ มองว่า การใช้เรือดำน้ำปกป้องผลประโยชน์ของชาติอาจทำให้ไทยสูญเสียสถานะผู้ไกล่เกลี่ย
เล่ามาถึงตรงนี้คงช่วยให้เห็นภาพกว้าง ๆ ถึงความสำคัญของข้อพิพาททะเลจีนใต้และผลกระทบต่อไทยมากขึ้น
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ พื้นที่นี้อยู่ท่ามกลางของความพยายามรุกคืบขยายอิทธิพลของมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 โจทย์ใหญ่คือไทยและหลายประเทศในภูมิภาคจะสร้างสมดุลระหว่างพญาอินทรีและพญามังกรกันอย่างไรต่อไป
โฆษณา