28 ส.ค. 2020 เวลา 02:25 • ประวัติศาสตร์
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) กับแผ่นดินกัมพูชา
ตีพิมพ์ วารสาร พล.ร.๖ และ กกล.สุรนารี เมื่อปีที่ ๑๙ ฉบับที่ ๔ เดือนกรกฎาคม – กันยายน ๒๕๕๑
บันทึกเรื่องนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสของเขาพระวิหารครับ ซึ่งเรื่องเขาพระวิหารทุกท่านคงได้อ่านบันทึกแล้วจากวารสาร พล.ร.๖ ฉบับที่แล้ว (อินเทรนด์มาก) ผู้เขียนเองก็ไม่รู้ว่ามีแรงดลใจหรือสำนึกอะไรให้ไปค้นบันทึกต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังจะเขียนนี้ แต่ก็หวังว่าคงจะตอบคำถามและกระตุ้นความรู้สึกในใจของท่านผู้อ่านได้บ้าง (คงไม่ตกเทรนด์) หรืออย่างน้อยๆ ก็คงตอบได้ว่าทำไมพอมีเรื่องกับเขมร ผู้บังคับบัญชาต้องใช้กำลังหลักจาก ร.๑๖ ด้วยความภาคภูมิใจทุกที (ฮา...)
บันทึกเรื่องนี้จึงเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอ่านเอาสนุกภาษาชาวบ้านเช่นเคย เป็นเรื่องของเจ้าพระยา บดินทรเดชา เจ้าของฉายา ขุนพลแก้ว ของเราเองครับ ว่ากันเลย
เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าของฉายา “ขุนพลแก้ว” เป็นผู้มีชาติตระกูลสูงศักดิ์ เป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยราชา(ปิ่น) ในรัชกาลที่ ๑ สืบสายมาจากปุโรหิตมหาราชครู ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตามลำดับ เป็นเชื้อสายเดียวกับ พระยาสุรินทร์ภักดี (จางวาง) ที่พวกเราคุ้นเคยเป็นอย่างดีอีกท่านครับ
เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นบุตรคนที่ ๔ มารดาคือท่านผู้หญิงฟัก เกิดปีระกา พ.ศ. ๒๓๒๐ เป็นปีที่ ๑๐ ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช รับราชการ ด้วยความอุตสาหะ พากเพียร ซื่อสัตย์ สุจริต จึงมีความเจริญก้าวหน้า เป็นพระยาตั้งแต่อายุ ๓๔ ปี (เทียบปัจจุบัน ซี 10 – ซี 11) แต่ก็ถูกลงพระราชอาญาจำขัง และถอดยศ ถึง ๒ ครั้ง แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.๓) จึงโปรดเกล้าฯ เป็นพระยาราชสุภาวดี พ่ออสัญกรรมก่อนรัชกาลที่ ๑ สวรรคต ๓ ปี แม่อสัญกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อมาดูเส้นทางการรับราชการของท่านก็เป็นแบบขึ้นๆ ลงๆ เหมือนทหารแท้ๆ เลยครับ คือ
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เจ้าพระยาอภัยราชา(ปิ่น) นำนายสิงห์บุตรชายขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศนสุนทร นายสิงห์ก็ตั้งใจรับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความอุตสาหะพากเพียรสม่ำเสมอ จึงได้รับพระราชทานยศเป็นลำดับจนเป็นจะหมื่น(ซี ๙)เสมอใจราช เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๑ แล้ว ก็โปรดฯให้ย้ายไปรับราชการที่วังหน้า ได้รับพระราชทานยศเป็น พระนายเสมอใจราช ต่อมาได้เป็นปลัดกรมพระตำรวจ เป็นพระพรหมสุรินทร์ และได้ไปราชการเมืองเขมร
พ.ศ.๒๓๕๔ กลับจากเขมรได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชโยธา
พ.ศ.๒๓๕๖ ได้เลื่อนเป็นพระยาเกษตรรักษาว่าการกรมนาฝ่ายพระราชวังบวร
พ.ศ.๒๓๖๐ ต้องโทษครั้งแรกเมื่อต้องหาว่าพายเรือตัดหน้ากระบวนเรือเสด็จ เรื่องคือ ตอนเช้าวันนั้นพนักงานได้จัดเรือพระที่นั่งและเรือกระบวนไว้พร้อมแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.๒) ยังมิได้เสด็จลง หมอกก็ลงจัด พระนายเสมอใจราชมีธุระต้องผ่านเรือไปทางนั้นหมอกคลุมขาวมัวไปหมดจึงมองไม่เห็น เมื่อกรมพระราชวังบวร(ในสมัย ร.๒)ทรงทราบ จึงโปรดให้ถอดจากยศและบรรดาศักดิ์ แล้วให้นำตัวไปจำขังที่คุกกรมพระตำรวจหลายเดือน จนกระทั่งกรมพระราชวังบวรสวรรคต ได้อาศัยพระอนุเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเวลานั้นยังเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงพระกรุณาช่วยให้พ้นโทษ
เมื่อพ้นโทษแล้ว ก็รับราชการในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยได้รับแต่งตั้งให้พระยาเกษตรรักษาเป็นว่าที่ท้ายน้ำ ท่านขะมักเขม้นทั้งในทางราชการ และเมื่อว่างจากงานราชการก็ทำการค้าขาย ซึ่งสิ่งที่ขายได้ผลดีมากคือเศษเหล็ก จัดหาซื้อส่งไปขายประเทศจีนเป็นจำนวนมาก ทีนี้เพราะราชการสำคัญของพระยาเกษตรรักษาที่ต้องปฏิบัติคือการนา จึงได้ออกไปควบคุมการทำนาหลวงอยู่เนืองๆ ในที่สุดก็ถูกต้องหาว่าไปตั้งค่ายคู(คันนา) อย่างทำศึก ประกอบกับการที่ค้าขายเศษเหล็กอยู่ด้วย จึงน่าระแวงว่าอาจคิดการกบฏ เพราะสะสมเหล็กทำอาวุธ จึงถูกลงพระราชอาญาจำขังที่เดิมอีกปีเศษ แต่ก็ได้อาศัยพระบารมีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกเป็นครั้งที่สอง ซึ่งเวลานั้นพระองค์อยู่ในฐานะเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ทรงอนุเคราะห์
พระยาเกษตรรักษา แม้จะต้องโทษถูกจำอยู่ก็ผ่อนหนักเป็นเบาตลอดมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๒
เมื่อรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์แล้ว ทรงพระกรุณาให้พระยาเกษตรรักษาพ้นโทษ และต่อมาโปรดฯให้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชสุภาวดี ตั้งแต่นั้นมาชีวิตของพระยาราชสุภาวดีก็เริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นในกิจการสำคัญของชาติตลอดมา
พ.ศ. ๒๓๖๙ ปีที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๓ พระเจ้าอนุวงศ์ เจ้านครเวียงจันทน์คิดกบฏยกกองทัพมายึดนครราชสีมาและสระบุรี (วีรกรรมย่าโม (ท้าวสุรนารี) เกิดขึ้นก็ตอนนี้เองครับ) และตั้งใจจะเข้าตียึดกรุงเทพฯ ทัพหน้าลาวมาถึงสระบุรี ทัพหลวงลาวอยู่ที่นครราชสีมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้กรมพระราชวังบวรเป็นแม่ทัพใหญ่ยกขึ้นไปทางสระบุรี แล้วโปรดฯให้อีกกองทัพยกไปทางเมืองปราจีนบุรี โดยกรมหมื่นสุรินทรรักษ์เป็นแม่ทัพใหญ่ และให้พระยาราชสุภาวดีเป็นแม่ทัพหน้าให้ยกไปปราบกบฏตามหัวเมืองมณฑลอุบลและร้อยเอ็ด
ทัพพระยาราชสุภาวดี ตีทัพเจ้าโถง หลานพระเจ้าอนุวงศ์ซึ่งตั้งที่เมืองพิมายแตก ก็เคลื่อนทัพไปตั้งอยู่เมืองขอนแก่น แล้วจึงยกไปตีค่ายเวียงคุกที่เมืองยโสธรแตกอีก จึงหยุดพักทัพอยู่ที่ เมืองยโสธร เพื่อสะสมบำรุงกำลังเพื่อยกไปปราบนครจำปาศักดิ์ต่อไป แล้วค่อยขึ้นไปสมทบกับทัพหลวงที่เวียงจันทน์
ฝ่ายทัพลาวเจ้าราชบุตรซึ่งตั้งค่ายยึดอยู่เมืองศรีสะเกษทราบข่าว ก็ยกทัพมาตั้งรับที่เมืองอุบลราชธานี โดยให้ทัพหน้า ยกมาตั้งยันทัพพระยาราชสุภาวดีอยู่ที่แดนเมืองยโสธร แต่ก็โดนทัพพระยาราชสุภาวดีตีแตก แล้วยังยกตามไปตีทัพเจ้าราชบุตรที่เมืองอุบลราชธานี ฝ่ายคนไทยที่ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพเจ้าราชบุตร ทราบข่าวก็พร้อมกันก่อจลาจลอลหม่านฆ่าฟันพวกเจ้าราชบุตรล้มตายในค่าย ทัพพระยาราชสุภาวดีก็ตีโอบเข้ามา จนค่ายลาวแตก เจ้าราชบุตรก็พาพรรคพวกหนีไปนครจำปาศักดิ์ ไทยก็ยกทัพตามไป
ชาวไทยที่ถูกกวาดต้อนไปรวมไว้ในนครจำปาศักดิ์ทราบข่าวเจ้าราชบุตรเสียทีหนีมา ก็พร้อมกันก่อจลาจลขึ้นอีกโดยจุดไฟเผาบ้านเรือนในนครจำปาศักดิ์วุ่นวาย เจ้าราชบุตรเห็นดังนั้นจะเข้าเมืองก็ไม่ได้จึงรีบข้ามแม่น้ำโขงหนีไป พระยาราชสุภาวดีก็ยกกองทัพเข้าไปตั้งมั่นในนครจำปาศักดิ์ และให้กองตระเวนออกสืบจับเจ้าราชบุตร กับพวกมาขังไว้ แล้วเดินทัพไปตั้งอยู่เมืองนครพนม พอดีกับทราบข่าวว่าทัพหลวงกรมพระราชวังบวร ก็ชนะศึกเวียงจันทน์ และก็โปรดเกล้าฯให้พระยาราชสุภาวดีอยู่จัดการบ้านเมืองทางภาคอีสานจนกว่าจะสงบเรียบร้อย
ครั้นกรมพระราชวังบวรเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ก็กราบทูลถึงความดีความชอบของพระยาราชสุภาวดี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีตราขึ้นไปเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายก รับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ใน พ.ศ. ๒๓๗๐ เวลานั้นท่านอายุย่างขึ้นปีที่ ๕๑
พอเจ้าพระยาราชสุภาวดี จัดการบ้านเมืองสงบลงตามสมควรแล้ว ก็ให้เพี้ย(พระยา)เมืองจันทน์อยู่รักษานครเวียงจันทน์พร้อมด้วยเพี้ยกรมการ แล้วจึงกลับลงมาเฝ้าฯ ที่กรุงเทพฯ
พ.ศ. ๒๓๗๑ มีข่าวว่าเพี้ยกรมการที่ให้อยู่รักษานครเวียงจันทน์ช่วยเพี้ยเมืองจันทร์ คิดก่อกบฏ ร.๓ ก็โปรดฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี ยกทัพขึ้นไปนครเวียงจันทน์อีก เมื่อไปถึงหนองบัวลำภู เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็แต่งให้พระยาราชรองเมือง เป็นกองหน้าคุมทหารยกล่วงหน้าขึ้นไปตั้งอยู่พันพร้าวก่อน (ปัจจุบันคือ ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย) และจัดแบ่งกำลัง ยกข้ามไปสอดแนมที่นครเวียงจันทน์
ฝ่ายพระเจ้าอนุวงศ์หลังจากเวียงจันทน์แตกก็หนีไปพึ่งญวน เมื่อเข้มแข็งก็กลับมาพร้อมกำลังทหาร และทำเป็นยอมสารภาพรับผิดแสดงไมตรีจิตกับนายทัพนายกองไทยเป็นอย่างดี จนพากันตายใจหลงเชื่อ พระเจ้าอนุวงศ์ก็พาพวกเข้ามาล้อมยิง ฝ่ายแม่ทัพไทยไม่ได้ระวังป้องกันก็แตกเสียทีแก่พระเจ้าอนุวงศ์ถูกฆ่าตายเกือบหมด พวกที่พยายามหนีลงน้ำจะว่ายข้ามฟากมา ก็ถูกพวกเจ้าอนุวงศ์ลงเรือตามฆ่าฟันเหลือรอดตายว่ายน้ำหนีมาได้คือ หมื่นรักษาเทเวศกับพลทหารราว ๔๐ เศษ
เจ้าพระยาราชสุภาวดีทราบว่าพวกญวนพาพระเจ้าอนุวงศ์กลับมานครเวียงจันทน์ ก็รีบเดินทัพตามไป
พอถึงค่ายพันพร้าว เห็นชาวเวียงจันทน์กลุ้มรุมฆ่าฟันทหารไทยที่หาดทรายหน้าเมือง แต่ไม่สามารถยกกองทัพข้ามไปช่วย เพราะไม่มีเรือ ทั้งกำลังคนก็น้อยกว่า พอตกค่ำหมื่นรักษาเทเวศมารายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ครั้นจะตั้งรับอยู่ที่ค่ายพันพร้าวทหารก็มีน้อยกว่า คิดจะถอนทัพกลับมานครราชสีมาก็ไกลเกิน พระยาเชียงสาจึงได้เรียนว่า เมืองยโสธรผู้คนข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ และรับอาสาจะพาไปทางลัด ในคืนนั้นก็เลยเดินทางออกจากค่ายพันพร้าว มุ่งไปยังเมืองยโสธรทันที
ฝ่ายพระเจ้าอนุวงศ์ ทราบว่าเจ้าพระยาราชสุภาวดีตั้งทัพอยู่พันพร้าว ก็ให้เจ้าราชวงศ์รีบยกกองทัพข้ามฟากมาล้อมจับเจ้าพระยาราชสุภาวดี พอเจ้าราชวงศ์ยกมาถึงทางเจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ยกทัพไปเมืองยโสธรแล้ว เจ้าราชวงศ์ก็เร่งกองทัพออกตามไปโดยเร็ว
วันรุ่งขึ้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีทราบว่าเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ยกทัพตามมา จึงจัดกองทัพยกไปต่อสู้ กองทัพทั้งสองปะทะกันที่บกหวาน (ปัจจุบันคือ ต.ค่ายบกหวาน อ.เมือง จ.หนองคาย) ขณะกองทัพตะลุมบอนกันอยู่นั้น ม้าของเจ้าพระยาราชสุภาวดีบังเอิญเหยียบคันนาพลาดและล้มลงทับขาเจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าราชวงศ์เห็นดังนั้นจึงรีบขับม้าเข้าไป แล้วเอาหอกแทงหมายปักตรงกลางตัวเจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีรู้ตัวอยู่ก่อนแล้วจึงเบ่งพุงให้พองลวงตาเจ้าราชวงศ์ไว้เมื่อหอกพุ่งลงไป เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็รีบแขม่วท้องแล้วเอี้ยวตัวหลบปลายหอกแทงเฉี่ยวข้าง เสียดผิวท้องถูกผ้าทะลุ หอกก็ปักตรึงอยู่กับดิน เจ้าราชวงศ์จะดึงหอกขึ้นเพื่อแทงซ้ำ เจ้าพระยาราชสุภาวดีจับคันหอกยึดไว้ แล้วพยายามชักมีดพกประจำตัวแทงสวนขึ้นไป เจ้าราชวงศ์ดึงหอกไม่ได้จึงชักดาบที่คอม้าออก เงื้อจะฟันเจ้าพระยาราชสุภาวดี หลวงพิพิธ(ม่วง)น้องชายเจ้าพระยาราชสุภาวดีเห็นดังนั้น จึงกระโจนเข้ารับดาบเจ้าราชวงศ์ เลยถูกเจ้าราชวงศ์ฟันขาดใจตายทันที ขณะที่เจ้าราชวงศ์กำลังจ้วงฟันอีก เจ้าพระยาราชสุภาวดีชักมีดออกมาทัน ก็แทงสวนขึ้นไปถูกตรงโคนขา เจ้าราชวงศ์ก็ตกใจจนตกจากหลังม้าเลือดสาด เหล่ามหาดเล็กเข้าใจว่าเจ้านายตายแล้ว ก็รีบช่วยกันประคองเจ้าราชวงศ์ แล้วหามหลบหนีไปอย่างรวดเร็ว (เหตุการณ์ครั้งนี้นั้นบางบันทึกบอกว่าเจ้าราชวงศ์ถูกยิงด้วยปืนของทหารไทยที่เข่าขวาครับ)
ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี เมื่อจัดการกับบาดแผลตนเองเรียบร้อยเเล้ว ก็เร่งให้ทหารรีบตามกองทัพเจ้าราชวงศ์ไปทันที ตามไปจนถึงฝั่งแม่น้ำโขงก็ไม่ทัน จึงให้เดินทางไปตั้งทัพพักอยู่ที่ค่ายพันพร้าวอีกครั้ง
จากศึก (มีดน้อยแทงสวน-ผู้เขียน(ฮา)) ครั้งนี้นั้น เป็นผลทำให้ฝ่ายเวียงจันทน์เข็ดขยาดกองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีเป็นอันมาก แม้กระทั่งพระเจ้าอนุวงศ์ก็ไม่คิดต่อสู้อีก จนรีบพากันแตกหนีไปจากนครเวียงจันทน์ในวันรุ่งขึ้น
กองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดี ไปถึงค่ายพันพร้าวก็เมื่อพระเจ้าอนุวงศ์หนีไปแล้ววันหนึ่ง จึงแบ่งกำลังออกไปตามจับ ได้เจ้านายบุตรหลานพระเจ้าอนุวงศ์มาหลายองค์ และทราบว่าพระเจ้าอนุวงศ์หนีไปทางเมืองพวน ก็เร่งให้กองทหารรีบตามไปจับให้ได้ เจ้าเมืองพวนกับเมืองหลวงพระบางก็พยายามตามจับตัวส่งมาให้ แล้วก็จับได้ที่แม่น้ำไฮ เชิงเขาไก่ แขวงเมืองพวน
การสงครามกับเวียงจันทน์ต้องใช้เวลาถึง ๓ ปี จึงจับเจ้าอนุวงศ์ได้ และได้อาณาจักรลาวคืนมาเจ้าพระยาราชสุภาวดีอยู่จัดราชการต่อจนเรียบร้อย พอเห็นว่าเป็นที่วางใจจึงได้นำตัวพระเจ้าอนุวงศ์กลับลงมาเฝ้าฯ ร.๓ ที่กรุงเทพฯ พระเจ้าอนุวงศ์ถูกจองจำอยู่ ๗ - ๘ วันก็ตาย ถ้าผู้อ่านอยากรู้ว่าเจ้าอนุวงศ์ตายทรมานแค่ไหน ในเรื่อง “พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่ ซึ่งท่านเองก็อยู่ในสมัย ร.๓ เหมือนกัน มีตัวละครที่คาดว่าสุนทรภู่นำมาอธิบายภาพการตายของพระเจ้าอนุวงศ์ ก็คือการตายของ “อุศเรน” ครับ ท่านแต่งไว้ว่า “ชักชะงากรากเลือดเป็นลิ่มลิ่ม ถึงปัจฉิมชีวาตม์ก็ขาดสาย เป็นวันพุธอุศเรนถึงเวรตาย ปีศาจร้ายร้องก้องท้องพระโรง” คงเห็นภาพชัดเจนน่ะครับว่าทรมานแค่ไหน
พ.ศ.๒๓๗๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาสถาปนา เจ้าพระยาราชสุภาวดีขึ้นเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายก เวลานั้นท่านอายุย่างขึ้นปีที่ ๕๓
พ.ศ.๒๓๗๖ เจ้าพระยาบดินทรเดชาสมุหนายก ขณะที่รับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ ก็โปรดฯให้ไปราชการที่เขมรเมืองพะตะบอง (ผู้เขียนเองเคยไปอยู่ที่เมืองนี้สามสี่เดือนครับ) เพราะขุนนางญวนที่เมืองไซ่ง่อนก่อกบฏในญวนขอความช่วยเหลือจากไทย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะชิงกัมพูชาคืนจากญวน จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นแม่ทัพใหญ่คุมกำลังทัพบก และให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่ทัพเรือ ตีหัวเมืองเขมรและญวนตามชายฝั่งทะเล แล้วไปสมทบกับทัพใหญ่ที่เมืองไซ่ง่อน
สำหรับเหตุการณ์การสู้รบกับญวนนั้นเป็นครั้งแรกที่ทัพไทยเราแบ่งทัพเป็น ทัพเรือ และทัพบก อย่างเป็นระบบ และการศึกครั้งนี้มีเหตุการณ์ที่พวกเราชาวไทยทุกคนคงจดจำกันได้ดีตั้งแต่เราเป็นเด็ก และผู้เขียนเองก็ใช้เล่าเป็นนิทานก่อนนอนให้ลูกฟังอยู่เสมอ ทบทวนความจำให้ครับ ดังนี้
ขณะที่ตั้งทัพอยู่ที่เมืองโจฏก ข้าวปลาอาหารเริ่มขาดแคลน ทั้งยังได้ข่าวว่าทัพใหญ่ญวนจะยกมา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงได้ให้ถอยทัพไปพักเพื่อบำรุงไพร่พลที่เมืองเขมรก่อน แล้วค่อยยกทัพไปตีเมืองไซ่ง่อน และเมืองเว้ ในภายหลัง ระหว่างถอยทัพจึงกำหนดให้ทำกลอุบายเป็นจุดๆ ตามเส้นทางที่คาดว่าทัพญวนจะตามมา
จุดแรก ที่หนองปรือ ให้ขุดหลุมลึกๆ แล้วนำ ดาบ หอก แหลน หลาว ปักไว้ ลับลวงพราง (โดย วาสนานาน่วม-ฮา) ไว้ให้เรียบร้อย พอทัพญวนมาถึงไม่ระวังก็ตกหลุมพราง บาดเจ็บล้มตายไปหลายคน
จุดที่สอง ที่ปาตะโก ให้ขุดหลุมเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเป็นว่าให้หารังผึ้ง ต่อ แตน มาใส่ไว้ให้มากแล้วลับลวงพราง (โดย วาสนานาน่วม-ฮา) อีกที แม่ทัพญวนเมื่อโดนกลอุบายแรก ก็แก้เกมส์โดยให้ทหารตัวเองหาตัดไม้ยาวๆ คอยแซะหาหลุมไปเรื่อยๆ แม่ทัพยังคุยว่าแค่นี้ก็จะได้หอก ดาบ แหลน หลาว ของไทยมาใช้ฟรีๆ แต่พอเปิดหลุมออกพวกผึ้ง ต่อ แตน ก็บินออกมากัดต่อยทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก
จุดที่สาม ทำค่ายไม้ไผ่ ให้ขุดคูเป็นวงรอบค่าย แล้วนำถังดินดำปืน พร้อมเอาดินดำใส่ให้เต็มในปืนใหญ่ที่เก่าผุพังแล้วฝังไว้ ต่อชนวนมาที่เตา และกองไฟเก่าๆ แถมขุดหลุมแล้วนำรังผึ้ง ต่อ แตน มาใส่ไว้ในหลุม ก้นหลุมก็ให้ใส่ดินดำปืนพร้อมพวกมีดดาบหอกที่ชำรุดไว้ด้วย ลับลวงพราง (โดย วาสนานาน่วม-ฮา) อีกเหมือนเดิม
จากนั้นก็จัดทหารเพียงเล็กน้อยทำทีรักษาค่ายไว้ พอทัพหน้าญวนมาถึงก็ให้ทำเป็นกลัวหนีเข้าค่ายปิดประตูทุกด้าน แล้วหุงหาอาหารกินให้เสียงดังๆ อย่างเอิกเกริกทำเหมือนมีกำลังคนมากมาย ทัพหน้าญวนก็ไม่กล้าบุกเข้าไป พอทัพใหญ่ญวนมาถึง ก็จัดกำลังเข้าตีค่าย ฝ่ายไทยก็ทำทีสู้รบนิดหน่อยแล้วหนีทิ้งค่ายไป ทัพญวนเข้าไปในค่ายได้แล้วก็ให้พักทัพที่ค่ายนี้ เมื่อทหารญวนเริ่มเก็บกวาดสถาปนาบริเวณค่าย ก็มีพวกผึ้งต่อแตนบินออกจากหลุมมากัดต่อยทหาร แม่ทัพจึงสั่งให้ก่อไฟหุงหาอาหาร แล้วเอาคบไฟทิ้งลงในหลุมเพื่อไล่ต่อแตน เป็นเรื่องซิครับทีนี้ ทั่วทั้งค่ายเกิดระเบิดขึ้นรุนแรงกัมปนาท ระเบิดแบบมีสะเก็ดระเบิดอีกต่างหาก ครั้งนี้ทำให้ทัพญวนแตกย่อยยับราบคาบ แม่ทัพและทหารล้มตายเกือบหมด ที่เหลือบาดเจ็บฝ่ายทหารไทยก็กลับมาฆ่าให้ตาย แล้วจับตัวแต่ทัพนายกองที่สำคัญของญวนได้หลายคน
พ.ศ. ๒๓๗๗ เจ้าพระยาบดินทรเดชา จัดกองทัพที่พระตะบอง เพื่อออกขับไล่ญวนที่เมืองโพธิสัตว์ พนมเปญ และกำปอด รุกไล่กองทัพญวนทั้งสามเมืองแตกพ่ายยับเยิน แม่ทัพญวนยอมแพ้ จึงทำพิธีมอบธงชัยประจำกองทัพของญวนให้แก่กองทัพไทย ที่เมืองโพธิสัตว์ (เมืองนี้ผู้เขียนก็เคยไปอยู่สี่ห้าเดือนครับ)
เจ้าพระยาบดินทรเดชา ต้องตรากตรำทำการสู้รบกับญวน เพื่อป้องกันไม่ให้เขมรถูกญวนกลืน ซึ่งถือได้ว่าเป็นแม่ทัพผู้รับผิดชอบในการคุ้มครองเขมรให้พ้นจากการครอบงำของญวน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๖ จนถึง พ.ศ. ๒๓๙๑ เป็นระยะเวลากว่า ๑๕ ปี จนในที่สุดญวนก็ขอผูกไมตรีอย่างเดิม เมื่อเห็นว่าไทยมีอำนาจในการรักษาเขมรในลักษณะเป็นเมืองขึ้นของไทย และช่วยเขมรให้กลับมีราชวงศ์ปกครอง อย่างเช่นแต่ก่อนแล้ว
จึงได้จัดพิธีราชาภิเษกพระองค์ด้วง(พระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี - บุตรนักองเอง - ต้นราชวงศ์กษัตริย์กัมพูชาในปัจจุบัน) เป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา พร้อมตั้งเมืองโพธิสัตว์เป็นเมืองหลวงของเขมร พอจัดการให้คำปรึกษาในการแต่งตั้งเจ้านายผู้ใหญ่ตำแหน่งต่างๆ และให้แนวทางการบริหารราชการตามพระราชโองการฯจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาบดินเดชาก็เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๑ ในระหว่างทางกลับก็เกิดจีนกบฏก่อการกำเริบขึ้นที่ฉะเชิงเทรา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงแวะช่วยปราบปรามจนสงบ แล้วเข้ามาเฝ้าฯ ที่ กรุงเทพฯ
ความสัมพันธ์ระหว่างรัชกาลที่ ๓ กับเจ้าพระยาบดินทรเดชา ลึกซึ้งมากครับ เพราะทรงเรียกเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า “พี่สิงห์” ทุกครั้ง บางครั้งเมื่อเข้าไปเฝ้าฯยังทรงโยนหมอนอิงให้ท้าวข้อศอก แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชารับไว้แล้วก็วางไว้ข้างหน้าไม่ได้ใช้หมอนนั้น ได้แต่ตื้นตันด้วยความจงรักภักดีอย่างมหาศาล ตลอดรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๓) พระองค์ได้ทรงมีพระกระแสรับสั่งถึงกุญแจแห่งความสำเร็จในการปกครองบ้านเมืองของพระองค์อยู่เสมอว่า ประกอบด้วยแก้ว ๕ ประการ อันได้แก่
๑.บ่อแก้ว หมายถึง พระยาราชมนตรี (กู่) ซึ่งเป็นราชบัณฑิตที่น่าเลือมใส ๒.ช้างแก้ว หมายถึง พระยาช้างเผือก นามว่า พระยาเศวตกุญชร และพระยามงคลเดชพงศ์ ๓.นางแก้ว หมายถึง พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าหญิงวิลาศ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ๔.ขุนคลังแก้ว หมายถึง พระศรีสหเทพ (ทองเพ็ง ศรีเพ็ญ) และ ๕.ขุนพลแก้ว หมายถึง เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพผู้คอยปกป้องพระราชอาณาเขตให้พ้นจากการรุกรานของศัตรู
ปีที่กลับจากเขมรนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชา มีอายุย่างขึ้น ๗๒ ปี ครั้นพอถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๒ ท่านก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคอหิวาตกโรค พอปี พ.ศ. ๒๓๙๓ ก็ได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ พฤษภาคม ที่เมรุผ้าขาว วัดสระเกศ (บางบันทึกว่าเป็นวันอังคารที่ ๒๘ พฤษภาคม ครับ)
เมื่อพระองค์หริรักษ์ (นักองด้วง) พระเจ้ากรุงกัมพูชาได้ทราบว่า เจ้าพระยาบดินทร์เดชาถึงอสัญกรรม ก็ให้สร้างเก๋ง (ศาลบูชา) ขึ้นที่หน้าค่ายใหญ่ ใกล้วัดโพธาราม ในเมืองอุดงมีชัย เพื่อระลึกถึงบุญคุณที่ท่านเคยได้ช่วยเหลือ แล้วปั้นรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชาขึ้นไว้เป็นอนุสาวรีย์ด้วยปูนเพชร และประกอบการกุศลปีละครั้ง ชาวเขมรเรียกว่า" รูปองค์บดินทร " ตลอดมาจนทุกวันนี้
ส่วนรูปหล่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ซึ่งอยู่ในเก๋งจีนข้างพระปรางค์วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม)นั้น พระพุฒาจารย์(มา) ไปถ่ายมาจากเมืองเขมรอีกต่อหนึ่งแล้วจัดการหล่อขึ้นในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๑ - พ.ศ. ๒๔๔๗ ครับ
ถ้าศึกษาประวัติการนำทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา เราจะเห็นคุณสมบัติของทหารอย่างแท้จริงในตัวท่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การประเมินสถานการณ์ข้าศึก อำนาจกำลังรบเปรียบเทียบ การวิเคราะห์ภูมิประเทศ แนวทางการเคลื่อนที่ การใช้เครื่องกีดขวาง การพิจารณาปัจจัยการออมกำลัง การดำเนินกลยุทธ การจู่โจม การกำหนดที่หมายแตกหัก การจัดการด้านกำลังพล ขวัญและกำลังใจของทหาร การส่งกำลังบำรุง การจัดการกับพลเรือนและดินแดนที่ยึดได้ และด้านต่าง ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะคุณธรรมในตัวท่าน และที่สำคัญความเฉียบขาดของท่านที่อยู่ภายใต้วิจารณญาณ ไม่ได้ล่วงล้ำก้าวก่ายไปในอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาหน่วยอื่น และเป็นสิ่งที่ผู้นำทางทหารควรเอาเป็นตัวอย่างครับ...
“นายทัพนายกองไม่กลัวแม่ทัพใหญ่ดังนี้ จะทำการศึกสงครามไปที่ไหนได้ ให้เอาตัวผู้ที่ขลาดมาฆ่าเสียให้สิ้น เอาผู้น้อยที่กล้าแข็งแรงตั้งขึ้น เอาเครื่องยศให้แก่มัน ยกเข้าตีอีกครั้งหนึ่ง” คำกล่าวนี้ของเจ้าพระยาบดินทรเดชา เมื่อครั้งปรึกษาการทัพกับเจ้าพระยาพระคลัง ในการรบที่ญวน เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๖ แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นคนที่เด็ดขาดเฉียบขาด มีบันทึกว่าครั้งหนึ่งท่านได้สั่งให้ตัดหัวบุตรของตนเอง ในข้อหาขลาดกลัวต่ออริราชศัตรู
ในฐานะแม่ทัพนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชา สามารถนำทัพออกรบจนประสบผลสำเร็จ พอสรุปได้เป็น ๓ ช่วงสำคัญ คือ พ.ศ.๒๓๖๙ - ๒๓๗๒ ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทร์ พ.ศ.๒๓๗๖ - ๒๓๙๐ สงครามระหว่างไทยกับญวน และ พ.ศ.๒๓๗๖ - ๒๓๙๒ ปราบจราจลในเขมร
เมื่อถามผู้เขียนว่าแล้วจะติดตามเรื่องราวของ เจ้าพระยาบดินทรเดชา ให้เข้าใจได้องค์ความรู้เพิ่มเติม และสนุกสนานได้อีกจากที่ไหน ผู้เขียนขอแนะนำให้ไปอ่านหนังสือ ๒ เล่ม ครับ เล่มแรก เรื่อง “อานามสยามยุทธ ว่าด้วยการสงครามระหว่าง ไทยกับลาว เขมร และญวน” รวบรวมโดย เจ้าพระยาบดินทรเดชา ซึ่งเป็นบันทึกราชการทัพตลอดระยะเวลากว่า ๒๑ ปี ของท่านเอง มีทั้งหมด ๕๕ เล่ม ปัจจุบันน่าจะมีฉบับย่อออกมาแล้วครับ บันทึกนี้สุดยอดมากจนได้รับการกล่าวขานว่า ในเมื่อ จีนมี “สามก๊ก” ไทยก็มี “อานามสยามยุทธ” แต่ผู้อ่านให้คำจำกัดความหนังสือฉบับนี้ว่า “ฉบับเผาอย่างเดียว” เผาอย่างไรนั้นท่านสมาชิกไปค้นหาอ่านดูครับ
ส่วนอีกเล่มคือเรื่อง “ข้าบดินทร์” เล่มหลังนี้เป็นนิยาย อ่านสนุกมาก เพราะเกี่ยวข้อง ทั้ง ไทย จีน และฝรั่ง ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ แว่วว่ามีคนเอามาทำเป็นละครทีวีแล้วครับคอยชมหน้าจอก็ได้ครับ แต่ขอแนะนำว่าไม่อยากให้อ่านบันทึกชาวฝรั่งทั้งหลายครับ เช่น ของคุณคาร์ล กุตสลาฟ มิชชั่นนารีชาวเยอรมันน่ะครับ เพราะเขียนด้านเสียของพระยาบดินทรเดชา เป็นส่วนใหญ่ อ่านแล้วน่ากลัวครับ
“ฉันไม่ประสงค์จะได้อะไรจากเขมร นอกจากเกียรติยศชื่อเสียงที่จะมีสืบไปในภายภาคหน้าว่าได้กอบกู้ชาติเขมรไว้ ไม่ให้พระบวรพุทธศาสนาในเขมรต้องเป็นอันเสื่อมสลายไป” พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๓) รับสั่งกับนักองด้วง (บุตรบุญธรรม) เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๓
พอจบเรื่องนี้ พี่น้องชาว ร.๑๖ ทางค่ายบดินทรเดชา คงอยากจะเปลี่ยนชื่อบันทึกเรื่องนี้เป็น “กัมพูชา ต้อง บดินทรเดชา (ตลอดทุกที?)” ให้มันสาสมใจไปเลยสา ขอบคุณที่ติดตามมาโดยตลอด เจอะเจอกันตามงานพิธีต่างๆ มีกำลังใจมากที่มีสมาชิกวารสารฯ เข้ามาทักทายอยู่เสมอ แม้หลายท่านฝากเรื่องสงสัยอยากรู้ แล้วยังบังคับให้รับปากว่าจะค้นบันทึกให้ ก็ยินดีรับใช้ครับ “คนที่ทำอาจไม่ได้พูด คนที่พูดอาจไม่ได้ทำ” ฉบับหน้าพบกันใหม่ ครับ…
>>>ขอขอบพระคุณ ทุกบทความ ทุกถ้อยคำ ทุกภาพ สำหรับผู้บันทึกไว้ก่อนหน้านี้ทุกท่านทุกสำนักพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารคำพูดบทสนทนา ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ฟังได้อ่านได้สัมผัสได้จดจำจนเกิดบันทึกนี้ครับ เยอะมากจนไม่สามารถพิมพ์ให้เครดิตไม่พอไม่ไหว ขอบพระคุณครับ<<<
โฆษณา