28 ส.ค. 2020 เวลา 13:00 • บ้าน & สวน
ถ้าพูดถึงองค์ประกอบสำคัญของระบบประปาในบ้านแล้ว "ถังเก็บน้ำ" หรือที่เรียกกันคุ้นปากว่า "แทงค์น้ำ" น่าจะอยู่ในลำดับต้นๆ ไม่แพ้ปั๊มน้ำเลย เพราะนอกจากจะช่วยให้ปั๊มน้ำทำงานได้อย่างราบรื่นแล้ว ถังเก็บน้ำยังช่วยสำรองน้ำไว้ให้ใช้ยามฉุกเฉินอีกด้วย
แต่ด้วยประเภทของถังน้ำที่มีให้เลือกหลากหลายในท้องตลาด อาจทำให้เจ้าของบ้านไม่แน่ใจว่าควรเลือกแบบไหน วันนี้ SCG Experience จะมาแนะนำการเลือกใช้ถังน้ำให้คุ้มค่าค่ะ
ถ้าพร้อมแล้ว มาเริ่มกันเลยค่ะ!
#ถังเก็บน้ำ #แทงค์น้ำ #ความรู้เรื่องบ้าน #SCGXP
มาเริ่มที่ตำแหน่งของการติดตั้งถังเก็บน้ำกันเลยนะคะ การติดตั้งปกติแล้วจะมี 2 แบบ คือ 1. ติดตั้งที่ระดับพื้นชั้นล่าง และ 2. ติดตั้งที่ดาดฟ้าหรือชั้นบสุดของบ้าน
สำหรับการติดตั้งที่พื้นชั้นล่าง จะเหมาะกับบ้านที่สูงไม่เกิน 3 ชั้น และสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ถังเก็บน้ำแบบบนดินหรือแบบใต้ดิน โดยถังเก็บน้ำ 1 ใบจะใช้คู่กับปั๊มน้ำ 1 ตัว อย่าลืมเลือกปั๊มที่กำลังเหมาะสมกับความต้องการในการใช้งานนะคะ
ส่วนการติดตั้งที่ดาดฟ้าหรือชั้นบนสุดของบ้านนั้น จะเหมาะกับบ้านที่สูง 4 ชั้นขึ้นไป และต้องใช้ถังเก็บน้ำและปั๊มน้ำอย่างน้อย 2 ชุด โดยชุดแรกจะส่งน้ำจากแทงค์น้ำชั้นล่างไปเก็บยังแทงค์ด้านบน
แทงค์น้ำด้านบนจะใช้ทั้งแรงดันจากปั๊มน้ำและแรงโน้มถ่วงในการจ่ายน้ำให้บ้านตามรูปเลยค่ะ
เช่นเคย ควรเลือกปั๊มน้ำที่มีกำลังเพียงพอ ไม่งั้นอาจจะเจอปัญหาว่าน้ำไม่แรงพอที่จะไหลไปถังเก็บน้ำด้านบนค่ะ
เคล็ดลับสำหรับการคำนวณขนาดถังเก็บน้ำที่เหมาะสมสำหรับบ้านก็คือ นำจำนวนสมาชิกในบ้าน x ปริมาณน้ำต่อวันที่ 200 ลิตร x วันที่ต้องการสำรองน้ำไว้ใช้ค่ะ เช่น หากมีสมาชิก 4 คน ต้องการสำรองน้ำไว้ใช้ 3 วัน ขนาดถังเก็บน้ำที่เหมาะสมคือ 200 x 4 x 3 = 2,400 ลิตร ค่ะ
พูดถึงประเภทการติดตั้งถังเก็บน้ำไปแล้ว ต่อไปเราจะมาต่อเรื่องถังเก็บน้ำบนดินค่ะ
ข้อดีของถังแบบนี้คือ ดูแลรักษาง่าย หากต้องการโยกย้ายหรือเปลี่ยนถังก็ทำได้ไม่ยาก แต่จะเหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่พอสมควรค่ะ
ถังเก็บน้ำบนดินแบบแรกที่เราจะมาพูดถึงก็คือ ถังแบบสแตนเลส ถังแบบนี้จะใช้สแตนเลสแท้ เกรด 304 (หรือเกรด 18/8) ที่ปลอดภัยสำหรับบรรจุอาหาร และปลอดสนิมค่ะ
ความหนาจะมีให้เลือก 2 ขนาด คือ 0.5 และ 0.6 มม.
ถังเก็บน้ำสแตนเลสจะมาพร้อมขาตั้งและรูถ่ายน้ำที่ก้นถัง ช่วยให้ทำความสะอาดง่าย ยอ่างไรก็ตาม ถังเก็บน้ำแบบนี้เหมาะกับการเก็บน้ำสะอาดเท่านั้น ไม่ทนทานต่อน้ำที่มีความเป็นกรด-ด่าง อย่างเช่นน้ำกร่อยหรือน้ำบาดาล
นอกจากนี้ตัวถังยังมีโอกาสเกิดสนิมที่รอยเชื่อมต่อได้ด้วย และมีราคาแพงกว่าถังเก็บน้ำพลาสติกประมาณ 5-10% ค่ะ
ต่อไปคือถังเก็บน้ำพลาสติก ถังแบบนี้ใช้พลาสติกเกรดที่ใช้บรรจุของสำหรับบริโภคได้ โดยจะแบ่งได้เป็นถังที่ผลิตจากไฟเบอร์กลาส และที่ผลิตจากพลาสติกโพลิเมอร์ประเภทต่างๆ
ตัวถังเป็นแบบทึบแสง 100% และมีคุณสมบัติป้องกันแสง UV ค่ะ
ข้อดีของถังเก็บน้ำพลาสติกก็มีไม่น้อยค่ะ เริ่มด้วยการมีรูปทรงและลวดลายมากมายให้เลือกใช้ แถมบางรุ่นยังมีนวัตกรรมยับยั้งเชื้อแบคทีเรียด้วย และราคาก็สมเหตุสมผลค่ะ
แต่ข้อควรระวังของการใช้ถังแบบนี้ก็คือ ตัวถังต้องวางบนพื้นที่แข็งแรง (แนะนำให้เป็นพื้นคอนกรีตเสริมเล็กผิวเรียบลงเสาเข็มสั้น) และการที่ตัวถังไม่มีขาตั้ง ทำให้การทำความสะอาดด้านล่างแทบจะเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้การที่รูระบายน้ำอยู่ด้านข้างอาจจะทำให้มีตะกอนตกค้างในถังพลาสติกมากกว่าถังสแตนเลสค่ะ
ดังนั้นหากต้องการใช้ถังแบบนี้ ต้องหมั่นใส่ใจในการทำความสะอาดค่ะ
1
จบถังเก็บน้ำบนดินไปแล้ว ก็ได้เวลาของถังเก็บน้ำใต้ดินค่ะ ถังแบบนี้เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่จำกัด การที่อยู่ใต้ดินช่วยให้อุณหภูมิน้ำในถังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง
แต่จุดควรระวังของถังเก็บน้ำใต้ดินคือดูแลรักษายาก ต้องมีโครงสร้างรองรับที่แข็งแรงเพื่อป้องกันไม่ให้ทรุดตัว นอกจากนี้ยังมีราคาถังและค่าติดตั้งสูงกว่าถังเก็บน้ำบนดินด้วยค่ะ
อีกประเภทของถังเก็บน้ำใต้ดินก็คือ "ถังคอนกรีต" ซึ่งทำจากคอนกรีตเสริมเหล็กที่หล่อขึ้นรูปได้ตามขนาดที่ต้องการ และความเหมาะสมของพื้นที่ เนื่องจากถังแบบนี้มีน้ำหนักมาก ดังนั้นต้องมีโครงสร้างแข็งแรงคอยรองรับ และต้องมีการทำระบบกันซึมด้วย (แต่อย่าลืมเลือกตัวที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกายนะคะ)
ที่สำคัญอีกข้อก็คือ หากมีการใช้วัสดุปิดผิว ควรเลือกประเภทที่ลดการสะสมของแบคทีเรียค่ะ
หลายคนน่าจะคุ้นตาถังเก็บน้ำใต้ดินแบบเป็นพลาสติกกันบ้าง ถังแบบนี้ทำจาก Fiberglass, PE และ Nano Polymer นอกจากนี้ยังมีชั้นโครงสร้างตาข่ายตรงกลางเพื่อเพิ่มความแข็งแรงในการรับแรงกดใต้ดินและแรงกระแทกค่ะ
ถังแบบนี้มีข้อดีคือสะอาด ปลอดภัย ไม่มีสารพิษ และได้มาตรฐานจากโรงงาน สามารถติดตั้งได้ทันทีเมื่อมาถึงหน้างาน แต่ข้อเสียคือมีรูปทรงจำกัด และต้องเตรียมพื้นที่ติดตั้งให้พร้อมก่อน นอกจากนี้ในการบรรจุหรือถ่ายเทน้ำจะต้องทำตามขั้นตอนในคู่มือเพื่อป้องกันตัวถังไม่ให้เสียหายค่ะ
บทความเรื่องถังเก็บน้ำของเราก็จบลงแค่นี้ ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามค่ะ ^^
โฆษณา