28 ส.ค. 2020 เวลา 14:30 • ประวัติศาสตร์
ตอนที่ ลาว เวียดนาม กัมพูชา แตกในช่วงปี 2517 - 18 นั้น ผมกำลังเรียน ม.ปลาย ที่ รร.เตรียมอุดม
ตอนนั้นพอเลิกเรียนก็จะไปหาแม่ซึ่งทำงานที่บริษัทอยู่แถวถนนสุริวงศ์ ใกล้ รร.ทรอคาเดโร
1
ยังจำภาพคนเวียดนาม ที่หนีออกจากเวียดนามมาไทย และพักที่ รร.ทรอคาเดโร กับ รร.ใกล้เคียงแถวนั้น ซึ่งเป็น รร.ที่ทาง UNHCR จัดให้เป็นที่พักก่อนที่จะนำพวกเขาไปประเทศที่ 3
ยังจำภาพได้ติดตา น่าสงสารมาก พวกเขาหอบลูกจูงหลาน หอบทรัพย์สมบัติเท่าที่มีมาเป็นกระเป๋าๆ เต็มไปหมด บางคนนั่งกอดลูกหลานร้องไห้ บางคนนั่งซึมเศร้าเหม่อลอยเหมือนไม่รู้โชคชะตาในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
1
หลังจาก ลาว เวียดนาม กัมพูชา แตกแล้วอีกหลายปี ก็ยังมีผู้อพยพหนีตายจากภัยคอมมิวนิสต์เข้าไทยตลอดเวลา
ยังจำเรื่องราวของพ่อแม่ดาราดัง "อนันดา เอเวอริ่งแฮม" ได้ดี พ่อเขาเป็นผู้สื่อข่าวชาวออสเตรเลีย พาแม่ของอนันดาซึ่งเป็นคนลาว ว่ายน้ำข้ามโขงมาขึ้นที่ฝั่งหนองคายสำเร็จ เป็นข่าวดังมาก จนถึงกับ Hollywood เอาไปสร้างเป็นหนัง
ตอนประมาณปี 24 ตอนนั้นผมสอบติดเข้าเป็นข้าราชการที่ กต.แล้ว ตอนนั้นมีท่าน พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา เป็น รมว.กต. ผมเข้าทำงานที่กรมพิธีการทูตเป็นที่แรก
ได้มีโอกาสตามคณะผู้ใหญ่ไปเยี่ยมชมค่ายผู้ลี้ภัยที่ชายแดนด้านตะวันออก ส่วนใหญ่เป็นชาวลาว และชาวกัมพูชาที่หนีตายมา
ตอนนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ใน ร.9 ในฐานะองค์ประธานสภานายิกา ได้ทรงให้เปิดพรมแดนทุกด้านที่ติดกับลาว และกัมพูชา รับเอาผู้ลี้ภัยชาวลาวและกัมพูชาจำนวนนับแสน นับล้านคน ที่หนีตายกันหัวซุกหัวซุนให้ข้ามมาฝั่งไทย จนรอดตายเป็นล้าน
โดยไทยเราระดมสรรพกำลังทุกหน่วยงาน โดยมี สภากาชาดไทย เป็นหัวหอกในการดูแลผู้ลี้ภัย ร่วมกับ UNHCR ทุกอย่างฉุกละหุก อลหม่าน ยุ่งเหยิง เพราะต้องดูแลคนเป็นหมื่นๆแสนๆคนต่อวัน ทุกวัน เป็นเวลาหลายปี
เป็นงานที่หนักและต้องเสียสละมาก จนกระทั่ง UN ได้ทูลเกล้าฯถวายเหรียญเชิดชูเกียรติ "เซเรส" ให้พระพันปีหลวงด้วย
บรรยากาศที่ค่ายผู้อพยพลี้ภัยนั้น สุดจะบรรยาย ลูกเด็กเล็กแดงร้องไห้กันกระจองอแง มีโรคภัยไข้เจ็บระบาดด้วย
ยังจำได้ดีว่าหากมีทริปไหนที่พวกเราต้องไปค่ายผู้ลี้ภัยชายแดน กลับมาจะต้องป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่งเสมอ แม้กระทั่ง พล.อ.อ.สิทธิ รมว.กต.ก็ยังเจ็บเพราะไปค่ายผู้ลี้ภัย
ตอนนั้นผมเป็นขรก.กต.แล้ว ก็ได้อ่านรายงานข่าวเรื่องที่มีความพยายามจากหลายหน่วยงานทั้งไทยและต่างชาติ ร่วมกับลาวฝ่ายขวา ที่จะนำ สมเด็จพระสังฆราชลาว ข้ามโขงหนีมาไทยด้วย ถ้าจำไม่ผิด เรื่องนี้อ่านแล้วสะเทือนความรู้สึกมาก
ที่พยายามเล่ามาให้ฟังนี้ เพียงเพื่อจะถ่ายทอดให้เด็กรุ่นใหม่บางคน ถ้าหากมีโอกาสได้เข้ามาอ่าน จะได้รู้ว่าในยามที่ "บ้านแตกสาแหรกขาด" นั้นมันเศร้าสะเทือนใจอย่างไร
ประเทศไทยเราโชคดีที่ในช่วงนั้นเรามีสถาบันที่มั่นคง มิฉะนั้น เราอาจจะต้องแตกพ่ายกับภัยคอมมิวนิสต์ไปแล้ว ตอนนั้นสำนักข่าวต่างชาติทำนายไว้แล้วว่า ไทยจะเป็นโดมิโนตัวต่อไปแน่ๆ คนไทยบางส่วนก็หนีไปอเมริกากันเยอะเพราะกลัว แต่สุดท้ายเราก็รักษาเอกราชและความมั่นคงไว้ได้ ไม่เป็นโดมิโน
เด็กรุ่นใหม่ไม่เคยรับรู้หรือมีประสบการณ์ตรงกับเหตุการณ์ที่ลาว เวียดนาม กัมพูชา แตก
พวกเขาเกิดไม่ทันไม่เป็นไร แต่พวกเขาไม่ขวนขวายในการศึกษาอ่านประวัติศาสตร์ เอาแต่ตั้งคำถามรุกไล่ผู้ใหญ่แบบท้าทาย
ถ้าวันนั้นประเทศไทยแตกเป็นเสี่ยงๆ น้องๆอาจเกิดหรือโตในค่ายผู้ลี้ภัย ไม่มีแผ่นดินเป็นของตัวเอง
ตอนผมอยู่ที่อาร์เจนตินา ก็มีชุมชนลาวอพยพที่รัฐบาลอาร์เจนตินารับไว้ ส่วนใหญ่เป็นพวกรากหญ้าที่ทางสหรัฐ และ ยุโรป ไม่เอา เลยต้องระเห็จมาอยู่ที่อาร์เจนตินา มีอยู่ 2 ชุมชนใหญ่ อันแรกอยู่ที่ Chascomus และอีกแห่งอยู่ที่เมือง Posada ใกล้พรมแดนบราซิล ทั้ง 2 ชุมชนนี้มีจำนวนรวมแล้วหลายพันคน
เวลาผมไปเยี่ยมพวกเขาจะดีใจมาก สาเหตุที่ผมต้องไปเยี่ยม เพราะในชุมชนเหล่านี้มีพี่น้องคนไทยจากจังหวัดต่างๆทางภาคอีสานที่ตอนนั้นแฝงตัวเป็นคนลาวเข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัย หวังจะได้ไปใช้ชีวิตที่อเมริกาหรือยุโรป แต่สุดท้ายถูกส่งมาที่อาร์เจนตินาแทนจำนวนนับร้อยคน
1
ได้ไปคุยส่งภาษาไทย ภาษาลาว กับพี่น้องคนไทย คนลาว ที่ชุมชนทั้ง 2 แห่ง ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าๆก็ยังพูดได้ดี รวมทั้งลูกหลานที่ไปโตที่นั่น หลายคนยังพอพูดได้ แต่ถ้าเป็นลูกหลานที่ไปเกิดที่อาร์เจนตินา ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะพูดไทย พูดลาวไม่ได้แล้ว พูดได้แต่ภาษาสเปน
อยากบอกน้องๆคนรุ่นใหม่ว่า การเป็นพลเมืองชั้นสอง ในประเทศอื่น มันไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด อย่างที่บางคนเปรยอยากเป็นหรอก
ผมได้เห็นตั้งแต่ตอนลาว เวียดนาม กัมพูชา แตก ได้เห็นสภาพที่อเน็จอนาถใจของการพลัดพรากจากคนที่รัก พลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน มันหดหู่ใจมาก ถ้าใครอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร แนะนำให้ไปหาหนังเรื่อง Killing Fields ดู
โฆษณา