Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องเล่าจากร่างกาย
•
ติดตาม
29 ส.ค. 2020 เวลา 03:30 • สุขภาพ
กำเนิด IBD (โรคที่ทำให้ชินโซะ อาเบะต้องลาออก) ตอนที่ 2/2
อะไรทำให้โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเพิ่มขึ้นทั่วโลก
วันหนึ่งในฤดูร้อน ปีค.ศ. 1995
บนเครื่องบินลำหนึ่ง โจเอล ไวน์สต็อก (Joel Weinstock) หมอผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินอาหาร เพิ่งเสร็จสิ้นจากการประชุมที่เมืองนิวยอร์ก และกำลังเดินทางกลับบ้านที่รัฐไอโอวา แต่เขาต้องไปต่อเครื่องบินที่เมืองชิคาโกก่อน
เนื่องจากพายุฝนทำให้เครื่องบินไม่สามารถขึ้นบินได้ หมอไวน์สต็อกจึงต้องนั่งรออยู่ในเครื่องบินไปเรื่อย ๆ
เวลาผ่านจากนาทีเป็นชั่วโมง เขาก็ยังคงต้องนั่งรออยู่เช่นนั้น และเพราะไม่มีอะไรทำ เขาจึงปล่อยความคิดให้ล่องลอยไปกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เพิ่งได้ยินมาจากงานประชุม
เขานึกถึงงานวิจัยในช่วงประมาณ 50 กว่าปีที่ผ่านมาซึ่งพบว่า อุบัติการณ์ของโรคลำไส้อักเสบเพิ่มขึ้นถึง 40 เท่า จนนึกสงสัยว่าอะไรทำให้โรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในวันที่หมอไวน์สต็อกกำลังนั่งคิดเรื่องนี้อยู่นั้น ทฤษฎีของการเกิดโรค IBD ที่ยอมรับกันทั่วไปคือ ลำไส้ใหญ่ของคนเราเต็มไปด้วยแบคทีเรียที่ไม่ก่อโรค แต่ภูมิคุ้มกันกลับเข้าใจผิดแล้วมองว่าแบคทีเรียเหล่านั้นเป็นศัตรูจึงโจมตีแบคทีเรียเหล่านั้นทำให้ลำไส้โดนลูกหลงไปด้วย
แต่ก็ยังมีคำถามว่า ทำไมโรคนี้จึงเกิดขึ้นในบางคนเท่านั้น
ในตอนนั้นเชื่อกันว่า คนที่ป่วยคงมีความผิดปกติของพันธุกรรมบางอย่างจึงมีโอกาสป่วยด้วยโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป
แต่สิ่งที่ค้านก็คือถ้าโรคนี้เป็นจากพันธุกรรม ทำไมในเวลาแค่ 50 ปีโรคนี้จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะพันธุกรรมของประชากรไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้เร็วเช่นนี้
หลังจากที่ติดอยู่บนเครื่องบินนานเป็นชั่วโมง หมอไวน์สต็อกก็เริ่มนึกย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เขานึกถึงเรื่องราวของโรคนี้นับตั้งแต่ยังเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก ๆ จนกลายเป็นโรคที่พบบ่อยขึ้น
ในช่วงแรกพบโรคนี้เฉพาะในหมู่ชาวยิวที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์ก ทำให้เชื่อว่าชาวยิวอาจมีพันธุกรรมบางอย่างที่เสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าคนเชื้อชาติอื่น ๆ
ต่อมาเมื่อเริ่มพบโรคนี้มากขึ้นก็พบว่าคนเชื้อชาติอื่นก็ป่วยได้เช่นกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุประมาณ 30 - 40 ปี มักเป็นในคนที่สถานะทางสังคมดี ฐานะดี อยู่ในย่านสะอาด มีน้ำร้อนใช้ในบ้าน อาศัยในบ้านที่มีส้วม ดื่มน้ำจากประปา ไม่ใช่ดื่มน้ำจากแม่น้ำลำคลอง และจุดสังเกตที่น่าสนใจอีกจุดคือในหมู่คนรวยนั้นคนที่ร่ำรวยมาตั้งแต่เด็ก ๆ มีโอกาสป่วยด้วยโรคนี้มากกว่าคนที่เพิ่งรวยตอนโต
เวลาผ่านไป 2 ชั่วโมงก็แล้ว 3 ชั่วโมงก็แล้ว เครื่องบินก็ยังไม่สามารถขึ้นบินได้ เขายังคงนั่งใช้ความคิดต่อไปเรื่อย ๆ
เขาจินตนาการภาพแผนที่ของประเทศอเมริกาขึ้นมา โรคนี้เป็นที่รู้กันดีว่ามีลักษณะการกระจายของโรคที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ จะพบน้อยมากทางทิศใต้ของประเทศ แต่เมื่อเดินทางขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ จะพบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้มีมากขึ้น
คำถามคือ รัฐที่อยู่ทางทิศเหนือมีอะไรที่ทำให้พบโรคนี้มากขึ้น ?
จะเกี่ยวกับระดับแสงแดดไหม?
หรือเป็นเรื่องของสารเคมีบางอย่าง
หรือจะเกี่ยวกับอาหารที่กิน?
แต่หมอไวน์สต็อกรู้ว่าเคยมีคนศึกษาปัจจัยเหล่านี้ไปบ้างแล้วและพบว่ายังไม่ใช่คำตอบของคำถามดังกล่าว
หรือว่าเราจะตั้งคำถามกันผิด ?
แทนที่จะตั้งคำถามว่าอะไรทำให้โรคนี้เพิ่มขึ้น เราอาจต้องมองในมุมกลับแล้วตั้งคำถามว่าเป็นไปได้ไหมที่เคยมีบางอย่างซึ่งป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ แต่พอสิ่งนั้นหายไปเลยพบโรคนี้มากขึ้น
แต่สิ่งที่หายไปนั้นคืออะไร...เขาก็คิดไม่ออก
ต่อมาเขาก็ใจลอยไปถึงเรื่องอื่น เขาคิดถึงตำราแพทย์เล่มใหม่ที่เขามีส่วนร่วมในฐานะของการเป็นบรรณาธิการ
ตำราเล่มนั้นเกี่ยวข้องกับโรคพยาธิต่าง ๆ เขานึกถึงข้อเท็จจริงที่ว่าแม้การสาธารณสุขมูลฐานในหลายประเทศจะพัฒนาไปมาก แต่ประชากรประมาณ 1 ใน 3 ของโลกก็ยังมีพยาธิอาศัยอยู่ในร่างกาย แต่โชคดีที่ว่าคนส่วนใหญ่ที่มีพยาธิในร่างกายนั้น พยาธิไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียหรืออันตรายกับร่างกายมากนัก
ทันใดนั้นเองเขาก็เห็นความเชื่อมโยงบางอย่างของ 2 เรื่องที่ไม่เกี่ยวกัน
หรือว่าการมีพยาธิในลำไส้จะเกี่ยวข้องกับการอักเสบของลำไส้ใหญ่
1
หรือว่าสิ่งที่ป้องกันไม่ให้เกิดโรค IBD ก็คือพยาธิในลำไส้ ??
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 150 ปีก่อนหน้า ปัญหาการติดเชื้อพยาธิยังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของชาวอเมริกันทั่วประเทศ
แต่ราวปี ค.ศ. 1900 เป็นต้นมา เมืองต่าง ๆ ที่อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาก็มีการปรับปรุงระบบสาธารณสุขมูลฐานครั้งใหญ่ มีระบบน้ำประปา มีการเก็บขยะ มีระบบน้ำทิ้ง มีถนนที่ปูด้วยหินทำให้ถนนไม่เป็นลักษณะดินโคลนซึ่งปนเปื้อนด้วยอุจจาระเหมือนแต่ก่อน การกำจัดโรคพยาธิจึงเริ่มได้ผลดีขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อเจาะกลุ่มไปที่นิวยอร์ก ชาวยิวในนิวยอร์กซึ่งมีฐานะร่ำรวยก็เป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิวัติสาธารณสุขขั้นพื้นฐานดังกล่าว ชาวยิวจึงน่าจะเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ไม่มีพยาธิในร่างกาย
ส่วนรัฐทางตอนใต้ซึ่งมีอากาศร้อนชื้นกว่ายังมีปัญหาโรคพยาธิสูงมาก แต่หลังจากประมาณปี ค.ศ. 1950 เป็นต้นมา สัดส่วนของชาวอเมริกันที่ติดเชื้อพยาธิก็ลดลงเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว
ถ้าคิดตามลักษณะของประชากรที่ป่วยเป็นโรค IBD จะพบว่า เดิมทีหมอเคยคิดกันว่าโรคนี้พบเฉพาะในคนผิวขาว ไม่พบในคนผิวดำและชาวพื้นเมืองอเมริกัน
แต่หลังจากประมาณปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา กลับพบว่ามีชาวอเมริกันผิวดำและชาวพื้นเมืองอเมริกัน ป่วยเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็สามารถอธิบายได้ด้วยการลดลงของพยาธิเช่นกัน
4 ปีผ่านไปนับจากวันที่หมอไวน์สต็อกติดอยู่บนเครื่องบิน
1
ช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมาเขาทำงานวิจัยเพื่อตอบคำถามที่เกิดขึ้นบนเครื่องบินมาตลอด
เขาทำการทดลองในหนูมาหลายครั้งจนเชื่อว่าปลอดภัยและถึงเวลาที่ควรเดินหน้าไปทดลองในมนุษย์ได้แล้ว
แรกทีเดียวคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมของมหาวิทยาลัยลังเลที่จะให้ทำการทดลองนี้ หมอไวน์สต็อกจึงต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง จนในที่สุดก็สามารถโน้มน้าวให้คณะกรรมการยอมอนุมัติงานวิจัยได้
หมอไวน์สต็อกรู้ดีว่างานวิจัยนี้มันมีความเสี่ยงสูง ถ้าไม่ทำอย่างระมัดระวัง เขาอาจจะโดนประณามจากวงการหมอได้
ในการทดลองเขาพยายามเลือกพยาธิสปีชีส์ที่รู้กันดีว่า ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และไม่ก่อให้เกิดอาการที่ทุกข์ทรมาน
พยาธิที่ว่าต้องเป็นสปีชีส์ที่ไม่สามารถสืบพันธุ์และแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนในร่างกายมนุษย์ได้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อต่อจากคนไปสู่คน
พยาธิที่เขาเลือกใช้จึงต้องเป็นพยาธิที่วิวัฒนาการมาเพื่ออาศัยอยู่ในสิ่งมีชีวิตอื่น เพราะพยาธิชนิดนั้นจะไม่ชินกับร่างกายของมนุษย์และอาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้ไม่นาน
สุดท้ายตัวเลือกจึงไปลงที่พยาธิของหมูชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ทริคูริส ซูอิส (Trichuris Suis) ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วในวงการคนเลี้ยงหมูว่าพยาธิชนิดนี้มักจะไม่ติดต่อมาที่มนุษย์ มีบางครั้งเท่านั้นที่พยาธินี้ติดต่อมาสู่มนุษย์ได้ แต่ก็มีอาการน้อยมากหรือแทบไม่ปรากฏอาการเลยเพราะมันไม่สามารถชอนไชไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ และด้วยความที่ไม่เคยชินกับร่างกายของมนุษย์ พยาธิชนิดนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้ไม่นานและตายไปเอง
หลังจากได้รับอนุมัติให้ทำการทดลอง หมอไวน์สต็อกก็ประกาศหาอาสาสมัครผู้ป่วยโรค IBD มาเข้าร่วมงานวิจัย
โดยผู้ป่วยที่เขาเลือกมาเข้าร่วมงานวิจัยนั้นเป็นผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคมานานและไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ แล้ว
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่สมัครมาเข้าร่วมเป็นผู้ที่ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำได้เหมือนคนทั่วไป จะกินอะไรก็ต้องระวังมาก ๆ และต้องเข้าห้องน้ำบ่อยจนไม่กล้าไปในที่ที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่รู้ว่าจะมีห้องน้ำให้เข้าหรือไม่
การทดลองในครั้งแรกเป็นการทดลองเพื่อหาปริมาณของไข่พยาธิที่เหมาะสม ดังนั้นเขาจึงทดลองในผู้ป่วยจำนวนแค่ 7 คน
วันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1999 การทดลองก็เริ่มต้นขึ้น ผู้เข้าร่วมงานวิจัยแต่ละคนได้รับเครื่องดื่มเกลือแร่คนละ 1 แก้ว ภายในแก้วนั้นมองด้วยตาเปล่าจะไม่เห็นอะไรผิดปกติ แต่อันที่จริงมีไข่พยาธิจำนวน 2,500 ใบผสมอยู่
ผู้ป่วยแต่ละคนแอบทำใจเล็กน้อย เมื่อพร้อมพวกเขาก็กระกดเครื่องดื่มเกลือแร่ที่ผสมไข่พยาธิเข้าไปอย่างรวดเร็ว
การทดลองในครั้งแรกเขาพบว่าปริมาณไข่พยาธิ 2,500 ใบสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้โดยไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ แต่อาการจะดีอยู่แค่ประมาณ 4 สัปดาห์เท่านั้น แล้วอาการป่วยก็จะกลับมาใหม่
ในการทดลองครั้งถัด ๆ มาหมอไวน์สต็อกจึงเปลี่ยนสูตรการรักษาเป็นการให้ไข่พยาธิ 2,500 ใบและให้ผู้ป่วยมาดื่มซ้ำในทุก ๆ 3 สัปดาห์
การทดลองครั้งต่อมาก็ยังมีผู้สมัครเข้าร่วมงานวิจัยจำนวนมาก แต่หมอไวน์สต็อกไม่อาจรับทุกคนมาเข้าร่วมงานวิจัยได้ เพราะห่วงเรื่องของความปลอดภัย จึงต้องคัดเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมมา 29 คนเท่านั้น
หลังจากดื่มไข่พยาธิผ่านไป 2 สัปดาห์ ผู้ป่วย 4 คนก็ขอถอนตัวออกจากการทดลองด้วยเหตุผลส่วนตัว (ไม่ใช่เพราะผลข้างเคียง) และไม่ได้กลับมารักษาต่อ จึงเหลือผู้ป่วยที่ยังกลับมาดื่มน้ำพยาธิทุก ๆ 3 สัปดาห์อีก 25 คน
หลังจากครบ 3 เดือนผู้ป่วยทั้ง 25 คนก็กลับมาตรวจอีกครั้ง
สิ่งที่พบคือผู้ป่วย 22 จาก 25 คนที่เหลืออยู่นั้นมีอาการของโรคดีขึ้น
อีก 3 คนอาการไม่ต่างจากเดิม
ต่อมาเมื่อนัดตรวจติดตามอาการอีกครั้งหลังรักษาไปได้ 6 เดือนก็พบว่า ผู้ป่วย 24 คนจากทั้งหมด 25 คนอาการดีขึ้น
ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยถึง 11 คนที่อาการหายไปจนเหมือนเป็นคนปกติ มีผู้ป่วยรายเดียวเท่านั้นที่อาการไม่ดีขึ้น
แม้การทดลองจะได้ผลดี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับการทดลองของเขาเพราะพยาธิเหล่านี้อาจจะกลายพันธุ์เป็นพยาธิที่มีอันตรายต่อมนุษย์ขึ้นมาได้ หรือเมื่อนำไปใช้รักษาคนจำนวนมากแล้วก็มีความเป็นไปได้ที่อาจพบผู้ได้รับผลข้างเคียงรุนแรงเช่นกัน เพราะถึงอย่างไรพยาธิก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่กลายพันธุ์ได้และคาดเดาพฤติกรรมได้ยาก จึงมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้มากมาย
อย่างไรก็ตามงานวิจัยของหมอไวน์สต๊อกก็ไม่ได้บอกแค่ว่า พยาธิสามารถนำมาใช้รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังหรือ IBD ได้
งานวิจัยของหมอไวน์สต็อกก็ไม่ได้บอกว่า พยาธิจะกลายมาเป็นการรักษาหนึ่งในอนาคต
แต่ความสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้จริงๆคือ ช่วยพิสูจน์หลักการสำคัญข้อหนึ่ง นั่นก็คือ ชี้ให้เห็นว่า สิ่งมีชีวิตอื่นอาจจำเป็นต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์
เมื่อขาดสิ่งมีชีวิตนั้นไปจากร่างกายมนุษย์ ระบบภูมิคุ้มกันก็จะทำงานผิดพลาดได้มากขึ้น
งานวิจัยของหมอไวน์สต็อกจึงเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่ช่วยส่งเริ่มให้สมมติฐานที่ชื่อ “ Old Friends Hypothesis” แข็งแรงขึ้น ...
หมายเหตุ : สมมติฐาน Old Friend hypothesis นี้บอกว่าระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์วิวัฒนาการมากับจุลินทรีย์และพยาธิมาเป็นล้านๆปี จนจุลินทรีย์ในธรรมชาติเหล่านี้จำเป็นต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
พอดีบทความนี้นำมาจากในหนังสือ ซึ่งก่อนหน้าได้เล่าถึงสมมติฐานนี้มาก่อนแล้ว หลายท่านอาจจะงงๆว่า สมมติฐานนี้อยู่ๆก็โผล่มาจากไหน ถ้าใครสนใจในรายละเอียด สามารถอ่านเพิ่มเติมจากหนังสือ เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญได้ครับ
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
ถ้าชอบประวัติวิทยาศาสตร์แบบนี้
แนะนำอ่านหนังสือ สงครามที่ไม่มีวันชนะ และ เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ
https://shopee.co.th/cthada
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่
https://shopee.co.th/cthada
ถ้าอยากให้ไลน์แจ้งเตื่อนเมื่อผมโพตส์บทความใหม่ ก็สามารถแอดไลน์ได้โดยการคลิกที่นี่เลยครับ
https://lin.ee/3ZtoH06
หรือ Line: @chatchapol
47 บันทึก
215
15
72
47
215
15
72
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย