29 ส.ค. 2020 เวลา 03:00 • กีฬา
ด้านมืดของ ‘ซูโม่’ ที่โลกอาจไม่เคยรู้
ภายใต้กีฬาอันศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเหมือนกีฬาประจำชาติของญี่ปุ่น มีเบื้องหลังอันมืดดำซ่อนอยู่
ราวปลายปี 2017 ได้มีข่าวดังที่สะเทือนวงการกีฬาญี่ปุ่น เมื่อนักซูโม่ระดับสูงรายหนึ่ง ทำร้ายร่างกายนักซูโม่รุ่นน้องจนกะโหลกร้าว และหมดสิทธิ์ลงแข่งขันในรายการประจำปี
สิ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นช็อคกับเหตุการณ์นี้คือผู้ที่ลงมือเป็นถึง “โยโกซึนะ” เจ้าของตำแหน่งแชมป์ระดับสูงสุดในขณะนั้น แถมยังเกิดขึ้นในกีฬา ที่เต็มไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี และเป็นตัวแทนของความเป็นญี่ปุ่นอย่างซูโม่
มีอะไรอยู่เบื้องหลังกีฬาชนิดนี้กันแน่?
สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ
ซูโม่ถือเป็นกีฬาที่เก่าแก่ของญี่ปุ่น มันถือกำเนิดขึ้นในช่วงราว 1,500-2,000 ปีก่อน และมีบันทึกอยู่ในโคจิคิ (Kojiki) ซึ่งเป็นบันทึกที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 8
Photo : imgur.com
แรกเริ่มเดิมทีซูโม่ถูกใช้เป็นหนึ่งในพิธีกรรมของชินโต โดยเป็นการบวงสรวงเทพเจ้าให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ รวมไปถึงทำนายพืชผล และฉลองการเก็บเกี่ยว และกลายมาเป็นกีฬาราชสำนักในสมัยนาราและเฮอัน ก่อนจะค่อยๆพัฒนาเป็นกีฬาอาชีพในสมัยเอโดะ ซึ่งเป็นรากฐานของรูปการแข่งขันซูโม่ในปัจจุบัน
และด้วยความที่เป็นกีฬาโบราณที่ได้รับอิทธิพลมาจากชินโต ทำให้ซูโม่จึงมีพิธีและธรรมเนียมประเพณีมากมาย นักซูโม่ต้องรักษากฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ราวกับเป็นหนึ่งในนักบวชของศาสนา
พวกเขาต้องสวมชุดยูคาตะในที่สาธารณะ รวมถึงต้องไว้ผมทรง “จนมาเกะ” ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากซามูไร ในขณะที่การให้สัมภาษณ์และการพูดต้องสุภาพเรียบร้อย แม้ขณะแข่งขันก็ไม่มีการพูดข่มขวัญคู่ต่อสู้ ซึ่งสถานะเช่นนี้ทำให้พวกเขามักถูกค้อมหัวด้วยความเคารพ ยามออกมาเดินตามท้องถนน
“ซูโม่ไม่เคยถูกมองว่าเป็นกีฬาในญี่ปุ่น มันลงลึกกว่านั้นในจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่น” มาร์ค บัคตัน ผู้เชี่ยวชาญซูโม่ญี่ปุ่นและอดีตคอลัมนิสต์ของ Japan Times กล่าวกับ BBC
ด้วยเหตุนี้ทำให้การเป็นซูโม่ ไม่ใช่สิ่งที่ทำกันง่ายๆ
เส้นทางอันโหดหิน
แม้ว่าซูโม่ จะเปิดรับให้กับคนทั่วไป แม้กระทั่งกับคนต่างชาติ แต่การก้าวขึ้นไปเป็นนักซูโม่อาชีพ ต้องผ่านบททดสอบหลายด่าน เริ่มต้นพวกเขาต้องสมัครเข้ารับการฝึกในโรงฝึกที่เรียกว่า “เฮยะ” ซึ่งเปรียบเสมือนต้นสังกัด โดยส่วนมากจะรับคนตั้งแต่อายุ 15-23 ปี และต้องอยู่ในสังกัดเดิมตลอดชีวิต
Photo : bbc.com
“มันไม่เหมือนกับฟุตบอลที่คุณสามารถย้ายจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดไปอยู่ทีมอื่น คุณต้องอยู่ในโรงฝึกนั้นตลอดชีวิต ทางเดียวที่จะออกไปได้ คือลาออกจากการเป็นซูโม่” บัคตันกล่าว
กิจวัตรของนักซูโม่จะเริ่มตั้งแต่ตี 5-6 โมง ที่ต้องตื่นมาฝึกซ้อมในตอนเช้า และจะได้รับประทานอาหารมื้อแรกของวันในตอนเที่ยงวัน ที่ส่วนใหญ่เป็นหม้อไฟที่เต็มไปด้วยผักที่เรียกว่า “จังโกะนาเบะ” จากนั้นจะเข้านอนในตอนบ่าย และตื่นขึ้นมาทำความสะอาดและฝึกซ้อมในช่วงเย็น ก่อนจะปิดท้ายด้วยการรับประทานอาหารเย็น และเข้านอนก่อนสามทุ่ม
“พวกเขากินเยอะเลยทีเดียว แต่สิ่งที่พวกเขาทำจะมีความสำคัญต่อเมื่อพวกเขากินแล้วเข้านอนทันที พวกเขาไม่ได้กินอาหารเช้า พวกเขาฝึกซ้อมตลอดทั้งเช้า กินข้าวเที่ยง ที่มีสารอาหารที่ต้องการเหมือนกับคนทั่วไป เพียงแต่มันอาจจะมากกว่านิดหน่อย แต่พวกเขาจะกินข้าวชามใหญ่มาก สิ่งสำคัญคือพวกเขาต้องไปนอนทันที และห้ามตื่นจนกว่าจะถึงครึ่งบ่าย” บัคตันอธิบาย
“พวกเขากินอีกครั้งตอนเย็น กินเยอะเหมือนเดิม และหลังจากนั้นก็จะไปนอนแต่หัวค่ำ เพราะว่าต้องตื่นตอนตี 5 หรือ 6 โมงเพื่อฝึกตอนเช้า”
Photo : viewatammarblog.blogspot.com
นักซูโม่จะต้องมีส่วนสูงเกินกว่า 165-167 เซ็นติเมตร และน้ำหนัก 65-67 กิโลกรัม เมื่อเข้ามาทุกคนจะต้องไว้ผมยาว โดยส่วนมากอาจจะยาวจนถึงกลางหลัง เพื่อให้ช่างผมของโรงฝึก ทำผมในสไตล์โบราณได้ พวกเขาจะสระผมเพียงแค่ 1-2 อาทิตย์ครั้ง และชะโลมด้วยน้ำมัน ก่อนมัดให้เป็นทรง
สำหรับการฝึกซ้อมจะเป็นไปอย่างเข้มงวด ภายในโรงฝึกจะปกครองกันในระบบสูงต่ำที่เข้มข้นแบบรุ่นพี่รุ่นน้อง โดยมีเจ้าของโรงฝึกที่เป็นอดีตนักซูโม่ที่เกษียณตัวเองอยู่ในตำแหน่งสูงสุด ทำหน้าที่คล้ายกับพ่อในครอบครัว หรือที่เรียกกันว่า “โอยะคาตะ” รุ่นน้องจะต้องทำตามคำสั่งรุ่นพี่อย่างเคร่งครัด โดยเป็นทั้งผู้จัดหาอาหาร และทำความสะอาด
“พวกเขาเป็นเหมือนทหารรุ่นเยาว์ในการฝึกขึ้นพื้นฐาน พวกเขาต้องทำตั้งแต่ทำอาหาร ทำความสะอาด ปอกมันฝรั่ง ทุกคนต้องเรียนภาษาญี่ปุ่น ทุกคนต้องทำ” บัคตันกล่าว
Photo : wall.kabegami.com
นักซูโม่ในช่วงแรกจะยังไม่มีเงินเดือน เงื่อนไขที่จะพ้นจากข้อจำกัดนี้คือเอาชนะคู่แข่งให้มากกว่าแพ้เพื่อเลื่อนชั้นจากดิวิชั่น 6 ขึ้นไปดิวิชั่น 2 โดยเร็วที่สุดซึ่งอาจใช้เวลา 2-3 ปี แต่หากขึ้นไปได้ พวกเขาจะมีรายได้ขั้นต่ำต่อเดือนราว 370,000 บาทในดิวิชั่น 2 และอาจสูงถึง 840,000 บาทหากก้าวขึ้นไปถึงตำแหน่งโยโกซึนะ ซึ่งยังไม่รวมกับรายได้ที่อาจจะได้มาจากสปอนเซอร์ในอนาคต
4
นักซูโม่รุ่นเล็กยังถูกบังคับให้สวมยูคาตะแบบบางและสวมเกี๊ยะแม้จะเป็นฤดูหนาว พวกเขายังถูกห้ามขับรถ จากเหตุผลทางสรีระที่ทำให้จับพวงมาลัยไม่ถึง และการมีสถานะทางสัญลักษณ์ แต่ถ้าหากเป็นนักซูโม่เก่งๆก็จะมีคนขับรถให้
Photo : www.dw.com | Reuters/K.Kyung-Hoon
พวกเขายังถูกห้ามใช้โทรศัพท์มือถือและห้ามมีแฟน หากยังไม่สามารถไต่เต้าขึ้นไปอยู่ใน 2 ดิวิชั่นสูงสุดได้ และเนื่องจากผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโรงฝึก พวกเขาจึงไม่สามารถแต่งงานและออกไปอยู่ข้างนอกกับภรรยาได้จนกว่าจะไต่เต้าขึ้นไปอยู่ในดิวิชั่น 2 ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือถ้าหากแต่งงาน แล้วดันบาดเจ็บจนตกจากดิวิชั่น 2 พวกเขาจะต้องออกจากบ้านและกลับมาอยู่ที่โรงฝึกเหมือนเดิม
ด้วยมาตรฐานที่สูงลิ่วของซูโม่ ทำให้ครูฝึกจำเป็นต้องเข้มงวดกับลูกศิษย์ของพวกเขา
และโศกนาฎกรรมก็เกิดขึ้น เมื่อนักกีฬาในสังกัดทำไม่ได้ตามที่คาดหวัง
การลงโทษคือหนึ่งในการฝึก
25 ตุลาคม 2017 ฮารุมะฟุจิ แชมป์ซูโม่สูงสุดระดับ โยโกซึนะ ตกเป็นผู้ต้องหาทำร้ายร่างกาย ทาคาโนะอิวะ นักซูโม่รุ่นน้องด้วยขวดเบียร์ ขณะดื่มเหล้าที่บาร์แห่งหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็นการสั่งสอนเรื่องมารยาท หลังรุ่นน้องแอบดูโทรศัพท์ของเขา
Photo : tachiai.org
รายงานระบุว่า ทาคาโนะอิวะได้บาดเจ็บหนักถึงขั้นกะโหลกร้าว และจำเป็นต้องถอนตัวจากการแข่งขันที่จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ทำให้ตำรวจต้องเข้ามาสอบสวนในเรื่องนี้
“ในรายงานเบื้องต้นคาดกันว่าเขาถูกตีด้วยขวดเบียร์ และถูกต่อยราว 20-30 หมัดจากรุ่นใหญ่ในสมาคมซูโม่ คนที่มีอันดับสูงสุด มีการวางตัวที่สูงกว่า และไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ” เมอร์เรย์ จอห์นสัน นักวิจารณ์ทางโทรทัศน์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับซูโม่ และอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นกล่าวกับ ABC
“เมื่อทัวร์นาเมนต์เริ่มขึ้น นักซูโม่คนนี้แจ้งว่าเขาไม่ได้เข้าร่วมเพราะได้รับบาดเจ็บ และบอกว่าอาการบาดเจ็บนั้นคือกะโหลกร้าว และตอนที่สมาคมซูโม่เข้ามาและพูดว่า ‘เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้’ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความยุ่งเหยิง”
แม้หลังจากนั้น ฮารุมะฟูจิ จะออกมายอมรับผิดในเรื่องนี้ และถูกศาลจังหวัดทตโตริสั่งปรับเป็นจำนวนเงิน 500,000 เยน รวมไปถึงแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากวงการซูโม่ แต่สมาคมซูโม่ญี่ปุ่น ก็ถูกวิจารณ์ในแง่ลบอย่างหนัก ที่ไม่พยายามจัดการกับปัญหาความรุนแรงในกีฬานี้อย่างจริงจัง เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุอื้อฉาวในกีฬานี้
1
ปี 2010 โคโตมิตสึกิ ซึ่งเป็นนักซูโม่ระดับโอเซกิ (ตำแหน่งรองมาจากโยโกซึนะ ที่มีอยู่ราว 3-5 คน) ออกมายอมรับว่าเขามีส่วนกับการพนันเบสบอล และมีนิตยสารฉบับหนึ่งออกมาเปิดโปงว่า มีนักซูโม่ถูกข่มขู่จากแก๊งอาชญากรรม ให้จ่ายเงินเป็นจำนวนถึง 100 ล้านเยน เพื่อจะไม่แพร่งพรายในเรื่องนี้
หลังจากสมาคมเข้ามาสอบสวนก็พบว่ามีนักซูโม่ 29 รายที่เล่นพนันเบสบอล ในขณะที่อีก 36 คนข้องเกี่ยวกับการพนันทั้ง ไพ่นกกระจอก ไพ่ และพนันกอล์ฟ
Photo : www.japan-zone.com
เรื่องของโคโตมิตสึกิ เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังหัวหน้าโรงฝึกคิเสะ ออกมายอมรับว่าได้ให้ตั๋วการแข่งขันซูโม่กับสมาชิกระดับสูงของแก๊งยากูซ่า ซึ่งการเกี่ยวพันกับแก๊งอาชญากรรมถือเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับซูโม่ ทำให้สมาคมฯ สั่งแบนโรงฝึกนี้และปลดคิเสะออกจากตำแหน่ง
แต่เหตุการณ์ไหน คงจะไม่เลวร้ายกว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดกับ ทาคาชิ ไซโต นักซูโม่ฝึกหัดวัย 17 ปีที่เสียชีวิตจากการถูกลงโทษในเดือนมิถุนายน 2007
เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลนาโงยา ด้วยอาการฟกช้ำเต็มร่างกาย จุนอิจิ ฟุตาสึริว ครูฝึกและเจ้าของโรงฝึกอ้างว่ามาจากอุบัติเหตุในการฝึกซ้อม หลังจากนั้นไม่นานเด็กชายก็เสียชีวิต และผลการชันสูตรก็พบว่าอาการบาดเจ็บของเขาไม่ได้มาจากอุบัติเหตุ
1
Photo : english.kyodonews.net
หลังการสอบสวนพบว่าไซโต พยายามที่จะหนีออกจากโรงฝึก เพราะรู้สึกว่าการฝึกหนักเกินที่ร่างกายจะรับไหว เขาโดนจับได้โดยนักซูโม่อาชีพรายหนึ่ง ก่อนจะถูกส่งตัวให้ฟุตาสึริวลงโทษด้วยการเอาขวดเบียร์ตีไปที่หัว จากนั้นเจ้าของโรงฝึกยังสั่งให้ลูกศิษย์ เอาไม้เบสบอลฟาดต่อ จากผลดังกล่าวทำให้ ฟุตาสึริว และนักซูโม่อีก 3 คนถูกจับเข้าคุก
“มันมีเซนส์เกี่ยวกับซูโม่ว่าความรุนแรงในแบบนี้เป็นเรื่องที่รับได้ และเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกีฬา” จอห์น กันนิง นักวิจารณ์ด้านกีฬากล่าวกับ DW
“พวกเขามีเด็กที่ต้องต่อสู้ทุกวันในการฝึกซ้อมตอนเช้า ไม่มีเงิน ไม่มีเสรีภาพ และไม่มีทางออกกับการถูกข่มเหงที่ถูกสร้างขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ถ้าหัวหน้าโรงฝึกไม่ควบคุมลูกศิษย์ของเขาอย่างเข้มงวด หลังจากนั้นความรุนแรงจะกลายเป็นทางเดียวที่ใช้จัดการกับปัญหา”
1
“และต้องจำไว้ว่าหัวหน้าโรงฝึกซูโม่ในวันนี้คือนักซูโม่ในอดีต และเขาก็มีช่วงเวลาที่ยากลำบาก พวกเขาพูดว่านักซูโม่เด็กๆในวันนี้มีชีวิตที่ง่าย ดังนั้นแค่การตบตีในบางครั้ง ลงโทษทางร่างกายที่มากหน่อย จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรสำหรับพวกเขา”
หลับตาข้างเดียว
“ผมรู้สึกโกรธในความจริงที่ว่ามันไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลยในโลกของซูโม่ แล้วการตายของทาคาชิ จะมีความหมายอะไร?” มาโคโตะ พ่อของไซโตกล่าวกับ Kyodo news
Photo : english.kyodonews.net
ความรุนแรงถือเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาชนิดนี้มาอย่างยาวนาน แต่ที่ผ่านมาพวกเขาพยายามจัดการเรื่องนี้เป็นการภายใน ปี 2016 มีรายงานว่านักซูโม่คนหนึ่งได้รับเงินชดเชยถึง 32.4 ล้านเยน (ราว 9 ล้านบาท) หลังถูกลงโทษจนตาบอดไปข้างหนึ่ง
ฮาคุโฮะ แชมป์ซูโม่ระดับโยโกซึนะ เผยว่าเขาเคยได้รับ “ได้รับการเอ็นดู” หรือเป็นคำที่ใช้แทนการลงโทษอย่างรุนแรง ซึ่งบางครั้งอาจกินเวลาถึง 45 นาที ที่ทำให้เขายังจำไม่ลืมจนถึงทุกวันนี้
"คุณอาจเห็นว่าตอนนี้ผมมีความสุขดี แต่ตอนนั้นผมร้องไห้ทุกวัน 20 นาทีแรกของการลงโทษจะเจ็บมาก แต่หลังจากนั้นจะไม่ค่อยรู้สึกอะไรแล้ว แม้จะยังถูกเฆี่ยนอยู่ก็ตาม รุ่นพี่บอกผมว่า การถูกลงโทษนั้นดีต่อตัวผมเอง พอได้ฟังอย่างนั้นผมก็ร้องไห้อีกครั้ง" ฮาคุโฮะกล่าวกับ BBC
Photo : Ronin Dave
การลงโทษได้กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับกีฬาที่มีวิธีการฝึกที่เข้มงวดอย่างซูโม่ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บหนัก คนในสมาคมก็จะช่วยกันปกปิด เพื่อรักษาเกียรติภูมิของกีฬานี้
“ผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่คนญี่ปุ่นชอบซูโม่ มันเป็นการหลับตาข้างเดียว” จอห์นสันกล่าวกับ ABC
“พวกเขารู้ว่ามันไม่ได้ใสสะอาดไปหมดเพราะมันเหมือนกับค่ายทหาร คนเหล่านี้ต่างทำให้ขายหน้า (เสียเกียรติ) และนั่นคือวิธีที่พวกเขาฝึกมา เมื่อพวกเขาขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่พวกเขาควรได้รับการเคารพอย่างสูงสุดจากคนที่ต่ำกว่า และถ้าพวกเขาไม่ได้รับการเคารพ พวกเขาก็จะมีปฎิกริยากับสิ่งที่เกิดขึ้น”
“ใช่มันคือเรื่องภายในองค์กร และเป็นระบบศักดินามากๆ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมคนถึงชอบซูโม่ มันไม่เหมือนกับกีฬาอื่น”
Photo : www.asahi.com
อย่างไรก็ดี การที่คดีของฮารุมะฟุจิ ถูกเปิดโปงออกมา ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับสวัสดิภาพของนักกีฬาซูโม่ในอนาคต เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้พยายามซุกปัญหาไว้ใต้พรมอีกแล้ว
การที่ทาคาโนะฮานะ ครูฝึกของทาคาโนะอิวะ ยอมละเมิดกฎเหล็กด้วยการเปิดเผยเรื่องนี้ แก่สื่อมวลชน แทนที่จะจัดการกันเองภายในเหมือนที่เคยเป็นมา แสดงให้เห็นว่าเขาก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการในอดีต
ราวกับว่าพวกเขาหวังจะให้เคสนี้เป็นเคสสุดท้ายที่เกิดขึ้นในวงการซูโม่เสียที
บทความโดย มฤคย์ ตันนิยม
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา