หมู่สัตว์ประเภทที่ ๑ คือ หมู่สัตว์ผู้มีกายต่างกัน มีสัญญาคือความรู้สึกนึกคิดต่างกัน เช่น พวกมนุษย์ เปรต เทวดาบางพวก
ประเภทที่ ๒ สัตว์จำพวกหนึ่ง แม้รูปกายจะแตกต่างกัน แต่มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพผู้นับเนื่องในพวกพรหมซึ่งเกิดในภูมิปฐมฌานเป็นต้น
ประเภทที่ ๓ เป็นหมู่สัตว์ที่มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกอาภัสสราพรหมเป็นต้น
ประเภทที่ ๔ คือหมู่สัตว์ที่มีกายอย่างเดียวกัน และมีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่นพวกเทพเหล่าสุภกิณหา แต่มีความประณีตไม่เหมือนกัน
ประเภทที่ ๕ คือหมู่สัตว์ที่ไม่มีสัญญา ไม่รู้สึกเสวยอารมณ์ เช่น พวกเทพเหล่าอสัญญีสัตว์ ซึ่งได้บรรลุจตุตถฌาน
ประเภทที่ ๖ เป็นหมู่สัตว์จำพวกล่วงรูปสัญญา เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ เพราะในขณะที่ท่านบำเพ็ญกัมมัฏฐานอยู่นั้น ท่านสามารถทำปฏิฆสัญญาให้ดับไปได้ และน้อมเอาอากาสกสิณเป็นอารมณ์ว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เมื่อตายไปจึงมาอุบัติในอรูปพรหมแห่งนี้
ประเภทที่ ๗ คือหมู่สัตว์ที่ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ แล้วเพ่งวิญญาณที่หาที่สุดมิได้ จนได้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ
ประเภทที่ ๘ หมู่สัตว์พวกหนึ่ง ที่ก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะได้แล้ว เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ
และประเภทสุดท้าย ประเภทที่ ๙ คือ หมู่สัตว์จำพวกหนึ่ง ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะได้แล้ว เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ซึ่งเป็นอรูปฌานที่ ๔ เป็นสถานที่อยู่ของหมู่สัตว์ซึ่งละเอียดที่สุด และประณีตที่สุดในภพสาม แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่พ้นจากกฏของไตรลักษณ์ เพราะยังไม่เข้าถึงพระนิพพาน