30 ส.ค. 2020 เวลา 23:00 • การศึกษา
โลกุตตรภูมิ
ความเมตตาปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมโลก เป็นทางมาแห่งสันติภาพอันไพบูลย์ เป็นคุณธรรมพื้นฐานที่จะทำให้มนุษยชาติอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่มีการแก่งแย่ง รบราฆ่าฟันกัน อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เมตตาธรรมจะช่วยค้ำจุนโลก และเปลี่ยนแปลงกระแสโลกที่กำลังร้อนแรงด้วยไฟกิเลส ให้เป็นกระแสแห่งความดี ที่เกิดจากใจที่ใสบริสุทธิ์ รุกเงียบไปในบรรยากาศ มวลมนุษยชาติจะปรองดองกัน มีทรัพยากรอะไรที่พอจะแบ่งปันกันได้ ก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไป โดยถือว่าสมบัติทั้งหลายเป็นของกลางของโลก โลกทั้งโลกก็คือบ้านหลังใหญ่ ที่มีมวลมนุษย์เป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกัน พวกเราทุกคนคือหมู่ญาติเพื่อนพ้องพี่น้องกัน ที่ยังต้องเดินทางไกลในสังสารวัฏไปสู่ฝั่งแห่งนิพพานด้วยกัน
* มีวาระพระบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน มหาสีหนาทสูตร ว่า
 
     "ดูก่อนสารีบุตร เราตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งนิพพาน ทางอันยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน และปฏิปทาอันยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน อนึ่ง สัตว์ปฏิบัติประการใด ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เราตถาคตย่อมรู้ชัด ซึ่งประการนั้นด้วย ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ ด้วยใจอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น  ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้นกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว"
การจะไปสู่อายตนิพพานนั้น นอกจากจะอาศัยกำลังสมาธิ(Meditation)ที่แก่กล้าแล้ว ต้องมีบุญบารมีที่มากพอเป็นเครื่องสนับสนุนอีกด้วย เพราะฉะนั้น พระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย ท่านจึงเพียรพยายามที่จะข้ามพ้นวัฏฏะด้วยการสร้างบารมีอย่างยิ่งยวด และในระหว่างนั้นก็หมั่นฝึกใจหยุดใจนิ่งเรื่อยไป เมื่ออินทรีย์แก่กล้า ประกอบกับอานุภาพของบุญที่สั่งสมมาข้ามภพข้ามชาติ ดวงบุญบารมีที่ได้บ่มมาอย่างเต็มที่ ก็ดึงดูดท่านเข้าสู่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ได้พบกับอริยมรรค เส้นทางสู่ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง สามารถทำกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปได้ แล้วทรงประกาศชัยให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้รับรู้ว่า พระองค์ทรงรู้ชัดซึ่งพระนิพพาน และทรงแนะนำปฏิปทาที่จะไปสู่อายตนนิพพาน
ในครั้งนี้ หลวงพ่อจะพรรณนาถึงโลกุตตรภูมิ พร้อมทั้งข้อปฏิบัติซึ่งเป็นหนทางนำไปสู่โลกุตตรภูมิ คือพระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุด พวกเราทั้งหลายควรจะได้ศึกษากันเอาไว้ เพราะสิ่งสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนาของเราก็อยู่ตรงนี้ คือ ต้องทำพระนิพพานให้แจ้ง การที่พระบรมครูของเรา ทรงมีดวงใจมากไปด้วยพระวิริยะอุตสาหะ สร้างบารมีมาเพื่อจะได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ นับเป็นเวลานาน ๒๐ อสงไขยกับแสนมหากัปก็ดี การที่พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเวไนยสัตว์ โดยมิได้ทรงอาทรถึงความยากลำบาก จนกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพานก็ดี ก็เพื่อที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่อายตนนิพพาน
พระองค์ทรงได้ศึกษา และได้ยินได้ฟังความสำคัญของพระนิพพานมาข้ามภพข้ามชาติ ภพชาตินี้ซึ่งเป็นภพชาติสุดท้ายจึงตัดสินพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยว ที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงพระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุขนี้ให้ได้ เพราะฉะนั้น พวกเราทุกคนที่เกิดมาในชาตินี้ นับว่าเป็นผู้โชคดีมาก เป็นผู้มีบุญลาภอันประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนา อย่าไปน้อยเนื้อตํ่าใจว่า เรามีวาสนาบารมีน้อย ยังเป็นคนที่มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ ไม่เข้าใจพุทธวจนะ ไม่รู้ธรรมะอันลึกซึ้งของพระพุทธองค์ คงไม่สามารถรู้เรื่องพระนิพพาน หรือเข้าถึงพระนิพพานอันยอดเยี่ยมนี้ได้ และอย่าคิดฟุ้งซ่านประกอบด้วยทิฐิมานะว่า “พระนิพพานนะหรือ ข้าพเจ้ารู้แล้ว เป็นสภาวะอันสงบเย็น เพียงแต่ทำใจให้สงบชั่วครู่ชั่วยาม ทำใจให้รู้เท่าทันธรรมชาติที่ว่างเปล่า ไม่มีตัวตน ก็จัดว่าเป็นพระนิพพานแล้ว”
ความหมายนัยของพระนิพพาน ไม่ได้ตื้นอย่างนั้น แต่ลึกซึ้งมากทีเดียว  รู้ได้ยาก เห็นได้ยาก เพราะพระนิพพานนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า "เป็นธรรมชาติที่รู้เห็นได้ยาก สัมผัสได้ยาก" ต้องลงมือปฏิบัติกันอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ถึงจะรู้จักพระนิพพานได้
ความแจ่มชัดในพระนิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงอุปมาไว้ว่า เปรียบเสมือนสระโบกขรณี มีนํ้าอันใสสะอาด เย็นใสตลอดไป มีท่าขึ้นลงราบเรียบน่ารื่นรมย์ และในที่ไม่ไกลจากสระโบกขรณี ปรากฏว่ามีแนวป่าอันทึบบดบังอยู่ ต่อมามีชายคนหนึ่งซึ่งเนื้อตัวถูกความร้อนแผดเผาครอบงำ มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า หิวกระหาย เดินทางมุ่งหน้ามาที่สระโบกขรณีนั้น ตามคำของบุรุษผู้มีตาดี และมีใจประกอบด้วยมหากรุณากล่าวแนะนำว่า “พ่อมหาจำเริญ ท่านจงเดินหลีกออกจากหนทางนั้นเสีย แล้วขึ้นสู่หนทางนี้ จักมาถึงสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ในไม่ช้า” เมื่อชายคนนั้นได้ทำตามคำแนะนำ โดยเดินลงสู่สระโบกขรณี ได้อาบและดื่มน้ำระงับความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อยและความร้อนหมดแล้ว ก็ขึ้นไปนั่งหรือนอนในแนวป่า เสวยสุขอย่างเดียว นี่ก็หมายความว่าพระพุทธองค์นอกจากทรงรู้เห็นพระนิพพาน ซึ่งรู้เห็นได้ยากมากแล้ว ยังสามารถแนะนำให้คนอื่นรู้เห็นพระนิพพานตามพระองค์ไปด้วย
สำหรับตัวอย่างของพระอริยสาวก ที่ได้ทรงให้ทัศนะเกี่ยวกับพระนิพพานไว้ ก็มีอยู่ด้วยกันหลายรูป อย่างเช่นในสมัยหนึ่ง พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร กำลังปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่บ้านนาลกะคามในมคธรัฐ วันหนึ่ง มีปริพาชกนักบวชนอกศาสนามีนามว่า ชัมพุขาทกะ ได้เข้าไปหาท่านถึงที่อยู่ เรียนถามถึงความสงสัยที่ค้างใจของตนมานานว่า
“ท่านสารีบุตรผู้เจริญ ที่เรียกว่าพระนิพพานนั้นน่ะ พระนิพพานเป็นอย่างไร” พระสารีบุตรมีเถรวาทีตอบอย่างง่ายๆ และสั้นๆ ว่า “ดูก่อนปริพาชก  ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี่แหละเรียกว่า พระนิพพาน”  ชัมพุขาทกปริพาชกยังไม่หายสงสัย จึงเรียนถามต่อไปว่า “ดูก่อนท่านสารีบุตร ก็มรรคาหรือปฏิปทาเพื่อที่จะกระทำพระนิพพานให้แจ้งมีอยู่บ้างไหม”
พระสารีบุตรตอบว่า “มีอยู่ปริพาชก อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อริยมรรคนี่แหละเป็นมรรคา เป็นปฏิปทาเครื่องดำเนินเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง”
ชัมพุขาทกปริพาชก ฟังดังนี้แล้ว ก็กล่าวสรรเสริญว่า “ท่านพระสารีบุตร มรรคายอดเยี่ยม ปฏิปทาดีน่าเลื่อมใส ในการที่จะกระทำพระนิพพานให้แจ้ง และเป็นข้อปฏิบัติอันเพียงพอในการที่จะไม่เกิดความประมาท” ครั้นกล่าวสรรเสริญแล้ว ชัมพุขาทกปริพาชกก็แสดงความเคารพต่อพระเถระผู้ยิ่งด้วยปัญญา จากนั้นก็ลาจากไป
เนื่องจากเรื่องของพระนิพพานนี้ เป็นเป้าหมายหลักในทางพระพุทธศาสนา จัดอยู่ในโลกุตตรภูมิ เป็นภูมิที่อยู่เหนือโลกพ้นโลก คือหลุดจากวัฏจักรของภพ ๓  เนื้อหาสาระเกี่ยวกับพระนิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฏก จึงปรากฏในพระสูตรต่างๆ เป็นอันมาก และทรงแสดงไว้ในมุมมองที่หลากหลาย เช่นตรัสว่า นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา  พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสว่าพระนิพพานเป็นเยี่ยม ส่วนว่าจะเยี่ยมอย่างไรนั้น หลวงพ่อจะอธิบายคราวต่อไป ให้ทุกท่านหมั่นปฏิบัติธรรม เอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นทางเสด็จไปสู่อายตนนิพพาน หากทำใจให้หยุดนิ่งได้สนิทที่ศูนย์กลางกาย ก็จะเห็นดวงธรรมใสสว่าง และเห็นกายภายในไปตามลำดับ ไม่ช้าก็จะเข้าถึงพระธรรมกาย เมื่อได้เข้าถึงพระธรรมกายแล้ว ต้องศึกษาวิชชาธรรมกาย จึงจะเข้าใจพระนิพพานได้แจ่มแจ้ง เมื่อนั้นเราจะรู้จักโลกุตตรภูมิ และวิมุตติรส คือรสแห่งความหลุดพ้นที่เต็มไปด้วยความสุข ที่ไม่มีทุกข์เจือปนเลย ดังนั้นให้หมั่นหยุดนิ่งกันให้ดีกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
* มก. เล่ม ๑๘ หน้า ๓๗
โฆษณา