29 ส.ค. 2020 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
Hatari พัดลมแบรนด์ไทย ยอดขาย 6 พันล้าน
บ้านบางบ้าน ห้องบางห้องของใครบางคน อาจไม่มีทีวี
อาจไม่มีตู้เย็น
อาจไม่มีเครื่องซักผ้า
อาจไม่มีไมโครเวฟ
หรืออาจไม่มีแอร์
กลับกัน.. เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เกือบทุกบ้าน ทุกห้องในประเทศไทยต้องมีและขาดไม่ได้เลยคือ “พัดลม”
เพราะประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ซึ่งยังเป็นฤดูที่ยาวนานสุดในช่วงปีอีกด้วย
โดยบางคนอาจไม่มีกำลังซื้อมากพอที่จะติดตั้งแอร์ หรือเปิดแอร์ได้ทุกวัน
ดังนั้น ตัวพัดลมที่มีราคาไม่แพง และกินไฟฟ้าไม่มาก ซึ่งสามารถเปิดพัดลมได้ตลอดทั้งวัน และทุกวัน
จึงตอบโจทย์วิถีชีวิตคนไทยส่วนใหญ่
1
หรือแม้แต่บางคน ก็จะเปิดพัดลม และแอร์ควบคู่กันไป
โดยลดความเย็นของแอร์ลง เพื่อประหยัดค่าไฟ
ทั้งนี้ ยี่ห้อพัดลมที่เราเห็นเป็นส่วนใหญ่ก็ไม่พ้น “Hatari”
โดยปัจจุบัน Hatari เป็นแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดพัดลมเป็นอันดับ 1 ในเมืองไทย
และเป็นผู้นำในตลาดนี้มานานมากกว่า 20 ปี
1
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2533
คุณจุน วนวิทย์ เจ้าของร้านซ่อมพัดลม ได้ก่อตั้ง บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด ขึ้นมา
เพื่อดำเนินธุรกิจรับจ้างผลิตพัดลมให้กับแบรนด์ญี่ปุ่นต่างๆ
แต่ต่อมา เมื่อเขายิ่งคลุกคลีกับธุรกิจพัดลมมากเท่าไร
คุณจุน วนวิทย์ ก็ยิ่งเล็งเห็นถึงโอกาส และความก้าวหน้าในตลาดพัดลม
จึงตัดสินใจสร้างแบรนด์พัดลมของตัวเองขึ้นมา โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า Hatari
ซึ่ง Hatari จะมีโรงงานผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ จนประกอบออกมาเป็นพัดลม
และการผลิตพัดลมจะใช้ชิ้นส่วนของตัวเองถึง 90%
ด้วยคุณภาพของสินค้า ความทนทาน และความหลากหลายของประเภทสินค้าของ Hatari
Hatari จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว จากความนิยมในลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ขยายจนเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ
นอกจากเรื่องคุณภาพของสินค้าแล้ว
อีกกลยุทธ์เด่นของ Hatari ที่สร้างการรับรู้ในวงกว้าง และสร้างการจดจำแบรนด์แก่ผู้คนได้เป็นอย่างดี
คือ “โฆษณา”
โฆษณาหลายตัวของ Hatari ที่ปล่อยออกมา ไม่ว่าจะบนทีวี หรือออนไลน์ เช่น YouTube
จะมีคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ และแฝงไปด้วยความกวน
จนสามารถเรียกความสนใจ และเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้
ถึงขนาดบางคนต้องกดดูโฆษณาซ้ำอีกรอบ หากรับชมบนอินเทอร์เน็ต
1
ซึ่งในโฆษณาจะมีคอนเซ็ปต์หลักๆ คือ สร้างสถานการณ์ หรือ ตัวละครแบบตลกๆ ขึ้นมา
แล้วมีพัดลม Hatari มาช่วยแก้ปัญหาให้สถานการณ์ หรือสนองความต้องการของตัวละครนั้นๆ
โดยตัวอย่างโฆษณายอดนิยมของ Hatari ก็อย่างเช่น
โฆษณา “เย็นทั่วถึงใจ ด้วยหน้ากว้าง 18 นิ้ว ของ Hatari ใหญ่กว่า แรงกว่า..”
โฆษณา “ทุกคนอยู่ในความสงบ! พ่อปู่มีอะไรจะพูด! ท่านบอกให้ดูเพราะ ของมันแรง
ของอะไร ? อ๋อ ฮาตาริแอร์คูลเลอร์..”
หรือโฆษณาชิ้นล่าสุดของ Hatari ซึ่งเป็นโทนเพลงแร็ป
“สำหรับบ้านและร้านอาหารนะครับ เอ่อ เราขอแนะนำเป็นตัวนี้ครับ เย็นแน่ๆ ฮาตาริ AC Pro ครับ
เดี๋ยวก่อนนะ AC Pro นี่ที่มันเป็นผลไม้ หวานๆ แดงๆ ปะ.. นั่นมันแตงโม
อ๋อ.. แตงโมที่มันเป็นสารที่มันเป็นกรด.. นั่นอะมิโน
อ๋อ.. ที่เล่นภาพในสมัยก่อน.. นั่นวิดีโอ
อ๋อ.. เครื่องแต่งกายประจำชาติญี่ปุ่น.. นั่นกิโมโน
แล้วนี่อะไร.. นี่ AC Pro”
1
แล้วเจ้าตลาดพัดลมอย่าง Hatari มีรายได้มากแค่ไหน ?
บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด
ผู้จัดจำหน่ายพัดลม Hatari ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงให้บริการหลังการขาย
ปี 2562 มีรายได้ 6,521 ล้านบาท กำไร 59 ล้านบาท
บริษัท วนวิทย์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
โรงงานผลิตพัดลม Hatari และ OEM ให้กับแบรนด์อื่นด้วย
ปี 2562 มีรายได้ 4,858 ล้านบาท กำไร 402 ล้านบาท
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ Hatari จะมี
พัดลมเคลื่อนที่, พัดลมติดตั้ง, พัดลมอุตสาหกรรม, พัดลมระบายอากาศ, พัดลมไอเย็น และเครื่องฟอกอากาศ
รวมไปถึงมีการจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่ เช่น ใบพัด, ฝาครอบใบพัด, แผ่นกรอง, เจลทำความเย็น เป็นต้น
ทั้งนี้ คุณจุน วนวิทย์ เคยถูกจัดอันดับโดย Forbes Thailand ให้เป็นบุคคลที่รวยเป็นอันดับที่ 49 ของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2559 ด้วยทรัพย์สินกว่า 14,810 ล้านบาท
นอกจากธุรกิจพัดลมแล้ว Hatari ยังขยายไปทำธุรกิจอื่นๆ ด้วย เช่น การจัดตั้ง บริษัท ฮาตาริ ไวร์เลส
เพื่อดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาซอฟต์แวร์ รวมไปถึงขาย-ให้เช่าระบบอุปกรณ์สื่อสาร
บริษัท ฮาตาริ ไวร์เลส จำกัด
ปี 2562 มีรายได้ 1,272 ล้านบาท กำไร 18 ล้านบาท
จะสังเกตได้ว่าการสร้างอาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่ หรือการเป็นเจ้าตลาดทางธุรกิจนั้น
หลายๆ ครั้ง ก็มาจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ
1
โดยที่ผู้ประกอบการเหล่านั้นค่อยๆ เรียนรู้ทักษะ เก็บเกี่ยวประสบการณ์
เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการ ให้ลูกค้าประทับใจ
จนกิจการค่อยๆ เติบโตขึ้นตามลำดับในที่สุด
เหมือนอย่าง Hatari ที่เริ่มต้นจากร้านซ่อมพัดลม และต่อมารับจ้างผลิตให้คนอื่น
จนเมื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างเต็มที่แล้ว
ก็หันมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง และพัฒนาสินค้าจนเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายๆ คน
ซึ่งสุดท้ายก็ก่อร่าง กลายมาเป็นอาณาจักรพัดลมได้สำเร็จ..
โฆษณา