Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Woravith Chansuvarn
•
ติดตาม
30 ส.ค. 2020 เวลา 09:28 • การศึกษา
การศึกษาที่เกี่ยวกับเคมีสิงที่หลีกหนีไม่พ้นคือการทดลอง และการทดลองก็จำเป็นต้องใช้สารเคมี
ปริมาณสารเคมีที่ใช้ในการเกิดปฏิกิริยาหนึ่งๆ นั้น ต้องมีเหมาะสมและถูกต้องตามหลักปริมาณสัมพันธ์
สิ่งที่เราควรศึกษาให้ลึกซึ้งก็คือ ความเข้มข้นของสารละลาย
ความเข้มข้น (concentration) ของสารละลาย คือ การบอกปริมาณตัวละลาย (solute) ในตัวทำละลาย (solvent) ที่มีปริมาตรแน่นอน
หน่วยความเข้มข้นสารละลาย
หน่วยร้อยละ (%) คือ ความเข้มข้นของสารละลายในหน่วยร้อยละ
1) ร้อยละโดยน้ำหนักต่อน้ำหนัก (%weight per weight; %w/w) หรืออาจเรียกว่า ร้อยละโดยน้ำหนัก หมายถึง น้ำหนักเป็นกรัมของตัวละลายในสารละลาย 100 g เช่น NaCl 35%w/w มีความหมายว่า สารละลาย 100 g จะประกอบด้วย NaCl 35 g และน้ำ 65 g
2) ร้อยละโดยน้ำหนักต่อปริมาตร (%weight per volume; %w/v) หมายถึง น้ำหนักของตัวละลายเป็นกรัมในสารละลายปริมาตร 100 mL เช่น NaCl 5%w/v มีความหมายว่า สารละลาย 100 mL มี NaCl ละลายอยู่ 5 g
3) ร้อยละโดยปริมาตรต่อปริมาตร (%volume per volume; %v/v) หรืออาจเรียกว่า ร้อยละโดยปริมาตร หมายถึง ปริมาตรของตัวละลายหน่วย mL ในสารละลายปริมาตร 100 mL มักใช้กับสารละลายที่เกิดจากการละลายของเหลวในของเหลว เช่น เอทานอล (C2H5OH) 10%v/v ในน้ำ มีความหมายว่า สารละลายเอทานอล 100 mL มีเอทานอลละลายอยู่ 10 mL
หน่วยร้อยละ (%)
หน่วยโมลาริตี (molarity; M) หรือเรียกว่า โมลาร์ (molar) คือ จำนวนโมลของตัวละลายในสารละลายปริมาตร 1 L เช่น NaOH 0.50 mol/L มีความหมายว่า ในสารละลาย 1 L มี NaOH ละลายอยู่ 0.50 mol
หน่วยโมลาริตี
หน่วยนอร์แมลิตี (normality; N) หรือเรียกว่า นอร์แมล (normal) คือ จำนวนกรัมสมมูล (geq.wt.) ของตัวละลายในสารละลายปริมาตร 1 L เช่น สารละลายกรดไนทริก (HNO3) 1.0 N มีความหมายว่า ในสารละลายปริมาตร 1 L มีกรดไนทริกละลายอยู่ 1 กรัมสมมูล
หน่วยนอร์แมลิตี
น้ำหนักกรัมสมมูล
หน่วยส่วนในล้านส่วน (part per million; ppm) คือ น้ำหนักตัวละลายในหนึ่งล้านส่วนน้ำหนักของสารละลาย โดยหน่วยนี้ใช้กับระบบสารละลายที่มีปริมาณตัวละลายน้อยมาก นิยมเรียกอย่างย่อว่า พีพีเอ็ม (ppm) รูปแบบหน่วยส่วนในล้านส่วนที่นิยมใช้ในรายงานวิจัย คือ mg/L, µg/mL, mg/kg และ µg/g เป็นต้น เช่น Zn2+ 10 ppm หมายความว่าในสารละลาย 1 L มี Zn2+ ละลายอยู่ 10 mg
หน่วยส่วนในล้านส่วน
อัตราส่วนเจือจาง (dilution ratio) คือ อัตราส่วนโดยปริมาตรระหว่างสารสองชนิด หรือมากกว่าสองชนิด โดยระบุอัตราส่วนเป็นตัวเลขอยู่ในวงเล็บและคั่นด้วยเครื่องหมายทวิภาค (:) อัตราส่วนเจือจางนิยมใช้ในสารละลายกรดและเบสในน้ำ เลขตัวแรกแสดงถึงปริมาตรของกรดหรือเบส ส่วนตัวเลขหลังแสดงถึงปริมาตรของน้ำที่ใช้เจือจาง เช่น กรด HCl (1:2) หมายถึง ในสารละลายกรด HCl 3 ส่วน ประกอบด้วยกรด HCl เข้มข้น 1 ส่วน และมีน้ำ 2 ส่วน หรืออาจกล่าวได้ว่า กรด HCl เข้มข้น 1 หน่วยปริมาตร ต่อน้ำ 2 หน่วยปริมาตร
อัตราส่วนเจือจาง
บันทึก
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย