30 ส.ค. 2020 เวลา 18:26 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สรุปสาระสำคัญ กม.สินทรัพย์ดิจิทัล
ช่วงนี้ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในไทยค่อนข้างคึกคัก (แม้ว่าราคาจะเหวี่ยงแรงก็เถอะ) ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายคริปโทรายใหม่ๆ ก็เริ่มเปิดบริการ และยังมีอีกหลายรายที่กำลังจะทยอยตามมา
วันนี้ เลดี้ฯ เลยถือโอกาสชวนเพื่อนๆ ที่สนใจเกี่ยวกับคริปโท ไปเริ่มต้นทำความรู้จักกับกฎหมาย ที่ไทยใช้กำกับดูแลการประกอบธุรกิจด้านคริปโทเคอร์เรนซี หรือใครที่รู้จักแล้วก็อาจจะได้ทบทวนอีกครั้ง
หน่วยงานที่กำกับดูแลวงการคริปโท คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.ซึ่งจะกำกับผู้ให้บริการเทรดคริปโท , ผู้ที่ให้บริการระบบเพื่อออกโทเคนดิจิทัล เพื่อให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ป้องกันการฟอกเงิน และที่สำคัญก็เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุนนั่นเองค่ะ
โดยเฉพาะในแง่ของความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ก.ล.ต.เป็นห่วงผู้ลงทุนอยู่มากทีเดียว ยิ่งหลังๆ มีโครงการหลอกลวงออกมามาก เอะอะก็อ้างเทคโนโลยีบล็อกเชน เอไอ การันตีเงินลงทุน ฯลฯ (เลดี้ฯ เขียนกี่ครั้งๆ ผ่านมาปีสองปี ก็ยังคิดว่าใหม่นะ ตราบใดที่คนทั่วไปยังไม่รู้จัก เข้าถึง และใช้งานได้อย่างง่ายดายในชีวิตประจำวัน)
แต่อย่างน้อยเราก็สบายใจได้ในระดับหนึ่งว่า หากอยากจะลองเทรดหรือลงทุนดูบ้าง ในฐานะสินทรัพย์ทางเลือก ก็ยังมีหน่วยงานกำกับดูแลอยู่ ไม่ใช่ว่าเราไปเทรดกับผู้ให้บริการที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับ แบบนั้นเสี่ยงสูงถึงสูงมากแน่ๆ
*พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
กฎหมายที่ใช้กำกับดูแล มีชื่อเรียกว่า "พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561" ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่มีกฎหมายออกมากำกับ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2561 หากนับถึงวันที่เขียนต้นฉบับนี้ (ส.ค.2563) ก็ผ่านมาได้ 2 ปีเศษแล้ว หากยังพอจำกันได้ในช่วง 2 ปีก่อน คำว่า ICO บล็อกเชน เฟื่องฟูมาก ซึ่งกฎหมายก็ออกมาในช่วงนั้นค่ะ
*สินทรัพย์ดิจิทัล = คริปโทเคอร์เรนซี และ โทเคนดิจิทัล
คำนิยามของ สินทรัพย์ดิจิทัล (digita asset) ภายใต้กฎหมายนี้ หมายถึง คริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล
"คริปโทเคอร์เรนซี" คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็น "สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน" สินค้า บริการ สินทรัพย์ดิจิทัลอื่นหรือสิทธิอื่นใด โดยสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้หากผู้ใช้ยอมรับ ยกตัวอย่าง คริปโทเคอร์เรนซี ที่เราที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น บิตคอยน์ อีเธอเรียม เป็นต้น
"โทเคนดิจิทัล" คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อ "กำหนดสิทธิ" ของบุคคลในการร่วมลงทุน (investment token) หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและ บริการหรือสิทธิอื่นๆ (utility token) ตามที่ได้ตกลงกับผู้ออกโทเคน
สำหรับโทเคนดิจิทัลนั้น ยังไม่มีตัวอย่าง เพราะนับตั้งแต่มีกฎหมายคลอดออกมา ยังไม่มีบริษัทใดที่เสนอขายโทเคนเลย ไม่ว่าจะเป็น investment token หรือ utility token แต่เลดี้ฯ เชื่อว่าภายในปีนี้ก็น่าจะมีโอกาสได้เห็นตัวแรก เพราะทุกอย่างพร้อมแล้วทั้งกฎหมาย ทั้งผู้ให้บริการระบบเสนอขาย และผู้ที่อยากจะออกโทเคน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีไปปรึกษา ก.ล.ต.อยู่เรื่อยๆ ก็ต้องติดตามกันว่าจะเป็นช่วงใด
*ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 3 ประเภท Exchange /Broker /Dealer
เมื่อรู้จักแล้วว่า "สินทรัพย์ดิจิทัล" ครอบคลุมถึงอะไรบ้าง คราวนี้เรามารู้จัก "ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล" มีด้วยกัน 3 ประเภท
1.ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) หมายถึง ศูนย์กลางเพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญาให้ หรือการจัดระบบ หรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ซึ่งประสงค์จะซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถจับคู่กันได้
ปัจจุบัน ผ่านมา 2 ปีนับตั้งแต่มีกฎหมายบังคับใช้ ประเทศไทยมี 7 บริษัทที่เป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ (1) BITKUB (2) SatangPro (3) Huobi (4)ERX (5) Zipmex ส่วนรายที่ 6 และ 7 เพิ่งได้ใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังคือ Upbit และ Z.comEX ขณะนี้ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ (ณ ส.ค.63)
2.นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) หมายถึง บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่า พร้อมจะให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทน เพื่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่บุคคลอื่น
ปัจจุบัน ในไทยมี 5 บริษัท (1) CoinsTH (2) Bitazza (3) KULAP (4) Upbit และ (5) Z.comEX โดยรายที่ 3-5 เพิ่งได้ใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังขณะนี้ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ (ณ ส.ค.63)
3.ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) หมายถึง บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่า พร้อมจะให้บริการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในนามของตนเอง โดยกระทำนอกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ปัจจุบัน มี CoinsTH รายเดียว
*ผู้ประกอบวิชาชีพ ICO Portal
นอกจากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 3 ประเภทดังกล่าวแล้ว ยังมีผู้ประกอบธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล” หรือ ICO Portal ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการระบบเพื่อการเสนอขายโทเคนดิจิทัล เป็นที่ปรึกษาในการเสนอขายโทเคนดิจิทัล
ถ้าบริษัทไหนต้องการออกโทเคน ก็ต้องมาติดต่อขอคำปรึกษากับบริษัทที่เป็น ICO Portal จากนั้น ICO Portal ก็จะประเมินแผนธุรกิจ ช่วยพิจารณาแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคน ก่อนที่จะไปยื่นกับ ก.ล.ต.
ปัจจุบัน ในไทยมี 3 บริษัทที่เป็น ICO Portal (1) Longroot (2) T-BOX (3) SE Digital ส่วนบริษัทที่ (4) BiTherb ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ
อีกเรื่องที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ ก็คือกฎหมายนี้กำหนดให้ "ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล" และ "ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล" เป็น "สถาบันการเงิน" ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทั้งนี้ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบมิให้มีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นช่องทางในการฟอกเงิน หรือสนับสนุนการก่ออาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย
 
จากที่กล่าวไปข้างต้น เวลาเราจะเปิดบัญชีซื้อขายกับผู้ให้บริกาที่เป็น "สถาบันการเงิน" ทำให้เราจะต้องผ่านด่านของการทำความรู้จักตัวตน ตามขั้นตอนของผู้ให้บริการอย่างเข้มงวด แต่ดีหน่อยคือ เปิดพอร์ตได้ง่ายในเวลาไม่กี่นาที ทำได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ
 
ดังนั้น สบายใจได้ว่าเราสามารถเทรดบิตคอยน์ หรือเหรียญคริปโทต่างๆ ได้ เหมือนกันกับที่เราเทรดหุ้นในกระดาน SET เพียงแต่ฝั่งของคริปโทจะเทรดกันตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ไม่มีพักครึ่ง ไม่มีวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ เหมือนตลาดหุ้น แถมรับเงินได้แบบ T+0 วินาที เจ็บจริง จนจริง รวยจริง ได้ในแค่เสี้ยววินาที ไม่มีพักเบรกหายใจค่ะ
โฆษณา