31 ส.ค. 2020 เวลา 05:20 • ประวัติศาสตร์
“เกรตา ทุนเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กหญิงผู้รักโลก”
หลายคนน่าจะคุ้นกับชื่อของ “เกรตา ทุนเบิร์ก (Greta Thunberg)” เด็กหญิงผู้มีบทบาทเคลื่อนไหวในการรณรงค์ให้ผู้นำประเทศต่างๆ หันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม
ได้มีบทความมากมายเขียนเกี่ยวกับเกรตา และการที่ผมเขียนเรื่องของเธอ ก็อาจจะนับว่าสายไป แต่ผมก็ยังอยากเขียนเกี่ยวกับเธอ และบางที นี่อาจจะเป็นบทความที่ยาวที่สุดที่ผมเคยเขียนก็เป็นได้
บทความนี้จะเป็นการเล่าเรื่องของเด็กหญิงผู้นี้อย่างละเอียด และถึงแม้ท่านผู้อ่านจะเคยอ่านเรื่องราวของเด็กหญิงผู้นี้มาแล้ว แต่ก็หวังว่าบทความนี้จะทำให้รู้จักตัวตนของเธอมากขึ้น
“เกรตา ทุนเบิร์ก (Greta Thunberg)” เกิดที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ.2003 (พ.ศ.2546) ในครอบครัวที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์พร้อม
เธอมีครอบครัวที่อบอุ่น โดยแม่ของเธอคือ “มาเลนา เอิร์นแมน (Malena Ernman)” นักร้องโอเปร่าชื่อดัง ส่วนพ่อของเธอคือ “สวานเต ทุนเบิร์ก (Svante Thunberg)” เป็นนักเขียนและนักแสดง
พ่อและแม่ของเกรตา
ครอบครัวทุนเบิร์กอาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่บนยอดเขาในกรุงสต็อกโฮล์ม และเมื่อถึงเวลาที่ครอบครัวอยากจะพักผ่อน ต้องการความสงบ ก็ยังมีบ้านพักตากอากาศบนเกาะอีกด้วย
เกรตานั้นมีน้องสาวชื่อ “บีตา (Beata)”
พ่อและแม่มักจะสอนให้ลูกๆ มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปิดไฟที่ไม่ใช้ ปิดน้ำ ขี่จักรยานแทนการใช้รถยนต์ และเมื่อรถที่ใช้ไฟฟ้าออกจำหน่าย ครอบครัวทุนเบิร์กก็ไม่รอช้าที่จะซื้อมาใช้
เกรตาและบีตา
เกรตาเป็นเด็กฉลาดและจริงจัง โดยเธอนั้นชอบม้า สุนัข การเต้นบัลเลต์ รวมถึงการเล่นเปียโน
ในเวลาว่าง เธอจะจมอยู่กับหนังสือ และเธอมักจะจมอยู่กับความคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำให้เธอดูเหมือนผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
ขณะที่มีอายุได้แปดขวบ ชีวิตของเกรตาก็เปลี่ยนไป
ห้องเรียนของเธอได้มีการเปิดภาพยนตร์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน การที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อโลก
ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบมากมาย ทำให้เกิดน้ำท่วม พายุ และปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย
จากภาพยนตร์ที่ได้ดูนั้น แสดงให้เห็นว่าแผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้กำลังละลาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อหมีขั้วโลก
หมีขั้วโลกต้องว่ายน้ำจากแผ่นน้ำแข็งแผ่นหนึ่งไปยังอีกแผ่นเพื่อหาอาหาร และเพราะแผ่นน้ำแข็งละลาย ระยะห่างระหว่างแผ่นน้ำแข็งจึงห่างไกลขึ้น หมีขั้วโลกจึงลำบาก หลายๆ ตัวก็หาอาหารได้ไม่เพียงพอ
เด็กๆ ที่ได้ชมภาพยนตร์ต่างรู้สึกหดหู่ แต่หลังจบภาพยนตร์ ทุกคนก็กลับมาร่าเริงเหมือนเดิม
แต่สำหรับเกรตาแล้วไม่ใช่ ภายหลังจากชมภาพยนตร์ ในหัวเธอมีแต่เรื่องของหมีขั้วโลก
“หากว่าภาวะโลกร้อนคือสาเหตุของปัญหา ทำไมไม่มีใครคิดที่จะหยุดยั้งภาวะโลกร้อน?”
คือคำถามที่อยู่ในหัวของเกรตา
ความกังวลของเกรตานั้นเริ่มจะเป็นจริงขึ้นเรื่อยๆ เธอเอาแต่คิดเรื่องนี้จนกระทั่งอายุได้ 11 ขวบ
เกรตาเริ่มหยุดทานอาหาร หยุดเล่นเปียโน ไม่ไปโรงเรียน ไม่แม้แต่จะพูดคุยกับใคร
พ่อและแม่ของเกรตาได้พยายามทุกวิถีทางให้เกรตาทานอาหารและกลับเป็นเหมือนเดิม แต่ก็ไม่สำเร็จ เกรตาน้ำหนักลดเกือบ 10 กิโลกรัม
เวลาผ่านไปกว่าสองเดือน แต่เกรตาก็ไม่มีอาการดีขึ้น พ่อและแม่จึงพาเธอไปหาหมอ
หมอได้ทำการตรวจอย่างละเอียด และก็พบว่าเกรตาเป็นอะไร
เกรตาเป็น “แอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome)”
แอสเพอร์เกอร์ คืออาการผิดปกติทางการสื่อสารและอารมณ์ โดยเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์จะมีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ เช่นอาจจะเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์หรือดนตรี แต่มีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม และต้องเรียนรู้ในสิ่งง่ายๆ ที่เด็กๆ ทั่วไปก็รู้ เช่น การสร้างมิตร ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่
หมอจึงได้ทำการรักษา และเกรตาก็มีอาการดีขึ้น เธอเริ่มกลับมาทานอาหารและพูดคุยเหมือนเดิม
อาการแอสเพอร์เกอร์นี้เองที่ทำให้เธอมองโลกแค่ขาวกับดำ มีแค่ถูกและผิด โดยเกรตาเรียกอาการของเธอว่าเป็น “พลังพิเศษ” ทำให้เธอทุ่มพลังไปกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นั่นคือการช่วยโลก
อันที่จริงแล้ว ความรักโลกนี้อาจจะเรียกได้ว่าอยู่ในสายเลือดของเธอ เนื่องจากหนึ่งในบรรพบุรุษของเธอ นั่นคือ “สวานเต อาร์เรเนียส (Svante Arrhenius)”
สวานเต อาร์เรเนียส (Svante Arrhenius)
อาร์เรเนียสเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกๆ ที่พูดเรื่อง “ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect)” และเป็นผู้ที่ทำนายว่าโลกจะเกิดภาวะโลกร้อน เนื่องจากโรงงานและรถยนต์จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
การกลับไปโรงเรียนอีกครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเกรตา เด็กคนอื่นๆ ไม่เข้าใจอาการของเธอและคิดว่าเธอนั้นหัวสูง เย่อหยิ่ง โดยเกรตามักจะพูดว่า
1
“ฉันจะพูดต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น”
เกรตามักจะเลี่ยงเด็กคนอื่นๆ ด้วยการใช้เวลาพักกลางวันในห้องสมุด ซึ่งเกรตานั้นก็ฉลาดมาก มีความจำเป็นเลิศ เธอสามารถจำรายละเอียดของหนังสือได้ทั้งหมดจากการอ่านเพียงครั้งเดียว
จากการอ่านหนังสือ ทำให้เกรตาทราบว่าภาวะโลกร้อนนั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อ 200 ปีที่แล้ว โดยเริ่มมาพร้อมๆ กับยุคอุตสาหกรรมในกลางศตวรรษที่ 19
เครื่องจักรที่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ คือต้นตอของปัญหา
เครื่องจักรเหล่านี้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น
ที่สวีเดน ฤดูร้อนปีค.ศ.2018 (พ.ศ.2561) เป็นปีที่สวีเดนมีอากาศร้อนกว่าปีอื่นๆ และยังเกิดไฟป่าที่ภาคเหนืออีกด้วย
เกรตายังทราบอีกว่าก่อนยุคอุตสาหกรรมนั้น ผู้คนยังคงเดินทางโดยรถม้า และทุกๆ อย่างที่ใช้ในชีวิตประจำวันนั้นยังคงเป็นสิ่งของที่ทำจากมือมนุษย์ ไม่สร้างมลภาวะ
แต่เมื่อเกิด “การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)” ในราวปีค.ศ.1760 (พ.ศ.2303) ซึ่งเริ่มจากเครื่องจักรไอน้ำ ทำให้เครื่องจักรเริ่มเข้ามาแทนที่แรงงานคน ทำให้ผลิตสินค้าได้จำนวนมากและรวดเร็ว
แต่เครื่องจักรก็ต้องใช้พลังงานจากแหล่งที่ว่ามา มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก ทำให้โลกอยู่ในภาวะที่ไม่สู้ดี
การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)
ภายในสิ้นสุดศตวรรษที่ 19 รถยนต์เริ่มจะเข้ามาแทนที่ม้า และเครื่องยนต์ของรถยนต์ก็ใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล ซึ่งก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเช่นกัน
1
ภายในสิ้นสุดยุค 70 (พ.ศ.2513-2522) ผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้หารือกันถึงแนวทางที่จะปกป้องโลกจากความเสียหายต่างๆ
คำตอบก็คือการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่การทำอย่างนี้ ก็ทำให้ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ธุรกิจต่างๆ ก็ต้องปรับแนวทางการผลิตสินค้า
ค.ศ.2016 (พ.ศ.2559) ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ผู้แทนจาก 197 ประเทศ นั่นก็คือผู้แทนจากทุกประเทศ ได้มารวมตัวกันเพื่อเซ็นข้อตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
ความตกลงปารีสในปีค.ศ.2016 (พ.ศ.2559)
ไม่ได้มีการออกกฎหมายเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นทางการ แต่มีการตั้งเป้าหมายให้แต่ละประเทศ โดยเป้าหมายหลักคือการจำกัดไม่ให้อุณหภูมิสูงกว่าสมัยก่อนยุคอุตสาหกรรมไม่เกินสององศาเซลเซียส
แต่ละประเทศเห็นตรงกันว่าเป้าหมายนี้ต้องสำเร็จภายในปีค.ศ.2050 (พ.ศ.2593) เป็นอย่างช้า และหากจะให้ปลอดภัย ควรสำเร็จตั้งแต่ปีค.ศ.2030 (พ.ศ.2573)
เพื่อที่จะจำกัดอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้น จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
บริษัทใหญ่อาจจะต้องลดจำนวนพลาสติกที่ผลิตและใช้พลังงานจากน้ำมันหรือถ่านหินให้น้อยลงเพื่อที่จะลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์
ในสปีชและงานเขียนของเกรตา เกรตาได้พยายามอธิบายถึงผลกระทบจากการที่อุณหภูมิสูงขึ้น แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม เช่น อาจจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างอื่นตามมาอีกมากมาย
ความตกลงในปารีสได้ส่งผลดี เช่น ประเทศจีนได้ตัดสินใจลงทุนในแหล่งพลังงานอื่นๆ และมีแผนที่จะแก้ปัญหาการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจัง
1
เกรตาเองก็รับทราบถึงเป้าหมายของความตกลงในปารีส แต่เธอก็คิดว่าแค่ตั้งเป้าหมายอาจจะไม่เพียงพอ หากแต่ควรออกกฎหมายบังคับใช้
เกรตายังคิดว่าประเทศของเธอไม่ได้ใส่ใจปัญหานี้เท่าที่ควร และหากผู้ใหญ่ไม่ใส่ใจปัญหานี้ เด็กอย่างเธอจะจัดการเอง
ในขณะเดียวกัน 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2018 (พ.ศ.2561) ได้มีศิษย์เก่าของโรงเรียน “Marjory Stoneman Douglas High School” ในฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา ได้ทำการกราดยิงนักเรียนและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน
เหตุกราดยิงที่ Marjory Stoneman Douglas High School
ที่ผ่านมานั้น ได้เกิดเหตุกราดยิงหลายครั้งในสหรัฐอเมริกา หากแต่รัฐบาลก็ไม่สนใจที่จะออกกฎหมายห้ามครอบครองอาวุธปืน
นักเรียนของ Marjory Stoneman Douglas High School จึงตัดสินใจประท้วง พวกเขาไม่มาโรงเรียนและทำการประท้วงให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้
เกรตาตัดสินใจทำตาม เดือนสิงหาคมปีนั้น เธอได้ทำการประท้วงรัฐบาลสวีเดน เนื่องจากรัฐบาลสวีเดนละเลยปัญหาโลกร้อน
เกรตายืนอยู่หน้ารัฐสภาและใส่เสื้อกันฝนสีเหลืองที่เขียนว่า “หยุดเรียนเพื่อปัญหาสภาพอากาศ”
เกรตาถ่ายภาพการประท้วงของตนและจดบันทึกถึงสิ่งที่ทำทุกวันและโพสต์ลงอินสตาแกรม และภายในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ.2018 (พ.ศ.2561) ก็มีคนราวๆ 100 คนได้เข้าร่วมกับเกรตา โดยทุกคนหวังว่ารัฐบาลจะหันมาใส่ใจปัญหาเรื่องอุณหภูมิโลกอย่างจริงจัง
หากแต่ก็ไม่สำเร็จ แต่การประท้วงของเกรตายังไม่จบ
ในทีแรก พ่อและแม่ก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของลูกสาว อยากให้ลูกตั้งใจเรียนมากกว่า แต่ในไม่ช้า พวกเขาก็เห็นได้ว่าการประท้วงทำให้เกรตาแข็งแกร่งขึ้น
ความปรารถนาอย่างแรงกล้าเรื่องอุณหภูมิโลกทำให้พ่อและแม่เปลี่ยนพฤติกรรมไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเลิกเดินทางด้วยเครื่องบิน เนื่องจากเครื่องบินใช้น้ำมันในปริมาณมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้กระทบกับแม่ของเธอมากที่สุด เนื่องจากแม่ของเธอเป็นนักร้องโอเปร่า ต้องเดินทางไปเปิดการแสดงยังเมืองอื่นๆ การเลิกเดินทางโดยเครื่องบินทำให้ไม่สามารถไปไหนได้ไกล
ส่วนพ่อของเธอนั้นก็เลิกกินเนื้อ เนื่องจากเนื้อสัตว์ต้องส่งมาทางรถบรรทุก ซึ่งก็ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก และครอบครัวทุนเบิร์กยังปลูกผักกินเองแทนที่จะซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ต
1
ต่อมา เกรตาตัดสินใจจะเปลี่ยนแนวทางการประท้วง เธอจะประท้วงเฉพาะวันศุกร์ วันอื่นๆ เธอจะไปโรงเรียน
หากแต่การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ทำให้สิ่งที่เธอทำมานั้นจบ ได้เกิดการประท้วงขึ้นตามเมืองต่างๆ ทั่วสวีเดน และในไม่ช้า ก็ลามไปทั่วยุโรป
ที่เบลเยี่ยม นักเรียนกว่า 35,000 คนได้รวมตัวประท้วง ไม่ไปโรงเรียน แม้แต่รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้
ได้มีคำเชิญให้เกรตาช่วยพูดสปีชให้แก่กลุ่มที่ประท้วงต่างๆ ในเดือนธันวาคม ค.ศ.2018 (พ.ศ.2561) ครอบครัวทุนเบิร์กได้เดินทางโดยรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเวลากว่า 20 ชั่วโมงเพื่อไปยังลอนดอน ประเทศอังกฤษ
1
เกรตาได้ขึ้นพูดต่อหน้าผู้ใหญ่ในรัฐสภาอังกฤษ คำพูดของเธอคือ
“เมื่อคิดถึงอนาคต คุณไม่ได้คิดไปไกลกว่าปีค.ศ.2050 (พ.ศ.2593) ในเวลานั้น หากโชคดี หนูก็คงยังใช้ชีวิตไม่ถึงครึ่งชีวิต แล้วเกิดอะไรขึ้นต่อล่ะ? ปีค.ศ.2078 (พ.ศ.2621) หนูจะฉลองวันเกิดอายุ 75 ปี”
“สิ่งที่พวกเราทำหรือไม่ทำนั้นจะกระทบกับทั้งชีวิตของหนู รวมทั้งชีวิตลูกหลานของหนูด้วย เรามีข้อเท็จจริงและแนวทางการแก้ปัญหาหมดแล้ว สิ่งที่เราต้องทำ ก็คือตื่นและเปลี่ยนแปลง”
ต่อมา เกรตาได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานประชุมที่จะขึ้นในเมืองดาฟอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีกำหนดจัดงานประชุมในเดือนมกราคม ค.ศ.2019 (พ.ศ.2562)
งานนี้เป็นงานใหญ่ ในทุกๆ ปี นักการเมืองและคนดังต่างเข้าร่วมงานนี้เพื่อถกเถียงเรื่องปัญหาเศรษฐกิจของโลก
เกรต้าและครอบครัวไม่เดินทางโดยเครื่องบิน หากแต่นั่งรถไฟเป็นระยะเวลากว่า 32 ชั่วโมง และแทนที่จะเข้าพักในโรงแรมหรู เกรตาและพ่อก็ยอมนอนในเต้นท์ท่ามกลางอากาศหนาว
สปีชที่ดาฟอสทำให้เกรตากลายเป็นคนดัง
เกรตาได้กล่าวสปีชเป็นเวลาสี่นาที โดยความจริงจัง มุ่งมั่น จริงใจของเธอทำให้ผู้ฟังต้องหยุดนิ่งและฟังอย่างตั้งใจ
เกรตากล่าวว่าถึงแม้ที่พื้นจะมีน้ำแข็ง หากแต่โลกกำลังลุกเป็นไฟ และเราต้องทำอะไรซักอย่าง
เมื่อเธอพูดจบ ทุกคนลุกขึ้นและปรบมือให้เธอ
23 กันยายน ค.ศ.2019 (พ.ศ.2562) เกรตาได้ขึ้นพูดที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
เกรตาและพ่อเดินทางมานิวยอร์กทางเรือ โดยใช้เวลากว่าสองสัปดาห์
เรือที่เธอเดินทางมานั้นประหยัดพลังงานในทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าก็มาจากแผงโซลาร์ ห้องน้ำก็ไม่มี มีเพียงถังที่อยู่ท้ายเรือ
สปีชที่สหประชาชาตินั้น เกรตาแทบจะกลั้นน้ำตาไม่ไหว
เมื่อถูกถามว่าเธออยากฝากอะไรถึงผู้นำของโลก เธอกล่าวว่า
“พวกเราจะจับตาดูคุณ”
เธอหมายถึงว่าคนรุ่นใหม่จะคอยดูว่าปัญหาโลกร้อนนี้จะได้รับการแก้ไขจริงหรือไม่
เกรตาได้กล่าวต่อผู้ฟังว่า
“นี่มันผิดหมดเลย หนูไม่ควรอยู่ที่นี่ หนูควรอยู่ในโรงเรียน”
และเกรตายังย้ำอีกหลายครั้งด้วยประโยคที่ว่า
“คุณกล้าดียังไง”
เกรตาไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ใหญ่ถึงทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ยังคงห่วงเรื่องการสร้างเงิน ความมั่งคั่ง ในขณะที่ระบบนิเวศกำลังล่มสลาย
สปีชของเกรตานั้นโด่งดัง เป็นที่พาดหัวข่าวไปทั่วโลก
แต่ถามว่าทุกคนยกย่องเธอหรือสิ่งที่เธอพยายามสื่อหรือไม่? ก็ไม่
“โดนัลด์ ทรัมพ์ (Donald Trump)” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากล่าวว่าภาวะโลกร้อนเป็นเพียง “เรื่องตลก” และในปีค.ศ.2017 (พ.ศ.2560) สหรัฐอเมริกาก็ได้ถอนตัวจากความตกลงปารีส
1
แต่สำหรับเกรตา เธอตระหนักดีถึงอันตรายที่เกิดขึ้น และทำให้ผู้คนตระหนักในวิธีการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
ธันวาคม ค.ศ.2019 (พ.ศ.2562) เกรตาได้ขึ้นหน้าปกนิตยสาร “Time” และได้เป็นบุคคลแห่งปี
ต้นปีค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) เกรตาได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลโนเบลเป็นครั้งที่สอง
ผลงานเหล่านี้ทำให้เธอเป็นเด็กที่ถูกจับตามองและโด่งดังไปทั่วโลก ผู้ใหญ่ต้องฟังเธอ ในขณะที่เด็กๆ ต่างยกย่องและยึดเธอเป็นแบบอย่าง
เรื่องราวที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ อาจจะมาจากคำพูดที่เธอมักจะพูดกับตัวเอง
“คุณไม่ได้ตัวเล็กเกินกว่าที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง”
โฆษณา