31 ส.ค. 2020 เวลา 10:39 • เกม
สงครามการต่อสู้กันของ Championship Manager (CM) กับ Football Manager (FM) สองเกมวางแผนฟุตบอลสุดคลาสสิค มีเรื่องราวยาวนานถึง 25 ปี ก่อนจะได้บทสรุป นี่เป็นการดวลกันระหว่างเกมที่มี "ชื่อแบรนด์" อันแข็งแรงมากๆ กับอีกฝ่ายที่ต้องนับ 1 ใหม่หมด แต่ได้ "มันสมอง" ของคนสร้างไปแทน
เรื่องราวครั้งนี้ ใครจะเป็นฝ่ายชนะ และบทสรุปใน 25 ปีเป็นอย่างไร วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของเกมผู้จัดการทีม เกิดขึ้นจากสองพี่น้อง พอล โคลเยอร์ และ โอลิเวอร์ โคลเยอร์ ที่เป็นแฟนบอลเอฟเวอร์ตันทั้งคู่
ในฟุตบอลอังกฤษ ฤดูกาล 1986-1987 เอฟเวอร์ตันได้แชมป์ลีกสูงสุด แต่พอได้แชมป์ ผู้จัดการทีมโฮเวิร์ด เคนดัลล์ลาออก ไปคุมแอธเลติก บิลเบา ทำให้สโมสรแต่งตั้งโค้ชคนใหม่คือ โคลิน ฮาร์วีย์ ขึ้นมาแทน
ฮาร์วีย์ เป็นโค้ชมือใหม่ ไม่เคยมีประสบการณ์เป็นผู้จัดการทีมมาก่อน ทำให้หลายๆครั้ง เขาจัด 11 ตัวจริง ได้ขัดใจแฟนๆอย่างมาก และสุดท้ายเอฟเวอร์ตันจากเป็นแชมป์อยู่ดีๆ ก็ร่วงมาอยู่ที่ 4 ในซีซั่น 1987-88 ตามด้วยที่ 8 ในซีซั่น 1988-89
ถึงตรงนี้ พอล กับ โอลิเวอร์ ที่เรียนอยู่ชั้นมัธยม ก็บ่นกันตลอดว่า ทำไมโค้ชจัดตัวแบบนี้ ถ้าเขาเป็นผู้จัดการทีมล่ะก็ คงจัดไลน์อัพอีกแบบ และน่าจะพาเอฟเวอร์ตันชนะคู่แข่งได้มากกว่านี้แน่ๆ
"เราสองคนจึงคิดขึ้นมาว่า จะมีทางไหนบ้างไหม ที่ทำให้เราได้กลายเป็นศูนย์กลางของจักรวาล" พอลกล่าว
โดยสิ่งที่พอลบอกนั้น หมายถึงสำหรับคนดูบอล ล้วนอยากพิสูจน์ไอเดียของตัวเองว่า แผนที่ตัวเองคิด มันจะได้ผลจริงๆหรือไม่ จะเจ๋งกว่าที่โค้ชตัวจริงใช้หรือเปล่า ซึ่งในชีวิตจริงมันทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นโลกของเกมล่ะ มันอาจพอเป็นไปได้
ในยุคต้น 1980 มีเกมผู้จัดการทีม ชื่อ Addictive's Football Manager ซึ่งก็ได้รับความนิยมประมาณหนึ่ง แต่ปัญหาของเกม คือไม่สามารถจัดแผนการเล่นได้ ถ้าทีมไหนใช้ 4-4-2 ก็ต้องใช้แผนนั้นไปตลอด และนักเตะก็ไม่สามารถเล่นข้ามตำแหน่งได้ด้วย ถ้าคุณโดนระบุเป็นกองหน้า ก็ต้องจับยืนเป็นกองหน้าเท่านั้น
นี่ไม่ใช่สิ่งที่พี่น้องโคลเยอร์ต้องการ พวกเขาจึงใช้เวลาหลายปี ออกแบบเกมของตัวเองขึ้นมา ชื่อ European Champions
เกม European Champions แก้ไขปัญหาเดิมๆไปจนหมดสิ้น คุณสามารถปรับแผนตามแต่ใจของตัวเอง และสามารถโยกผู้เล่นไปยืนตรงไหนก็ได้ของสนาม จะเอากองหน้าไปเล่นกองหลังก็สามารถทำได้อย่างอิสระ
นักเตะแต่ละคนจะมีรายละเอียดลึกลงไป สัญญาค่าจ้างเท่าไหร่ เป้าหมายในอนาคตเป็นอย่างไร จุดแข็งจุดอ่อน รวมถึงค่าสกิลอย่าง Passing, Tackling, Heading ฯลฯ ก็ถูกจับใส่ลงมาด้วย
คือตัวเกมมีความละเอียดมาก นักเตะในเกมดูมีชีวิตชีวา รูปเกมมีความหลากหลาย ซึ่งไม่เหมือนเกมไหนในยุคนั้น
อย่างไรก็ตามด้วยความที่ทั้งคู่มีความรู้เรื่องโปรแกรมเกมอย่างจำกัด ทำให้พี่น้องโคลเยอร์ ตัดสินใจไม่ใส่กราฟฟิกเคลื่อนไหวสวยๆลงไปในเกมเลย หน้าจอจะมีแต่ตัวอักษรล้วนๆ
ในปี 1990 พี่น้องโคลเยอร์ ส่งเกมที่ตัวเองสร้าง ให้บริษัทจัดจำหน่ายเกม 20 แห่ง รวมถึงค่ายดังอย่าง EA (ค่ายของเกมดังอย่าง FIFA, The Sims) เพื่อพิจารณาว่าเกมของตัวเองดีพอที่จะได้รับการผลิตหรือไม่ ความรู้สึกเหมือนนักเขียนหน้าใหม่ ส่งต้นฉบับให้โรงพิมพ์ แต่สุดท้ายพี่น้องโคลเยอร์โดนปฏิเสธเกือบหมด
"EA ส่งจดหมายตอบกลับมาว่า ใครจะอยากซื้อเกมที่ไม่มีกราฟฟิกอะไรเลย เกมที่มีแต่ตัวอักษร และนาฬิกา มันขายไม่ได้หรอก ซึ่งเขาก็มีเหตุผลนะ" โอลิเวอร์กล่าว
มี 18 บริษัทที่ปฏิเสธ แต่อีก 2 บริษัท สนใจอยากไปพัฒนาต่อ ได้แก่บริษัทชื่อ โดมาร์ก (Domark) กับ ธาลามุส (Thalamus)
ธาลามุสแนะนำว่าเกมต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าจะพัฒนาจนวางขายได้ แต่โดมาร์กยืนยันว่าแค่ 1-2 ปี เกมสามารถขายได้ทันที ทำให้พี่น้องโคลเยอร์ ตัดสินใจเซ็นสัญญากับโดมาร์กในที่สุด
"ตอนเราไปเจอกับทีมงานของโดมาร์กครั้งแรกที่ลอนดอน มันเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมาก เราสองคนรีบซิ่งรถมาจากลิเวอร์พูล ทีมงานของโดมาร์กบอกว่าไอเดียเราดีอยู่แล้ว ส่วนเรื่องกราฟฟิก ทำให้ภาพมันสวยขึ้น เดี๋ยวทางโดมาร์กจะจัดการให้เอง"
ทั้งสองคนดร็อปเรียนจากมหาวิทยาลัยมาเพื่อทำเกมโดยเฉพาะ โดยเรื่องรายละเอียดของตัวเกม พี่น้องโคลเยอร์จะเป็นคนออกแบบ ส่วนกราฟฟิก พวก interface ต่างๆ ทาง โดมาร์ก จะเป็นคนจัดการ
2 ปีผ่านไป ในปี 1992 เกมตัวทดลองเสร็จสมบูรณ์ ทีมงานประชุมกัน แล้ว ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเกม จาก European Champions เป็น Championship Manager (CM) และวางขายครั้งแรกใน เครื่องอาตาริ และ MS-DOS
เกม CM ฉบับปี 1992 เป็น "ตัวเทสต์" เพราะไม่มีชื่อนักเตะเลย ในเกมจะเรียกผู้เล่นด้วยเบอร์ คือเบอร์ 3, เบอร์ 10 ซึ่งแน่นอนว่าไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม 1 ปีต่อจากนั้น 17 กันยายน 1993 เกม CM ของจริงก็เปิดตัวเป็นครั้งแรก บน PC คราวนี้ใช้ชื่อจริงทั้งหมด มีรายละเอียดดีเทลที่ไม่เคยมีเกมแนวนี้ทำได้มาก่อน จนมียอดขายสูงถึง 20,000 ชุด ซึ่งก็ถือว่าเยอะมากแล้วในยุคนั้น
ปี 1993 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของ ซีรีส์ Championship Manager
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พี่น้องโคลเยอร์ไม่ได้ระวังเลย คือเรื่องสัญญาลิขสิทธิ์
"ในตอนนั้นพวกเราอายุยังราวๆ 19-20 อยู่เลย พอเห็นข้อเสนอจะช่วยผลิตและวางขายเกมให้ เราก็ดีใจจะแย่แล้ว เราไม่ได้สนใจเรื่องลิขสิทธิ์อะไรเลย" พอลกล่าว
มีคำที่ผู้ผลิตเกมต้องรู้นั่นคือ IP (intellectual property) ซึ่งคือความเป็นเจ้าของข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญานั่นเอง แต่พี่น้องโคลเยอร์ ไม่รู้เรื่องเลย
"เราแค่อยากสร้างเกมแค่นั้น เราไม่มีความรู้เรื่อง IP หรือเครื่องหมายการค้า เราคิดแค่ว่า หน้าที่ของเราคือเขียนเกม ส่วนพวกเขาก็ช่วยเรื่องกราฟฟิกและวางขายไปทั่วโลก จากนั้นก็แบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้เรา ถึงตอนนั้นก็ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหานะ" โอลิเวอร์เสริม
แต่ ณ จุดนั้น เมื่อความสัมพันธ์ของค่ายเกมโดมาร์ก กับพี่น้องโคลเยอร์ยังดีอยู่ ทุกอย่างก็ไม่มีปัญหาอะไรนัก
หลังเปิดตัว CM ภาคแรก พี่น้องโคลเยอร์ได้ไอเดียใหม่มากขึ้น พวกเขาคิดว่า นักเตะตัวจริงใครก็รู้จัก แต่นักเตะเยาวชนหรือทีมสำรองนี่ล่ะ ที่จะทำให้มันน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นพวกเขาจึงไปติดต่อกับ กลุ่มแฟนคลับของแต่ละสโมสรทั่วอังกฤษ ซึ่งมีข้อมูลอินไซเดอร์ของทีมอยู่ ให้ช่วยส่งข้อมูล เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เช่นดาวรุ่งคนนี้ถนัดเท้าไหน สไตล์การเล่นเป็นอย่างไร
"ผู้คนช่วยเหลือเราเต็มที่ เราเข้าใจว่าแต่ละทีม ก็อยากให้นักเตะของตัวเองมีชื่ออยู่ในเกมแบบครบถ้วน แต่ปัญหาเล็กๆที่มี คือแฟนคลับมักจะประเมินนักเตะของตัวเองเก่งเกินจริงไปหน่อย ผมจำได้ว่า มีแฟนคลับนอริช ประเมินนักเตะของตัวเอง และให้ค่าพลัง 20 เต็มทุกช่อง ผมก็เลยรู้สึกว่า โถ่เอ๊ย นายคือนอริชนะพวก คือเราก็ต้องมาประมวลค่าพลังให้เหมาะสมเองในภายหลัง"
2 ปีในการพัฒนาเกม เข้าสู่ปี 1995 โดมาร์ก เปิดตัว CM2 คราวนี้ยอดขายถล่มทลายถึง 9 หมื่นชุด
พี่น้องโคลเยอร์จากเริ่มทำเกมกันเองที่บ้าน ตอนนี้พวกเขาเปิดบริษัทของตัวเองในชื่อ Sports Interactive (SI) โดยหน้าที่ของ SI คือรวบรวมฐานดาต้าเบส นักฟุตบอลทั่วโลก ใส่เข้าไปอยู่ในเกม ซึ่ง SI ต้องติดต่อหาแมวมองท้องถิ่นของแต่ละประเทศ เป็นภารกิจงานช้างมาก นอกจากนั้นต้องดีไซน์ดีเทลต่างๆให้เหมือนฟุตบอลมากที่สุด ใส่ข้อมูลโค้ช ข้อมูลบอร์ดบริหาร กฎต่างๆของลีกทั่วโลกที่แตกต่างกัน งานของ SI เยอะแยะมากมายไปหมด
ส่วนผู้จัดจำหน่ายคือโดมาร์ก ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Eidos (ไอดอส) ก็ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม คือช่วยทำเรื่องกราฟฟิก และจัดจำหน่ายทั่วโลก
ปี 1999 จากดังในระดับประเทศ คราวนี้ค่าย SI เปิดตัว CM3 ในเกมมีนักเตะรวม 25,000 คน ทีมชาติต่างๆมีครบ มีทีมชาติชุดบี และชุดยู-21 มีระบบการซื้อขายสมจริง มีระบบแมวมอง นอกจากนั้นผู้เล่นคนอื่นๆ ยังสามารถเล่นร่วมกันได้ภายใต้ระบบ Lan อีกต่างหาก
นักเตะดาวรุ่งหลายคนที่ CM เล็งไว้ แล้วโด่งดังจริงๆ มีเยอะมาก อย่างเช่นอาร์เยน ร็อบเบน ตัวเกมฟันธงเอาไว้ว่าจะเป็นสตาร์ สุดท้ายก็เป็นสตาร์จริงๆ
CM3 มียอดขาย 200,000 ชุดในอังกฤษ และมียอดขายมากกว่า 1 ล้านชุดทั่วโลก นี่เป็นสุดยอดเกมวางแผนฟุตบอลที่ไม่มีใครเหมือนจริงๆ ทั้งๆที่มีแค่ตัวอักษรวิ่งไปวิ่งมา แต่สื่อมวลชนสายเกมให้คะแนนเกือบเต็ม 100 กันทั้งนั้น
ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ SI เรียกร้องขอส่วนแบ่งกับ Eidos มากขึ้นกว่าเดิม พวกเขามองว่าตัวเองเป็นคนสร้างสรรค์งาน ดังนั้นควรได้เปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่านี้ แต่ฝั่ง Eidos ก็ไม่ยอม เพราะพวกเขามองว่าค่ายเกมของตัวเองเป็นคนปลุกปั้น CM ขึ้นมา ถ้า Eidos ไม่ให้โอกาสในวันแรก ป่านนี้ก็คงไม่มีใครรู้จัก CM อยู่แล้ว
ความขัดแย้งของ SI กับ Eidos เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่างคนต่างเริ่มอยากควบคุมเกมให้ไปในทิศทางของตัวเอง SI ต้องการใส่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆลงไปในเกม อยากให้เกมละเอียดยิ่งขึ้น จนเหมือนฟุตบอลจริงให้มากที่สุด แต่ฝั่ง Eidos มองว่า ความสนุกระดับ CM3 ถือว่าสุดยอดแล้ว ของที่มันนิยมอยู่ดีๆ จะไปเปลี่ยนเยอะแยะทำไม ในเมื่อมันก็ขายได้อยู่
"Eidos ต้องการอำนาจ ฝั่ง SI ก็ต้องการอำนาจ" ไมล์ ยาค็อบสัน ซีอีโอของ SI เล่า "เราขอส่วนแบ่งมากขึ้น แต่นอกจาก Eidos จะไม่ให้แล้ว พวกเขายังขู่อีกด้วยว่า ถ้าเราไม่ทำต่อ ก็จะเอาทีมสร้างเกมทีมใหม่เข้ามาทำแทน"
ตามสัญญาที่พี่น้องโคลเยอร์เซ็นกับ Eidos ไว้นั้น ปรากฎว่า "ชื่อแบรนด์" และ "เครื่องหมายการค้าของ Championship Manager" จะเป็นลิขสิทธิ์ของ Eidos แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งจุดนี้ทำให้พี่น้องโคลเยอร์เองก็ลำบากใจ เพราะถ้าไม่ยอมทำเกมร่วมกับ Eidos ก็จะไม่สามารถใช้ชื่อเกมเดิมได้อีก
เกมชื่อเดิม คือ CM มันติดตลาดคนทั้งโลกไปแล้ว การทำเกมใหม่มาแข่งขัน ต้องนับ 1 สร้างแบรนด์ใหม่แต่แรก มันยากมากจริงๆที่จะไปแข่งขันกับชื่อที่คนคุ้นเคยได้
Eidos ที่ถือเครื่องหมายการค้าอยู่ในมือคิดว่าเกมนี้ตัวเองได้เปรียบกว่า ซึ่งทำให้ SI ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ ถ้าออกไปทำเกมขายเองก็ไม่มีช่องทางการผลิตอีก
ท่ามกลางความอึดอัดนั้น ในปี 2003 Sega (เซก้า) ค่ายเกมดังจากญี่ปุ่น ได้ติดต่อเข้ามาหา SI แล้วถามว่าสนใจจะย้ายค่ายมาอยู่กับ Sega แทนไหม โดยให้ข้อเสนอ 2 เท่า จากที่ได้รับอยู่กับ Eidos และทาง Sega ก็ยืนยันว่า จะให้อิสระทุกอย่างกับ SI ที่จะดีไซน์เกมเป็นอย่างไรก็ได้
เมื่อมีหนทางไป ทำให้ SI ประกาศแยกทางกับ Eidos ในที่สุดในช่วงปลายปี 2003 โดยเกมสุดท้ายที่ทั้งสององค์กรจะออกร่วมกันคือ CM4 ในปี 2004 เนื่องจากทุกอย่างทำเสร็จหมดแล้ว แต่หลังจากนี้เป็นต้นไป ก็ทางใครทางมัน
บทสรุปของการแยกทาง Eidos จะได้ "ชื่อแบรนด์" ที่ใช้มายาวนานนับทศวรรษ ส่วนฝั่ง SI จะได้ดาต้าเบส หรือฐานข้อมูลนักเตะทั้งหมด
Eidos เซ็นสัญญากับสตูดิโอเกมแห่งใหม่ ที่ชื่อ Beautiful Game Studios (BGS) เข้ามาทำเกม CM แทน SI
ส่วน SI จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใหม่ ในชื่อเกม Football Manager (FM) และเริ่มต้นกระบวนการผลิตตั้งแต่แรก กราฟฟิกทุกอย่างต้องสร้างใหม่หมด
"ในฐานะผู้ผลิตเกม ไม่มีอะไรจะเสียใจไปกว่า ต้องทิ้งชื่อแบรนด์ที่ตัวเองสร้างมาสิบกว่าปี ตอนที่เราตัดสินใจว่าจะทิ้งชื่อเกม CM ให้คนอื่น ผมทรุดลงไปกองกับพื้นเลย" ไมล์ ยาค็อบสันกล่าว
นับจากวันนี้ไปสงครามระหว่าง CM กับ FM เริ่มต้นขึ้นแล้ว
ข้อได้เปรียบของ CM คือมีชื่อแบรนด์ที่แข็งแกร่ง โดยฝั่ง Eidos มั่นใจว่า ชื่อติดตลาดแล้ว คนผลิตเกมคนไหนมาทำ ก็สำเร็จได้
แต่ฝั่ง FM มั่นใจในมันสมองของพี่น้องโคลเยอร์ ต่อให้ต้องนับหนึ่งใหม่หมด และสร้างชื่อเสียงแบรนด์กันใหม่ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร
จุดตัดสินว่าใครจะชนะ อยู่ในปี 2005 เมื่อ Eidos ออกเกม CM5 มาสู้กับ SI ที่ออกเกม FM2005
ฝั่ง FM เปิดตัวก่อน คราวนี้พี่น้องโคลเยอร์เพิ่มความหลากหลายเข้าไปอีก มีเรื่องการให้สัมภาษณ์ก่อน-หลังเกม, การใช้จิตวิทยาของโค้ช ,มีระบบยกเลิกสัญญา และมีคลิปแบบ 2D ใส่เข้าไป แทนที่จะเป็นตัวอักษรอย่างเดียว
ความละเอียดของมัน สร้างความรู้สึกของแฟนๆเป็นสองส่วน คือบางคนก็บอกว่ามันซับซ้อนเกิน ยากไปหน่อย ชอบแบบ CM3 มากกว่า แต่อีกกลุ่มจะชอบมาก เพราะมันสมจริง โดยเกมนี้นิตยสาร Eurogamer ให้คะแนน 9 เต็ม 10
ขณะที่ฝั่ง Eidos ตามกำหนดการเดิมจะเปิดตัวปลายปี 2004 แต่ทีมงานใหม่ ทำบั๊กเกิดขึ้นในเกมมหาศาล ต้องไล่แก้กันหลายเดือน จนกว่าจะได้ปล่อยเกมก็เป็นเดือนมีนาคม 2005 คือมันจะปิดซีซั่นอยู่แล้ว ส่วนคุณภาพของเกม ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากเดิม Eurogamer ให้คะแนน 6 เต็ม 10
ยกแรก FM ชนะไปก่อน แต่ Eidos ยังไม่ยอมแพ้พวกเขาสู้ต่อ เพราะยังเชื่อมั่นในชื่อแบรนด์ CM ว่ามันจะขายได้
อย่างไรก็ตามปัญหาคือ ด้วยรูปแบบของเกมวางแผนฟุตบอลที่ต้องใช้เวลาเยอะมาก คนซื้อเกมแนวนี้มาเล่น ต้องอยู่กับมันหลายสิบชั่วโมง ดังนั้นคนซื้อจะเลือกเล่นแค่เกมเดียวเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว FM มีความละเอียดสมบูรณ์มากกว่า พอคนคิดจะเสียเงินซื้อ ก็เลยเลือก FM ดีกว่า
นิตยสาร Eurogamer เปรียบเทียบว่า FM เหมือนเป็นหนังโป๊ฮาร์ดคอร์ ส่วน CM เหมือนหนังโป๊ซอฟต์คอร์เห็นนิดๆหน่อยๆ ซึ่งลองคิดดูว่า คนที่ชอบหนังโป๊ก็ดูแบบฮาร์ดคอร์ ส่วนคนที่ไม่ชอบหนังโป๊ก็ไม่ดูทั้งฮาร์ดคอร์และซอฟท์คอร์ ดังนั้น CM ที่ Eidos ผลิตออกมา จึงไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายใดๆเลย
เวลาผ่านไป แบรนด์ FM ก็แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาไม่หยุดพัฒนา มีการใส่ลูกเล่นใหม่ๆ เข้ามาในแต่ละภาคตลอด ตรงข้ามกับ CM ที่ไม่ก้าวไปไหน ทีมผู้สร้างชุดใหม่ไม่มีความรู้เรื่องเกมแนวนี้มาก่อน พอมาจับทำจริงๆ ก็จึงได้รู้ว่ามันเป็นศาสตร์ที่ยากมาก ก็เลยเพลย์เซฟใช้สไตล์การเล่นแบบดั้งเดิมเอาไว้ก่อน
ตอนนี้ FM เริ่มจะทิ้งห่าง แต่ CM ก็ยังไม่ได้แพ้ แม้ยอดขายจะห่างกันเยอะ แต่ก็ยังมีฐานแฟนๆของ CM ที่ชอบความเรียบง่ายแบบ CM3 ยังคงซื้อมาเล่นอยู่
จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ในปี 2009 เมื่อ CM เปิดตัว CM2010 ด้วยการเปลี่ยนอินเตอร์เฟซใหม่หมด และพยายามเลียนแบบแนวทางของ FM ให้มีความซับซ้อน มีความละเอียด แต่แน่นอน พวกเขาทำได้ "ไม่ถึง" กลายเป็นว่าแฟนกลุ่มเดิมก็เสีย แฟนกลุ่มใหม่ก็เลือกเล่น FM ดีกว่า สุดท้ายภาคนี้ CM แพ้อย่างสมบูรณ์ ยอดขายเลวร้ายมาก ไม่มีใครซื้อสินค้าของ Eidos เลย
เมื่อทิ้งขาดขนาดนั้น สุดท้าย Eidos จึงต้องยอมจำนน และไม่ผลิต CM ลงสู่ตลาดอีกต่อไป
สำหรับ Eidos เมื่อไม่มีเกมแม่เหล็กที่การันตียอดขายทุกปี พวกเขาก็เริ่มเสื่อมถอยลง บริษัทขาดทุนอย่างหนัก ก่อนที่จะถูกเทกโอเวอร์ด้วย Square-Enix ช่วงปลายปี 2009 ปิดฉากบริษัท Eidos ไปเลย
1
โดยแบรนด์ CM นั้น จริงๆทาง Square-Enix พยายามจะรื้อฟื้นอยู่บ้าง โดยจับลงใส่มือถือในระบบ iOS และ แอนดรอยด์ แต่ก็ไม่เวิร์กอีก จนในที่สุด ปี 2018 ทางบริษัทประกาศยุติเกม CM ทุกรูปแบบ และจะไม่มีการผลิตอีกต่อไป ปิดฉากตำนาน Championship Manager เพียงแค่นี้
จากปี 1993 ที่เปิดตัวได้อย่างเร้าใจ 25 ปีผ่านไป ในปี 2018 สุดท้าย CM ก็ล่มสลาย ไม่มีชื่อแบรนด์นี้อยู่ในสารบบของเกมอีก
ขณะที่ FM แม้จะต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แต่เมื่อคุณมีมันสมองของผู้สร้างเกมอยู่ จึงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นมาได้ และตอนนี้ก็ก้าวมายึดตลาดได้อย่างสมบูรณ์
และเกมนี้ผู้ชนะ คือพี่น้องโคลเยอร์ และ บริษัท Sports Interactive
"จริงๆเราไม่อยากพูดถึงนักว่ามันจบอย่างไร เพราะสุดท้ายแล้วทาง Eidos ก็เป็นคนให้โอกาสยื่นข้อเสนอให้เราเป็นที่แรก ถ้าเราไม่ได้จับมือกับพวกเขาวันนั้น ก็อาจไม่มีเกม Football Manager ในวันนี้" ไมล์ ยาค็อบสัน ซีอีโอของ SI กล่าวสรุป
กรณีศึกษาของ CM ปะทะ FM สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือชื่อแบรนด์อาจสำคัญก็จริง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือคุณภาพของสินค้าต่างหาก
ผู้ใช้อาจจงรักภักดีต่อแบรนด์ที่ใช้เป็นประจำ แต่ถ้าแบรนด์ทำให้พวกเขาผิดหวังซ้ำๆหลายที แถมในตลาดยังมีตัวเลือกที่คุ้มค่าคุ้มราคามากกว่า ใครมันจะไปภักดีได้ตลอด ทุกคนย่อมอยากได้สิ่งดีที่สุดกันทั้งนั้น
ดังนั้นเพื่อตอบแทนความไว้ใจของลูกค้า แบรนด์ต้องรักษามาตรฐานของตัวเองไว้ อย่าให้ดร็อปบ่อยๆจนคนรับไม่ไหว
และอีกจุดหนึ่งที่เราได้เห็นจากเรื่องนี้คือ โลกใบนี้ ถ้าเราฉลาดและมีความสามารถเสียอย่าง เราจะไปอยู่ตรงไหนก็ได้
อาจเริ่มต้นด้วย 0 บาท แต่คนที่มีสมอง ก็ทำให้มันกลายเป็นหลักล้านได้
ในทางกลับกัน คนที่มีภาพลักษณ์ดีเลิศ แต่ภายในมีแค่ความกลวง จากเงินล้าน ก็ร่วงมาเหลือ 0 บาทได้เช่นกัน
#manager
โฆษณา