31 ส.ค. 2020 เวลา 12:11 • ดนตรี เพลง
EP.22 : “เดินหาสปอนเซอร์..ตอนที่ 1”
ผมรบกวน “พี่ติ่ง” เจ้าหน้าที่ควบคุมเสียง ของสถานีฯ ช่วยบันทึกรายการที่
ผมจัดออกอากาศ ใส่เทป cassette ไว้ให้แล้วมาคัดเลือกตอนที่ผิดพลาด
น้อยหน่อย ใช้เป็น “ตัวอย่างรายการ”
เพื่อนำไปเปิดให้เจ้าของห้างร้านเป้าหมายได้ฟัง
“พี่ติ่ง” มาจากกรุงเทพฯ และเป็นผู้ช่วย “พี่หมึก” ที่มาด้วยกัน ดูแลงานฝ่ายเอกชนของสถานีวิทยุ ส.ทร. 3 ภูเก็ต FM 88 Mhz. ซึ่งบริษัทฯ ประมูลได้สัมปทานเวลา จากทางทหารเรือ เพื่อจัดสรรทำธุรกิจ
 
“พี่ติ่ง” ผู้มีความสุขุม จริงใจ พร้อมรับฟัง เขาไม่เคยลังเลเมื่อขอให้ช่วย บ่อยครั้งที่เขาแสดงออกถึงกำลังใจสนับสนุน ความพยายามในการสานฝันของผม
..และพี่เขาก็ชอบฟังเพลงสากล
ทุกเสาร์ และอาทิตย์ ถ้าเวลาของ “Saturday Music” กับ “Sunday Special”
ตรงกับที่ “พี่ติ่ง” เข้าเวรเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมเสียง แล้วหละก็ผมจะมีความสุข
ในการจัดรายการแบบเต็มร้อย เพราะจะมีความลงตัวเข้ากันได้ดีกว่า
พี่คนอื่นๆที่เขาไม่ได้ฟังเพลงสากล
พี่ติ่ง สอนให้ผมนั่งควบคุมเสียงเอง และกล้าให้ผมลองจัดรายการสดแบบรวม
คนพูดและคนควบคุมเสียงไว้ในตัวเองคนเดียว ซึ่งเป็นการจัดรายการเพลงที่มีความสนุกลื่นไหลกลมกลืน มากกว่าการจัดแบบแยกหน้าที่คนพูดคนควบคุมเสียงหลายเท่านัก แต่ก็ต้องทำแบบแอบๆไม่อยากให้ทางฝ่ายทหารเรือเขาเห็น เพราะสมัยนั้น ปี พ.ศ.2531 ถือเป็นเรื่องอุตริไม่เคยมีใครทำ
ปัจจุบัน พี่ติ่ง กลายเป็นคนภูเก็ตเหมือนผมไปแล้ว และเราได้แลกเปลี่ยนเพลง
สากลกันฟังอยู่บ้างในบางโอกาส
พี่เขาชอบฟังแนว Country และเป็นพิเศษคือ “The Eagles” ครั้งนี้ผมขอมอบ
บทเพลง “New Kid in Town”
ผลงานจากอัลบั้ม “Hotel California” เมื่อปี ค.ศ. 1976
ฟังไปพร้อมกันนะครับ
ผมต้องลงทุนจ้างร้านพิมพ์ดีด จำได้ว่าชื่อ “ภูเก็ต การบัญชี” พิมพ์และถ่ายเอกสาร “ใบเสนอราคา” โดยมีรายละเอียดเป็น ชื่อรายการ วัน-เวลา ออกอากาศ และราคาการสนับสนุน ใช้ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ของสถานีฯพร้อมกับ “เทปตัวอย่างรายการ” ผมออกเดินไปตามถนนสายการค้าหลักในเมืองภูเก็ตที่ละเส้นๆ เจอห้างร้านไหนน่าสนใจ ก็เข้าไปขอเวลาเขานำเสนอ
“รายการอะไรของคุณ..เปิดเพลงฝรั่งใครจะฟัง” เป็นคำถามจากห้างร้านกว่าครึ่งหนึ่งที่ผมเข้าไปขอเวลานำเสนอ
แม้ผมจะพยายามทุ่มเทอธิบายแบบ “ยกแม่น้ำทั้งห้า“ แล้วก็ตาม คำตอบที่ได้
ส่วนมากคือ “ไม่หละ ยังก่อนนะ”
ที่ร้ายกว่าคำตอบคือสำเนียงพูดที่ห้วนสั้น แบบคนในเมืองภูเก็ตแท้ๆ นายหัวเจ้าของร้านบางคนแกพูดมีติดสบถแถมให้ด้วย
ตอนนั้นผมยังไม่คุ้นชิน ได้ยินแล้วให้รู้สึก “จี๊ดในหัวใจ” เลยทีเดียว
ผมนึกถึงเพลง “Lonely People” ของคณะ “America” อยากเปิดให้กับความรู้สึกของตัวเองในครั้งนั้น..เชิญรับฟังด้วยกันครับ
ผมเดินเคว้งคว้างอยู่ใจกลางเมืองภูเก็ต วนรอบวงเวียนหอนาฬิกา เหมือนจะเสี่ยงทายว่าไปตามถนนเส้นไหนแล้วจะมีโชค
ผมข้ามถนนมาตั้งต้นที่ “โรงหนังเริงจิต” เดินเรียบไปตาม “ถนนภูเก็ต” ไม่ไกลจากโรงหนัง มีร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่นวัยรุ่นเล็กๆ ชื่อว่า “Supertramp” ผมไม่พลาดที่จะเข้าไปในร้าน บรรยากาศของการนำเสนอนั้นแตกต่างจากหลายร้านที่ผ่านมา ดูเป็นการพูดคุยกันของคนชอบเพลงสากลเหมือนกันมากกว่า แม้ว่าสรุปแล้วผมจะไม่ได้เป็นตัวเงินสปอนเซอร์อย่างที่คาดหวังไว้
แต่ผมก็ไม่เสียใจ ด้วย “โกเหน่ง” เจ้าของร้าน แกได้แสดงออกถึงความตื่นเต้นที่ภูเก็ตมีรายการเพลงสากลอย่างนี้ และตั้งใจจริงที่จะสนับสนุนรายการ แกแนะนำให้ผมทำเป็นวิธี “Barter Trade” (เพิ่งรู้จักครั้งแรกก็ตอนนั้น)
 
คือการโฆษณาร้าน “ซุปเปอร์แทรมป์” ในช่วงเล่นเกมส์ของรายการ แลกกับการให้รางวัลผู้ฟังเป็นสินค้าในร้าน และผู้ได้ต้องไปรับที่ร้าน สินค้าในร้านเป็นแฟชั่น ยี่ห้อ Diesel, Soda, Police และ DOMON เรียกว่า “แนวบูติค” ชื่อดังทันสมัยร้าน “ซุปเปอร์แทรมป์” กลายเป็นคลับเล็กๆของคนชอบเพลงสากล เป็นร้านแรกที่ผมใช้สื่อสารกับกลุ่มผู้ฟัง
วันนี้ภูเก็ตไม่มีร้าน “ซุปเปอร์แทรมป์” อีกแล้ว พร้อมๆกับการจากโลกนี้ไปของ
“โกเหน่ง” เมื่อหลายปีก่อน
เพื่อเป็นการระลึกถึง “โกเหน่ง” ผมหยิบ “Supertramp” ชื่อวงแนว
“Progressive Rock” จากอังกฤษ ที่เป็นแรงบันดาลใจของร้าน กับผลงาน
ในปี 1979 อัลบั้มที่ประสบความสำเร็จสูงสุด “Breakfast in America”
ผมเลือกเพลง “The Logical Song” เชิญรับฟังครับ
บน ถนนภูเก็ต เดินถัดจากร้านซุปเปอร์แทรมป์ มาไม่ไกลนัก ผมได้พบกับร้าน
“น้องเมย์” เป็นศูนย์รวมของผลิตภัณฑ์สำหรับแม่และเด็ก รวมไปถึงของเล่นเด็กในวัยต่างๆ ที่นี่ได้เติมกำลังใจให้ผมมีแรงก้าวเดินต่อไป “น้องเมย์” เป็นร้านแรกที่เป็น “สปอนเซอร์” สนับสนุนรายการ แม้จะเป็นตัวเงินไม่มาก และระยะเวลาไม่นาน แต่ก็เป็นจุดเริ่มที่เชื่อมโยงไปถึงร้านค้ารายอื่นๆได้
ผมขอเสนอเพลงไพเราะ “You Are the Woman” จากผลงานชุดแรก
ที่ชื่อเดียวกับวง “Firefall” ในปี 1976 เชิญฟังครับ
ผมยังคงเดินไปบนถนน ภูเก็ต เข้าร้านนั้นออกร้านนี้จนสุดถนน แล้วเบี่ยงซ้าย
เข้าถนนรัษฎา แวะนำเสนอในหลายๆร้านก็ยังไม่ได้ผล จนมาถึงวงเวียนน้ำพุ
ผมเดินวนรอบ มีอาการแบบเดิม เหมือนจะเสี่ยงทายว่าไปถนนไหนพอมีโชคบ้าง ผมเลือกข้ามไปทางขวาเข้า ถนนเยาวราช และเดินมาหยุดอยู่หน้าร้าน
“บางกอกพาณิชย์” ด้วยสะดุดตาตรงที่เห็นเขาขายเครื่องดนตรี
เมื่อเข้าไปในร้านได้พบกับ “คุณเชาวลิต” เจ้าของร้าน บทสนทนาครั้งนั้น
ไม่ใช่การซื้อขายสปอนเซอร์ แต่กลับเป็นการพูดคุยกันฉันท์มิตร
ที่เขาให้ความเห็นอกเห็นใจผม
จากวันนั้น “คุณเชาวลิต” กลายเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือผมและรายการ
ในทุกๆด้านอย่างจริงใจ แม้ว่าในส่วนของตัวเงินนั้นจะไม่ได้มากมาย
แต่การให้อันมีมูลค่ากว่าหลายเท่านักคือความเป็น “กัลยาณมิตร”
ที่ยาวนานมาถึงวันนี้
คุณเชาวลิต เล่นกีต้าร์และเป็นหัวหน้าวงดนตรี ประจำอยู่ที่ “โรงแรม เคป พันวา” ทำให้เขารู้จักเพลงสากลเยอะมาก โดยเฉพาะกลุ่มเพลงรักฟังสบายๆ แบบแนว Pop Rock, Country Rock ที่เน้นการประสานเสียง
อย่างเพลงของศิลปินดูโอนาม “England Dan and John Ford Coley”
ผมรู้จักได้เพราะเขาแนะนำ มีเพลงไพเราะที่ผมยังเก็บไว้ฟังคือ
“I’d Really Love to See You Tonight” ลองฟังนะครับ
ชื่อร้าน “บางกอกพาณิชย์” นั้นเริ่มจากคุณพ่อเขาซึ่งเป็นครู มากจากเมืองบางกอก (กรุงเทพฯ) เห็นว่าภูเก็ตยุคนั้นยังไม่มีสินค้าอย่างเมืองหลวงขาย จึงเปิดร้านเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าหลายอย่างมาจากเมืองบางกอก ผมยังจำได้ว่าที่ร้านบางกอกพาณิชย์ เป็นตัวแทนขายหนังสือพิมพ์จีน “ตงฮั้ว” และ
“ซิงเสียนเยอะเป้า” ด้วย
เมื่อคุณพ่อเขาจากไปแล้ว ร้านบางกอกพาณิชย์ ก็ตกมาอยู่ในความดูแลของเขาด้วยเป็นลูกชาย คุณเชาวลิตสืบสานการเป็นตัวแทนขายสินค้าจากกรุงเทพฯ แต่เน้นเฉพาะเครื่องดนตรีเท่านั้น เพราะเป็นนักดนตรีและมีความถนัดกว่าอย่างอื่น ร้านจึงกลายเป็นศูนย์รวมของนักดนตรีทั่วเกาะภูเก็ต ทั้งศิลปินคนไทย และฟิลิปปินส์ แล้วร้านนี้ก็เป็นอีกสถานที่สำหรับสื่อสารกับกลุ่มผู้ฟัง ตลอดจนยังใช้เป็นสำนักงานในเวลาต่อมาด้วย
คณะ “Bread” ที่เขาชื่นชอบนั้นมีบทเพลงไพเราะมากมาย ไม่ว่าจะเป็น If, Aubrey, Make It with You, Everything I Own, Baby I’m- a Want You และผมขอเลือกเพลงนี้ให้เขาครับ “The Guitar Man” ขอเชิญรับฟังด้วยกันครับ
ครั้งหน้ายังคงเป็นอีกตอนที่ผมจะมาเล่าถึงประสบการณ์ ที่ได้พบปะผู้คนตามห้างร้านต่างๆในเมืองภูเก็ต จะเป็นใคร เหตุการณ์จะเป็นเช่นไร จะได้รับรู้เพลงแนวไหน ขอได้โปรดติดตาม สำหรับครั้งนี้ขอขอบคุณ และสวัสดีครับ
โฆษณา