31 ส.ค. 2020 เวลา 14:24 • ไลฟ์สไตล์
Peanut Butter - ของทาขนมปังที่ไม่ธรรมดา
เรื่องของ “เนยถั่วลิสง” หรือ peanut butter เป็นของทาขนมปังธรรมดา แต่มีเรื่องที่เกี่ยวพันกับประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาถึงสองคน แล้วยังเป็นอาหารอเมริกันที่เกี่ยวพันถึงราชสำนักอังกฤษอีกด้วย
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.taste.com.au/
Gourmet Story ได้ยินคำว่า “เนยถั่วลิสง” เป็นครั้งแรกในการ์ตูนวอลท์ ดิสนีย์ ที่อ่านตอนเด็ก ๆ (แต่ขออนุญาตไม่บอกว่ากี่สิบปีมาแล้ว) ตัวการ์ตูนรู้สึกจะเป็น Goofy ไปสั่ง “แซนวิชเยลลี่ทาเนยถั่วลิสง” ในร้านอาหาร
ยอมรับว่าอ่านแล้วงงมากเลยครับ เพราะเราไม่เคยเห็นมาก่อน ปกติเราจะคุ้นเคยกับเนยที่เป็นสีเหลือง ๆ ที่ฝรั่งเรียกว่า butter พอบอกว่าเป็นเนยถั่วลิสง นึกภาพไม่ออกเลยครับว่าเป็นอย่างไร หรือจะเป็นเนย butter ผสมด้วยถั่วลิสงหว่า?
สงสัยอยู่หลายปีจนกระทั่งได้เจอ peanut butter ของจริง ถึงจะรู้ว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร(และอร่อยแค่ไหน!)
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.epicurious.com
พูดถึง “เนยถั่วลิสง” ก็ต้องพูดถึงความเป็นมาของถั่วลิสง เพราะถั่วลิสงมีประวัติความเป็นมาที่พิสดารไม่น้อย จากเว็บไซต์ของ National Peanut Board ของสหรัฐ กล่าวไว้ว่า ประวัติของถั่วลิสงนับย้อนกลับไปได้กว่า 1,500 ปีก่อนคริสตศักราช ด้วยการพบหลักฐานว่าชาวเผ่าอินคาในประเทศเปรูใช้ถั่วลิสงเป็นเครื่องบูชาในพิธีกรรมต่าง ๆ และฝังถั่วลิสงลงในหลุมศพของมัมมี่(ในอเมริกาใต้)เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคหลังความตาย ชาวเผ่าของประเทศบราซิลก็ใช้ถั่วลิสงบดกับแป้งข้าวโพดทำเป็นเครื่องดื่ม
นักสำรวจชาวยุโรปเป็นฝรั่งพวกแรกที่ไปพบถั่วลิสงในบราซิล และพบว่าถั่วลิสงมีปลูกอยู่ทั่วไป นักสำรวจได้นำถั่วลิสงกลับไปประเทศสเปน หลังจากนั้นพ่อค้าและนักสำรวจก็ทำให้ถั่วลิสงแพร่หลายไปยังทวีปแอฟริกาและเอเชียจากการติดต่อค้าขาย และชาวแอฟริกันเป็นชนชาติแรกที่นำถั่วลิสงกลับไปปลูกในทวีปอเมริกาเหนือในยุคต้นของศตวรรษที่ 18 เรียกว่าถั่วลิสงเดินทางมาไกลมากกว่าจะได้กลับไปยังทวีปอเมริกา
แต่ประเทศที่เป็นผู้นำในการผลิตถั่วลิสงของโลกกลับเป็นประเทศจีน โดยในปี 2018 จำนวนที่ผลิตได้คิดเป็นร้อยละ 41 ของผลผลิตถั่วลิสงทั้งโลก โดยมีประเทศอินเดียมาเป็นที่ 2 แต่จำนวนก็ยังห่างคือเพียงแค่ร้อยละ 14 ส่วนสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเจ้าตำรับของเนยถั่วลิสงมาเป็นอันดับ 4 คิดเป็นร้อยละ 7
มีประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา 2 คนที่เป็นชาวไร่ถั่วลิสงมาก่อน คนแรกก็คือ Thomas Jefferson ได้รับเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ.1801-1809 เป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ของประเทศและประธานาธิบดี Jimmy Carter ซึ่งได้รับเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ.1977-1981 เป็นประธานาธิบดีคนที่ 39 โดยเฉพาะประธานาธิบดี Carter นี้มาจากรัฐจอร์เจียซึ่งเป็นรัฐที่มีการปลูกถั่วลิสงมากที่สุดรัฐหนึ่งในสหรัฐ และยังได้ฝาก Peanut Butter Pie สูตรของประธานาธิบดี Carter ไว้ด้วย ใครอยากจะลองทำขนม pie สูตรของท่านประธานาธิบดีดูก็เชิญนะครับตามสูตรข้างล่างนี้
ขอบคุณภาพประกอบจากหนังสือ Creamy and Crunchy
มีเรื่องเล่าหลายเรื่องที่กล่าวถึงคนที่ประดิษฐ์คิดค้น “เนยถั่วลิสง” หรือ ขึ้นเป็นคนแรก แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่าคนเหล่านั้นนำเนยถั่วลิสงออกขาย ที่ปรากฏหลักฐานชัดเป็นทางการก็คือ นายแพทย์ John Harvey Kellogg (คนเดียวกับที่ทำ Cereal เป็นอาหารเช้าขายนั่นแหละครับ) ได้คิดค้นเนยถั่วลิสงขึ้นในปี ค.ศ.1895 เพื่อทำเป็นอาหารประเภทโปรตีนให้กับผู้ป่วยที่ไม่มีฟันที่จะเคี้ยวในโปรแกรมอาหารของ Battle Creek Sanitarium ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนทางสุขภาพ และ นายแพทย์ Kellogg ก็ได้จดสิทธิบัตรของวิธีการทำเนยถั่วลิสงในปีต่อมา
แต่ในหนังสือ Creamy and Crunchy: An Informal History of Peanut Butter, the All-American Food ของ Jon Krampner ซึ่งเป็นหนังสือรวมเรื่องราวของเนยถั่วลิสงที่สมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า นาย George Bayle นักธุรกิจชาวเมือง St. Louis เป็นคนแรกที่ผลิตเนยถั่วลิสงออกจำหน่ายเป็นอาหารทานเล่นในปี ค.ศ.1894 และเนยถั่วลิสงก็ได้ถูกนำเสนอในงานแสดงสินค้าโลก(World’s Fair) ที่ St. Louis ในปี ค.ศ.1904
สหรัฐอเมริกาเป็นชาติที่กินเนยถั่วลิสงมากเป็นอันดับ 1 มียอดขายประมาณ 100 ล้านขวดต่อปี คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ ที่นิยมกินกันที่สุดก็เห็นจะเป็นแซนวิชเนยถั่วลิสงกับเยลลี่( peanut butter and jelly sandwich) ซึ่งก็ไม่มีอะไรมาก ปิ้งขนมปังให้อุ่น ๆ เอาเนยถั่วลิสงมาทาขนมปังแล้วทาทับด้วยเยลลี่ลงไป เพียงแค่นี้แต่มันให้รสชาติที่ผสมกัน ทั้งเค็มทั้งมันทั้งหวานอร่อยอย่าบอกใคร ใครไม่เคยทานก็ลองดูสิครับ รับรองว่าจะติดใจ
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.readyseteat.com
เยลลี่(Jelly)ที่เอามาทาทับนั้นไม่ใช่เยลลี่ที่เป็นวุ้นเหนียวแบบปีโป้นะครับ แต่เป็นผลไม้กวนเหมือนกับแยม(Jam) แต่ที่เรียกว่า Jelly ก็เพราะว่า Jelly จะเป็นผลไม้ที่นำมากวนแล้วแยกส่วนที่เป็นเนื้อผลไม้ออกไป ทำให้ Jelly มีความบางเบากว่า Jam ส่วน Jam นั้นจะมีเนื้อของผลไม้ผสมใส่มาด้วย ก็จะได้เนื้อได้หนังและรสชาติของผลไม้มากกว่า Jelly
ผลไม้กวนที่มาทาขนมปังนี้ยังมีอยู่อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า Preserves ผลไม้กวนชนิดที่เรียกว่า Preserves นี้จะนำผลไม้มาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ รวมกวนในน้ำตาลหรือน้ำเชื่อม เพราะฉะนั้น Preserves จะเป็นผลไม้กวนชนิดที่หนักกว่าเพื่อนเพราะทำจากเนื้อผลไม้ทั้งหมด
แซนวิชเนยถั่วลิสงกับเยลลี่นั้นเป็นประกอบด้วยของที่มีคุณค่าทางโภชนาการอยู่ไม่น้อย ขนมปังนั้นให้คาร์โบไฮเดรต เนยถั่วลิสงก็มีโปรตีน แล้วก็วิตามินบีรวมและแร่ธาตุอยู่มากมายหลาบชนิด เยลลี่ให้น้ำตาล หลายคนจึงรับประทานแซนวิชเนยถั่วลิสงทาเยลลี่เป็นอาหารกลางวัน แต่ถ้าจะให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้นไปอีกก็ให้เปลี่ยนขนมปังเป็นขนมปังโฮลวีต และเปลี่ยนเยลลี่เป็นแยมก็จะได้คุณค่าจากเนื้อผลไม้มากขึ้น
เนยถั่วลิสงที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดก็จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ Creamy ซึ่งจะเป็นเนื้อละเอียดเหมือนครีม รับประทานสะดวก Crunchy ซึ่งจะมีเนื้อหยาบหน่อยเนื่องจากความละเอียดในการบดถั่วลิสงจะน้อยกว่า สำหรับคนที่ชื่นชอบแบบแบบกรุบกรอบหน่อย และประเภทสุดท้ายคือแบบผสม ซึ่งมักจะเป็น Jelly ซึ่งจะผสมมากับเนยถั่วลิสงเลย เรียกว่าเปิดขวดมาก็ได้รับประทานทีเดียว 2 อย่าง หรือไม่ก็ผสมช็อกโกแลตก็อร่อยหวานมันไปอีกแบบ
นาย Darren McGrady อดีตพ่อครัวของพระราชวังบัคกิ้งแฮม ภายหลังย้ายตามเจ้าหญิงไดอาน่าไปเป็นพ่อครัวของพระราชวังวินด์เซอร์ ก็เลยได้ดูแลเรื่องอาหารการกินของเจ้าชายวิลเลี่ยมและเจ้าชายแฮรี่ด้วย เล่าว่า เจ้าชายวิลเลี่ยมโปรดขนม peanut butter and jelly muffins มาก
ขนมมัฟฟิน(muffin) เป็นขนมอบของอเมริกันมีลักษณะเป็นถ้วยคล้ายคัพเค้กแล้วทำเป็นหลุมตรงกลางหยอดเนยถั่วลิสงกับเยลลี่ลงไป เจ้าชายวิลเลี่ยมทรงโปรดขนมดังกล่าวหลังจากที่ได้มีโอกาสไปเสวยที่ Disney World จากนั้นมาพ่อครัว McGrady ก็เลยต้องทำให้เสวยอยู่เป็นประจำ
นาย Darren McGrady กับ peanut butter and jelly muffins ขอบคุณภาพประกอบจาก archive.knoxnews.com/
เนยถั่วลิสงเดี๋ยวนี้มีคนนำไปประกอบอาหารทั้งคาวหวานนานาชนิด มีตำราอาหารมากมายที่มีส่วนประกอบจากเนยถั่วลิสง มีเรื่องเล่าว่า ร้านอาหารไทยในต่างประเทศเวลาจะทำน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ ก็จะใช้เนยถั่วลิสงเป็นส่วนประกอบเช่นเดียวกัน ไม่ต้องมานั่งบดถั่วลิสงให้ยุ่งยากและเสียเวลา
Gourmet Story - เรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่เป็นความรู้ เล่าสู่กันฟัง
เพิ่มความอร่อยของอาหารที่เรารับประทาน ติดตามได้ที่
โฆษณา