1 ก.ย. 2020 เวลา 02:14 • ศิลปะ & ออกแบบ
บ้านเรือนประเภทหนึ่งที่เคยใช้กันมาเนิ่นนาน ซึ่งตอนนี้เริ่มกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ทั้งในรูปแบบที่ปักหมุดท่องเที่ยว  รูปแบบวิถีชีวิตสโลว์ไลฟ์ หรือ การอนุรักษ์ธรรมชาติ
รู้ไหมครับ  เป็นบ้านเรือนแบบไหน ?
Cr. : designboom
'เรือนไม้ไผ่ไงครับ'
ถ้าเป็นภาษาวิชาการหน่อย ทางสถาปัตย์เราจะเรียกบ้านเรือนแบบนี้ว่า
'เรือนเครื่องผูก'
ซึ่งก็คือตัวเรือนที่องค์ประกอบหลักของอาคารเป็นไม้ไผ่หรือหวายและยึดต่อกันด้วยวิธีมัดหรือผูก (ต่างจากบ้านที่สร้างจากไม้จริงที่เป็นท่อนซึ่งเรียกว่า 'เรือนเครื่องสับ')
รูปจากหนังสือ เรือนเครื่องผูก โดย อ.เสนอ นิลเดช
'ไม้ไผ่' นอกจากจะเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ผิวสัมผัสที่เป็นธรรมชาติ
ไม้ไผ่ยังมีเส้นใยที่มีความแข็งแรง สามารถรับแรงดึงได้เกือบเทียบเท่าเหล็กเส้นและรับแรงอัดได้มากกว่าคอนกรีตถึงสองเท่าเมื่อเทียบต่อน้ำหนักวัสดุ
Cr.: EcoInventos
ไม้ไผ่แต่ละชนิดมีลักษณะแตกต่างกัน โดยต้องเลือกให้เหมาะกับประเภทการใช้งาน 
แบ่งตามการใช้งานได้ 3 ประเภท คือ ไม้ไผ่สำหรับโครงสร้าง
ไม้ไผ่สำหรับงานตกแต่ง
และไม้ไผ่สำหรับงานหัตถกรรมจักสาน
วิธีเลือกใช้ ให้ดูตามความหนาของเนื้อไม้ เช่น ไม้ไผ่หนึ่งลำ ส่วนโคนมีความหนาให้ใช้ทำโครงสร้าง ส่วนปลายจะมีเนื้อบางกว่าก็นำมาทำงานตกแต่ง
เราอาจเตรียมไม้ไผ่ให้มีความยาวมาตรฐาน 1.50 เมตร  3 เมตร  และ 6 เมตร เพื่อความสะดวกในการออกแบบและนำไปใช้งาน
อีกทั้งควรจะต้องคิดถึงความยาวที่สามารถขนส่งด้วยรถบรรทุกได้ด้วย
1
Cr. : บ้านและสวน
ไม้ไผ่ที่จะนำมาใช้งาน ต้องเป็นไผ่ที่เจริญเติบโตเต็มที่ อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป
เพราะไผ่อ่อนมักจะสะสมแป้งและความชื้นไว้ในเนื้อ เพื่อเตรียมแตกหน่อ อีกทั้งไผ่อ่อนยังเป็นที่ชื่นชอบของ มอด ที่พร้อมมาเจาะกินไผ่ในช่วงระยะดังกล่าวนี้
ควรเลือกตัดต้นไผ่ในฤดูแล้ง (เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม) เพราะช่วงนั้นจะมีแมลงมารบกวนน้อย
ซึ่งสาเหตุหลักส่วนหนึ่งที่คนทั่วไปไม่นิยมใช้ไม่ไผ่ก็เพราะกังวลเรื่องแมลงที่จะมากัดกินเนื้อไม้
ปัญหาเหล่านี้เกิดจากแป้งและน้ำตาลซึ่งเป็นอาหารของแมลงที่มีอยู่ในเนื้อไม้ เราสามารถแก้ไขได้หลายวิธีเช่น
๏ วิธีการตากแห้ง
วิธีนี้ง่ายและประหยัด แต่ใช้เวลานาน 
เริ่มต้นเมื่อตัดไผ่ยังไม่ต้องริดกิ่งและใบออก ให้นำไปวางพิงไว้ในที่ร่ม
ตัวใบจะช่วยในการคายน้ำ ทำให้ลำไผ่แห้งเร็วขึ้นช่วยลดปริมาณแป้งที่อยู่ในเนื้อไม้
2
เมื่อใบไผ่แห้งจึงริดกิ่งและใบออก จากนั้นผึ่งต่ออีกสัก 2-3 เดือน แต่ถ้าไม่ได้ต้องการใช้ไผ่ทั้งลำ ก็สามารถผ่าออกเป็นซีก ก็จะใช้เวลาผึ่งที่น้อยลง
๏ การแช่น้ำ
สามารถแช่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ควรเป็นน้ำไหล แบคทีเรียในน้ำจะช่วยย่อยสลายแป้งในเนื้อไม้
ระยะเวลาในการแช่ ได้ตั้งแต่ 7 วันขึ้นไป เมื่อแช่จนเริ่มมีกลิ่นเหม็นเน่า ให้นำขึ้นผึ่งแดดระบายความชื้นอีก 7-14 วัน
๏ การต้ม
วิธีการคือทำรางเหล็กยาวต้มน้ำแล้วนำท่อนไม้ไผ่ลงไปต้มประมาณ 2-4 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเส้นตอกบางใช้เวลาประมาณ ½ –1 ชั่วโมง
แต่ถ้าใส่โซดาไฟ (โซเดียมไฮดรอกไซด์) 0.5-1 % ลงไปด้วยจะลดเวลาการต้มลงได้
การต้มจะทำให้น้ำมันที่อยู่ในเนื้อไม้จะซึมออกมา ให้รีบเอาผ้าเช็ดออก จากนั้นจึงนำไปผึ่งให้แห้ง
ไม้ไผ่ที่ผ่านการต้ม เนื้อไม้จะนุ่ม เหมาะในการดัดทำเครื่องเรือน
Cr. : in7day.com
๏ การอังไฟ
คือการนำไม้ไผ่ไปอังไฟให้ทั่วทั้งลำ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที  ต้องระวังอย่าให้เนื้อไม้ไหม้ เมื่อมีน้ำมันซึมออกมาจากเนื้อไม้ ให้รีบเช็ดน้ำมันออก  ก่อนที่น้ำมันจะแห้งแล้วเช็ดไม่ออก
ไผ่ที่ผ่านการอัง เนื้อไม้จะแข็งขึ้น เหมาะที่จะนำไปใช้ในส่วนโครงสร้าง
Cr.: Johnny bamboo
๏ การอบหรือรมด้วยควันไฟ
โดยใช้ความร้อนต่ำ ลําไผ่ที่ใส่เข้าไปอบควรผึ่งให้เหลือความชื้น
ในลําต่ํากว่า 50% ก่อน อบจนความชื้นของไม้ไผ่ประมาณ 12-15% ใช้เวลาอบประมาณ 12-20 วัน
๏ การแช่น้ำยา
เป็นวิธีการที่ใช้สารเคมี นิยมทำในโรงงาน กับจำนวณไม้ไผ่มากๆ 
มีสองวิธีคือ
การแช่ในแนวตั้ง (Steeping) ใช้กับไม้ไผ่สดที่ตัดใหม่ เหมาะกับไม้ไผ่ลําเล็กและเนื้อหนา เช่น ไผ่รวก
แช่ในแนวตั้งให้โคนลําแช่อยู่ในน้ํายาอย่างน้อย 30 ซม. แช่นาน 7-10 วัน
การแช่ในแนวนอนในถังเปิด (Soaking) ใช้ได้ดีกับไม้ไผ่แห้งความชื้นของไม้ประมาณ 20%
ไม้แห้งจะดูดซึมน้ํายาได้ดีกว่าไม้สดและใช้เวลาน้อยกว่า
๏ การอัดน้ำยา(Sap-replacement treatment)  เป็นการอัดในถังอัดน้ำยาแรงดันสูง เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันรักษาเนื้อไม้ไผ่
วิธีนี้ใช้กับไม้ไผ่ที่มีความชื้นสูงและตัดมาใหม่ๆ นอกจากน้ำยาสามารถซึมเข้าไปในเนื้อไม้ได้ดีแล้ว ยังมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้เพราะน้ำยาจะอยู่ภายในลําไผ่เท่านั้น ส่วนผิวนอกจะไม่เปรอะเปื้อนด้วยสารเคมีจึงจับต้องได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้
ซึ่ง
Cr.: เกษตรพอเพียง
อีกปัญหาหนึ่งในการใช้ไผ่ คือการยึดประกอบลำไผ่ ในอดีตเราใช้การมัดหรือผูกด้วยเชือกหรือเส้นตอก
Cr. : bareo-isyss.com
แต่ปัจจุบันมีการออกแบบรอยต่อต่างๆมาใช้ในการยึดไผ่เข้าด้วยกัน ซึ่งแนวความคิดหลักก็คือ ใช้วัสดุที่ยึดต่อกันได้ง่ายเช่นเหล็กมาสวมเข้ากับลำไม้ไผ่ ทำให้เกิดเป็นรอยต่อที่แข็งแรง คงทน และทำงานได้ง่ายขึ้น
Cr.: tkvariety.com
Cr. : Adch Adisak
เราจะเห็นว่า เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของไม้ไผ่ ก็จะทำให้เราสามารถสร้างเรือนไม่ไผ่ที่มีรูปทรงที่น่าตื่นตาตื่นใจขึ้นได้
อีกทั้งในภาวะปัจจุบันที่ต้องเน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ไม้ไผ่จึงเป็นวัสดุอีกตัวที่อาจใช้ในการตอบโจทย์วิถีชีวิตสมัยใหม่ ที่ต้องดูน่าสนใจและรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน
Cr. : bareo-isyss.com
ขอบคุณข้อมูลจาก
- บ้านและสวน
- สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้
***********************************
สำหรับเพื่อนๆ Blockdit ที่สนใจแนวอื่น ผมมีเขียนลงอีก 2 เพจคือ
๏ 'Bear's Books'  = ข้อคิดดีๆที่ได้จากการอ่าน
๏ 'Bear's Blog'  = ภาพถ่ายกับมุมมองของชีวิต ในรูปของ บทกลอน เรื่องสั้น หรือ ไฮกุ
ขอเชิญชวนให้เข้าไปแวะชมนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
ฝากติดตาม หรือ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo  นะครับ
แล้วพบกันนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา