เมืองเชียงตุงเคยเป็นจังหวัดหนึ่งของไทย
เชียงตุงในยุคสมัยเจ้าผู้ครองนครนามว่า เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง หรือ เจ้าอินแถลง (ครองราชย์พ.ศ. 2439 - 2478) ซึ่ง อยู่ร่วมสมัยกับ รัชกาลที่ 5 ของไทย พระองค์ปกป้องเมืองเชียงตุงไม่ให้กลายเป็นเมืองอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ แต่หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ เชียงตุงก็ตกไปอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ
#จนกระทั่งในสมัยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ส่งกำลังทหาร ภายใต้การนำของ พลตรีผิน ชุณหะวัณ (ต่อมาได้เลื่อนเป็น จอมพลผิน ชุณหะวัณ) เข้ายึดเมืองเชียงตุง และ เมืองพาน จากอังกฤษ ที่เคยเป็นของชาวสยาม โดยมีความช่วยเหลือ จากญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๘๕ โดยอ้างว่ามีประวัติศาสตร์ และ เชื่อชาติที่เหมือนกัน นอกจากนั้น กองทัพไทยยังเข้าไปโจมตีและปกครอง เมืองตองยี และ สิบสองปันนาอีกด้วย โดยมี ประเทศญี่ปุ่นช่วยให้บริเวณเมืองเชียงตุง และ เมืองพานมาร่วมเข้ากับประเทศไทย รวมทั้งหมดนี้ทำให้จัดตั้งเป็น สหรัฐไทยเดิม ในเวลาต่อมาเชียงตุงเป็นจังหวัดหนึ่งของไทย
เมื่อไทยสามารถยึดเมืองเชียงตุงได้แล้วก็จัดให้เป็นจังหวัดหนึ่งของไทย มีชื่อว่า จังหวัด สหรัฐไทยเดิม และแต่งตั้งให้ พลตรีผิน ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำจังหวัดสหรัฐไทยเดิม เพื่อควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเมืองเชียงตุง ในขณะเดียวกันทางรัฐบาลไทยก็ได้ทูลเชิญเจ้าเมืองเหล็กพรมลือ โอรสองค์ใหญ่ของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง พร้อมด้วยเจ้าแม่ปทุมเวที ที่ไปช่วยราชการและพำนักอยู่ที่เมือง โหม่วหยั่ว ชายแดนพม่าติดกับประเทศอินเดีย ตามคำสั่งรัฐบาลอังกฤษ พร้อมด้วยเจ้าหญิงทิพวรรณ (ณ ลำปาง) ณ เชียงตุง และราชธิดา ให้กลับมาเป็นมิ่งขวัญของชาวเชียงตุง โดยมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ พร้อมด้วยคณะสงฆ์ เสนาอามาตย์ นายแคว้น นายแขวง และพ่อเมืองต่างๆ ในเขตเชียงตุงได้พร้อมใจกันจัดพิธีทำขวัญขึ้นที่ คุ้มหลวงแล้วสถาปนาพระองค์เป็น “เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยสพรมหลือ” ปกครองเมืองเชียงตุงเป็นองค์ที่ ๔๐
ไทยเสียเชียงตุง
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๘๘) สิ้นสุดลง รัฐบาลไทยต้องมอบเชียงตุงให้แก่ สหประชาชาติ (UN) อังกฤษได้เข้ามามีบทบาทต่อพม่าและเชียงตุงอีกครั้งหนึ่ง ขณะนั้น เจ้าฟ้าพรหมลือ ตัดสินพระทัยเข้ามาพำนักที่เมืองเชียงใหม่พร้อมด้วยครอบครัว โดยมี เจ้าฟ้าองค์สุดท้าย คือ เจ้าฟ้าชายโหล่ง(เจ้าจายหลวง) ปกครองเมืองเชียงตุงสืบมาเป็นองค์ที่ ๔๑ นับว่าไทยเราได้ปกครองเมืองเชียงตุงนานเพียงแค่ ๓ ปีเท่านั้น ก็ต้องสูญเสียเมืองเชียงตุงไปอย่างน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
สัญญาปางหลวง
ประชาชนชาวพม่าชึ่งมีหลายเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์ ได้รวมตัวกันต่อต้านการปกครองของอังกฤษ ได้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อขับไล่อังกฤษออกไปให้พ้นจากประเทศพม่า โดยรัฐบาลพม่าในขณะนั้นได้เรียนเชิญผู้นำชนกลุ่มน้อยต่างๆมาเช็นสัญญา มอบเมืองทุกเมือง ที่ตนปกครองอยู่ให้พม่า เมืองเชียงตุงโดย เจ้าฟ้าชายโหล่ง ได้เช็นมอบเมืองเชียงตุง ให้แก่พม่า เหมือนกับผู้นำชนกลุ่มน้อยอื่นๆ โดยในสนธิสัญญาปางหลวงระบุว่า เมื่อขับไล่อังกฤษออกจากพม่าได้แล้ว จะแบ่งเขตปกครองเป็นรัฐๆ โดยให้ผู้นำชนเผ่าต่างๆ เป็นผู้นำรัฐที่ตั้งขึ้นใหม่ รวมทั้งรัฐเชียงตุงด้วย แต่เมื่อภาระกิจการขับไล่ อังกฤษพ้นจากประเทศพม่าแล้ว รัฐบาลพม่า ไม่ได้ปฏิบัติตามสนธิสัญญา ที่ตกลงกันไว้ ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลพม่ายังพยายาม เข้าครอบงำชนกลุ่มน้อยต่างๆ หลากหลายวิธีแต่ก็ไม่สำเร็จ จึงทำให้ชนเผ่าต่างๆเรียกร้องหา สัญญาปางหลวงโดยการรวมตัวต่อต้านรัฐบาลพม่าจนถึงปัจจุบันนี้ เช่น รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐไทใหญ่ หรือรัฐฉาน รัฐว้า เป็นต้น เมืองเชียงตุงจึงสิ้นสุดราชวงศ์ปกครองนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
รัฐบาลพม่าเข้าปกครองเชียงตุงและปิดประเทศ
ประเทศพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๙๓ เชียงตุงก็ถูกผนวกเข้าอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ นายพลเนวิน ผู้นำของพม่าได้ทำการรัฐประหารและใช้ระบบการปกครองแบบสังคมนิยมในการปกครองประเทศ เชียงตุงชึ่งเคยมีเจ้าฟ้าปกครองมาโดยตลอดก็ต้องสิ้นสุดลง และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เชียงตุงก็ถูกสั่งปิดประเทศไปพร้อมกับพม่า ซึ่งเกิดจากปัญหาการเมืองการปกครองภายในประเทศ
การข้ามแดนไทย – พม่า
จากปัญหาการเมืองการปกครองของประเทศพม่าทำให้การไปมาหาสู่ และค้าขายระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศไม่สะดวก แต่ในความเป็นจริงประชาชนทั้งสองประเทศก็ยังไปมาหาสู่กันเป็นประจำในลักษณะของการลักลอบ ซึ่งผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ รัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าได้ร่วมกันทำข้อตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสอง โดยตั้งด่านทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราวเรียกว่า บอร์ดอร์พาส ( Temporary Border Pass ) ให้แก่ผู้ประสงค์จะเดินทางไปสู่เมืองเชียงตุง เมืองลา และเมืองที่อยู่ในกลุ่ม รัฐฉาน มีกำหนดการเดินทางไปได้ไม่เกิน ๗ วัน ไม่ต้องทำวีซ่า หรือ พาสปอร์ต หากเกินกว่านั้น จะต้องแจ้งเป็นกรณีพิเศษ ปัจจุบันผ่อนผันมีกำหนด ๑๕ วัน