2 ก.ย. 2020 เวลา 00:35 • ธุรกิจ
“ปรีดี ดาวฉาย” รมว.คลัง 27 วัน
กับวิกฤติทีมเศรษฐกิจรัฐบาล
หลังจากมีข่าวว่านายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลาออกในช่วงบ่ายวันที่ 1 ก.ย.2563 ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นในเวลา 18.00 น. ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง นายปรีดี ลาออกจากตำแหน่ง และความเป็นรัฐมนตรีของนายปรีดีสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.2563
นายปรีดีถือเป็นบุคคลที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เลือกมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะชอบแนวคิดของการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งช่วงแรกที่ทาบทามได้ปฏิเสธและขอช่วยงานในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ
นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในการประชุม ครม.สัญจร จ.ระยอง วันที่ 25 ส.ค.2563 ที่เป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งการแต่งตั้งข้าราชการกระทรวงการคลัง
แต่สุดท้ายนายปรีดียอมรับเข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตำแหน่งเดียว จากที่คาดว่าจะควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้วย
1
ถึงแม้ว่าเหตุผลสำคัญของการลาออกครั้งนี้ คือ ปัญหาสุขภาพที่เคยเส้นเลือดตีบเมื่อ 3-4 ปี ก่อนและอาการกลับมากำเริบเมื่อเริ่มมาทำงานการเมืองที่อยู่ในภาวะกดดัน และต้องมาทำงานกับนักการเมืองที่มีวิธีการทำงานแตกต่างจากที่เคยร่วมงานกับนักธุรกิจ
เรื่องของการเมืองจึงเป็นอีกเหตุผลที่มีน้ำหนักไม่น้อยต่อการตัดสินใจลาออกครั้งนี้ ทำให้นายปรีดี มีโอกาสทำงานและเข้าร่วมประชุม ครม.เพียง 4 ครั้ง
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นโจทย์สำคัญสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ในการหาตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การขาดคนสำคัญไป 1 คน ย่อมเป็นปัญหาแน่นอน
ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลในปัจจุบันถูกแบ่งให้รองนายกรัฐมนตรี 4 ดูแล คือ
1.โควต้ากลาง ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพลังงาน ที่กำกับกูแลกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน
2.โควต้ากลาง ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม
3.พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4.พรรคภูมิใจไทย ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม
การเป็นรัฐบาลพรรคร่วมทำให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจด้วยตัวเอง แต่ก็มีปัญหารองนายกรัฐมนตรีบางคนไม่ค่อยเข้าประชุม
ต่อมาเมื่อโควิด-19 กระทรวงเศรษฐกิจรุนแรงจึงได้ตั้ง คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.ขึ้นมา แต่ก็ยังไม่มีมาตรการที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจชัดเจนออกมา
หากนับตั้งแต่ช่วงรอยต่อการปรับ ครม.ครั้งล่าสุดรวมแล้วเกือบ 2 เดือน ที่การทำงานชะลอตัว และถึงขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมาหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ท่ามกลางสารพัดวิกฤติทั้งเศรษฐกิจและการเมือง
โฆษณา