2 ก.ย. 2020 เวลา 00:14 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ถ้าประเทศไทยไม่พึ่งพาท่องเที่ยวเลยแบบทันที
จะกระทบกับเศรษฐกิจในมิติอื่นๆ อย่างไร?
ต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยที่สำคัญไม่แพ้ภาคส่วนอื่นๆ แม้จะมีสัดส่วนเพียง 21% ของจีดีพีไทย แต่ก็สร้่างเม็ดเงินมหาศาลไม่น้อยกว่า 3 ล้านล้านบาทต่อปี
แต่ปีนี้เครื่องยนต์ตัวนี้อ่อนแรงมาตั้งแต่ต้นปี และดับเกือบสนิทไปนานถึง 3 เดือนเต็มๆ จากมาตรการล็อคดาวน์ พร้อมกับเครื่องยนต์ตัวอื่นๆ ทั้งการส่งออก การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนก็หายใจแผ่วเบาพร้อมกันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การหยุดกิจกรรมการภาคการท่องเที่ยวกระทบแรงงานในภาคธุรกินี้ที่มีอยู่ราว 5 ล้านคนทั้งที่อยู่ในระบบและเกือบ 2 ล้านคนที่อยู่นอกระบบจาก 13 กลุ่มอาชีพหลักในอุตสาหกรรมนี้
ทั้งนี้ประเทศไทยมีแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบราว 37.5 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานในภาคการท่องเที่ยวเกือบ 7 ล้านคน คิดเป็น 18.6% ของแรงงานทั้งหมดที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถือเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อย
ดังนั้นหลายคนบอกว่าให้ภาคการท่องเที่ยวหยุดไปก่อน แล้วให้ภาคกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ดำเนินต่อไปทดแทนมันก็อาจจะแบกต่อไปทั้งระบบไม่ไหวในระยะยาว เพราะไม่ว่าจะภาคส่วนใดก็กระทบเหมือนกันทั้งหมด
1
และถ้าหากมันสามารถแบกต่อไปได้จริงๆ เราก็คงจะมานั่งบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ขายของไม่ได้ กำลังซื้อหดหาย ธุรกิจปิดตัว ทั้งที่บางธุรกิจดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจท่องเที่ยวเลยด้วยซ้ำ
ลองมองในภาพรวมของกงล้อทางเศรษฐกิจที่มันขับเคลื่อนเกี่ยวเนื่องกัน ไม่มีฟันเฟืองตัวใดที่จะทำงานตัวเดียวได้เป็นเอกเทศไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร หลายคนที่บอกว่าภาคการท่องเที่ยวไม่เกี่ยวกับอาชีพหรือรายได้ของตัวเองนั้น อาจจะมองไม่รอบด้านนัก เพราะตัวคุณอาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงในหน้าที่รับผิดชอบ แต่ระดับองค์กรที่คุณทำงานอยู่อาจเกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่นอน
ถ้าเอาแบบพื้นฐานในระดับที่เล็กที่สุดคือบุคคล เช่น คุณทำงานอยู่ในบริษัทที่ผลิตสบู่ แชมพู หรือยาสีฟัน เพื่อขายให้กับประชากรในประเทศนี้ พนักงานหรือคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งคือส่วนหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ เขาก็ต้องซื้อสินค้าจากบริษัทที่คุณทำงานใช่หรือไม่
เมื่อแรงงานภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจนรายได้หดหาย ทั้งจากการโดนลดเงินเดือนหรือปลดพนักงาน กำลังซื้อในการจับจ่ายก็ย่อมลดลง ส่งผลต่อยอดขาย รายได้ กำไรของบริษัท ซึ่งถ้ามันลดมากๆ จนกำไรลดมากไปหรือถึงขั้นขาดทุน มันก็พัวพันมาถึงสภาพคล่องทางการเงินขององค์กร ลามไปถึงเงินเดือนพนักงานของคุณที่อาจจะถูกปรับลดได้เช่นกัน
หรือถ้าบอกว่าคุณทำงานในบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ ผลิตสื่อ เป็นโปรดิวเซอร์ เป็นครีเอทีฟ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับท่องเที่ยวเลย แต่อย่าลืมว่าบริษัทของคุณอาจขายงานให้กลุ่มบริษัทท่องเที่ยวทั้งโรงแรม รีสอร์ท และร้านอาหาร ต่างๆ นาๆ เพื่อผลิตสื่อให้ตามงบประมาณ หรือจ่ายเงินเป็นสปอนเซอร์สำหรับผลิตรายการ แต่เมื่อลูกค้าหด สปอนเซอร์หาย ลูกค้ายอมไม่ใช้เงิน รายได้ของบริษัทก็จะไม่กระทบเชียวหรืออย่างไร เงินที่สมควรจะได้จากกลุ่มลูกค้าตรงนั้นมาเพื่อบริหารงานในบริษัท หรือจ่ายเงินเดือนพนักงาน รวมทั้งจ่ายเงินเดือนให้คุณ มันจะไม่กระทบเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจะบอกว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับคุณเลยก็คงบอกได้ไม่เต็มปากนัก
หรือบอกว่าตัวเองเป็นเกษตรกรผู้ปลูกผัก ปลูกข้าว ไม่เห็นเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวตรงไหน? เกษตรกรก็ต้องขายผักให้โรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหารเพื่อนำไปทำอาหารให้ลูกค้า หรือส่งไปขายให้ร้านอาหารตามสั่งเพื่อทำเมนูผัดผักให้พนักงานในธุรกิจท่องเที่ยวซื้อกินเวลาพักเที่ยงที่ร้านป้าติ๋มริวรั้วโรงแรมหรือสำนักงานใช่หรือไม่?
ดังนั้นจะบอกว่าผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวจะไม่เกี่ยวกับตัวเราเองก็คงไม่ใช่ เพราะเศรษฐกิจทุกภาคส่วนมันเชื่อมต่อถึงการหมดเป็นระบบเดียวกัน
เวลานี้มันคือช่วงที่มีคนทำงานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลายล้านคน ที่ต้องตกงาน ถูกพักงาน หรือถูกลดเงินเดือน คิดดูว่ามันกระทบกับธุรกิจอื่นๆ หรือไม่ กระทบกำลังซื้อไหม ก็คงน่าจะเห็นชัดเจนแล้วในช่วงที่ผ่านมาไม่กี่้เดือนนี้ และหากบอกว่าถ้าป่วยเป็นโควิด - 19 ต้องถูกให้ออกจากงาน ถ้าคุณเป็นพนักงานในระบบแล้วคิดว่ามันเป็นการถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม คุณสามารถฟ้องศาลแรงงานได้ ซึ่งมีทางชนะสูงแน่นอน แต่ถ้าคุณเป็นฟรีแลนซ์ เป็นสัญญาจ้างที่ในสัญญาระบุชัดว่าไม่มีสวัสดิการ หรือเปลี่ยนแปลงคนทำงานได้ อันนี้คุณยอมรับในเงื่อนไขที่บริษัทจะเปลี่ยนแปลงคนทำงานแต่แรกโดยไม่มีสวัสดิการในสัญญา ก็ต้องเป็นตามสัญญาไปจ้างนั้นๆ
นี่แค่พูดถึงแค่ผลกระทบจากการท่องเที่ยวอย่างเดียวเท่านั้น ยังไม่พูดถึงภาพการส่งออกซึ่งเวลานี้ก็กระทบรุนแรงไม่ต่างกัน ซึ่งสถานการณ์ในภาคการส่งออก ณ เวลานี้ก็เหนื่อยสาหัสอยู่ไม่น้อย เพราะกำลังซื้อจากประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ยอดสั่งซื้อหดหายไป ทำใ้ห้สินค้าที่ผลิตออกมาไม่มีคนซื้อ เรียกว่าทำมาก็ขายไม่ค่อยได้ จะขายในประเทศอย่างเดียวตลาดก็เล็กเกินไป มันำม่ต่างอะไรกับเศรษฐกิจระบบปิด
ทำไมบริษัทใหญ่ๆ ต้องออกไปลงทุนขยายธุรกิจหรือส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศในสัดส่วนที่มากกว่าขายในประเทศ ก็เพราะว่าตลาดในประเทศมันเล็กเกินไปที่จะเติบโตCP มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ 70% ในประเทศ 30% ไม่ใช่เพราะเขามองไม่เห็นหัวคนในประเทศหรือดูถูกกำลังซื้อคนไทย แต่ด้วยประชากรแค่ 67 ล้านคนมันอาจไม่สามารถต่อยอดธุรกิจให้โตไปกว่านี้ได้หากยังขายแต่ภายในกันเอง ตลาดโลกมีคนมากมายเป็นพันล้านคนมันจึงเป็นโอกาสมหาศาลมากในการทำเงินและต่อยอดให้ธุรกิจเติบโตในระดับที่สูงขึ้นไป ดังนั้นเราพึงพากันเองด้วยกำลังซื้อหยิบมือเดียวภายในได้จริงๆ หรือไม่ ท่ามกลางกำลังซื้อที่ไม่เติบโตแบบนี้
ไม่ช้าเร็วมันก็ต้องเปิดประเทศอยู่ดี ประเทศอื่นๆ ก็ต้องเปิดเช่นกัน ต่อให้ไม่มีวัคซีนมันก็ต้องเปิด เนื่องจากตอนนี้หลายประเทศที่ปิดประเทศหรือล็อคดาวน์ตัวเองมานานเริ่มจะแบกรับเศรษฐกิจที่เป็นระบบปิดแบบนี้ไม่ไหวแล้ว เพราะเงินมันไม่เดินไปตามระบบ แล้วถ้าทั่วโลกอั้นต่อไปไม่ไหว ต้องเริ่มเปิดประเทศ แต่ไทยยังมัวแต่ปิดประเทศเพราะกลัวจะติดไวรัสท่าเดียว คิดว่าตอนนั้นสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร?
ถามต่อว่า ถ้าพึ่งพาแต่ภายในประเทศเพียวๆ คิดว่าจะไปไหวต่อหรือไม่ ผู้เขียนขออธิบายแบบนี้
ขนาดเศรษฐกิจสัมพันกับจำนวนประชากร + กำลังซื้อภายในและภายนอกประเทศ = รายได้ต่อหัวเฉลี่ยของประชากร
การบริโภคภายในประเทศไม่มีทางเพียงพอขนาดที่จะชดเชยเงินที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจได้ หากประชากรเราไม่ได้มีระดับร้อยล้านหรือพันล้านคน ประเทศที่จีดีพียังบวกได้เช่น เวียดนาม ก็เป็นเพราะฐานเศรษฐกิจของประเทศต่ำมาก เทียบสัดส่วนคือน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพีไทย
ซึ่งฐานที่ต่ำ = รายได้ต่ำ มันมีช่องว่างที่พอเติบโตได้ แต่ใช่ว่าเวียดนามจะไม่เจ็บหนักหนัก เพราะขนาดว่าเศรษฐกิจยังเป็นแดนบวกได้ แต่ก็บวกในสัดส่วนที่ลดลง รัฐบาลเวียดนามประกาศยอมรับชัดเจนเลยว่า คนเวียดนามจะตกงานกว่า 5 ล้านคนในปีนี้
ส่วนประเทศที่มีปริมาณประชากรเยอะๆ เช่น ญี่ปุ่น ที่มีประชากรราว 126 ล้านคน ซึ่งนับว่ามากทั้งจำนวน มากทั้งรายได้ แต่การพึ่งพาการบริโภคกันเองภายในก็ยังไปไม่รอดท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงลิ่ว การจ่ายภาษีที่สูง สวนทางกับรายได้และการบริโภคที่ไม่เติบโต ไม่อย่างนั้นญี่ปุ่นคงไม่มีนโยบายเปิดประเทศเน้นการท่องเที่ยวมากขึ้น ให้สถานะฟรีวีซ่าเพื่อดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้จ่ายเงินแทนคนญี่ปุ่นที่ไม่อยากใช้จ่ายจนเกิดภาวะเงินฝืดมานานกว่า 30 ปี จนล่าสุดเมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมาของปีนี้เศรษฐกิจทรุดตัวลงไปรุนแรง -21%
กระทั่งอินโดนีเซียที่ประชากรราว 260 ล้านคน แต่อัตราการบริโภคที่ต่ำเพราะรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำ ก็ยังผลักดันให้เศรษฐกิจเป็นบวกไม่ได้เช่นกัน
แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่ตอนนี้น่าจะกระทบหนักสุดจากทั้งการปิดเมืองปิดประเทศ มีคนตกงานแล้วราว 40 ล้านคน เพราะเศรษฐกิจไม่ถูกขับเคลื่อน ผู้คนไม่น้อยไม่มีเงินจ่ายค่ากิน ค่าเช่าบ้าน ซึ่งตอนนี้ก็กำลังโดนฟ้องขับไล่จากเจ้าของบ้านและอพาร์ทเม้นท์กันไม่น้อย ประเมินว่ามีราวๆ 20 ล้านคน ที่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน
ดังนั้นถ้าจะทำแบบพึ่งพาตัวเองจริงๆ ไม่พึ่งพาใครเลยสิ่งที่ต้องรับให้ได้คือ ปัญหาสังคมจำนวนมหาศาลที่จะตามมาจากคนตกงานหลักล้านคน รวมทั้งรายได้ที่ต้องลดลงแน่ๆ ตามขนาดเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่หดตัว ซึ่งมันสัมพันธ์กันทั้งระบบแน่นอน
ลองคิดดูว่า ถ้าสมมุติวันนี้คุณรับเงินเดือนที่ 30,000 บาท จากระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งทั่วโลก แต่วันหนึ่งบอกว่าจะขอพึ่งพาตัวเองล้วนๆ ภายในอย่าเดียวไม่ข้องเกี่กับใคร แล้วเงินเดือนต้องโดนลดลงไปเหลือเดือนละ 10,000 บาท คิดว่าจะรับได้หรือไม่ อย่าคิดว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ เพราะรายได้ต่อหัวลดลงแบบหายไปเท่าตัวมันเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศแอฟริกาใต้ ที่ครั้งหนึ่งเคยก้าวขึ้นมาสู่ประเทศพัฒนาแล้ว แต่วันนี้รายได้ต่อหัวเฉลี่ยของแอฟริกาใต้ต่ำกว่าไทยเกือบ 1,400 ดอลลาร์ต่อปี (แอฟริกาใต้ 6,400 ดอลลาร์/ปี ไทย 7,800 ดอลลาร์/ปี)
อีกอย่างผู้เขียนยังเชื่อว่าการระบาดรุนแรงในประเทศไทยจะเกิดได้ยากกว่าในต่างประเทศ เพราะหลักสำคัญเลยคือ คนไทยหลอนโควิดมากจากข่าวทั้งจริงและไม่จริงบ้างที่รับข่าวสารอยู่ในแต่ละวัน แถมกลัวตายป่วย กลัวตาย และสังคมไทยตอนนี้คือ ใครไม่สวมหน้ากากอนามัย = ห้ามออกจากบ้าน การจะขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า เข้าห้างสรรพสินค้า หรือเข้าร้านสะดวกซื้อ จะต้องสวมหน้ากากตลอด ไม่งั้นเข้าไม่ได้
1
มือก็ล้างแอลกอฮอล์เจลกันจนเปรียบเสมือนเป็นทาแฮนด์ครีมบำรุงผิว จนมันกลายเป็นทั้งอวัยะและกิจวัตรปกติของคนไทยไปแล้วโดยที่ไม่ต้องให้ใครมาบังคับ
ถ้านักท่องเที่ยวจะเข้ามาก็ต้องปฎิบัติตามมาตรการอยู่ดี เพราะถ้าไม่ทำตามเขาก็จะใช้ชีวิตในไทยลำบาก สุดท้ายสังคมเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตามก็จะเกิดขึ้น เพราะถ้าเขาไม่สวมหน้ากากก็จะไม่ได้รับการต้องรับเข้าสู่กิจการร้านค้าต่างๆ เขาก็อยู่ลำบากเช่นกัน
อีกทั้งการจะเดินทางเข้าประเทศได้ไม่ใช่มาแบบเสรีมันต้องมีการวางแผน ระบุจุดหมายปลายทางชัดเจน มีเอกสารทางการแพทย์ยืนยันทั้งต้นและทางปลายทาง มีทำประกันสำหรับโควิดในวงเงินที่สูงมากมาด้วย และเมื่อมาถึงก็ต้องเข้าสู่กระบวนการกักกันตามที่กำหนด มันไม่ใช่ง่ายๆ หรือรับนักท่องเที่ยวแบบเน้นแต่ปริมาณอย่างเดียวแบบเมื่อก่อนได้แล้ว มันต้องเป็นคนมีเงินระดับหนึ่งและพร้อมใช้ชีวิตอยู่แบบยาวๆ ซึ่งมันก็ต้องเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักที่พร้อมจ่ายเงินเพื่อหนีโควิดจากบ้านเกิดมาที่ไทย ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวที่ต้องการมา
เชื่อว่าคนไทยคือชาติที่ป้องกันตัวเอง และปรับตัวเก่งระดับต้นๆ ของโลกในการรับมือกับวิกฤติ และสิ่งที่คนไทยทำไม่ใช่เพื่อชาติ เพื่อสังคม แต่ป้องกันเพื่อตัวเองทั้งนั้นไม่อยากติดเชื้อ รักตัวเองเป็นที่สุด กลัวตายมากกว่าสิ่งใดๆ ไม่อย่างนั้นไทยก็คงระบาดหนักแบบยุโรปหรืออเมริกาไปแล้ว เพราะไม่ยอมสวมหน้ากาก หรือมีความเชื่อว่าโควิดเป็นเรื่องหลอกลวง
อีกอย่างคือคนไทยจริงๆ ดูเหมือนดื้อด้าน เอะอะด่าไว้ก่อน แต่ถึงเวลาก็ทำตาม เพราะมันเซฟตัวเอง และถ้าไม่ทำสังคมก็มองไม่ดี โดนประจานในโซเชียลอีก ซึ่งสุดท้ายมันคือการป้องกันตัวเองล้วนๆ นั่นเอง
ฉะนั้นเมื่อถึงเวลามันก็ต้องเปิดเมือง ต่อให้ไม่มีวัคซีนก็ต้องเปิดอยู่ดี แต่ต้องเปิดแบบมีกระบวนการป้องกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ควบคุมทั้งปริมาณ ความเสี่ยง และผลลัพธ์ได้ เพราะถ้าปิดต่อไปมีแต่ทรงกับทรุด มันก็ไม่ต่างอะไรกับรอวันพังอยู่ดี
โฆษณา