2 ก.ย. 2020 เวลา 11:34 • ประวัติศาสตร์
เปิด 11 รัฐโบราณ ในเขตประเทศไทย
1
Ep.010
ในพื้นที่ประเทศไทยเคยมีผู้คนอาศัยอยู่ก่อนตั้งแต่ยุคหินเก่า ทั้งในพื้นที่กาญจนบุรีและแม่ฮ่องสอน มีอายุกว่า 10,000 ปี ทั้งการขุดค้นทางโบราณคดีที่ปราจีนบุรี อายุ 5,000 ปี และหม้อไหบ้านเชียงอายุ 3,500 ปี นั้นเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าว อาจเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมที่แพร่ไปสู่ส่วนอื่นๆในเอเชีย
3
ใน Ep.006 และ Ep.007 ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงทฤษฎีการเคลื่อนย้ายเข้ามาของกลุ่มคนจากดินแดนต่างๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบัน เริ่มจากกลุ่มชาวเผ่าเร่ร่อน มาเป็นกลุ่มชาวภูเขา และชาวราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งอยู่กันกระจัดกระจายในภูมิภาคอุษาอาคเนย์ ต่อมาเกิดกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “วัฒนธรรมหินตั้ง” ซึ่งภายหลังการรับวัฒนธรรมจากอารยธรรมใหญ่ๆในเอเชีย โดยเฉพาะการรับศาสนาจากอินเดีย จนเกิดเป็นศูนย์รวม ที่มีส่วนสำคัญต่อการก่อร่างสร้างอาณาจักร
2
อาณาจักรเหล่านี้ มีมาก่อนสมัยรัฐสุโขทัย อยุธยา และถือว่าเป็นรัฐแรกเริ่มของอารยธรรมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้รวบรวมจากหลักฐานด้านโบราณคดี ตำนาน นิทานพื้นบ้าน หรือบันทึกของจีน เกี่ยวกับอาณาเขต การปกครอง ศาสนา และวัฒนธรรม ของอาณาจักรที่เรียกว่า"รัฐโบราณ"
1
ในบทความนี้ ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงรัฐ เฉพาะในพื้นที่ประเทศไทยเท่านั้น พร้อมภาพประกอบและเนื้อหาสรุปสั้นๆ เพื่อใช้อ้างอิงในการเที่ยวสำรวจของเพจในโอกาสต่อไป
1
โดยเรียงลำดับการก่อตั้งก่อน-หลัง ดังต่อไปนี้
1. ลังกาสุกะ (พุทธศตวรรษที่ 7-18)
อาณาจักรลังกาสุกะเป็นอาณาจักรโบราณ มีศูนย์กลางตั้งอยู่บริเวณ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มีอาณาเขตปกครองกว้างขวางครอบคลุมคาบสมุทรมลายูตอนล่างทั้งหมดโดยพัฒนามาจากเมืองท่าเล็กๆ ของชาวพื้นเมืองจนเติบโตเป็นรัฐและมีฐานะเป็นอาณาจักรมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 เป็นศูนย์กลางการค้าและศาสนา จนได้ล่มสลายไปในต้นพุทธศตวรรษที่ 21
3
แรกเริ่มนั้นนับถือพุทธศาสนา เพราะมีการขุดพบหลักฐานสำคัญ ทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ เช่น สถูปสำคัญที่อำเภอยะรัง ต่อมาภายหลังชาวเมืองก็เริ่มเปลี่ยนศาสนาตามเป็นศาสนาอิสลามต่อจากนั้นก็เริ่มมีการทำลาย พระพุทธรูป พุทธสถาน เทวรูป และเทวาลัย อาณาจักรที่เคยนับถือพระพุทธศาสนาอยู่หลายปีจึงมีโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาน้อยเต็มที หรือแทบจะไม่มีเลย
3
ซากเมืองโบราณยะรัง ตั้งอยู่หมู่ 3 ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนามหายานแห่งอาณาจักรลังกาสุกะ เมืองท่าสำคัญตั้งอยู่ใกล้ทะเล และเป็นดินแดนที่มีบทบาททางเศรษฐกิจ การติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวาง มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 และพบสถูปในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่เก่าแก่ที่สุด ที่พบในประเทศไทย สันนิษฐานว่าเป็นอาณาจักรลังกาสุกะตอนปลายก่อนย้ายไปสร้างเมืองปัตตานี ที่กรือเซะ
2.ตามพรลิงค์ (พุทธศตวรรษที่ 7-19)
อาณาจักรตามพรลิงค์ มีศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน จากการพบเมืองโบราณและวัตถุโบราณ บริเวณบ้านพระเวียง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช และศิลาจารึกจากเมืองไชยา ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีอาณาเขตทางทิศเหนือถึงบริเวณจังหวัดชุมพรในปัจจุบัน ทิศใต้คลอบคลุมถึงบางส่วนบริเวณตอนบนของประเทศมาเลเซีย และด้านทิศตะวันออก ตะวันตกจรดทะเลทั้งสองฝั่ง โดยฝั่งทะเลอันดามันถึงบริเวณที่เรียกว่าทะเลนอก ซึ่งเป็นบริเวณจังหวัดกระบี่ในปัจจุบัน
แรกเริ่มนั้นนับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน กับพราหมณ์-ฮินดู ก่อนจะเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท แบบลังกาวงศ์ ที่รับจากประเทศศรีลังกา ซึ่งต่อมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหง แห่งอาณาจักรสุโขทัย ได้เชิญพระสงฆ์จากนครศรีธรรมราช ไปเผยแพร่ศาสนาพุทธที่สุโขทัย จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของนิกายเถรวาทในประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน
4
วัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหลักฐานสำคัญของอาณาจักรตามพรลิงค์ เป็นสถาปัตยกรรมการสร้างสถูปใหญ่แห่งแรกในพระพุทธศาสนาของฝ่ายเถรวาทแบบลังกาวงศ์ในคาบสมุทรมลายู ที่รุ่งเรืองอย่างมาก ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช และพระเจ้าจันทรภาณุเป็นกษัตริย์
2
3.เจนละ / อิศานปุระ (พุทธศตวรรษที่ 11-19)
เจนละ หรือ อิศานปุระ เป็นชื่อที่เอกสารจีนใช้เรียกรัฐซึ่งมาทีหลังฟูนัน เป็นกลุ่มคนเชื้อชาติเขมร ที่ต่อมาจะก่อตั้งเป็นจักรวรรดิเขมร โดยพระเจ้า ชัยวรรมันที่ 2
ตั้งอยู่ในภาคอีสานเป็นส่วนมาก และภาคกลางในประเทศไทย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพระนคร “ในภาษาเขมรปัจจุบันเรียกว่า อังกอร์” ประเทศกัมพูชา ปัจจุบัน
ในพุทธศตวรรษที่13 อาณาจักรถูกแยกออกเป็นเจนละน้ำ และ เจนละบก โดยมีอาณาเขตครอบครองพื้นที่บางส่วนในภาคอีสานของประเทศไทย ในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนที่อาณาจักรสุโขทัยจะตั้งขึ้นมา โดยมีกษัตริย์คนสำคัญอย่างเช่น พระเจ้าชัยวรมันที่2 ผู้รวบรวมอาณาจักรเขมร ผู้สร้างนครวัด และพระเจ้าชัยวรมันที่7 ถือเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุด เป็นผู้สร้างนครธม
1
อาณาจักรเจนละ ได้เผยแพร่อารยธรรมไปยังรัฐใกล้เคียงอยู่หลายด้าน ทั้งด้านการปกครอง อันได้แก่ การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความเป็นสมมติเทพของกษัตริย์ ระบบขุนนาง การปกครองแบบจตุสดมภ์ และกฎหมายพระธรรมศาสตร์
1
ด้านศาสนาและความเชื่อ อันได้แก่ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ดังจะเห็นได้จากโบราณสถานและโบราณวัตถุ เช่น ปราสาทหิน เทวรูปพระโพธิ์สัตว์ ศิวลึงค์ พระพุทธรูปปางนาคปรก ความเชื่อเรื่องพญานาค เป็นต้น
นครวัด เป็นปราสาทในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ มีความงดงามของสถาปัตยกรรมที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานศิลปะชิ้นเอก ตั้งอยู่ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา สร้างขึ้นในช่วงต้นของคริสศตวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2
4.โคตรบูรณ์ (พุทธศตวรรษที่ 12-16)
อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ก่อตั้งขึ้น
ตรงดินแดน 2ฝั่งแม่น้ำโขง อันได้แก่
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของราชอาณจักรสยาม โดยเริ่มตั้งแต่จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดเพชรบูรณ์ และพื้นที่ใกล้เคียง
- ภาคตะวันตกกับภาคเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเริ่มตั้งแต่นครจำปาศักดิ์ ไปจรดกรุงเวียงจันทน์
สันนิษฐานว่า เดิมทีเมืองหลวง คือ เมืองนครพนม (ในจังหวัดนครพนม) แต่ภายหลังได้สร้างเมืองหลวงใหม่ มีนามว่า “มรุกขนคร” ตั้งอยู่บริเวณเมืองท่าแขก ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
2
ถูกกล่าวถึงในตำนานอุรังคธาตุ ว่ามีการบูชาพญานาค และบูชาผี ต่อมาชาวอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมาก โดยเห็นได้จากการก่อสร้างศาสนสถาน ศาสนวัตถุ อาทิเช่น พระธาตุพนม พร้อมทั้งมีประเพณีเกี่ยวเนื่องกับศาสนา การเกษตร
2
ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่รับมาจากอินเดีย พร้อมทั้งยังรับศิลปะวัฒนธรรมมาจากเขมร
พระธาตุพนม ปัจจุบันมีประดิษฐาน ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนชยางกูร บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
เป็นพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ ( กระดูกส่วนพระอุระ )
ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีรูปทรงสี่เหลี่ยม ประดับตกแต่งด้วยศิลปลวดลายอันวิจิตรประณีตทั้งองค์
5.ทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16)
ศูนย์กลางอยู่ที่เมือง นครชัยศรี อู่ทอง ลพบุรี และเมืองศรีเทพ
บันทึกของภิกษุจีนอี้จิง เรียกอาณาจักรทวารวดี ว่า“โถโลโปตี” เป็นชื่อของอาณาจักรหนึ่งที่ตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรศรีเกษตร และอาณาจักรอิศานปุระ ซึ่งตั้งอยู่ในดินแดนประเทศไทย ปัจจุบัน
สันนิษฐานว่าเป็นชาวมอญ เพราะพบจารึกเป็นอักษรมอญมากมายในพื้นที่สำรวจ
ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบอินเดีย ที่ต่อมาจากเขมร พร้อมทั้งยังรับศิลปะและวัฒนธรรมมาจากเขมรเช่นกัน
นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ซึ่งรับอิทธิพลมาจากทางใต้ คือเมืองนครศรีธรรมราช ของอาณาจักรตามพรลิงค์
ภายหลังเสื่อมอำนาจลง เพราะการแผ่อำนาจของ อาณาจักรเขมร
ธรรมจักรกวางหมอบ เป็นสัญลักษณ์อย่างเด่นชัดที่สุดของอารยธรรมทวารวดี มีการขุดค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย เป็นพระธรรมจักรกับกวางหมอบ สัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้และการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
6.ละโว้ (พุทธศตวรรษที่ 12-18)
มีศูนย์กลางอยู่ที่ เมืองลพบุรี สถาปนาขึ้นราวปลายยุคทวารวดี หลังการสถาปนาอาณาจักรอยุธยา อาณาจักรละโว้ สุดท้ายได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา
ในบันทึกของภิกษุจีนอี้จิง เรียก อาณาจักรละโว้ ว่า หลอหู และในตำนานของพระนางจามเทวี ยังเรียกชาวพื้นที่แถบนี้ว่า ชาวรามัญ หรือชาวมอญ
ซึ่งรับเอาศิลปะ และวัฒนธรรมมาจากเขมร เช่น สระโกสินารายณ์ และพระปรางค์3ยอด
ละโว้ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากขอม ภายหลังพระพุทธศาสนานิกายมหายานและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ได้เข้ามามีบทบาทในละโว้แทนพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีการสร้างสถาปัตยกรรม และประติมากรรมตามความเชื่อในศาสนาเหล่านี้ เช่น พระปรางค์สามยอด ปรางค์แขก เทวรูปพระโพธิ์สัตว์อวโลกิเตศวร
พระปรางค์สามยอด ตั้งอยู่ในเมือง จังหวัดลพบุรี เป็นโบราณสถานและ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ลักษณะเป็นปราสาทขอม
1
7.โยนกเชียงแสน (พุทธศตวรรษที่ 12-16)
ไม่มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนของอาณาจักรนี้
มีเพียงตำนาน
โยนกเชียงแสน เป็นรัฐของชาวไทยวน ที่ตั้งอยู่แถบลุ่มน้ำโขงตอนกลาง อันเป็นที่ราบลุ่มของน้ำแม่กก เป็นที่ตั้งของชุมชนที่มีมาช้านาน แม้จะเป็นรัฐชายขอบที่ตั้งอยู่ใกล้กับอาณาจักรขนาดใหญ่อย่าง ขอม พุกาม และยูนนาน แต่ก็มีพัฒนาการที่รวดเร็วช่วงพุทธศตวรรษที่ 16ก่อนที่จะพัฒนาจนสถาปนาอาณาจักรล้านนาในเวลาต่อมา
1
ในตำนานสิงหนติกุมาร ปรากฎว่า พระเจ้าสิงหนวัติ สร้างเมืองนาคพันธุสิงหนตินคร (เชียงราย) เมื่อพุทธศตวรรษที่12 แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น ภายหลังเรียกสั้นๆว่า เชียงแสน
ในตำนาน ชาวเมืองจับได้ปลาไหลเผือกยักษ์จากแม่น้ำกก แล้วนำมาแบ่งกันกินทั้งเมืองยกเว้นแม่หม้ายเฒ่าหนึ่งคน และในคืนนั้นเมืองโยนกก็ล่มสลายลงกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ ยกเว้นแม่หม้ายเฒ่าเพียงคนเดียวที่รอดตาย (สันนิฐานว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวจนเมืองถล่มลง จึงมาผูกเรื่องในตำนาน ปัจจุบันสันนิฐานว่าเวียงโยนกฯอยู่บริเวณเวียงหนองหล่ม อ.แม่จัน จ.เชียงราย) เป็นการสิ้นสุดอาณาจักร โยนกเชียงแสน ด้วยตำนานนี้
2
และ ผู้คนที่เหลืออก็พยพไปตั้งเมือง ไตรตรึงษ์ (เมืองกำแพงเพชร)
1
วัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย เป็นวัดและกลุ่มโบราณสถานในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งก่อสร้างโดยพระเจ้าแสนภู เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ "โคปผกะ ธาตุ" (ตาตุ่ม,ข้อเท้า)
3
8. ศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-18)
หลวงจีนอี้จิง เคยเดินทางจากเมืองกวางตุ้ง ประเทศจีนโดยเรือของพวกอาหรับ ผ่านฟูนันมาพักที่อาณาจักรศรีวิชัย มีชื่อเรียกว่า "ซานโฟนิ"
เป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญทางน้ำ ระหว่างอาหรับ อินเดีย และจีน ตั้งอยู่บริเวณคาบสมุทรมาลายู ศูนย์กลางยังเป็นที่ถกเถียงกันระหว่าง เมืองไชยา จังหวัด (ประเทศไทย) สุราษฎร์ธานี และเมืองปาเล็มบัง (อินโดนีเซีย)
เสื่อมอำนาจลงจากการโจมตี ของพวกโจฬะ (อินเดียใต้) อาณาจักรมัชปาหิตได้ยกทัพเข้ามาตีอาณาจักรศรีวิชัย ได้ดินแดนสุมาตราและบางส่วนของคาบสมุทรมลายูไป จึงทำให้ศรีวิชัยล่มสลายไปในที่สุด
อาณาจักรศรีวิชัย ปกครองในระบอบกษัตริย์ ประชาชนนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน มีหลักฐานสำคัญ เช่น รูปหล่อสำริดพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ,เจดีย์พระบรมธาตุไชยา
ในเวลาต่อมา ศาสนาอิสลามจึงได้เผยแพร่ไปยังมะละกา กลันตัน ตรังกานู ปาหัง และปัตตานี จนกลายเป็นรัฐอิสลามทั้งหมด
วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ตั้งอยู่ ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระบรมธาตุไชยาเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
9. หริภุญชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-19)
หริภุญไชย เป็นอาณาจักรมอญ ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลำพูน
จีนสมัยราชวงศ์ถัง กล่าวถึงนครหริภุญชัยไว้ว่าชื่อ หนี่หวังก๊ก (ประเทศที่มีผู้ปกครองเป็นผู้หญิง)
ตำนานจามเทวีวงศ์โบราณได้บันทึกไว้ว่า ฤๅษีวาสุเทพเป็นผู้สร้างเมืองหริภุญชัยขึ้นมา แล้วทูลเชิญพระนางจามเทวี ซึ่งเป็นเจ้าหญิงจากอาณาจักรละโว้ ขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย
4
ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ นับถือพระพุทธศาสนา นิกายมหายานและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศิลปะ วิทยาการที่รับมาจากละโว้
วัดพระธาตุหริภุญชัย ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ในรัชสมัยของพญาอาทิตยราช พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวีวงศ์
1
10.หิรัญนครเงินยาง (พุทธศตวรรษที่ 16-19)
ไม่มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนของอาณาจักรนี้
มีเพียงตำนาน
ในตำนานพื้นเมืองเชียงแสนระบุว่า ปู่เจ้าลาวจง หัวหน้ากลุ่มคนบนดอยตุง นำบริวารมาสร้างนครเงินยางนี้ขึ้น และก่อตั้งราชวงศ์ ลาวจังกราช หรือลาวจง
ขยายอำนาจด้วยการส่งโอรสไปสร้างเมืองใหม่ โดยให้โอรสอภิเษกกับธิดาเมืองอื่น ทำให้การปกครองแถบภาคเหนือ จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแคว้นด้วยระบบเครือญาติ (ตำนานนครเงินยาง) * สอดคล้องสมติฐานคนไทยมาจากชาวเขา ep.7
1
กษัตริย์องค์ที่ 25 คือ พญามังราย และเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์ลาว เริ่มต้นอาณาจักรล้านนา โดยราชวงศ์มังราย และก่อสร้างเมืองใหม่ที่ชื่อว่า เวียงกุมกาม
เวียงกุมกาม เป็นเมืองที่ “พญาเม็งราย” กษัตริย์แห่งนครเงินยาง ได้สถาปนาให้เป็นเมืองหลวงแห่งแรกของล้านนา แต่ “เวียงกุมกาม” ก็เป็นเมืองหลวงได้ไม่นานประมาณ 12 ปี เพราะประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี พญามังรายจึงโปรดให้สร้าง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ขึ้นมาแทน
11.ล้านนา (พุทธศตวรรษที่ 19-25)
มีศูนย์กลางอยู่ที่ เมืองเชียงใหม่
พญามังราย กษัตริย์แห่งหิรัญนครเงินยาง องค์ที่ 25 ในราชวงศ์ลาว ได้รวบรวมเมืองต่างๆให้เป็นปึกแผ่น พระองค์ก็ได้ขยายอาณาจักรแผ่อิทธิพลลงทางมาทางทิศใต้ โดยสร้างเมืองชื่อว่า นพบุรี ศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เป็นราชธานีของล้านนา
เกิดขึ้นในสมัยเดียวกับพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พร้อมกับ พระยางำเมือง แห่งพะเยา ที่เคยร่ำเรียนศิลปะวิทยาการมาด้วยกันในสมัยทรงพระเยาว์
ด้านการปกครอง มีการตรากฎหมายมังรายศาตร์เพื่อใช้ควบคุมสังคม ที่รับแบบมาจากอินเดีย (กฎหมายธรรมนูญศาตร์) และนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
มีความเจริญสูงสุดในสมัยพระเจ้าติโลกราช สมัยนั้นได้ขยายอิทธิพล แข่งขันกับอาณาจักรอยุธยา ที่ร่วมสมัยเดียวกับ สมเด็จพระบรมไตรโลก แต่ภายหลังตกอยู่ภายใต้อำนาจของอยุธยา
และถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม
ในสมัยราชการที่5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเรียกหลายชื่ออันได้แก่ ราชกุฏาคาร ,วัดโชติการาม สร้างขึ้นในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย
เนื้อหาในบทความนี้ ข้าพเจ้าได้จัดทำขึ้นมาเพื่อใช้เป็นความข้อมูลประกอบของตนเอง และใช้อ้างอิงในเพจนี้ สำหรับการเที่ยวชมและสำรวจทางโบราณคดี ในEP.ต่อๆไป เพื่อจะได้เชื่อมโยงว่าสถานที่แห่งนั้นๆ และวัตถุนั้นๆ ถูกสร้างขึ้นมาในยุคสมัยใด และช่วงเวลาใด
ขอให้ในทุกหัวใจ ให้รักมาบังเกิด
...................ไซตามะ
โฆษณา