#เจ้านางบัวสวรรค์ นางแก้วแห่งเขมรัฐตุงคบุรี
.....เมื่อเจ้าฟ้ารัตนก้อนแก้วอินแถลงถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2478 เจ้านางบัวสวรรค์ชันษา 28 ปี ทรงเรียนรู้ทุกอย่างจากพระบิดาทั้งด้วยการสอนและการซึมซับ ไม่ว่าจะเป็นงานแผ่นดินที่ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์นานาประการในการทรงงาน การร้อยรัดผู้คนในราชวงศ์ไว้ด้วยความรักและการเอาใจใส่ การดูแลสนับสนุนกิจการบ้านเมืองและสังคมวัฒนธรรม
เจ้านางบัวสวรรค์รับภาระดังกล่าวมาด้วยสำนึกของความเป็นธิดาที่พระบิดาไว้วางใจและสนิทเสน่หาเป็นที่สุด ในขณะที่ผู้ร่วมสายเลือดของพระบิดาทุกคนต่างยอมรับโดยนัยยะว่า เจ้านางบัวสวรรค์คือศูนย์กลางแห่งความรักของราชวงศ์ เป็นที่พึ่งได้ทั้งใจและกายนับตั้งแต่วัยยี่สิบแปดที่พระบิดาสิ้น
กระทั่งวันที่เจ้านางละจากราชวงศ์ในปี พ.ศ. 2522 รวมเวลา 44 ปี เจ้านางได้ทำหน้าที่ของการเป็นลูก พี่ น้อง และเจ้านางอันเป็นที่รักยิ่งของชาวเชียงตุงได้อย่างสมบูรณ์แบบ.....
เจ้าฟ้ากองไตย (พระเชษฐาร่วมมารดา) ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าองค์ใหม่สืบต่อจากพระบิดา ข้างกายของเจ้าฟ้ากองไตยมักจะมีเจ้านางบัวสวรรค์ติดตามอยู่เสมอแม้คืนที่มีการเฉลิมฉลองการขึ้นครองเมืองของเจ้าฟ้ากองไตยในปี .ศ. 2480
เจ้าฟ้ากองไตยได้เสด็จนำขบวนราชวงศ์ออกมาโดยมีเจ้านางบัวสวรรค์ติดตามอยู่เบื้องหลัง เมื่อมีการลอบปลงพระชนม์ด้วยปืน เจ้านางบัวสวรรค์เป็นคนแรกที่เห็นเหตุการณ์ ทรงโอบเจ้าฟ้ากองไตยไว้ในอ้อมแขนและเจ้าฟ้ากองไตยก็ได้สู่สวรรคาลัยในอ้อมแขนของน้องสาวที่รักยิ่งของพระองค์
ในปี พ.ศ. 2842 หลังจากเจ้าฟ้ากองไตยสิ้น และเหตุการณ์ในหอหลวงเริ่มสงบ เจ้านางบัวสวรรค์พร้อมกับเจ้านางฟองแก้ว (น้องสาวร่วมมารดา) เดินทางไปประเทศอังกฤษเพื่อท่องเที่ยวและเยี่ยมเจ้าฟ้าจายหลวงองค์
รัชทายาท (ในระยะนี้ เจ้าฟ้าขุนศึกเมงราย น้องชายร่วมมารดาของเจ้าฟ้ากองไตย กับ เจ้านางบัวสวรรค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนเจ้าฟ้าจายหลวง-กฤตย์) ผู้เป็นราชบุตรของเจ้าฟ้ากองไตย แต่ครั้นเมื่อกลับถึงย่างกุ้ง เจ้านางฟองแก้วต้องเข้าโรงพยาบาลอย่างกะทันหันและสิ้นโดยโรคปอดบวม
ความตายของบุคคลในราชวงศ์ที่เจ้านางรักและผูกพันไม่ว่าจะเป็นพระบิดาในปี พ.ศ. 2478 เจ้านางฟองนวลธิดาเจ้าแม่บุญยวง ในปี พ.ศ. 2479 เจ้าฟ้ากองไตยพี่ชายร่วมอุทรในปี พ.ศ. 2480 เจ้านางฟองแก้วน้องสาวร่วมอุทรในปี พ.ศ. 2482 รวมทั้งเจ้าฟ้าอินทราพี่ชายร่วมอุทร (เป็นเจ้าราชบุตร บุตรบุญธรรมของเจ้าฟ้าเมืองสีป้อ) ในปี พ.ศ. 2491 หรือกระทั่งเจ้าแว่นแก้วพี่สาวต่างมารดา (เจ้านางแว่นแก้วเป็นมหาเทวีของเจ้าฟ้าเมืองล็อกจ็อก) ที่กระทำอัตวิบาตกรรม
เหตุการณ์เหล่านี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เจ้านางต้องครองตัวเป็นโสดอยู่ที่หอหลวง เพื่อจะได้อุทิศตนและเวลาดูแลผู้คนในราชวงศ์ที่มีจำนวนมากให้อยู่ได้อย่างมีความสุข มีขวัญและกำลังใจ ด้วยความเข้มแข็งอดทนและยอมรับในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ที่กำลังเกิด และที่จะเกิดในภายภาคหน้าตราบที่เจ้านางยังมีลมหายใจอยู่.....