4 ก.ย. 2020 เวลา 09:42 • การศึกษา
🔢ส่องดูหลักสูตรคณิตศาสตร์สิงคโปร์ อนุบาลถึงประถม3 (6)🧮
ในบทความนี้จะมาต่อกันเรื่องคณิตศาสตร์สิงคโปร์ของชั้นประถมศึกษาปีที่สองกันนะคะ อย่างที่เคยบอกไปในบทความก่อนๆว่าบีมัมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ ดังนั้นถ้าเกิดมีความผิดพลาดประการใดได้โปรดช่วยแนะนำตักเตือนและต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
ทบทวนโครงสร้างหลักสูตรของคณิตศาสตร์สิงคโปร์ระดับชั้นประถมศึกษา
เนื้อหาการเรียนคณิตศาสตร์ชั้นประถม 2 ตามหลักสูตรสิงคโปร์
🔴หัวข้อการเรียนรู้เรื่องจำนวนและตัวเลข🔴
#จำนวนถึง 1000#
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
•นับทีละสิบและทีละร้อยได้
•บันทึกค่าจำนวนได้ทั้งหลักหน่วย, หลักสิบและหลักร้อย โดยทำสัญลักษณ์ไว้
•อ่านและเขียนจำนวนได้ทั้งตัวเลขและคำศัพท์
•เปรียบเทียบค่าจำนวนและสามารถเรียงลำดับจากน้อยไปมาก(และย้อนกลับได้)
•สามารถสร้างแพทเทิร์นของจำนวนและตัวเลขได้
•เข้าใจเรื่องเลขคู่และเลขคี่
กิจกรรมการเรียนรู้
•ให้นักเรียนพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้จำนวนและตัวเลขในสถานการณ์จริงต่างๆพร้อมทั้งให้เหตุผลว่าทำไมถึงใช้ตัวเลขนั้นและใช้อย่างไร
•แบ่งกลุ่มกันใช้วัตถุจริงเพื่อนับเป็นทีละ “ชุดสิบ” และทำความเข้าใจว่าถ้านำชุดสิบมาสิบชุดจะได้จำนวน 100 และถ้านำ “ชุด100”มาสิบชุดจะได้จำนวน 1000
•ทำความคุ้นเคยกับกองวัตถุจำนวน “100” ว่ามีขนาดประมาณไหน แล้วฝึกกะจำนวน(subtizing)ของหลักหลายร้อยโดยยังไม่ต้องนับ ว่ามีจำนวนประมาณเท่าไหร่
•ใช้วัตถุจริงที่เป็น “ชุดสิบ” มาทำให้เห็นภาพของตัวเลขสามหลัก ใช้วิธีปัดเศษที่เกินมาหรือขาดไปจากชุดสิบ (เช่น 238 คือชุดสิบ 24ชุดที่เอาวัตถุออกไป สองชิ้น)
•ใช้การ์ดหลักจำนวน(place value card) มาทำความเข้าใจเรื่องหลักของจำนวน เช่นเลข 3ของจำนวน333 จะมีค่าเป็น 3,30 หรือ 300 ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มันวางอยู่ โดยยิ่งอยู่ตำแหน่งไปทางซ้ายมือมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีค่ามากขึ้นเท่านั้น
•ใช้การ์ดหลักจำนวนเพื่อเปรียบเทียบค่าของตัวเลขและฝึกใช้คำพูดเช่น มีค่ามากที่สุด มีค่าน้อยที่สุด มีค่ามากกว่า มีค่าน้อยกว่า มีค่าเท่ากัน (ตัวอย่างเช่น 625, 127, 912, 200 -> เลข2ตัวที่อยู่ใน625 มีค่าเท่ากับตัวที่อยู่ใน 127,มีค่าน้อยกว่าตัวที่อยู่ใน 200 และมากกว่าตัวที่อยู่ใน 912)
•สามารถบรรยายชนิดและรูปแบบของแพทเทิร์นจำนวนและตัวเลขที่ให้มา, สามารถต่อแพทเทิร์นนั้นได้ และตอบได้ว่าจำนวนและตัวเลขใดที่หายไปจากแพทเทิร์น
ตัวอย่าง
• การนับทีละสิบ (10, 20, 30, 40, 50…)
มีบล็อกแท่งสิบอยู่ 6 แท่ง และบล็อกอีก 9 ชิ้น ดังนั้นมีบล็อกทั้งหมดจำนวน 69 ชิ้น
สามารถเปรียบเทียบจำนวนได้
เข้าใจเรื่องค่าจำนวนที่อยู่ระหว่างจำนวนหลักสิบ เช่น 53 อยู่ระหว่าง 50 และ 60 โดยมีค่าค่อนไปทาง 50 มากกว่า 60
การฝึกกะประมาณค่าจำนวน
ทำความรู้จักจำนวน “100”
248 คือชุดสิบ 25 ชุดที่นำเอาจำนวนออกไป 2
ดาวน์โหลด pdf file ของภาพบล็อกจำนวนหลักหน่วย สิบ และร้อยได้ที่ลิงค์ข้างล่างนี้ค่ะ เผื่อหาบล็อกของจริงไม่ได้ก็สามารถตัดรูปมาให้เด็กทำกิจกรรมได้
ค่าของหลักสิบและหลักหน่วย มีลูกปัดค่าหลักสิบอยู่ 7 อัน = 70 และมีค่าหลักหน่วยอยู่ 8 รวมกันเป็น 78
ค่าของหลักสิบและหลักหน่วย 8(10)+1 = 81
ค่าของหลักร้อย สิบ และหน่วย 6(100)+9(10)+2 = 692
ค่าของหลักร้อย สิบ และหน่วย 3(100)+4(10)+5 = 345
การทำความเข้าใจค่าของตัวเลขในหลักต่างๆด้วยการ์ดหลักจำนวน (Place value card)
ค่าเลข 2 มีค่าต่างกันขึ้นกับหลักจำนวน(สีเหลืองคือ 2,สีเขียวคือ 20,สีฟ้าคือ 200)
ดาวน์โหลด pdf file ของการ์ดหลักจำนวน 0-1000 ได้ที่ลิงค์ข้างล่างนี้ค่ะ
• ความเข้าใจเรื่องจำนวนคู่และคี่ • จำนวนคู่คือจำนวนที่จัดเป็นกลุ่ม 2 ได้ลงตัว เช่น 2, 10, 6, 8, 14 • จำนวนคี่คือจำนวนที่จัดเป็นกลุ่มสองได้ไม่ลงตัว เช่น 7, 15, 9, 1, 19, 11, 13
ความเข้าใจเรื่องแพทเทิร์นของจำนวนและคิดวิธีหาจำนวนที่หายไปได้ เช่นใช้การวาดภาพหรือเส้นกราฟจำนวน
#การบวกและการลบ#
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
•เข้าใจalgorithm ของการบวกและลบเลขได้ถึงสามหลัก
•แก้โจทย์ปัญหาสองชั้นเกี่ยวกับเรื่องการบวกและการลบ
•คำนวณในใจ(mental calculation) ของเลขได้ทั้งสามหลัก(เช่น หลักหน่วย 3+5,หลักสิบ 30+50,หลักร้อย 300+500)
กิจกรรมการเรียนรู้
•เขียนสมการจากเรื่องราวเกี่ยวกับจำนวน(number stories) โดยใช้เครื่องหมาย +,-,=ได้ (เข้าใจความหมายของเครื่องหมายเท่ากับ)
•สามารถคิดเลขบวกลบเลขจำนวนไม่เกิน 20 ได้คล่องแคล่วชำนาญ โดย
– เข้าใจความสัมพันธ์ของการบวกและลบและเขียนสมการได้ 4 รูปแบบ เช่น 7+9=16, 9+7=16, 16-7=9, 16-9=7
– เล่นเกมต่างๆที่ช่วยฝึกการบวกลบ รวมถึงเกมในแอพพลิเคชันและเกมดิจิตอลต่างๆด้วย
•แบ่งกลุ่มกันนำ “ชุดสิบ” มาฝึกทำความเข้าใจalgorithm ของการบวกลบเลขถึงสามหลัก
•ใช้โมเดลของเรื่อง part-whole และการเปรียบเทียบจำนวนมาใช้ทำความเข้าใจการบวก ลบ และนำมาใช้เพื่อให้เห็นภาพการแก้โจทย์ปัญหาว่าในขั้นตอนนี้ควรใช้วิธีการบวกหรือการลบกันแน่
•ใช้โมเดลการเปรียบเทียบเพื่อฝึกให้เด็กใช้คำพูดเช่น “อารีมีสติ๊กเกอร์มากกว่ามายา 30 ดวง)
•ฝึกแก้สมการชั้นเดียวที่ประกอบด้วยสองส่วนให้คล่องก่อน(เช่น มีขนม 5ชิ้น(ส่วนที่ 1) ,เพื่อนขอแบ่งไป3ชิ้น(ส่วนที่ 2) เหลือขนมกี่ชิ้น? ก่อนจะเริ่มฝึกแก้สมการสองชั้น
ใช้เกมต่างๆรวมถึงแอพพลิเคชันและเกมดิจิตอลมาฝึกฝนการบวกลบเลขสามหลักจนคล่องชำนาญ
•แบ่งกลุ่มช่วยกันคิดตั้งโจทย์ปัญหาที่เกี่ยวกับการบวกและลบทั้งชั้นเดียวและสองชั้น เพื่อให้กลุ่มอื่นมาแก้โจทย์
ตัวอย่าง
จงใช้การ์ดจำนวนที่ให้มาจับคู่ที่รวมกันได้ 20 (1 + 19, 3 + 17, 6 + 14, 7 + 13, 9 + 11)
ลองฝึกจับคู่สิบและคู่ร้อย
ฝึกการบวกในใจด้วยการจัดกลุ่มสิบ
ฝึกการบวกในใจด้วยการจัดกลุ่มสิบ
ฝึกการลบด้วยการใช้วัตถุหรือภาพช่วย
#การคูณและการหาร#
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
•เรียนรู้การคูณของ 2,3,4,5 และ 10
•ใช้เครื่องหมายหาร(-:-)ได้
•เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการคูณและการหาร
•ใช้ตารางสูตรคูณเพื่อคูณและหารเลขได้
•ใช้ตารางสูตรคูณในการแก้โจทย์ปัญหาการคูณและการหารชั้นเดียวได้
•เริ่มคำนวณในใจการคูณและหารแม่2,3,4,5และ10ได้
กิจกรรมการเรียนรู้
•แบ่งกลุ่มช่วยกันแต่งนิทานเกี่ยวกับการคูณและหาร เขียนสมการสำหรับนิทานแต่ละเรื่องและอธิบายความหมายของเครื่องหมาย เท่ากับ (=)
•ใช้วัตถุจริงและรูปภาพแสดงถึงการคูณและการหาร เช่นวางของเรียงแสดงถึง “12หารด้วย3”
•สำรวจหาแพทเทิร์นของสูตรคูณ 2,3,4,5และ 10ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่นระบายสีลงในตารางช่อง 100
•ฝึกการจำสูตรคูณให้ชำนาญ เช่น ใช้การ์ดสูตรคูณ,เล่นเกมต่างๆรวมถึงแอพพลิเคชันและเกมดิจิตอล รวมถึงฝึกเขียนความสัมพันธ์ระหว่างการคูณและหาร เช่น 3×4=12, 4×3=12, 12-:-4=3, 12-:-3=4
•แบ่งกลุ่มช่วยกันตั้งโจทย์ปัญหาเกี่ยวกับการคูณและหาร (อาจใช้วัตถุจริงหรือรูปภาพแสดงความหมายได้ถ้าจำเป็น)
•ลองแก้โจทย์ปัญหาที่แปลกใหม่ไม่เคยพบ ด้วยการใช้สัญชาตญาณหรือcommon sense, ให้วาดไดอะแกรมเพื่ออธิบายวิธีคิดของตนเอง
ตัวอย่าง
ทำความเข้าใจเรื่อง “ทวีคูณ”
ให้ลองสร้างภาพการคูณของแม่ 4
สังเกตเห็นแพทเทิร์นของการเพิ่มขึ้นทีละ 4 ไปเรื่อยๆ
จากภาพ จงเขียนสมการการคูณเพื่อหาจำนวนของดอกกุญแจทั้งหมด ( 9×2 = 18)
รถของเล่น 1 คันมี 4 ล้อ จากภาพมีจำนวนล้อทั้งหมดเท่าไหร่ จงเขียนสมการ (7×4 = 28)
ลองนำวัตถุหรือภาพมาฝึกจัดกลุ่มจำนวนเพื่อให้เข้าใจการหาร
จากภาพ ลองจัดให้ได้สามกลุ่มที่มีจำนวนบล็อกเท่าๆกันแล้วเขียนสมการการหาร (12 -:- 3 = 4)
มีลูกแก้วทั้งหมด 8 ลูก แบ่งให้เด็ก 4 คนเท่าๆกัน ได้คนละเท่าไหร่ จงเขียนสมการการหาร (8 -:- 4 = 2)
เข้าใจความสัมพันธ์ของการหาร เช่น 6 -:- 3 = 2, 6 -:- 2 = 3)
ทำความเข้าใจว่าการหารบางครั้งก็ไม่ลงตัว มีเศษเกิดขึ้นได้
ทำความเข้าใจเรื่องการหารที่มีเศษเหลือ
#เศษส่วน#
- ความเข้าใจเรื่องเศษส่วน
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
•เข้าใจความหมายว่าเศษส่วนหมายถึงนำมาส่วนหนึ่งของทั้งหมด
•สามารถจดบันทึกหรือวาดรูปค่าของเศษส่วนได้
•สามารถเปรียบเทียบและเรียงลำดับเศษส่วนที่ตัวส่วนมีค่าไม่เกิน 12 ได้
-Unit fractions – เศษส่วนที่นำจำนวน 1 มาแบ่งส่วน เช่น 1/2, 1/3, 1/4…
-Like fractions – เศษส่วนที่มีตัวส่วนเหมือนกัน เช่น 2/8, 5/8, 7/8
กิจกรรมการเรียนรู้
•ยกตัวอย่างของการใช้เศษส่วนในชีวิตประจำวันได้และใช้คำอธิบายเช่น นำมา สองจากสามส่วน
•ใช้วัตถุของจริง, รูปวงกลมเศษส่วนหรือรูปภาพแสดงความหมายของเศษส่วนเป็น unit fraction เช่น 3/5 คือ 1/5 + 1/5 + 1/5 และเปรียบเทียบขนาดของเศษส่วนต่างๆได้ว่ามากหรือน้อยต่างกันเพียงไร
•ใช้รูปวงกลมเศษส่วนเพื่อเปรียบเทียบและทำความเข้าใจว่า unit fractionที่มีตัวส่วนมากกว่ากลับแปลว่ามีขนาดน้อยกว่า เช่น 1/6 < 1/3
•ใช้รูปวงกลมเศษส่วนเพื่อเปรียบเทียบและทำความเข้าใจว่า like fractionที่มีตัวเศษมากกว่าแปลว่ามีขนาดใหญ่กว่า เช่น 6/7 มากกว่า 4/7
•เล่นเกมต่างๆเช่นการ์ดเศษส่วน หรือเกมดิจิตอล จนเด็กเกิดความคล่องชำนาญเรื่องเข้าใจความหมายและการเปรียบเทียบขนาดของเศษส่วน
- การบวกและลบเศษส่วน
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
•การบวกลบเศษส่วนที่มีตัวส่วนเดียวกัน (like fractions) ไม่เกิน 12 เช่น 3/12+ 5/12
กิจกรรมการเรียนรู้
•แบ่งกลุ่มช่วยกันแต่งนิทานเกี่ยวกับเศษส่วนที่มีตัวส่วนเป็นจำนวนเดียวกัน
•ใช้ภาพวงกลมเศษส่วนเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการบวกและลบเศษส่วนที่มีตัวส่วนเดียวกัน (like fractions)
ตัวอย่าง
จากภาพ จงเลือกรูปที่ถูกแบ่งเป็นส่วนเท่าๆกัน (D, E, F)
เรียนรู้เรื่อง Unit fractions และ Like fractions
Unit fractions – เข้าใจว่าการนำจำนวน “1”หรือทั้งหมดมาแบ่งส่วน ตัวส่วนมากขึ้น ค่าจะยิ่งน้อยลง
ฝึกการแบ่งส่วนของจำนวน
ฝึกการบวกและลบเศษส่วนที่มีตัวส่วนเท่ากัน (Like fractions)
#เงิน#
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
•นับจำนวนเงินได้เป็นบาทและสตางค์
•อ่านและเขียนจำนวนเงินเป็นเลขทศนิยมได้ เช่น 3.50 บาท
•เปรียบเทียบค่าของเงินเป็น 2 และ 3 เท่าได้
•แปลงค่าจำนวนเงินจากจุดทศนิยมเป็นบาทและสตางค์ได้ เช่น 3.50 บาทคือสามบาทห้าสิบสตางค์
•แก้โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับเงินโดยใช้หน่วยบาทหรือสตางค์เพียงหน่วยเดียวได้
กิจกรรมการเรียนรู้
•อ่านป้ายราคาของจากร้านค้าและสามารถเขียนแปลงเป็นหน่วยบาทและสตางค์ได้ เช่น 3.50 บาท คือ ราคาสามบาทห้าสิบสตางค์
•เล่นซื้อขายของกับเพื่อนโดยใช้เงินเด็กเล่น, สามารถใช้หลายวิธีในการจ่ายเงินเช่น ของราคาหกบาทอาจใช้เหรียญห้าบาทและเหรียญหนึ่งบาท หรือหยิบเหรียญสองบาทมาสามเหรียญก็ได้
•ฝึกรวมจำนวนเงินและทอนเงินด้วยเงินเด็กเล่น
•แบ่งกลุ่มกันสร้างโจทย์ปัญหาเรื่องราคาของโดยใช้ข้อมูลจากแค็ตตาล็อกหรือใบปลิวโฆษณา แล้วให้เพื่อนกลุ่มอื่นมาทาย
ตัวอย่าง
ทบทวนค่าของเงินต่างๆ
• สามารถบอกค่าของเงินได้ถูกต้อง • เข้าใจว่าค่าของเงินจำนวนเดียวกันอาจใช้ธนบัตรและเหรียญที่แตกต่างกันได้
จากภาพ ถ้าซื้อของทั้งสองชิ้นนี้ด้วยธนบัตร 100 บาท จะได้เงินทอนเท่าไหร่ (ให้เด็กฝึกทอนเงินด้วยเงินเด็กเล่น)
ให้เด็กฝึกเล่นซื้อขายของ จ่ายเงินและทอนเงิน อาจซื้อหลายๆชิ้นรวมกัน
🟣หัวข้อการเรียนรู้เรื่องการวัดและเรขาคณิต🟣
#ความยาว, มวลและปริมาตร#
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
•การวัด
– ความยาวเป็นหน่วยเมตรและเซนติเมตร
– มวลเป็นกิโลกรัมและกรัม
– ปริมาตรของเหลวเป็นลิตร
•การวัดและวาดความยาวของเส้นตรงเป็นหน่วยเซนติเมตร
•เลือกใช้หน่วยวัดและใช้ตัวย่อได้ถูกต้อง (cm, m, g, kg, l)
เปรียบเทียบและเรียงลำดับ
– ความยาว
– มวล
– ปริมาตร
•แก้โจทย์ปัญหาเรื่องความยาว,มวลและปริมาตรได้
กิจกรรมการเรียนรู้
•ตระหนักว่า คำว่า “น้ำหนัก” หมายถึง”มวลสาร”
•เปรียบเทียบมวลสารของวัตถุโดยใช้ตาชั่งสองแขน
•ใช้สิ่งของที่หาได้รอบตัวในการมาฝึกกะขนาดของ
– ความยาว 1 เมตรและ 1 เซนติเมตร เช่นไม้เมตร,ไม้บรรทัด,นิ้วมือ
– ความหนักของมวล 1 กิโลกรัมและ 1 กรัม เช่น ห่อน้ำตาล, ห่อแป้ง, เข็มหมุด, กระดาษ
– ปริมาตรของเหลว 1 ลิตร เช่นขวดน้ำดื่ม, น้ำมันพืช, ภาชนะบรรจุขนาด 1 ลิตรที่มีรูปร่างต่างๆ
•ใช้ 1 ช่วงแขนเพื่อวัดขนาดประมาณ 1 เมตรและฝึกกะระยะหน่วยเป็นเมตร
•แบ่งกลุ่มกันเพื่อฝึกวัดความยาวของวัตถุรูปโค้งโดยใช้เชือกทาบ
•ทำงานเป็นกลุ่มวัดความยาวหรือมวลวัตถุโดยใช้หน่วยวัดที่เหมาะสม, อธิบายว่าทำไมถึงเลือกใช้หน่วยวัดนั้นและทำการวัดสำเร็จได้อย่างไร
•ทดลองกะความยาว, มวลและปริมาตรก่อนลงมือวัดจริง และฝึกใช้คำว่า “ประมาณเท่ากับ”
1
ตัวอย่าง
จากภาพ ให้เรียงลำดับความสูงของต้นไม้จากเตี้ยสุดไปสูงสุด (A C D B)
การวัดความยาวด้วยหน่วยที่ไม่มาตรฐานเช่นคลิปหนีบกระดาษ และหน่วยมาตรฐาน เช่น เซนติเมตรและเมตร
ให้ช่วยกันวัดความยาวเชือกและเรียงลำดับจากสั้นที่สุดไปหายาวที่สุด
ลองกะประมาณและวัดความยาวด้วยหน่วยเมตร
ฝึกเปรียบเทียบมวลสารด้วยตาชั่งแบบสองแขน (กล้วย เบากว่าสับปะรด เบากว่าแตงโม)
ฝึกชั่งและเปรียบเทียบมวลสารด้วยหน่วยกรัม
ฝึกชั่งและเปรียบเทียบมวลสารด้วยหน่วยกิโลกรัม (สับปะรด 1กิโลกรัม เบากว่ากล้วย 2 กิโลกรัม เบากว่าแตงโม 8 กิโลกรัม)
กิจกรรมชั่งน้ำหนักตัวและเปรียบเทียบมวลของนักเรียนในชั้นเรียน
ถ้าภาชนะรูปทรงเหมือนกันสามารถเปรียบเทียบปริมาตรของเหลวที่บรรจุอยู่ได้จากความสูงของระดับน้ำ (A D B C)
ทำความเข้าใจเรื่องปริมาตรของเหลวที่เท่ากัน โดยเทน้ำจากภาชนะหนึ่งไปยังอีกภาชนะหนึ่งที่รูปทรงต่างกัน จะเห็นว่าปริมาตรของเหลวยังคงเดิมถึงระดับน้ำจะเปลี่ยนไปก็ตาม
•โถกาแฟใบนี้มีกาแฟบรรจุอยู่เต็ม เทใส่ถ้วยกาแฟได้ประมาณเกือบเต็ม 6 แก้ว •จากภาพจะเห็นว่าโถใส่กาแฟนี้มีความจุปริมาตรประมาณเท่ากับถ้วยกาแฟ 6 แก้ว
• ฝึกกะประมาณปริมาตรของภาชนะต่างๆที่พบได้ทั่วไปเมื่อเปรียบเทียบกับ 1 ลิตร
ลองวัดปริมาตรและเติมปริมาตรของเหลวลงในช่องสี่เหลี่ยม
#เวลา#
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
•บอกเวลาทีละช่วง 5 นาทีได้
•บอกเวลาเป็น “นาฬิกา” ได้ (8นาฬิกา) (am,pm)
•ใช้หน่วยชั่วโมงและนาทีได้ (8นาฬิกา 5นาที)
•วาดแขนนาฬิกาเพื่อบอกเวลาบนหน้าปัดเปล่าได้
•เข้าใจช่วงเวลา 1 ชั่วโมงและครึ่งชั่วโมง
กิจกรรมการเรียนรู้
•ใช้หน้าปัดนาฬิกาจำลองเพื่อเรียนรู้เรื่องช่วงเวลาทีละ 5นาทีและโยงเข้ากับเวลาจริงในชีวิตประจำวันได้
•ฝึกบอกเวลาเพิ่มทีละ 5 นาทีขณะที่หมุนเข็มนาทีบนหน้าปัดนาฬิกาจำลองเพิ่มจากตัวเลข 1ไป 2, 3, 4, 5… และเชื่อมโยงกับการคูณจำนวนแม่ 5
•ผลัดกันเล่นหมุนเข็มนาฬิกาจำลองแล้วให้เพื่อนบอกเวลา
•บอกเวลาเป็นนาฬิกาและสัมพันธ์กับกิจกรรมในชีวิต เช่น “เข้าแถวเวลา 8 นาฬิกา” “เข้านอนเวลา 20นาฬิกา 30นาที” (8.30 pm)
•ใช้ตารางกิจกรรมต่างๆเช่น ตารางสอน รายการโทรทัศน์ เพื่อบอกและเขียนเวลา และสามารถบอกได้ว่ากิจกรรมนั้นนาน 1 หรือ ครึ่งชั่วโมง เช่น การ์ตูนเรื่องนี้นานครึ่งชั่วโมง
ตัวอย่าง
ทำความเข้าใจเรื่องหน่วยต่างๆของเวลา
ทำความเข้าใจเรื่องการหมุนของเข็มสั้นและยาว
• นำหน้าปัดนาฬิกาจำลองมาหมุนเพื่อศึกษาเรื่องเวลา • เข้าใจว่า เลข 1,2,3,4,5…12 หมายถึง เวลาเพิ่มขึ้นทีละห้านาที (เปรียบเทียบกับการคูณ 5)
#รูปร่างสองมิติ#
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
•สามารถจำได้,บอกชื่อถูกและบรรยายลักษณะของรูปร่างเรขาคณิต
– ครึ่งวงกลม
– หนึ่งในสี่ของวงกลม
•ระบุได้ว่ารูปที่ให้มาประกอบไปด้วยรูปร่างเรขาคณิตชนิดไหนบ้าง
•สามารถนำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า, สี่เหลี่ยมจัตุรัส, สามเหลี่ยม, ครึ่งวงกลม, หนึ่งในสี่ของวงกลม มาประกอบกันสร้างรูปร่างใหม่ๆได้
•สามารถคัดลอกรูปร่างสองมิติตามแบบโดยใช้สมุดกราฟตารางจุด(dot grid) หรือกราฟสี่เหลี่ยมจัตุรัส(square grid)ได้
กิจกรรมการเรียนรู้
•นำรูปร่างครึ่งวงกลมและหนึ่งในสี่ของวงกลมมาประกอบกันเป็นวงกลม
•ฝึกทายรูปร่างสองมิติจากคำบรรยาย
•ทำเข้าใจและเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างในแง่มุมต่างๆเช่น เส้นตรง, เส้นโค้ง, ขนาด, สี ของรูปร่างสองมิติต่างๆได้
•แบ่งกลุ่มช่วยกันสร้างรูปร่างต่างๆเช่น เรือ บ้านจากรูปเรขาคณิตและให้เพื่อนกลุ่มอื่นมาหาว่าประกอบขึ้นจากรูปร่างเรขาคณิตอะไรบ้าง
•ให้สร้างแพทเทิร์นจากรูปร่างเรขาคณิตสองมิติโดยใช้แง่มุมต่างๆเช่น ขนาด สี รูปร่าง ทิศทาง และอธิบายลักษณะของแพทเทิร์น
ตัวอย่าง
จากภาพ มีรูปร่างเรขาคณิตอะไรบ้างและมีชนิดละเท่าไหร่?
• A จงวาดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีด้านยาว 4 ช่อง • B จงวาดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความกว้าง 1 ช่องและยาว 7 ช่อง • C จงวาดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความกว้าง 5 ช่องและยาว 8 ช่อง • D และ E จงลอกรูปตามแบบ
• A จงวาดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ยาว 4 ช่องและกว้าง 2 ช่อง • B จงวาดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ยาวด้านละ3 ช่อง • C จงวาดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ยาว 6 ช่องและกว้าง 2 ช่อง • D จงวาดรูปสามเหลี่ยมที่มีความสมมาตรมา 1 รูป • E จงลอกรูปตามแบบ
ให้วาดภาพของเส้นสมมาตรของตัวอักษรตามภาพ
เรียนรู้เรื่องแพทเทิร์นของรูปร่างสองมิติ
#รูปทรงสามมิติ#
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
•สามารถจำรูปทรงสามมิติได้และบอกชื่อถูก
– ลูกบาศก์
– ทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก
– ทรงกรวย
– ทรงกระบอก
– ทรงกลม
– ทรงปิรามิด
กิจกรรมการเรียนรู้
•จำได้,บอกชื่อถูกและบรรยายลักษณะของรูปทรงสามมิติที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน
•นำวัตถุรูปทรงสามมิติใส่ถุงปิดไม่ให้มองเห็นได้ ให้เด็กลองจับสัมผัสและทายว่าคือรูปทรงอะไร
•สามารถเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของวัตถุรูปทรงสามมิติในแง่มุมต่างๆได้ เช่น หน้าตัด, มุม, ขนาด, สี, ความสามารถในการกลิ้งได้
•แบ่งกลุ่มช่วยกันแยกประเภทรูปร่างสามมิติ โดยมีวิธีการแบ่งประเภทหลากหลายวิธี และอธิบายว่าใช้วิธีการไหนในการแบ่งประเภท
•แบ่งกลุ่มช่วยกันสร้างรูปร่างสามมิติต่างๆจากบล็อกสามมิติหรือภาพจำลองจากคอมพิวเตอร์
•สร้างแพทเทิร์นจากรูปทรงสามมิติโดยใช้หนึ่งหรือสองแง่มุม เช่นขนาด รูปร่าง สี ทิศทาง และอธิบายลักษณะของแพทเทิร์น
แบ่งกลุ่มช่วยกันสร้างแพทเทิร์นจากรูปทรงสามมิติและให้กลุ่มอื่นมาทายว่ารูปทรงใดที่หายไป และอธิบายลักษณะของแพทเทิร์น
ตัวอย่าง
เข้าใจและจำชื่อรวมถึงลักษณะของรูปทรงสามมิติได้ รวมถึงดูออกว่าวัตถุที่พบเห็นในชีวิตจริงเป็นรูปทรงอะไร
ศึกษาลักษณะของรูปทรง ว่ามีกี่มุม กี่ด้าน มีผิวเรียบและผิวโค้งกี่แห่ง เช่น รูปทรงลูกบาศก์มี 8 มุมแหลม(vertices) มี 12 ขอบ(edges) มีผิวเรียบ 6 แห่ง(flat surfaces) ไม่มีผิวโค้ง(curved surfaces)
🟢หัวข้อการเรียนรู้เรื่องสถิติ🟢
#แผนภูมิรูปภาพที่มีมาตราส่วน#
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
•อ่านและวิเคราะห์ข้อมูลจากแผนภูมิรูปภาพที่มีมาตราส่วนได้
•สามารถแก้โจทย์ปัญหาชั้นเดียวโดยใช้ข้อมูลจากแผนภูมิรูปภาพได้
กิจกรรมการเรียนรู้
•แบ่งกลุ่มช่วยกันตั้งโจทย์ปัญหาปัญหาและช่วยกันหาคำตอบโดยการรวบรวมข้อมูลจากหลายๆห้องเรียนหรืออินเตอร์เน็ต,ช่วยกันทำแผนภูมิรูปภาพเพื่อแสดงข้อมูลและอธิบายว่าทำไมถึงใช้ “มาตราส่วน” แทนการแสดงผลเป็นภาพจำนวนจริงๆ
•แบ่งกลุ่มทำแผนภูมิรูปภาพทั้งในแนวนอนและแนวตั้ง, ช่วยกันแต่งเรื่องราวโดยใช้ข้อมูลจากแผนภูมิมาบรรยาย
ตัวอย่าง
• ให้ลองใช้มาตราส่วนในการสร้างแผนภูมิรูปภาพแทนใช้รูปแทนจำนวนเป็น 1:1 เช่น 1รูปแทนจำนวน 2 • การใช้มาตราส่วนเป็นการใช้ความรู้เรื่องการคูณด้วย
ให้ฝึกทำแผนภูมิตามแนวตั้งด้วย
• ให้ทำแผนภูมิ Venn Diagram ต่อเนื่องจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยเขียนวงกลมล้อมรอบข้อมูลที่ต้องการ • จากไดอะแกรมเป็นการจัดประเภทรูปร่าง ในวงกลมซ้ายมือคือรูปวงกลมทั้งหมด ส่วนในวงกลมขวามือคือรูปร่างสีน้ำเงินทั้งหมด
• ให้ทำแผนภูมิ Carroll Diagram ต่อเนื่องจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยทำช่องตารางเพื่อแบ่งประเภทของข้อมูลที่ต้องการ • จากไดอะแกรมจะแยกสัตว์ออกเป็นประเภท “เป็นสัตว์เลี้ยง” กับ “ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง” และ “มีขา” กับ “ไม่มีขา”
จากที่Bmumได้เล่ามา อาจไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นักแต่ก็คงพอได้ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพของเนื้อหาและการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ของสิงคโปร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ไม่มากก็น้อย แล้วบทความต่อๆไปBmumจะหาตัวอย่างข้อสอบชั้นประถม 2 ของโรงเรียนในสิงคโปร์มาให้ดูเป็นแนวทางนะคะ เพื่อตัวเองและผู้อ่านจะได้เข้าใจชัดเจนขึ้นถึงวัตถุประสงค์ของหลักสูตรของเขา
สำหรับข้อมูล Bmum อ้างอิงมาจากคู่มือการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์
และ หนังสือ max math primary 2
โฆษณา