4 ก.ย. 2020 เวลา 09:48 • ประวัติศาสตร์
#ตราบน้ำปิงบ่ไหลย้อนเฮาจะบ่ปิ๊กไปเจียงใหม่
ระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนานั้นให้ความสำคัญแก่ระบบหมวดอุโบสถ หรือ ระบบหัวหมวดวัด มากกว่า และการปกครองก็เป็นไปในระบบพระอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ ซึ่งพระอุปัชฌาย์รูปหนึ่งจะมีวัดขึ้นอยู่ในการดูแลจำนวนหนึ่งเรียกว่าเจ้าหมวดอุโบสถ โดยคัดเลือกจากพระที่มีผู้เคารพนับถือและได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูบา ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่ได้รับความยกย่องอย่างสูง
.
เมื่อครูบาขัตติยะจาริกออกจากวัดบ้านปางแล้ว ได้มอบภาระปกครองวัดให้พระอินท์เฟือนปกครอง ต่อมา พระอินท์เฟือนได้รับการเคารพนับถือจากชาวบ้านประชาชนทั่วไป ยกย่องขึ้นเป็นครูบาศรีวิชัย ดำรงตำแหน่งเจ้าหมวดอุโบสถและเจ้าหัวหมวดปกครองคณะสงฆ์ในตำบลบ้านปางโดยปริยาย ตามจารีตท้องถิ่นล้านนา
.
จารีตท้องถิ่นล้านนาแต่โบราณแบ่งเป็น 18 นิกาย ครูบาศรีวิชัยยึดถือแนวปฏิบัตินิกายเชียงใหม่ผสมกับนิกายยอง นุ่งห่มที่เรียกว่า กุมผ้าแบบรัดอก สวมหมวก แขวนลูกประคำ ถือไม้เท้าและพัด เมื่อเป็นที่เคารพนับถือจากชาวบ้าน ก็พากันมาฝากบุตรหลานให้เป็นลูกศิษย์ ครูบาศรีวิชัยยังถือจารีตท้องถิ่นที่เป็นเจ้าอุโบสถ จึงทำการบวชบุตรหลานชาวบ้านตามจารีตเดิม ซึ่งผิดวินัยสงฆ์ที่บัญญัติจากคณะสงฆ์ส่วนกลาง ขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ. 2446) คือแต่งกายผิดวินัย ทำการบวชโดยขัด พรบ.สงฆ์ ร.ศ.121 ซึ่งกำหนดว่า "พระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ ต้องได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบการปกครองของสงฆ์จากส่วนกลางเท่านั้น" ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์
.
ครูบามหารัตนากร เจ้าคณะแขวงลี้ กับหนานบุญเติง นายอำเภอลี้นำกำลังตำรวจเข้าจับกุม โดยนำไปกักขังไว้ที่วัดเจ้าคณะแขวงลี้ได้ 4 คืน จากนั้นจึงส่งท่านให้พระครูบ้านยู้ เจ้าคณะจังหวัดลำพูน เพื่อรับการไต่สวน ครูบาศรีวิชัย แก้ว่า การแต่งกายแบบนี้ ยึดธรรมเนียมมาจากวัดดอยแต ซึ่งสืบธรรมเนียมมาจากลังกาแต่โบราณ ส่วนการบวชให้บุตรหลานชาวบ้านนั้นถือตามจารีตท้องถิ่นล้านนา และ พรบ.สงฆ์ ร.ศ. 121 นั้นก็ไม่มีในพระไตรปิฏก จากการสอบอธิกรณ์ผลปรากฎว่าครูบาศรีวิชัยไม่มีความผิด เป็นแต่เพียงไม่รู้ธรรมเนียมปฏิบัติใหม่่เท่านั้น
.
ครูบาศรีวิชัยกลับวัดบ้านปางได้ไม่นาน เจ้าคณะแขวงลี้ได้มีหมายเรียกให้ครูบาศรีวิชัยอีก 2 ครั้ง ให้นำลูกวัดและเจ้าอธิการหัววัดในตำบลบ้านปางไปพบ เพื่อรับทราบ พรบ.สงฆ์ ร.ศ. 121 ซึ่งบัญญัติขึ้นมาใหม่นำไปบังคับปฏิบัติให้เหมือนกันทั่วราชอาณาจักร ครูบาศรีวิชัยไม่ไปตามหมายเรียกทั้ง ๒ ครั้ง ยังคงถือวัตรปฏิบัติตามจารีตล้านนาเดิมต่อมา จากนั้นไปครูบาศรีวิชัยก็ถูกทางการและคณะสงฆ์เพ่งเล็งว่าประพฤติตนกระด้างกระเดื่องต่ออำนาจรัฐ เจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้จึงมีหนังสือฟ้องถึงพระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงถูกจับขังไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญไชยเป็นเวลา 1 ปี ครบกำหนดแล้วจึงมีคำสั่งปลดออกจากตำแหน่งหัวหมวดวัด และคุมขังต่อไปอีก 1 ปี ครูบาศรีวิชัยยังคงยึดมั่นในจารีตเดิมและยืนหยัดจะสืบสานจารีตแบบล้านนาต่อไป
.
การต้องอธิกรณ์ครั้งแรกของครูบาศรีวิชัยยิ่งทำให้ชาวบ้านประชาชนขยายวงแห่งศรัทธากว้างออกไป ถึงล่ำลือในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ของครูบาศรีวิชัย มีผู้คนในล้านนาหลั่งไหลมากราบไหว้ครูบาศรีวิชัยจากทุกสารทิศ คำล่ำลือทราบถึงเจ้าคณะแขวงลี้และนายอำเภอลี้ จึงได้เข้าแจ้งต่อพระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน โดยตั้งข้อกล่าวหาว่า ท่านซ่องสุมคนคฤหัสถ์ นักบวช เป็นก๊กเหล่า และใช้เวทมนตร์โหงพราย วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2462 พระครูญาณมงคลได้ออกหนังสือฉบับหนึ่งถึงครูบาเจ้าศรีวิชัย เพื่อแจ้งให้ท่านออกจากพื้นที่จังหวัดลำพูนภายใน 15 วัน ครูบาศรีวิชัยถามกลับว่าท่านได้ทำผิดพุทธบัญญัติข้อใดบ้าง เจ้าคณะจังหวัดไม่สามารถตอบได้ เรื่องจึงเงียบไป
.
ต่อมาเจ้าจักรคำขจรศักดิ์เรียกครูบาเจ้าศรีวิชัยพร้อมลูกวัดเข้าเมืองลำพูน ชาวบ้านแล้วลูกศิษย์ที่ศรัทธาครูบาศรีวิชัยได้จัดขบวนแห่ใหญ่โตทั้งคฤหัสและภิกษุสามเณร ตามมาส่งครูบาศรีวิชัยถึงในลำพูน เป็นเหตุให้ถูกทางการเพ่งเล็งในข้อหาประพฤติตนเป็นผีบุญ ซ่องสุมผู้คน ซึ่งในระยะนั้นมีเหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฏเกิดขึ้นทั้งภาคเหนือและอีสาน เช่นกบฏเงี้ยวและผีบุญเมืองตระการพืชผล อุปราชมณฑลพายัพได้สั่งย้ายท่านไปยังเชียงใหม่ โดยให้พักอยู่ที่วัดเชตวัน แล้วจึงมอบให้พระครูสุคันธศีล รองเจ้าคณะเชียงใหม่ที่วัดปลากล้วย (ศรีดอนไชย) สอดส่องดูแล
.
ในช่วงที่ถูกจับกุมที่วัดนี้ ได้มีพ่อค้าใหญ่เข้ามาเป็นอุปัฏฐาก ตลอดจนผู้คนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงก็เดินทางมานมัสการเป็นจำนวนมาก ทางฝ่ายที่ทำการดูแลเกรงว่าเรื่องลุกลามใหญ่โต เนื่องจากศรัทธาของชาวบ้านชาวเมือง เจ้าคณะเชียงใหม่และเจ้าคณะมณฑลพายัพได้ดำเนินการส่งท่านไปรับการไต่สวนพิจารณาคดีที่กรุงเทพฯ โดยตั้งข้อหาไว้ 8 ข้อ ที่หนักและเป็นที่หวาดหวั่นของทางราชการคือ ประพฤติตนเป็นผีบุญ
.
เมื่อทำการไตร่สวนที่กรุงเทพฯจบลง สรุปว่า ครูบาศรีวิชัยหลุดพ้นทุกข้อกล่าวหา และได้มีโอกาสเข้าเฝ้า พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นการส่วนพระองค์ครั้งหนึ่ง ทรงตรัสเล่าว่า "วันนี้ฉันได้พบตัวพระศรีวิชัย ได้ไต่สวนเห็นว่า เป็นพระที่อ่อนโยน ไม่ใช่ผู้ถือกระด้าง ไม่ใช่เจ้าเล่ห์เจ้ากล ไม่ค่อยรู้ธรรมวินัย แต่มีสมณสัญญา พอจะประพฤติอยู่ได้อย่างพระที่ห่างเหินจากสมาคม การตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์เองนั้น ด้วยไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ประกาศ ทำตามธรรมเนียมคืออุปัชฌายะของเธอ ชื่อสุมนะ เมื่อจะถึงมรณภาพ ได้ตั้งเธอให้ปกครองวัดและบริษัทแทน จนถือว่าได้ตั้งมาจากอุปัชฌายะ เพราะการที่ไม่รู้จักระเบียบแบบแผน ถูกเอาตัวมาลงโทษกักไว้ เกือบไม่รู้ว่าเพราะความผิดอะไร พระอย่างนี้ต้องการอธิบายให้รู้จักผิดชอบ ดีกว่าจะลงโทษ" ครูบาศรีวิชัยจึงได้กลับไปจำพรรษาวัดบ้านปางดังเดิม การต้องอธิกรณ์ครั้งที่ ๒ นี้ ยิ่งทำให้ผู้คนศรัทธาในครูบาศรีวิชัยมากกว่าเดิม จนแพร่ขยายรู้จักไปทั่วประเทศ ครูบาศรีวิชัยยังคงยืนหยัดจะรักษาจารีตล้านนาเดิมต่อไป
.
ต่อมาครูบาศรีวิชัยได้รวบร่วมศรัทธาชาวบ้านสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพฯ ในระหว่างที่กำลังสร้างอยู่นี้ มีพระสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่ รวม 10 แขวง 50 วัด ขอลาออกจากการปกครองคณะสงฆ์ ไปขึ้นอยู่ในปกครองของครูบาศรีวิชัย เพื่อจะรักษาจารีตล้านนาเดิมให้คงไว้สืบไปตามแบบครูบาศรีวิชัย เหตุการณ์ลุกลามไปทั่วทุกหัวเมือง รวมวัดต่าง ๆ ที่ขอแยกตัวออกไปถึง 90 วัด และพระสงฆ์ในจังหวัดต่าง ๆ ก็เริ่มที่จะเคลื่อนไหวที่จะขอแยกตัว ครูบาศรีวิชัยถูกเพ่งเล็งว่าเป็นต้นเหตุของความไม่สงบเรียบร้อย จึงถูกส่งตัวไปกรุงเทพฯ อีกครั้ง
.
เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกควบคุมตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งในหมู่พระสงฆ์และฆราวาสในหมู่หัวเมืองที่รักและเคารพในตัวท่าน ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับครูบาเจ้าศรีวิชัย จึงถูกโยงเข้าไปสู่ปัญหาการเมืองในขณะนั้นไปด้วย (ในขณะนั้นอังกฤษพยายามเกลี้ยกล่อมให้มณฑลพายัพเข้ารวมกับพม่าซึ่งอยู่ในการปกครอง)
.
วันที่ 21 เมษายน 2479 หลวงศรีประกาศได้พูดคุยกับครูบาเจ้าศรีวิชัยชี้แจงเหตุขัดข้องของทางราชการและการเมืองระหว่างประเทศให้ฟัง ครูบาศรีวิชัยจึงรับปากว่าจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ทุกประการ และได้เดินทางกลับลำพูนเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ปีเดียวกัน
.
สืบเนื่องจากรากฐานแห่งความศรัทธาในครูบาศรีวิชัย กอปรกับความที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นสงฆ์สายอรัญวาสี เคร่งครัดสูงในเรื่องธรรมวินัย เป็นที่เคารพนับถือของชาวล้านนา และการจับกุมคุมขังของทางราชการ ไม่ต่างจากการกระทำที่ย่ำยีความศรัทธาและสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ได้แปรสภาพจากปัญหาเล็ก ๆ ระหว่างสงฆ์ล้านนารูปหนึ่งกับคณะสงฆ์ในส่วนกลาง มาเป็นปัญหาระหว่างชาวล้านนากับอำนาจจากส่วนกลาง
.
สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชา ให้พระธรรมวโรดม พระศรีสมโพธิ เป็นที่ปรึกษา รับพระกระแสขึ้นมาเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2450 เข้าทำการปรึกษากับเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พร้อมเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงมณฑลพายัพ จัดการคัดหาตัวพระมหาเถระ ผู้แตกฉานธรรมวินัย เพื่อแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะเมือง เจ้าคณะรอง เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะแขวง มีหน้าที่บังคับบัญชาคณะสงฆ์ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ถือปฏบัติให้เหมือนกันทั่วทั้งพระราชอาณาจักร ให้ยกเลิกจารีตล้านนาเดิมทั้งหมด
.
คณะปกครองสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ มีคำสั่งให้ขับครูบาศรีวิชัยไม่ให้มาเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีกต่อไป ครูบาศรีวิชัยได้เอ่ยวาจาสัตย์ต่อคำสั่งนี้ว่า "ตราบน้ำปิงบ่ไหลย้อน เฮาจะบ่ปิ๊กไปเจียงใหม่"
.
ครูบาเจ้าศรีวิชัย มรณภาพเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สิริอายุได้ 59 ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปาง เป็นเวลา 1 ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ โดยมีประชาชนมาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก และประชาชนเหล่านั้นได้เข้าแย่งชิงอัฏฐิธาตุของครูบาศรีวิชัย ตั้งแต่ไฟยังไม่มอดสนิท แม้แต่แผ่นดินตรงที่ถวายพระเพลิง ก็ยังมีผู้ขุดเอาไปสักการบูชา อัฏฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมได้ ได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ส่วน แบ่งไปบรรจุตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วแผ่นดินล้านนาดังนี้
3
ส่วนที่ 1 บรรจุที่ วัดจามเทวี จ.ลำพูน
ส่วนที่ 2 บรรจุที่ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่
ส่วนที่ 3 บรรจุที่ วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง
ส่วนที่ 4 บรรจุที่ วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา
ส่วนที่ 5 บรรจุที่ วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
ส่วนที่ 6 บรรจุที่ วัดน้ำออกรู จ.แม่ฮ่องสอน
ส่วนที่ 7 บรรจุที่ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จ.ลำพูน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา