4 ก.ย. 2020 เวลา 10:19 • ประวัติศาสตร์
#ครูบาเจ้าศรีวิชัย ..
✩ ครูบาศรีวิชัย หรือ พระสีวิไชย (๑๑ มิถุนายน ๒๔๒๑ - ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑) พระมหาเถระซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สร้างถนนทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้รับการขนานนามว่า ตนบุญแห่งล้านนา หมายถึงนักบุญแห่งล้านนา
วัยเยาว์
ครูบาศรีวิชัย เดิมชื่อ "เฟือน" หรือ "อินท์เฟือน" บ้างก็ว่า "อ้ายฟ้าร้อง" เนื่องจากในขณะที่ท่านเกิด มีปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์หรือเมืองของพระอินทร์ ท่านเกิดในปีขาล เดือน ๙ เหนือ (เดือน ๗ ของภาคกลาง) ขึ้น ๑๑ ค่ำ จ.ศ. ๑๒๔๐ เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๑ ที่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน (ปัจจุบันคือตำบลศรีวิชัย) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นบุตรของนายควาย นางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน คือ
นายไหว
นางอ้วน
นายอินท์เฟือน (ครูบาศรีวิชัย)
นางแว่น
นายทา
นายควาย บิดาของท่านได้ติดตามผู้เป็นตาคือ หมื่นปราบ (หมื่นผาบ) ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอคล้องช้างของเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ ๗ (ช่วง พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๓๑) ไปตั้งครอบครัวบุกเบิกที่ทำกินอยู่ที่บ้านปาง บ้านเดิมของนายควายอยู่ที่บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูน
นายอินท์เฟือน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านกันดาร มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง ในช่วงนั้นบ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมีอายุได้ ๑๗ ปี ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ "ครูบาขัตติยะ" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ครูบาแฅ่งแฅะ" (หมายถึง ขาพิการ เดินขากะเผลก) เดินธุดงค์จากบ้านป่าซางผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ท่านอยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา
เด็กชายอินท์เฟือน จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่อารามแห่งนี้ โดยมีครูบาขัตติยะเป็นพระอุปัชฌาย์ ๓ ปีต่อมา (พ.ศ. ๒๔๔๒) ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า "สีวิเชยฺย" มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย
หลังอุปสมบท
เมื่ออุปสมบทแล้ว พระศรีวิชัย ได้กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปาง ๑ พรรษา จากนั้นได้ไปศึกษากัมมัฏฐานและวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาวัดดอยคำ และอีกท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นครูของครูบาศรีวิชัยคือ ครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน
ครูบาศรีวิชัย ได้รับการศึกษาจากครูบาอุปละ วัดดอยแต เป็นเวลา ๑ พรรษาก็กลับมาอยู่ที่อารามบ้านปางจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ อายุได้ ๒๔ ปี พรรษาที่ ๔ ครูบาขัตติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไป (บางท่านว่ามรณภาพ) ครูบาศรีวิชัย จึงรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ ๕ ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปยังสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม คือบริเวณเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะเป็นที่วิเวกและสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี โดยได้ให้ชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดจอมสรีทรายมูลบุญเรือง แต่ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง ตามชื่อของหมู่บ้าน
ครูบาศรีวิชัย เป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด ท่านงดการเสพหมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ ตั้งแต่เมื่ออายุได้ ๒๖ ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทย บางครั้งก็ไม่ฉันข้าวทั้ง ๕ เดือน นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง ๗ คือ
วันอาทิตย์ ไม่ฉันฟักแฟง
วันจันทร์ ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา
วันอังคาร ไม่ฉันมะเขือ
วันพุธ ไม่ฉันใบแมงลัก
วันพฤหัสบดี ไม่ฉันกล้วย
วันศุกร์ ไม่ฉันเทา
วันเสาร์ ไม่ฉันบอน
นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิกและผักเฮือด-ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง ๔ จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก
.
คำสอนที่สำคัญ
ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า
"...ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว..."
และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าว ในตอนท้ายของคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง
อีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหารโดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง ๕ เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ
.
มรณภาพ
เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัย ถูกขับออกจากเมืองเชียงใหม่ ครูบาเจ้าฯ ได้ปวารณาตนว่าจะไม่กลับไปเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีก เว้นแต่แม่น้ำปิงจะไหลย้อนกลับ ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ (เมื่อก่อนนับศักราชใหม่ในวันสงกรานต์ ถ้าเทียบปัจจุบันจะเป็นต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๒) ที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สิริอายุได้ ๖๐ ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปาง เป็นเวลา ๑ ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน จนกระทั่งวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ โดยมีประชาชนมาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก และประชาชนเหล่านั้นได้เข้าแย่งชิงอัฐิธาตุของครูบาศรีวิชัย ตั้งแต่ไฟยังไม่มอดสนิท แม้แต่แผ่นดินตรงที่ถวายพระเพลิง ก็ยังมีผู้ขุดเอาไปสักการบูชา อัฏฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมได้ได้ถูกแบ่งออกเป็น ๗ ส่วน แบ่งไปบรรจุตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วแผ่นดินล้านนาดังนี้
ส่วนที่ ๑ บรรจุที่ วัดจามเทวี จ.ลำพูน
ส่วนที่ ๒ บรรจุที่ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่
ส่วนที่ ๓ บรรจุที่ วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง
ส่วนที่ ๔ บรรจุที่ วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา
ส่วนที่ ๕ บรรจุที่ วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
ส่วนที่ ๖ บรรจุที่ วัดน้ำออกรู จ.แม่ฮ่องสอน
ส่วนที่ ๗ บรรจุที่ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จ.ลำพูน
.
Cr. วิกิพีเดีย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา