4 ก.ย. 2020 เวลา 13:15 • ประวัติศาสตร์
#หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร อุปราชมณฑลพายัพ กับการย้ายคดีอธิกรณ์ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” จากลำพูนสู่เชียงใหม่-กรุงเทพฯ
#มาอีกหนึ่งตัวละครในวงจรชีวิต ที่ดูเหมือนว่าน่าจะห่างไกลกันคนละฟากฟ้ากับ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” แต่แล้วชื่อของ “หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร” ก็กลายเป็นชื่อที่แสนจะคุ้นเคยในประวัติศาสตร์ล้านนาอีกจนได้ ในฐานะที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น “อุปราชเทศาภิบาลมณฑลพายัพ” (บางครั้งเรียกตำแหน่ง “อุปราชภาคพายัพ” เดิมเรียก “สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ”)
ไม่ใช่แค่จะมีชีวิตร่วมสมัยกับครูบาเจ้าศรีวิชัยเท่านั้น แต่ยังถือกำเนิดเมื่อ พ.ศ.2421 ปีเดียวกันกับครูบาเจ้าศรีวิชัยอีกด้วย
“หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร” เป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ และหม่อมสุภาพ กฤดากร พ.ศ.2470 ได้รับการสถาปนาเป็น พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในปี 2471
คนทั่วไปรู้จักนามของท่านในฐานะเป็นผู้นำ “กบฏบวรเดช” (คณะกู้บ้านกู้เมือง) พยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลคณะราษฎร เมื่อ พ.ศ.2476
แต่มีใครสักกี่คนเล่าที่จะรู้ว่า ระหว่าง พ.ศ.2458-2464 ช่วงมียศเป็นพลโท ดำรงตำแหน่ง “อุปราชเทศาภิบาลมณฑลพายัพ” นั้น หม่อมเจ้าบวรเดช เป็นบุคคลผู้หนึ่งที่ช่วยกันขีดเส้นทางชีวิตของครูบาเจ้าศรีวิชัยให้ต้องพลิกผันไปอย่างไม่น่าเชื่อ!
 
ความหมายของคำว่าอธิกรณ์
คําว่า “อธิกรณ์” หมายถึง โทษ คดี เรื่องราว ปัญหา ความยุ่งยาก กิจกรรมที่เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ ที่คณะสงฆ์ต้องจัดการสะสาง ดำเนินการทำให้สงบ หรือเป็นไปด้วยดี ปกติเป็นคำที่ใช้กับพระภิกษุสงฆ์ที่ต้องคดี เรียก “ต้องอธิกรณ์” รายละเอียดปรากฏอยู่ในพระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม 6 ภาค 1
อธิบายให้เข้าใจง่ายได้ว่า “ต้องอธิกรณ์” หมายถึง การถูกกล่าวโทษ จึงต้องนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยคณะสงฆ์ผู้มีอำนาจ
ในงานเขียนเกี่ยวกับครูบาเจ้าศรีวิชัย พบคำว่า “ต้องอธิกรณ์” ในหนังสือของพระวิมลญาณมุนี (2482) เป็นเล่มแรก ส่วนเอกสารฝ่ายเมืองเหนือที่ร่วมสมัยกับครูบาเจ้าศรีวิชัย ยังไม่ยอมรับคํา “ต้องอธิกรณ์” ว่าเป็นคำที่เหมาะสมกับพฤติเหตุของครูบาเจ้าศรีวิชัยแต่อย่างใด อาทิ เจ้าสุริยวงศ์ สิโรรส (2472) หรือ ส.สุภาภา (2499) ใช้คำว่า “ถูกจับไปไต่สวน” บ้างก็ใช้คำว่า “ต้องโทษกรรม” คำเหล่านี้บ่งบอกนัยของการยืนอยู่ข้างฝ่ายผู้ถูกกระทำ คือ ครูบาเจ้าศรีวิชัย
ต่อมา คำว่า “ต้องอธิกรณ์” เริ่มใช้กันแพร่หลายมากขึ้นในงานเขียนระยะหลัง เริ่มจากวิทยานิพนธ์ของ โสภา ชานะมูล (2534), พระอานันท์ พุทฺธธมฺโม ในการพิมพ์ครั้งหลังๆ หรือพระปลัดเชี่ยวชาญ สุวิชฺชาโน (2557) เป็นต้น
การต้องอธิกรณ์หลายครั้งของครูบาเจ้าศรีวิชัย มักสืบเนื่องมาจากการเป็นพระอุปัชฌาย์กระทำการบรรพชาอุปสมบทกุลบุตรโดยไม่ได้รับการแต่งตั้งบ้าง การขัดคำสั่งเจ้าคณะแขวงหรือเจ้าคณะจังหวัด ไม่ให้ความร่วมมือในสิ่งต่างๆ บ้าง
ข้อกล่าวหาทำนองนี้มีมาเป็นระยะๆ กระทั่งหนที่รุนแรงกว่าครั้งใดคือระหว่างปี 2463 และปี 2478-2479
 
คดีอธิกรณ์ปี 2463 เริ่มต้นที่ลำพูน
ผู้ติดตามเรื่องอัตชีวประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัยชนิดแฟนพันธุ์แท้ ย่อมทราบดีว่าตลอดชีวิตของท่านเวียนวนอยู่กับคดีต้องอธิกรณ์ทั้งหมด 6 ครั้ง
แต่ละครั้งมีพัฒนาการเป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับดังนี้
เริ่มจาก พ.ศ.2453 ครั้งที่ 1 ถูกจับผิดโดยเจ้าคณะแขวงลี้ (มหาอินทร์) ข้อหาอุปัชฌาย์เถื่อน ถูกกักตัววัดลี้หลวง 4 คืน
ตามมาด้วยครั้งที่ 2 (ปีเดียวกัน) ข้อหาไม่จุดเทียนตามประทีปทำซุ้มประตูป่าร่วมเฉลิมฉลองการครองราชย์ของรัชกาลที่ 6 และไม่สำรวจบัญชีสงฆ์ คราวนี้ให้นายสิบตำรวจไปจับตัวมากักขังที่วัดชัยมงคลหลังกาดหนองดอก อำเภอเมืองลำพูน 23 วัน
ครั้งที่ 3 ยังอยู่ในช่วงศักราช 2453-2455 ข้อหาเดิมๆ ให้นายร้อยตำรวจจากเค้าสนามหลวงลำพูนไปจับตัวมาขังที่แจ่งอัฏฐารส วัดพระธาตุหริภุญชัย 2 ปี
ครั้งที่ 4 กับ 5 เป็นคดีเดียวกัน เว้นช่วงจากครั้งที่ 3 ไปเกือบ 10 ปี พ.ศ.2463 โดนข้อหาว่าอ้างตัวเป็นผู้วิเศษ เป็นผีบุญ เป็นขบถ ครั้งที่ 4 ถูกเรียกตัวมาลำพูน แต่ศิษยานุศิษย์ยกกองทัพธรรมมาปกป้องกว่าหลายพันชีวิต
ทำให้ครั้งที่ 5 คดีต่อเนื่องต้องถูกส่งไปเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ถูกเพิ่มข้อกล่าวหาอีกรวม 8 ข้อ
และครั้งสุดท้ายคือครั้งที่ 6 พ.ศ.2478-2479 ทิ้งช่วงไปนานมาก เหตุเกิดหลังจากสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ข้อหาปลุกปั่นยุยงพระสงฆ์ทั่วล้านนา ตั้งตัวเป็นเจ้านิกายใหม่ ตัดไม้ทำลายป่า แตะต้องโบราณสถานโดยไม่ขออนุญาตกรมศิลป์ ฯลฯ
ในที่นี้จะขอโฟกัสไปยังเหตุการณ์ปี 2463 คือการต้องอธิกรณ์ครั้งที่ 4 และครั้งที่ 5 ช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกเจ้าคณะจังหวัดลำพูนเรียกตัวให้มารับฟังความผิดข้อหา “อุปัชฌาย์เถื่อน” “กบฏผีบุญ” และ “อ้างตัวเป็นผู้วิเศษ”
ครั้งนั้นคณะผู้ติดตามครูบาเจ้าศรีวิชัยมีจำนวนมากกว่า 2,000 คน เอาเฉพาะที่เริ่มต้นเดินทางมาจากวัดบ้านปาง อำเภอลี้ด้วยกัน และค่อยๆ มีคนร่วมสมทบมากขึ้นเรื่อยๆ จนเหยียบหลักหมื่นเมื่อมาถึงใจกลางเมืองลำพูน ทั้งนี้ มาเพื่ออารักขากึ่งกดดันเจ้าคณะจังหวัดลำพูน ไม่ให้ลงโทษครูบาเจ้าศรีวิชัย
ในที่สุดครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกกักตัวในวัดพระธาตุหริภุญชัยได้เพียงคืนเดียว
ทันทีที่พลโทหม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร รับทราบปัญหาดังกล่าว ได้ตัดสินใจนิมนต์ครูบาเจ้าศรีวิชัยพร้อมภิกษุ 4 รูป ย้ายจากจังหวัดลำพูนไปเชียงใหม่ทันที
แต่ก่อนที่จะเข้าสู่เหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายที่ขยายตัวในเชียงใหม่ ขอพาย้อนกลับไปดูความโกลาหลในลำพูนเสียก่อน
ผีบุญหรือตนบุญ?
คําว่า “ผีบุญ” นั้น เป็นถ้อยคำเชิงดูถูกที่ส่วนราชการใช้เรียกผู้นำท้องถิ่นที่ก่อกบฏกับรัฐอันเป็นศูนย์กลางอำนาจ
ผีบุญนี้มีทั้งที่เป็นพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส แฝงไว้ด้วยนัยของการเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ นานา
เป็นผู้อวดอุตริเป็นผู้วิเศษบ้าง เป็นพระศรีอาริยเมตไตรยบ้าง
ในเอกสารฝ่ายสนับสนุนครูบาเจ้าศรีวิชัยใช้คำว่า “ตนบุญ” “ผู้มีบุญ” “ตนวิเศษ” แทนคำว่า “ผีบุญ”
เพราะ “ตนบุญ” มีความหมายในเชิงยกย่องสรรเสริญว่าเป็นผู้ที่ได้สะสมบุญไว้อย่างมากมายในชาติปางก่อน
สามารถจะช่วยเหลือคนทั้งหลายให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ ในยามที่บ้านเมืองระส่ำระสาย และไม่มีผู้นำอย่างเป็นทางการ
 
ความหวาดหวั่นของคณะสงฆ์ลำพูน
ระยะเวลาดังกล่าวชื่อเสียงของครูบาเจ้าศรีวิชัย แวดล้อมไปด้วยเรื่องราวปาฏิหาริย์มากมาย
เล่าลือกันว่าท่านเป็นผู้วิเศษ มีเวทมนตร์คาถาที่สามารถชักจูงผู้คนให้เข้ามารวมกันได้ โดยเฉพาะบรรดาชาวเขาเผ่าต่างๆ
บ้างก็ว่าพระอินทร์นำดาบสรีกัญชัย (เขียนแบบล้านนาว่า “ดาบสะหลีกันไจย” เป็นคำเดียวกันกับ “พระขรรค์ไชยศรี” ที่กษัตริย์สุโขทัยได้รับจากพระเจ้ากรุงกัมพูชา) ฝักทองคำมาให้ท่านหรือเดินไปกลางแจ้งฝนตกไม่เปียก เป็นต้น
ทำให้เจ้าคณะจังหวัดลำพูน เกรงกลัวว่าหากปล่อยปละละเลยไป ภายหน้าท่านอาจจะเป็นกบฏผีบุญที่สั่นสะเทือนฝ่ายปกครองบ้านเมืองได้
ดังนั้น จึงมีหนังสือจาก “พระครูญาณมงคล สังฆปาโมกข์” (พระญาณวิไชย หรือ ฟู ญาณวิชโย)” วัดมหาวัน “เจ้าคณะจังหวัดลำพูน” ประกาศเรียกครูบาเจ้าศรีวิชัยให้มารายงานตัว
ทว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่ไปรายงานตัว เพราะไม่เห็นความผิดของตน
ไม่นานเจ้าคณะจังหวัดลำพูน จึงปรึกษาขอให้เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 10 พลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ทำหนังสือไปยื่นคำขาดต่อครูบาเจ้าศรีวิชัย ว่าขอให้ท่านนำพระสงฆ์สามเณรทั้งหลายในหมวดวัดบ้านปางเข้ามาที่เจ้าคณะจังหวัดลำพูนโดยด่วน หนังสือนั้นมีใจความสำคัญว่า “ขออย่าได้ขัดขืน ทางจังหวัดจะให้ความยุติธรรมอย่างเต็มที่”ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงเรียกประชุมพระภิกษุสามเณรเพื่อชี้แจงเหตุแห่งการต้องอธิกรณ์ครั้งนี้ และนัดหมายการเดินทางไปพบเจ้าคณะจังหวัดลำพูน โดยประกาศว่า
“บัดนี้เจ้าคณะจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยเจ้าผู้ครองนครลำพูน มีหนังสือมาว่าหื้อเราได้พาท่านทั้งหลาย เซิ่งปฏิบัติถูกต้องกันกับเรา หื้อพากันตามเราไปในเมืองลำพูน ว่าฉันนี้ การครั้งนี้เป็นการใหญ่โตอยู่ เพราะเราได้ขัดขืนต่อข้อบังคับเจ้าคณะแขวงหลายอย่าง
ถ้าเข้าไปหาพระครูเจ้าคณะจังหวัดเมืองลำพูนแล้ว จักร้ายดีประการใดก็บ่แจ้ง ส่วนเราหากจักเป็นจักตายด้วยอำนาจที่บ่เป็นธรรม ข้อหนึ่งข้อใด เราก็บ่มีความวิตก ถือเอาคุณพระธรรมกรรมฐาน คุณพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง จักยอมตายในฝ่ายพุทธจักรอย่างเดียว เมื่อท่านทั้งหลายจักถือมั่นอย่างเรา จักตามเราเข้าไป เราก็บ่ห้าม ถ้าท่านทั้งหลายกลัวยังราชภัย เอาตัวหลบหลีก ไปแอบแฝงอยู่แห่งหนตำบลใด หรือจักเข้าไปหาเจ้าคณะแขวง ยอมปฏิบัติตามระเบียบการปกครองที่จัดขึ้นใหม่ ตามสมัยของราชการ เราก็บ่ห้าม”
ปรากฏว่าบรรดาพระลูกศิษย์หลายร้อยรูปที่มาประชุมกัน ยินดีที่จะติดตามครูบาเจ้าศรีวิชัยไปพบเจ้าคณะจังหวัดลำพูนด้วยกันทุกรูป
 
สัปดาห์หน้าจะวิเคราะห์ถึงการตัดสินใจของพลโทหม่อมเจ้าบวรเดช ในการส่งครูบาเจ้าศรีวิชัยจากลำพูนไปเชียงใหม่ ถือเป็นจุดพลิกผันชีวิตครูบาเจ้าศรีวิชัยเลยก็ว่าได้
ซึ่งเดิมท่านต้องอธิกรณ์จากคดีเล็กๆ ในระดับจังหวัดลำพูนเท่านั้น กลับกลายเป็นถูกผลักส่งสู่คดีใหญ่ในระดับภูมิภาคล้านนา
และในที่สุดก็ถูกชงขึ้นเป็นคดีระดับชาติ เมื่อถูกส่งไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช ครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องถูกกักตัวที่วัดเบญจมบพิตรนานถึง 3 เดือนเศษ และสู่ระดับนานาชาติ เมื่อมีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ Bangkok Time ลงข่าว หรือท่านผู้อ่านคิดว่า ใครก็ตามที่ต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้ ก็ต้องตัดสินใจเหมือนกับหม่อมเจ้าบวรเดช เท่านั้น?
Cr.อ.เพ็ญสุภา สุขคตะ (มติชน)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา