5 ก.ย. 2020 เวลา 02:09 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
#ของเล่นสำหรับคนรักหนัง "Hot Toys"
ของเล่นผู้ใหญ่ เห็นตั้งชื่อแบบนี้ไม่ได้ตั้งใจให้หลายท่านเข้าใจผิดนะครับ แต่ผมหมายถึง ของเล่นที่ออกแบบโดยอ้างอิงมาจากภาพยนต์หรือเกม ส่วนที่บอกว่าผู้ใหญ่นั้นเนื่องจากว่ามันมีราคาแพงหูฉี่ เริ่มตั้งแต่ หลักพันปลายๆ ไปจนถึง หลักหมื่น ด้วยราคาแบบนี้ ผมจึงคิดว่าผู้ใหญ่น่าจะเปย์ได้ง่ายกว่าน้องๆหนูๆ55
หนึ่งในค่ายที่โด่งดังคือ Hot Toys บางคนถึงขนาดซื้อมาและขายต่อได้กำไรถึง 100% เช่น ในไลน์ Iron man ที่นิยมมากๆ
ดังนั้น ผมจะพาทุกท่านไปหาคำตอบว่าทำไมของเล่นค่ายนี้ถึงมีราคาแพงขนาดนี้
Hot Toys เป็นบริษัทของเล่นสัญชาติฮ่องกง ก่อตั้งในปี 2000 โดย Howard Chan ชาวฮ่องกงผู้สะสมของเล่นเป็นชีวิตจิตใจ ก่อนหน้าที่ Howard จะเข้ามาในธุรกิจนี้ เขาทำงานในตำแหน่งคนเขียนสคริปต์ในสถานีโทรทัศน์ แต่ด้วยความคลั่งไคล้ในของเล่น เขาสะสมของเล่นมาโดยตลอด และเริ่มเปิดร้านขายของเล่นในปี 1998 ในชื่อว่า ‘Toy Hunters’
Toy Hunters ไม่ได้ผลิตของเล่นขายเอง แต่รับหน้าที่ซื้อมาขายไปให้กับต่างประเทศ เนื่องจากประเทศฮ่องกงอยู่ใกล้ประเทศจีนที่เป็นฐานการผลิต ทำให้มีช่องว่างสำหรับร้านเล็กๆ อย่าง Toy Hunters อยู่พอสมควร
ของเล่นเป็นคำที่ค่อนข้างกว้าง แต่คำที่เฉพาะขึ้นคือคำว่า ‘แอคชัน ฟิกเกอร์’ ที่หมายถึงหุ่นจำลองที่ขยับแขน ขา โพสท่าต่างๆ ได้ ซึ่งในตลาดก็มีบริษัทของเล่นที่ทำแอคชันฟิกเกอร์ขายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Hasbro, Mattel หรือ Bandai
แต่ Howard มองว่าคุณภาพของแอคชันฟิกเกอร์ มันสมจริงได้มากกว่านี้
[จุดเปลี่ยนของ Hot Toys]
ในช่วงปี 1999 Howard Chan ตัดสินใจเดิมพันครั้งใหญ่ด้วยการใช้เงินทั้งหมดของเขา ขอซื้อลิขสิทธิ์และสั่งผลิต ‘F-14 Tomcat Pilot’ นักบินเครื่องบิน F-14 จากกองทัพอากาศ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย สำหรับบริษัทที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำของเล่นมาก่อน แต่ Howard Chan ก็สามารถต่อรองจนได้ลิขสิทธิ์มา
ความยากที่แท้จริง คือหลังจากนั้น เพราะ Howard ไม่ได้ต้องการแค่หุ่นพลาสติกระบายสี ที่ขยับแขนขาได้ แต่เขาต้องการแบบจำลองที่สมจริงที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้
ตอนที่โรงงานส่งตัวอย่างแรกให้ดู Howard ถึงกับต้องไปโรงงานและกำกับด้วยตัวเอง 3 วันเต็มๆ เพื่อเก็บรายละเอียดทุกอย่าง เช่น สายไฟของวิทยุสื่อสารที่ใช้ลวดเส้นเล็กๆ รอยยับของเสื้อ เป็นต้น
J.C.Hong ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต (คนที่ 1 จากซ้าย), Howard Chan ผู้ก่อตั้งแบรนด์ (คนที่ 3 จากซ้าย) Yulli หัวหน้าช่างปั้น (คนที่ 4 จากซ้าย)
ในที่สุด Hot Toys สามารถขายหุ่นนักบิน F-14 ได้ถึง 5,000 ตัว ในเวลาไม่นาน และพวกเขาเดินหน้าสร้างหุ่นจำลองจากกองทัพอีกมากมาย สร้างแบรนด์ Hot Toys ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก
[เริ่มซื้อลิขสิทธิ์จากภาพยนตร์]
หลังจากประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง Hot Toys เริ่มขอซื้อลิขสิทธิ์จากภาพยนตร์และวิดีโอเกมส์ โดยในปี 2004 Hot Toys เริ่มวางขาย Alien vs Predator, Terminator รวมไปถึง Pirates of The Caribbean
การขายของเล่นที่คนทั่วโลกรู้จักนั้นทำให้ Hot Toys เริ่มเติบโตขึ้นในเชิงปริมาณ และคุณภาพ พวกเขาสามารถจ้างทีมงานได้มากขึ้น ทำของเล่นในหลายช่วงราคา และในปี 2007 Hot Toys ก็ร่วมมือบริษัทโปรดักชันของเกาหลีใต้ และดึง JC Hong เข้ามายกระดับของสินค้าให้สมจริงมากยิ่งขึ้นไปอีก
ในปี 2014 Howard เติมเต็มความฝันของเขาอีกครั้ง ด้วยการร่วมมือกับ Sideshow ในการผลิตสินค้าของ Star Wars ออกมา และจัดจำหน่ายผ่านทาง Sideshow รวมไปถึงลิขสิทธิ์ของ Marvel Comic Universe
[ความคราฟต์ของ Hot Toys]
Hot Toys เป็นผู้นำความสมจริงมาสู่ธุรกิจของเล่น ไม่ว่าจะเป็นรอยยับ รอยย่น รูขุมขน เส้นผม จนไปถึงการลงสี ซึ่งรายละเอียดเล็กๆ พวกนี้ เครื่องจักรไม่สามารถทำได้หมด โดยในงานสเกลขนาดใหญ่อย่าง Avengers พวกเขาต้องเตรียมงานล่วงหน้าเกือบปี
นอกจากนั้น Hot Toys ยังเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยี PERS ที่สามารถปรับลูกตาของหุ่นให้ขยับได้ รวมถึงเทคโนโลยี IFT ที่ทำให้เปลี่ยนหัวของหุ่นได้สมจริงอีกด้วย
ยกตัวอย่าง Iron Man Hulkbuster แอคชันฟิกเกอร์ขนาด 1 ต่อ 6 ที่จำลองมาจากภาพยนตร์ Avengers : Age of Ultron ที่พิเศษตรงที่สามารถใส่หุ่น Iron Man ของ Hot Toys ตัวเล็กเข้าไปในหุ่น Iron Man Hulkbuster ได้ด้วย
ราคาเปิดตัวของรุ่นนี้คือ 850 เหรียญสหรัฐ แต่ราคาขายในท้องตลาดตอนนี้ขยับไปถึง 2-3 เท่าเรียบร้อย และถ้าจะพรีออเดอร์ใหม่อาจต้องรอเป็นปีเลยทีเดียว
[เรื่องเล่นๆ ก็เป็นธุรกิจได้]
ถึงแม้ว่าว่าชื่อบริษัทจะมีคำว่า Toys แต่สำหรับผู้ซื้อมันคือของสะสมล้ำค่า พอซื้อไปแล้วต้องหาที่วางสวยๆ มีตู้กระจกกันฝุ่น ติดไฟประดับให้สวยงาม
ในขณะที่ของเล่นอื่นๆ กำลังดิ้นรน แอคชันฟิกเกอร์ที่คราฟต์ และสวยมากๆ ก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาด
ฉะนั้นไม่ว่าคุณจะทำอะไร ให้มองไปที่ตลาดและดูว่าคุณสามารถทำได้ดีกว่านั้นรึเปล่า?
ถ้าได้ ก็ลงมือทำเดี๋ยวนี้เลย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา