4 ก.ย. 2020 เวลา 20:54 • ประวัติศาสตร์
#ครูบาเจ้าศรีวิชัย เกิดวันอังคารที่ ๑๑ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (เดือน ๗ ใต้) หรือเดือนมิถุนายน จ.ศ. ๑๒๔๐ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๒๑ ปีขาล
ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร (ดอกบัวแก้ว) กวี และอดีตนักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้คำนวณ “ฤกษ์กำเนิด” ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ตามตำราโหราศาสตร์ล้านนา ซึ่งเป็นการพยากรณ์ทางจันทรคติ ใช้เดือนเกิด ข้างขึ้นหรือข้างแรมมาคำนวณ แล้วเรียกว่าฤกษ์กำเนิด เป็นวิธีทำนายจากดาวฤกษ์ ๒๗ ดวง หรือ ๒๗ กลุ่มดาว ทำให้ทราบว่า
ฤกษ์กำเนิดของครูบาเจ้าศรีวิชัยอยู่ในฤกษ์ที่ ๑๕ ตรงกับ “ดาวสวาติ” หรือสวัสติ ดาวประจำในฤกษ์นี้ของไทยเรียกกันเป็นหลายอย่างคือ ดาวช้างพัง บ้างเรียกดาวกระออมน้ำ หรือดาวพวงแก้ว มีทั้งหมด ๕ ดวง ส่วนล้านนาเรียกว่าดาวไต้ไฟน้อย มี ๒ ดวง เรียงกันเป็นเส้นตรงจากบนลงล่าง แต่บางตำราเรียกว่า ดาวไซ มี ๗ ดวง สำหรับดาราศาสตร์สากลเรียกว่า ดาว Alpha – Bootes ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ มีความสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ ๑๑๕ เท่า อยู่ห่างจากโลก ๓๕๐ ล้านกิโลเมตร คำทำนายมีดังนี้
“บุคคลหญิง – ชายใดเกิดมาในฤกษ์นี้ ในวัยเยาว์จะพลัดพรากจากพ่อแม่ไปยังต่างประเทศ เขตแคว้นแดนอื่น หรือจากบ้านของตนไปอยู่ที่อื่น ให้ระมัดระวังเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ เพราะอาจจะเกิดอันตรายได้ มิเช่นนั้นอาจจะตายเพราะโภชนาหาร รวมทั้งการเดินทางในแม่น้ำ ลำคลอง มหาสมุทร อาจจะตายตกน้ำได้ หากเป็นหญิงให้ระวังเรื่องการคลอดลูก และจะกินสิ่งใดก็ควรระมัดระวังให้ดีด้วย”
ฤกษ์กำเนิดดังกล่าวพบว่าตรงกับความเป็นจริงอยู่สองส่วน ข้อแรกคือวิถีชีวิตของครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องเดินทางห่างไกลจากถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนอยู่ตลอดเวลา และข้อสองเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกินที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยแพ้เนื้อสัตว์ทำให้ต้องฉันอาหารแบบมังสวิรัติตลอดชีวิต (เริ่มตั้งแต่อายุ ๒๖ ตอนช่วงสร้างวัดบ้านปาง)
เมื่อครั้งที่ อาจารย์มหาสิงฆะ วรรณสัย สัมภาษณ์พ่อน้อยสิงห์คำ อิ่นมา (ญาติของครูบาเจ้าศรีวิชัย) เรื่องการไม่ฉันเนื้อของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น
พ่อน้อยสิงห์คำ อิ่นมา เล่าให้ฟังว่า เมื่อคราวที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมานั่งหนักเป็นประธาน สร้างวิหารหลวง วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ หลวงอนุสารสุนทร พญาคำวิจิตรธุรการ และเถ้าแก่หน่อ (เถ้าแก่โหงว) ได้เรียนถามครูบาเจ้าศรีวิชัยเรื่องนี้ พ่อน้อยสิงห์คำ อิ่นมา ยังเป็นเด็กก็นั่งอยู่ด้วย ท่านตอบว่า “เราเบื่อเนื้อสัตว์ จึงฉันไม่ได้”
คำว่า “เบื่อ” ในภาษาถิ่นเหนือคือคำว่า แพ้ เบื่อเนื้อสัตว์คือแพ้เนื้อสัตว์ ฉันเนื้อสัตว์แล้วเป็นโรคออก ๒ ทาง คือ ทั้งอุจจาระและอาเจียน ออกทั้งปากและทวารหนัก ในครั้งนั้นท่านอายุได้ ๒๖ ปี ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๗ ปีมะโรง เป็นเวลาภายหลังจากที่สร้างวัดบ้านปางแล้ว ๓ ปี
นอกจากนี้ ดร.พรศิลป์ รัตนชูเดช ได้สัมภาษณ์พ่อน้อยสิงห์คำ อิ่นมา เกี่ยวกับเรื่องการฉันมังสวิรัติเช่นกัน ทำให้ทราบว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยรับภัตตาหารทุกอย่างที่ศรัทธาถวาย สำหรับที่มีเนื้อสัตว์ท่านก็ให้ลูกศิษย์ ไม่ได้ห้ามให้ลูกศิษย์ต้องฉันเพียงผักเช่นท่าน มีเพียงบางรูปเท่านั้นที่ฉันแต่ผักอย่างเดียวกับอาจารย์ คือ ครูบาอภิชัยขาวปี ครูบาชินะวังโส (วัดดอยอีหุ้ย) ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ครูบาดวงดี เป็นต้น
ผักนั้นก็มีเพียงน้ำเต้าเท่านั้นที่ท่านงดฉันอย่างเด็ดขาด เพราะตอนที่ท่านเกิด บิดาของท่านได้เอาน้ำเต้าแห้งมาใส่รกไปฝังไว้ใต้ต้นพิกุล (ภาษาถิ่นเหนือว่าต้นแก้ว) ทั้งนี้ก็เพราะความยากจนจึงไม่มีเงินซื้อหม้อดินใส่รก ท่านจึงนึกถึงพระคุณของน้ำเต้าที่เคยใส่รกเปรียบดังครรภ์ของมารดาที่หุ้มห่อท่านไว้ ทำให้ฉันไม่ลง
อุ๊ยสี แสนอุ่น หลานชายครูบาเจ้าศรีวิชัย เคยเป็นเณรอุปัฏฐากคนสำคัญ ที่เป็นผู้จัดสำรับและนอนในห้องเดียวกับครูบาเจ้าศรีวิชัย ว่าท่านฉันผักทุกชนิด ที่ชอบที่สุด คือ แกงบะค้อนก้อม (มะรุม) ใส่ถั่วเน่า ฉันทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า บางครั้งฉันปนกันในมื้อเช้า ส่วนมื้อเพลไม่ฉันข้าว แต่ฉันผลไม้ น้ำผลไม้ ที่ชอบคือ น้ำส้มเกลี้ยงจากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ส้มโอก็ชอบ ทุเรียนก็ชอบ
สี แสนอุ่น ยังเล่าอีกว่า ท่านไม่ได้ฉันกับข้าวที่บิณฑบาตได้ ท่านฉันที่เตรียมไว้ที่วัด เพราะเป็นอาหารที่ยังร้อนอยู่ ส่วนที่บิณฑบาตได้ ท่านก็ให้พระเณรในวัดไปฉัน
เมื่อท่านไปนั่งหนักที่วัดพระสิงห์และวัดสวนดอก หลวงอนุสารสุนทรก็ให้นายโป๊ว เป็นคนปั่นรถถีบไปส่งภัตตาหารคาวหวานทุกวัน ท่านก็รอฉันภัตตาหารที่หลวงอนุสารนำมาถวาย ต่อมานายโป๊วนี้ได้ลาออกจากงานไปแต่งงานกับแม่ม่ายโรงสีข้าว อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ก่อนไปได้ไปกราบลาครูบาเจ้าศรีวิชัยที่วัดสวนดอกและได้รับพรจากท่าน ทั้งท่านยังให้กระโถนลงลายทองใบเล็กด้วย ปัจจุบันทั้งรถถีบของหลวงอนุสารสุนทร และกระโถนลงลายทองของนายโป๊ว จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารวัดบ้านปาง
ที่สำคัญแหล่งข้อมูลทั้งหมดให้เนื้อหาตรงกันว่า ความเป็นนักเสพผักของท่าน ไม่ได้เว้นตามวันและเลือกไม่ฉันบางชนิด อย่างที่ถูกคัดลอกต่อกันมาจากหนังสือ พระอานันท์ พุทฺธธมฺโม เช่น วันอาทิตย์ไม่ฉันหมากฟักหมากแฟง วันจันทร์ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา วันอังคารไม่ฉันมะเขือ วันพุธไม่ฉันใบแมงลัก วันพฤหัสบดีไม่ฉันกล้วย วันศุกร์ไม่ฉันเทา (เตา) วันเสาร์ไม่ฉันบอน และไม่ชอบฉันผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิก ผักเหือด เป็นต้น
เกี่ยวกับประเด็นนี้ มีความเห็นแยกเป็นสองทาง
แนวทางแรกเห็นว่า ในวัฒนธรรมล้านนา ธรรมเนียมการกินผักตามวันและไม่กินผักบางชนิดนั้น เป็นความเชื่อเฉพาะของผู้มีคาถาอาคม อาทิ การกินผักปลั่งที่มีลักษณะทั้งลื่นหลุดไถล ทำให้เสื่อมฤทธิ์หมดเวทไสย มนต์หลุดไหลออกจากตัว บ่คงกระพันในศาสตรา หรือกินฟักเขียวที่มีลักษณะเลื้อยยอดลอดร้านนั่ง ลักษณะผลฟักเขียวประดุจดังทรงเพศหญิง นมนวลชวนใคร่ค่า หากนำพาเสื่อมไสยเวท หรือการกินมะเฟือง หรือลอดใต้ต้นมะเฟือง จะทำให้เสื่อมคุณมนต์ เพราะผลมะเฟืองมีรูปร่างเหมือนเครื่องเพศสตรี เป็นเหตุให้หมดอาคม เป็นต้น ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า การฉันและเว้นอาหารตามวันเหล่านี้คงเป็นการแต่งเสริมขึ้นภายหลัง โดยผู้แต่งมีเจตนาให้ภาพลักษณ์ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นผู้มีเวทมนต์คาถา อาจเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการสักขาของท่านเป็นปฐมเหตุที่ใช้เป็นข้อสันนิษฐาน
ในขณะที่อีกแนวทางหนึ่ง กลับมองว่า มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ท่านจำเป็นจะต้องฉันหรืองดอาหารตามวันดังตารางที่กำหนด โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ วัยหนุ่มหลังจากที่ท่านรู้ตัวว่าแพ้เนื้อสัตว์ และมีปัญหาหรือโรคประจำตัวที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องทางเดินอาหารตลอดเวลา คือแพ้อาหารหลายชนิด ไม่สามารถฉันภัตตาหาร “อะไรก็ได้” เหมือนคนปกติทั่วไป จึงต้องมีความระมัดระวังมากเป็นพิเศษในการเลือกระบุชนิดของอาหาร ผักบางชนิดแม้มุมหนึ่งจะสามารถตีความว่าเป็นเครื่องแก้คุณไสยก็จริง แต่อีกมุมหนึ่งอาจมีสรรพคุณเป็นโอสถที่ช่วยสมานแผลในท้องก็เป็นได้ ฉะนั้นเกี่ยวกับเรื่องอาหารที่ท่านฉัน จึงยังไม่ควรด่วนสรุปด้วยแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว
อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการฉันภัตตาหารของครูบาเจ้าศรีวิชัยก็คือ ช่วงที่ท่านมาบูรณะวิหารวัดพระเจ้าตนหลวงในปี ๒๔๖๕ ท่านเห็นว่างานนี้เป็นสิ่งใหญ่หลวง จึงตั้งอธิษฐานจิตอย่างแรงกล้าว่าจะ “งดฉันข้าว หรืออาหารที่สุกด้วยไฟ จะฉันแค่ผลหมากรากไม้แทนข้าว” เพื่อเพิ่มบุญบารมีในการรองรับงานอภิมหาบุญ
ขะโยมคนหนึ่งชื่อ “นายคำ พิลึก” ชาวบ้านห้วยกาน บ้านโฮ่ง ที่ติดตามครูบาเจ้าศรีวิชัยมาตั้งแต่ลำพูน จึงได้ขุดเอาหัวกลอยมาถวาย ปรากฏว่าท่านรับไปฉันได้สักครู่ใหญ่ เกิดอาเจียนและถ่ายอย่างรุนแรง จนแทบจะเอาชีวิตไม่รอด พระยาอุดรประเทศทิศ (เจ้าหนานมหาไชย ศีติสาร) เจ้าเมืองพะเยาพอทราบข่าวรีบมาเยี่ยมและขอนิมนต์ให้ท่านฉันภัตตาหารตามปกติ ข้อมูลจากPensupa Sukkata

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา