5 ก.ย. 2020 เวลา 13:00 • ศิลปะ & ออกแบบ
เรื่องเล่าชมรมศิลป์ Ep.8 : ศิลปะย่อยง่าย
[ Dogs Playing Poker ]
1903…คือปีที่วงการศิลปะได้ตื่นตาตื่นใจไปกับฝีแปรงแบบอิมเพรสชันนิสม์ชวนฝันในภาพสะพานวอเตอร์ลูของโคลด โมเนต์
สีสันที่จัดจ้านของทิวทัศน์สไตล์โพสต์อิมเพรสชันนิสม์ในช่วงปลายชีวิตของพอล โกแกง
และความหม่นเศร้าของชายชรากับกีตาร์คู่ใจในยุคสีน้ำเงินของปาโบล ปิกาโซ
Claude Monet - Waterloo Bridge, 1903
Landscape with a Pig and a Horse or Landscape, 1903 oil painting by Paul Gauguin.
The Old Guitarist, Pablo Picasso, late 1903 and early 1904.
และอีกหนึ่งผลงานชิ้นเอกแห่งยุค ที่ผมกำลังจ้องมองอยู่
ติ๊ก...ติ๊ก…ติ๊ก…เสียงจากเข็มนาฬิกาคุณปู่ที่ตั้งชิดผนังห้องสีน้ำเงินอมเทา ดูเหมือนจะดังขึ้นเป็นเท่าตัวในความเงียบสงบที่เกิดขึ้นชั่วขณะก่อนที่ผีเสื้อแห่งกาลเวลาจะขยับปีกของมัน
แสงไฟจากโคมสีแดงใหญ่กลางห้อง กระจายความสว่างเป็นวงกว้าง ขณะที่ส่องลงมาบนผ้าสักหลาดสีเขียวที่ปูอยู่บนโต๊ะไม้ทรงกลม รอบโต๊ะคือผู้เล่นทั้งเจ็ดในค่ำคืนนี้ นอกจากควันยาเส้นที่ลอยตัวอ้อยอิ่งจากปลายกระบอกกล้องสูบยาและมวนซิการ์ บรรยากาศในห้องสงบนิ่งจนชวนให้รู้สึกอึดอัด
เงาทาบทับลงมาบนใบหน้าที่เก็บซ่อนอารมณ์ กล้ามเนื้อทุกมัดถูกควบคุมเอาไว้เพื่อไม่ให้ผู้ใดเห็นรอยแสยะยิ้ม มีเพียงแววตาวาบวับที่เคลื่อนที่ชำเลืองกันและกันเป็นการหยั่งเชิง
A Friend in Need 1903, C.M.Coolidge
อยู่ ๆ เสียงเด้งเตือนจากแอปแชทก็ดังขึ้น เจ้าของข้อความคือนิค เพื่อนต่างแดนของผม หมอนี่เองที่เป็นสาเหตุให้ผมมายืนจ้องภาพนี้
“เป็นไงบ้าง ได้ของที่ส่งให้ยัง ออริจินัลโปสเตอร์เลยนะ”
ผมหันไปมองภาพที่อยู่ในกรอบนั้นอีกที ก่อนจะพิมพ์ตอบไป
“ได้แล้ว มาส่งบ่ายนี้พอดี เห็นบอกจะส่งงานศิลปะระดับโมนาลิซ่ามาให้ ก็สงสัยอยู่ว่าอะไร”
“55555555555555” คือคำตอบของนิค ฝรั่งหัวทองที่เคยอยู่ไทยมานานจนหัวเราะเป็นเลขห้าเช่นเดียวกับพวกเรา
“Dogs Playing Poker นี่มันโมนาลิซ่าในโลกของคิทช์เลยนะเว้ย”
คิทช์ (Kitsch) คำนี้ผมจำได้ดี…อาจารย์วิชาศิลปะเคยสอนเราว่ามันคืองานที่แสร้งว่ามีรสนิยมต่ำ ตื้นเขิน ฉาบฉวย มักถูกผลิตออกมาซ้ำ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการแบบผิวเผินของคนหมู่มาก เช่นเดียวกับภาพโปสเตอร์ติดผนังในโรงแรม เฟอร์นิเจอร์อิเกีย หรือขนมหวานในร้านสะดวกซื้อที่หยิบฉวยง่าย อร่อยลิ้น แต่ไร้ซึ่งสารอาหารที่มีคุณค่า
ภาพหมาเจ็ดตัวล้อมวงเล่นโป๊กเกอร์…คืองานศิลปะชิ้นเอกในแบบคิทช์ ที่ทั่วโลกรู้จักกันในนามว่า “Dogs Playing Poker” ซึ่งอันที่จริงไม่ได้มีแค่ภาพเดียว แต่เป็นซีรีส์ภาพวาดสีน้ำมันที่มีถึง 18 ภาพ แสดงกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น เล่นไพ่ เต้นรำ ท่องเที่ยว หรือเล่นพูล ตัวเอกคือบรรดาหมาที่อากัปกิริยาท่าทางเหมือนกับคนอย่างไม่ผิดเพี้ยน
Poker Game, oil on canvas, 1894 / His Station and Four Aces, 1903 / Sitting up with a Sick Friend, 1905 / A Waterloo, 1906
แคสเซียส มาร์เซลลัส คูลิด (Cassius Marcellus Coolidge) หรือ “แคช” คือเจ้าของผลงานชุดนี้ เขาคือผู้ที่ได้รับการขนานนามว่า “ศิลปินชาวอเมริกันที่โด่งดังที่สุดที่คุณไม่เคยได้ยินชื่อ”
ฟังดูเหมือนตลกร้าย แต่ความจริงคือ ตั้งแต่ภาพแรก “Poker Game” ที่เขาวาดขึ้นในปี 1894 ได้สร้างความรู้สึกที่หลากหลายให้กับผู้คน บ้างก็มองเป็นเรื่องตลกและดูแคลน บ้างก็ชื่นชอบในความแปลกใหม่และชวนหัว
และยังมีบางคนที่ถูกใจภาพหมาเซนต์เบอร์นาร์ดสี่ตัวล้อมวงเล่นไพ่ของคูลิดมากเสียจนต้องการจ้างให้เขาผลิตงานแบบนี้ออกมาอีก
บางคนที่ว่านั้นคือบริษัทโฆษณา บราวน์ แอนด์ บิกเกโลว์ (Brown & Bigelow) ใครคนหนึ่งในนั้นเกิดหัวใสปิ๊งไอเดียว่ามันช่างเหมาะกับการนำมาโฆษณาให้กับบริษัทซิการ์เสียจริง
ในปี 1903 พวกเขาจึงได้จับมือกับคูลิดให้ผลิตภาพวาดในซีรีส์นี้ออกมารวมทั้งหมดถึง 16 ภาพด้วยกัน และภาพชุด “Dogs Playing Poker” ก็ถือกำเนิดขึ้นและแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วทั้งงานตีพิมพ์ โปสเตอร์โฆษณา และปฏิทิน ซึ่งกลายเป็นของประดับบ้านของผู้คนนับล้านครอบครัวในสหรัฐอเมริกา
การขยายตัวของวัฒนธรรมป๊อป (Popular Culture) และการตลาดมหาชนในยุคต่อมา ยิ่งจุดกระแสความนิยมงานแบบ Kitsch การเสพสุนทรียะที่ฉาบฉวย ย่อยง่าย เป็นสิ่งที่คนทั่วไปใฝ่หา
พวกเขารู้ดีว่ามันคือน้ำตาลและไขมัน เป็นแคลอรี่ชั้นเลวที่ถูกตักเข้าปากคำแล้วคำเล่าจนหมดเกลี้ยงก่อนที่ภาพความบันเทิงบนหน้าจอจะจบลงด้วยซ้ำ แต่ใครล่ะจะปฎิเสธความหอมหวานเย้ายวนใจของมันได้
แน่นอนว่าในระหว่างกระบวนการผลิตซ้ำ ๆ ชื่อของ แคสเซียส มาร์เซลลัส คูลิด ก็ค่อย ๆ หายไป เหลือเพียงแต่ภาพจำของบรรดาหมาที่ดูเหมือนมนุษย์ของเขา Dogs Playing Poker กลายเป็นฉากล้อเลียนในซิทคอมทีวี การ์ตูน โฆษณา ภาพบนเสื้อยืด แก้วมัค และของที่ระลึกอีกนับไม่ถ้วน
แม้จะได้รับความนิยมมหาศาล แต่ในสายตาของผู้เชี่ยวชาญงานศิลปะ Dogs Playing Poker ไม่ถือเป็นงานศิลปะที่แท้จริงเช่นเดียวกับงานของโมเนต์ โกแกง หรือ ปิกาโซ หรือจะพูดให้ถูกก็คือ มันคือศิลปะของคนทั่วไป (People’s Art) ซึ่งต่างจากงานศิลปะชั้นสูง (Artist's Art)
แล้วสองอย่างนี้จะมาบรรจบเข้าด้วยกันไม่ได้เชียวหรือ?
หากเรามองย้อนกลับไปในอดีต องค์ประกอบหรือเรื่องราวนั้นล้วนเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในงานของศิลปินระดับมาสเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นคาราวัจโจ เดอ ลา ตูร์ หรือเซซานน์ เพียงแต่ตัวเอกนั้นคือคน หาใช่เพื่อนสีขาหน้าขนไม่
The Cardsharps (1594), Michelangelo Merisi da Caravaggio
The Card Sharp with the Ace of Diamonds (1636-1638), Georges de La Tour
The Card Players (1890–1892), Paul Cezanne
Laying Down the Law (1840), Sir Edwin Landseer
งานที่ดูใกล้เคียงที่สุดดูจะเป็นของเซอร์เอ็ดวิน แลนเซีย ศิลปินยุคศตวรรษที่ 19 ผู้ชื่นชอบสุนัขและเป็นที่รู้จักในผลงานรูปปั้นสิงโตกลางจัตุรัสทราฟัลการ์ในกรุงลอนดอน
Dogs Playing Poker ของคูลิดอาจจะเกิดจากแรงบันดาลใจจากภาพเหล่านี้…หรืออาจจะไม่ แต่ที่แน่ ๆ อารมณ์ขันของมัน และความรู้สึกถวิลหาบางสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของผู้ชม นั่นอาจจะเป็นคุณค่าที่เพียงพอแล้วก็ได้
ขนมหวานอาจจะไม่ช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อ หรือมีวิตามิน A ถึง E ที่ดีต่อร่างกาย แต่บางครั้งกลูโคสและแป้งคือสิ่งที่เราโหยหาในยามที่รู้สึกเหนื่อยล้า และขาดพลังใจ
“มีของพิเศษสำหรับนายที่ด้านหลังภาพนะ อย่าลืมดูล่ะ”
ข้อความสุดท้ายของนิคเด้งขึ้นในแชท ตามมาด้วยอีโมติคอนขยิบตาหนึ่งอัน
ผมพลิกด้านหลังกรอบรูปภาพดู พบซองสีน้ำตาลเล็ก ๆ แปะอยู่ตามที่นิคว่า มันดูกลมกลืนไปกับแผ่นไม้จนไม่ทันได้สังเกตในตอนแรก ด้านในมีวัตถุแบน ๆ อยู่ชิ้นหนึ่ง
ไพ่เอซดอกจิก
ผมพลิกรูปภาพหงายขึ้นอีกครั้ง เอซดอกจิกที่อยู่ในมือของผม คือไพ่ใบเดียวกับที่เจ้าบูลด็อกคาบซิการ์ กำลังแอบยื่นไปให้เพื่อนที่อยู่ข้าง ๆ ผ่านนิ้วเท้าของมัน และเป็นไพ่ใบเดียวกับที่เพื่อนของมันต้องการเพื่อที่จะได้ Four of a Kind ในตานั้น
A Friend in Need...คือชื่อที่แท้จริงของภาพนี้ กล้ามเนื้อบนใบหน้าของผมขยับจนกลายเป็นยิ้มกว้าง ก่อนจะพึมพำออกมากับตัวเอง “…is a Friend Indeed.” เมื่อนึกถึงมิตรภาพจากแดนไกลที่ไม่เคยลืมกัน
🎵 “So no one told you
life was gonna be this way
Your job's a joke, you're broke
Your love life's D.O.A
It's like you're always stuck in second gear
When it hasn't been your day,
your week, your month
Or even your year, but
I'll be there for you
(When the rain starts to pour)
I'll be there for you
(Like I've been there before)
I'll be there for you
('Cause you're there for me too)”🎶
ฟังเพลง “I'll Be There For You” (Friend’s Theme, 1995) โดย The Rembrandts ได้ที่นี่ 👇
หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้เป็นข้อมูลจริงผสมส่วนที่แต่งขึ้นเพื่ออรรถรสในการนำเสนอ
แล้วพบกันใหม่ในชมรมศิลปะนอกเวลาครั้งหน้าครับ
Photo: Wikimedia Commons

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา