5 ก.ย. 2020 เวลา 14:00 • กีฬา
ทำไมเกาหลีใต้ จึงเป็นประเทศที่มีนักกีฬาอีสปอร์ตหญิงฝีมือดีเต็มไปหมด ?
อีสปอร์ต (eSports) จัดว่าเป็นกีฬาประเภทใหม่ที่นิยมไปทั่วโลก ด้วยธรรมชาติของกีฬาที่ไม่ได้ใช้ร่างกายในการแข่งขันเหมือนกีฬาทั่วไป แต่แข่งกันผ่านเกมคอมพิวเตอร์หรือมือถือ วงการอีสปอร์ตจึงไร้พรมแดน ใคร ๆ ก็เล่นได้ จนดูเหมือนไม่ว่าคนชาติไหนก็ขึ้นมาเป็นสุดยอดเกมเมอร์ได้ทั้งนั้น
ทว่า บางประเทศกลับมีโปรเพลเยอร์ฝีมือดีกระจุกตัวกันอยู่มากอย่างมีนัยสำคัญ เป็นที่กล่าวขานอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้คนทั่วโลกมีภาพจำที่ยึดโยงประเทศดังกล่าวกับกีฬาอีสปอร์ตเสมอมา
หนึ่งในประเทศที่ใคร ๆ ก็ถือว่าเป็นใหญ่ในวงการเกม คือประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งบ่อยครั้ง ในเว็บบอร์ดสุดฮิตอย่าง Reddit จะมีคนจากทั่วโลกมาตั้งกระทู้ถามด้วยความฉงนกันเรื่อย ๆ ว่า ทำไมคนเกาหลีเล่นเกมเก่ง ?
 
ที่น่าสนใจคือ แม้ในวงการที่ชายเป็นใหญ่ แต่เกมเมอร์เกาหลีฝั่งผู้หญิง ก็ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มข้นในการแข่ง และมีฝีมือที่โดดเด่นจนติดอันดับโลก เรื่องราวความเทพของนักกีฬาอีสปอร์ตหญิงแดนกิมจิเป็นมาอย่างไร ? ร่วมไขคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand
[เพราะร้านเกม]
ย้อนกลับไปช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 1997 เกาหลีใต้มีการสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เป็นวงกว้าง และจากวิกฤติ เชื่อว่าอัตราการว่างงานที่สูงในเวลานั้น ทำให้หลายคนหันมาเล่นเกมในขณะที่ยังว่างงาน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หรือ ที่คนเกาหลีเรียกว่า PC Bang (Bang แปลว่าห้อง) จึงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และ PC Bang หรือที่คนไทยอาจเรียกว่า ‘ร้านเกม’ เป็นที่นิยมแพร่หลายในเกาหลีมาจนถึงปัจจุบัน เพราะคนเกาหลีมักจะไปที่นั่นเพื่อพบเจอเพื่อน หรือท่องโลกอินเทอร์เน็ต
เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่เน็ตแรงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากร
 
คนเกาหลีใต้เล่นเกมกันจนการเล่นเกม เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมยามว่างประจำชาติ เห็นได้ชัดจากที่แดนกิมจิมีตลาดเกมที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก มีผู้เล่นราว 25 ล้านคน นับเป็นครึ่งหนึ่งของประชากร
 
ในส่วนของสาวเกาหลี เกมเมอร์หญิงคิดเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ของนักเล่นเกมทั้งหมดในประเทศ แม้จะมีสัดส่วนน้อยกว่าหนึ่งในสี่ของอุตสาหกรรมเกมของเกาหลีใต้ก็ตาม
ในโลกของกีฬา เรามักจะสามารถสันนิษฐานว่าประเทศที่เล่นกีฬาชนิดหนึ่งมานาน หรือเป็นต้นกำเนิดกีฬาชนิดนั้น จะทำให้คนในชาติมีฝีมือโดดเด่น (เช่นเดียวกับการแข่งบาสเกตบอลที่โดดเด่นในสหรัฐอเมริกา หรือฟุตบอลในสหภาพยุโรป)
ในหลักการเดียวกันนี้ ทำให้หลายคนเข้าใจว่าสาวเกาหลีเป็นเซียนเกมกันมาก เพราะวงการเกมเกาหลีฮิตมาเป็นเวลานาน โดยเกาหลีใต้เป็นประเทศแรก ๆ ซึ่งผลักดันเกม League of Legends (LoL) ไปสู่การแข่งขันในระดับสูง นั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกมเมอร์สาว อยู่ในอันดับต้น ๆ ของวงการ
[เพราะค่านิยม]
นอกจากซีรี่ส์ เพลงเคป๊อป และอาหารแล้ว เกาหลีใต้ยังโดดเด่นในด้านอีสปอร์ต โดยเป็นที่ทราบกันว่าเป็นเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ผลิตบุคลากรวงการเกมออกมามากที่สุดประเทศหนึ่ง
สาเหตุเพราะการแข่งเกม ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่งานอดิเรกเหมือนในประเทศอื่น ๆ แต่การเล่นเกมสำหรับคนเกาหลี คือเส้นทางอาชีพ ซึ่งค่านิยมที่คนเกาหลีส่วนมากยึดถือร่วมกันตรงนี้ ส่งผลต่อพฤติกรรมการฝึกเล่นเกมแบบฮาร์ดคอร์ของหนุ่มสาวเกาหลี
ค่านิยมประการนี้ ยังเห็นได้ชัดจากการที่วงการเกมเกาหลีสร้างเงินอย่างมาก ในปี 2020 อุตสาหกรรมเกมของประเทศเกาหลีใต้มีมูลค่า 153,600 ล้านวอน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 4 พันล้านบาท เงินไม่ได้มาแค่จากบริษัทผลิตเกม แต่จากผู้เล่น ที่มีรายได้จากเวทีการแข่งขันมากมาย
 
นักกีฬาอีสปอร์ตหญิงยอดนิยม จึงมีรายได้รวมกันสูงกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเงินรางวัลการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ จากสปอนเซอร์ จากเงินเดือน หรือแม้แต่จากค่าย้ายทีม
 
สาวเกาหลีที่เล่นเกมระดับเทพยังโด่งดัง และบางคนก็มีผู้ติดตามมากมายในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของเกาหลี อย่างไรก็ตาม อาจด้วยข้อกำจัดทางภาษา มีเกมเมอร์สาวเกาหลีเพียงไม่กี่คนเป็นที่รู้จักแบบสากล หนึ่งในนั้นคือ Becca หรือ Behkuh TV (ไม่เปิดเผยชื่อจริง) ที่ยอดติดตามใน Twitch 3.58 แสนคน
 
กิจกรรมการแข่งเกมเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหมู่สาวเกาหลี โดยในปี 2017 เมื่อ Riot Games จัดการแข่งในทัวร์นาเมนต์ League of Legends Champions Korea หรือ LCK ที่เกาหลี กว่าครึ่งของผู้ชมคือผู้หญิง
 
ทั้งนี้ มีผู้หญิงเกาหลีใต้อายุ 10 ถึง 65 ปีประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์เล่นวิดีโอเกม จนถึงขนาดมีคำพูดว่า หากจะจะจีบสาวเกาหลีใต้ ชายหนุ่มจะต้องเล่นเกม StarCraft ชนะพ่อตาให้ได้เสียก่อน
 
และด้วยค่านิยมของคนเกาหลี เกมเมอร์สาวจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเด็กสาว สามารถใฝ่ฝันถึงการที่จะโตมาประกอบอาชีพโปรเพลเยอร์ได้ โดยเป็นที่ยอมรับของสังคม
 
นอกจากนี้ บางคนยังอธิบายเรื่องค่านิยมการเล่นเกม ว่าเกิดจากการที่เกมอย่าง StarCraft ใช้ไหวพริบการตอบสนองที่รวดเร็วเช่นเดียวกับเกมดั้งเดิมของเกาหลี ทำให้การเล่นเกมถูกจริตกับนิสัยและรูปแบบวัฒนธรรมคนเกาหลีด้วยเช่นกัน
[เพราะซ้อมหนัก]
 
ว่ากันว่า การเป็นโปรเพลเยอร์นั้น เกือบเทียบเท่ากับการเป็นเคป๊อปสตาร์ในเกาหลีเลยทีเดียว คนเกาหลีจึงต้องสู้กันอย่างเข้มข้น เพื่อให้ตัวเองขึ้นมาเป็นสุดยอด ด้วยการฝึกซ้อมหลายชั่วโมง
 
ในสังคมเกาหลีหรือสังคมประเทศแถบเอเชียมีการแข่งขันที่สูงมาก ๆ ชนิดว่าถ้าใครอ่อนแอก็แพ้ไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนหรือการทำงาน ทำให้ผู้คนต้องแข่งขันและพัฒนาตนเองให้ได้มากที่สุด
 
เช่นเดียวกัน การแข่งขันในวงการเกมเกาหลีดุเดือดมาก คนหนุ่มสาวชาวเกาหลีจึงจำเป็นต้องเลือกตั้งแต่อายุยังน้อยว่าต้องการเรียนต่อในระดับสูงหรือมุ่งสู่เส้นทางโปรเพลเยอร์ หากเลือกอย่างหลัง พวกเขาจะต้องมุ่งเน้นไปที่เรื่องเกมเพียงอย่างเดียว โดยโปรระดับเทพหลายคนฝึกซ้อมกันกว่า 12-14 ชั่วโมงต่อวัน
 
ไม่ใช่แค่การเล่นเกม เหล่าโปรยังต้องวิเคราะห์เกม และต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการดูรีเพลย์หากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อทดสอบกลยุทธ์เหล่านั้น
 
โดยหนทางที่ดีที่สุดในการจะเป็นโปรเพลเยอร์ คือการเข้าร่วม Esports Academy ที่เป็นบูทแคมป์ ซึ่งโปรเพลเยอร์สาวหลายคนมีโค้ชคอยเทรนให้เช่นเดียวกับนักกีฬาอาชีพอื่น ๆ เลยทีเดียว
 
ด้วยความที่สาวเกาหลีใช้เวลาหลายต่อหลายชั่วโมงไปกับเกม ทำให้หลายคนมีฝีมือที่หาตัวจับยาก
 
โปรเพลเยอร์สาวอันดับหนึ่งของเกาหลี ที่ฝีมือขั้นเทพจนโด่งดังไปทั่วโลก คือ Kim "Geguri" Se-Yeon ผู้เล่นหญิงคนแรกใน Overwatch League
 
โดยในปี 2019 Geguri ได้รับการขนานนามจากนิตยสาร TIME ว่า เป็นหนึ่งในผู้นำรุ่นใหม่ เพราะเป็นผู้เล่นอีสปอร์ตที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในกีฬาที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กสาวเกาหลีเป็นอย่างมาก
[เพราะผู้ใหญ่ส่งเสริม]
 
สิ่งเกาหลีแตกต่างจากประเทศไทยหรือประเทศอื่น ๆ คือ พอการเล่นเกมฮิตขึ้นมา แทนที่จะกีดกัน รัฐบาลเกาหลีกลับเห็นโอกาสและเข้าสนับสนุน ชูวัฒนธรรมเกมจนได้ดิบได้ดีถึงทุกวันนี้
 
เมื่อการเล่นเกมเริ่มแพร่หลาย ภาครัฐได้ตั้งองค์กรเกี่ยวกับอีสปอร์ตขึ้น ชื่อว่า Korean e-Sports Association หรือ KeSPA เพื่อผลักดันให้เหล่าจริงจังเกมเมอร์ ได้ผันตัวเป็นโปรเพลเยอร์ และสนับสนุนในเรื่องการโปรโมท รวบถึงดูแลเรื่องกฎกติกา
ธรรมชาติชาวเกาหลีที่เคยชินและชื่นชอบการแข่งขันมาตลอด พอได้รับการสนับสนุนให้แข่งขันมากขึ้น ยิ่งกระตุ้นให้ระดับความจริงจังเกมมิ่งของสาวเกาหลียกสูงขึ้นตามไปด้วย เกมเมอร์สาวจึงพัฒนาความสามารถของตนได้แบบทำลายทุกขีดจำกัด
 
นอกจากนั้น ช่องทีวีหลายช่องในเกาหลี ยังนิยมถ่ายทอดสดการแข่งขันอีสปอร์ต รวมถึงมีการจัดทัวร์นาเมนต์สำหรับเกมเมอร์สาวขึ้นมากมาย เป็นเวทีสนับสนุนให้เหล่าสาวเกาหลีก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวงการเกม
 
สุดท้ายแล้ว การได้เห็นนักกีฬาอีสปอร์ตหญิงเกาหลีขึ้นมาเป็นสุดยอดอย่างในทุกวันนี้ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้วงการเกมในประเทศไทยอย่างมาก
 
ดังนั้น หากใครได้ดูการแข่งเกมหญิงล้วน และเห็นสาวเกมเมอร์ประสบความสำเร็จในการแข่งอย่างจริงจังสักครั้ง คงสร้างความหวังให้เกิดขึ้นในใจสาว ๆ ในวงการเกม และในวงการอาชีพอื่น ๆ ด้วย
 
และด้วยกระแสนิยมในอีสปอร์ตที่ไม่จำกัดเพศ นี่คือการแข่งขันสำหรับสาว ๆ ทุกคน กับ Space Gamer League ซึ่ง Space Gamer หนึ่งในผู้จัดการแข่งขันชั้นนำ ร่วมมือกับ Main Stand จัดการแข่งขันอีสปอร์ตเฉพาะเพศหญิงที่ชิงเงินรางวัลสูงสุดในไทย
โดยเปิดฉากความมันด้วย SGL Minor League การแข่งขันในรูปแบบออนไลน์ ในเกม Dead by Daylight (PC), PUBG Mobile, ROV ชิงเงินรางวัลรวมกันกว่า 100,000 บาท ติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้เร็ว ๆ นี้
เรื่องโดย พิมพ์พันธุ์ จันทร์แดง
#StandForAll #MainStand #eSports #จริงจังเกมมิ่ง #GirlGamer #ProPlayer #เกม #อีสปอร์ต #spacegamer #spacegamerleague #sglminor
โฆษณา