5 ก.ย. 2020 เวลา 14:59 • กีฬา
"ปัญหา" คือ สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาบนเส้นทางของนักกีฬาทุกคน และทุกคนเชื่อว่าการคิดบวก พูดบวก และลงมือทำ จะทำให้ตัวเองผ่านปัญหานั้นไปได้ แต่หลายครั้งการผ่านปัญหาไปได้ด้วยการคิดบวก พูดบวก กลับไม่ใช่สิ่งยืนยันว่า นักกีฬาคนนั้นกำลังมุ่งไปสู่จุดหมาย!!???
.
เกิดอะไรขึ้น??? ทำไม สิ่งที่เราเรียกว่าทัศนคติเชิงบวก ซึ่งเป็นเป็นเครื่องมือที่ดีที่โค้ชและนักกีฬาทั่วโลกต่างใช้ในการพัฒนานักกีฬา แต่เรากลับไม่สามารถใช้เครื่องมือนี้พลักดันนักกีฬาให้ก้าวสู่เป้าหมายได้เสมอไป หรือว่าเรากำลังเข้าใจคำว่าทัศนคติเชิงบวกคลาดเคลื่อนไป
.
วันนี้ผมจะมาเล่าทัศนคติเชิงบวกในอีกมุมมองที่ผมได้อ่านและประสบมาให้ทุกคนได้ลองฟังและพิจารณากัน ว่าแท้จริงแล้วคำว่าทัศนคติเชิงบวกคืออะไร และทำอย่างไรถึงจะนำมาเป็นเครื่องมือผลักดันนักกีฬาได้จริงๆ
.
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจคำว่า ทัศนคติคืออะไร และมีทั้งหมดกี่ประเภทกันก่อนครับ
.
ทัศนคติ (Attitude) คือ แนวคิดหรือมุมมองท่ีพร้อมจะตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ว่าจะ ตัดสินใจทำอะไรถึงจะถูกต้องและเหมาะสมที่สุด ผ่านความเชื่อ ความเข้าใจ และประสบการณ์
.
โดยทัศนคติแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะของการตอบสนอง ได้แก่
.
ทัศนคติเชิงบวก (Positive attitude) คือ แนวคิดที่ตอบสนองเหตุการณ์ต่างๆ ในแง่บวก มองปัญหาและความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่อุปสรรค แต่คือโอกาสที่จะได้สู้ เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองก้าวไปข้างหน้า
.
ทัศนคติเชิงลบ (Negative attitude) คือ แนวคิดที่ตอบสนองทุกอย่างในแง่ลบ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเรื่องดีหรือโอกาสก็ตาม และไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
.
ทัศนคติที่เป็นกลาง (Neutral attitude) คือ แนวคิดที่ตอบสนองด้วยการไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งใด โดยเฉพาะปัญหา เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่ต้องแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงตัวเอง
.
ดังนั้นจะเห็นว่า การคิดดี พูดดี ทำดี เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทัศนคติเชิงบวกเท่านั้น ไม่ใช่ทัศนคติเชิงบวกทั้งหมด เพราะทัศนคติเชิงบวกไม่ใช่แค่การทำให้รู้สึกดี สบายใจ หายเครียด หรือ ลดความกดดัน จนทำให้นักกีฬามองไม่เห็นปัญหา และไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นจึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นทัศนคติเชิงบวกที่ถูกต้อง
.
ทัศนคติเชิงบวกที่ดีหรือถูกต้องไม่ได้บอกว่าต้องรู้สึกดีเมื่อเจอปัญหา อาจจะรู้สึกเครียด กดดัน ทำอะไรไม่ถูก แต่ก็อยากจะสู้และพยายาม เพราะเชื่อว่าตัวเองสามารถเอาชนะปัญหาที่อยู่ตรงหน้าได้ ด้วยการมองปัญหาตามความเป็นจริง จัดลำดับความสำคัญ พร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อพัฒนาก้าวข้ามอุปสรรคและปัญหามุ่งสู่เป้าหมายที่วางไว้ เช่น
.
- ในวันที่เล่นไม่ดี ทำอะไรก็ผิดพลาด การบอกกับตัวเองว่า "ไม่เป็นไร วันนี้ไม่ใช่วันของเรา" หรือ "ไม่มีใครเพอร์เฟกต์ (สมูบรณ์แบบ) แต่ละคนก็เคยผิดพลาดกันทั้งนั้น" ก็ล้วนเป็นเพียงคำปลอบใจที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น ไม่จมอยู่กับปัญหา แต่ไม่มีการตัดสินใจที่จะมือทำอะไรสักอย่างเพื่อผลักดันให้เราพยายามเอาชนะปัญหาและพัฒนาก้าวไปข้างหน้า
.
- ซึ่งต่างจากทัศนคติเชิงบวกที่ถูกต้องที่จะเริ่มด้วยการเข้าใจปัญหาก่อนว่าเป็นเรื่องปกติ จัดลำดับความสำคัญ และตัดสินใจว่าจะต้องลงมือทำเพื่อผลักดันตัวเองไปข้างหน้า เช่นอาจจะบอกกับตัวเองว่า "ไม่มีใครที่เพอร์เฟกต์ สมบูรณ์แบบ ทุกคนต่างเคยผิดพลาด แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้าง ที่จะอนุญาตให้เราทำผิดพลาดได้ง่ายๆอีก เราต้องพยายามให้มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อลดโอกาสผิดพลาดและก้าวข้ามขีดจำกัดนั้นไปให้ได้"
.
จะเห็นว่า การปลอบใจและทำให้รู้สึกดี นั้นเป็นการทำให้เราสามารถอยู่กับปัญหาได้โดยที่ไม่จมอยู่กับปัญหา ช่วยลดความเครียด และช่วยลดแรงกดดันได้ แต่ไม่ได้ทำให้เราตัดสินใจที่จะลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อเอาชนะปัญหาและพัฒนาตัวเองไปข้างหน้า #แต่ทัศนคติเชิงบวกที่ถูกต้องนั้น จะเป็นการจุดไฟให้กับตัวนักกีฬา กล้าที่จะลุกขึ้นมาสู้กับปัญหา ด้วยการเข้าใจปัญหา จัดลำดับความสำคัญ และตัดสินใจลงมือทำในสิ่งที่จะผลักดันตัวเองให้ก้าวข้ามความเจ็บปวดแล้วเดินไปข้างหน้าเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย
.
ดังนั้นทัศนคติเชิงบวก จึงไม่ใช่แค่การคิดดี พูดดี ทำดี เพื่อทำให้รู้สึกดี แต่ต้องทำให้เกิดการพัฒนาก้าวไปข้างหน้า เพราะนักกีฬาทุกคนล้วนมีเป้าหมาย ทุกเป้าหมายมีสิ่งกีดขวาง ถ้าการไปสู่เป้าหมายคือการก้าวเดินไปข้างหน้า ทัศนคติจะเป็นตัวบอกว่าคุณจะก้าวข้ามสิ่งกีดขวางไปสู่เป้าหมายได้ไกลแค่ไหน
.
.
.
.
ผู้เขียน - โค้ชเบียร์
หัวหน้าผู้ฝึกสอนและผู้คิดค้นการพัฒนานักกีฬาด้วยจุดแข็ง
.
.
#TDP45Theory
#theDIETPUM45
#ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาเชิงกลยุทธ์
โฆษณา