7 ก.ย. 2020 เวลา 03:58 • สุขภาพ
การพบผู้ป่วยโควิด 19 ที่เป็นการติดเชื้อในประเทศรายแรกหลังจากที่เว้นว่างมา 101 วัน ทำให้เกิดคำถามหลายข้อขึ้นมาในใจ
ข้อที่คนไทยส่วนใหญ่สนใจมากที่สุดคือ คำถามที่ว่าผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อมาจากใคร ในเมื่อไม่มีรายงานผู้ป่วยที่ติดเชื้อในประเทศแล้วนานถึงกว่าสามเดือน
คำตอบของคำถามข้อนี้มีความเป็นไปได้หลายกรณี
กรณีแรกก็คือ จริงๆ แล้วมีการติดเชื้อแพร่กระจายอยู่แล้วในชุมชน แต่การระบาดของเชื้ออยู่ในระดับที่ไม่มาก ทำให้ไม่สามารถตรวจพบด้วยมาตรการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ข้อที่น่าสังเกตก็คือ หากผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้เป็นนักโทษที่เพิ่งถูกตัดสินให้จำคุกจึงทำให้ต้องถูกกักกันและมีการตรวจหาเชื้อโควิด ป่านนี้ก็คงยังใช้ชีวิตตามปกติอยู่ อาการป่วยที่เหมือนเป็นหวัดธรรมดาอาจหายได้เอง หรือหากไปรักษาตามคลินิกหรือโรงพยาบาลก็อาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นหวัด โดยไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด เนื่องจากไม่มีปัจจัยเสี่ยงซึ่งได้แก่ ประวัติเดินทางไปต่างประเทศ และไม่มีประวัติสัมผัสกับคนที่เป็นโรคแต่อย่างใด
คำถามก็คือ มีคนที่เข้าข่ายแบบนี้อีกกี่คนในชุมชน
การแกะรอยหาต้นตอว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อมาจากใคร สำหรับตอนนี้จะยากกว่าการระบาดในรอบแรกเป็นอย่างมาก เนื่องจากในรอบแรกนั้น สามารถอาศัยประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ หรือประวัติที่เคยติดต่อใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ ซึ่งสำหรับสถานการณ์ในขณะนี้ทำไม่ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคนไทยจำนวนมากยังคงสวมหน้ากากอยู่ จีงทำให้การระบาดจึงยังอยู่ในวงจำกัด จึงยังไม่มีรายงานการติดเชื้อในประเทศจนกระทั่งมาพบในผู้ป่วยรายนี้
ข้อค้านสำหรับสมมติฐานนี้ก็คือ ทำไมจึงไม่มีรายงานผู้ป่วยหนักที่เป็นปอดอักเสบจากเชื้อโควิดเลย หากมีการระบาดอยู่จริง
กรณีที่สองที่มีความเป็นไปได้ก็คือ เริ่มมีการระบาดใหม่ในเดือนสิงหาคมนี้เอง ซี่งก็เป็นช่วงเดียวกับที่มีรายงานการระบาดในประเทศเมียนมาร์ ช่วงครึ่งหลังของเดือนสิงหาคม (รูปกราฟ ข้อมูลได้จาก https://www.tableau.com/COVID-19-coronavirus-data-resources) มีความเป็นไปได้ว่าตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้ ประกอบกับการควบคุมการเล็ดรอดเข้าเมืองผิดกฎหมายทำได้ยาก การติดเชื้อที่พบในผู้ป่วยรายนี้อาจเป็นกรณีแรกๆ ของการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ ต้องรีบสืบสวนโรคและจำกัดวงโดยเร็ว
เมื่อพิจารณาหลายๆ องค์ประกอบแล้ว กรณีแรกนั้นมีความเป็นไปได้มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเริ่มมีรายงานว่ามีผู้ที่เดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศปลายทางแล้วตรวจพบเชื้อโควิดออกมาประปราย ทำให้สนับสนุนแนวคิดนี้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ต้องตระหนักว่าในขณะนี้มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 อยู่ในประเทศ โดยไม่ทราบจำนวนแน่ชัด เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ
สิ่งที่ประชาชนทั่วไปควรปฏิบัติก็คือ การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล หลีกเลี่ยงสถานที่พลุกพล่าน โดยเฉพาะสถานที่ปิดหรือมีการระบายอากาศที่ไม่ดี โดยยกระดับของการทำ physical distancing วิธีการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ปกป้องตนเองเท่านั้น ยังช่วยปกป้องคนที่เรารักซึ่งอาจจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และป้องกันการระบาดใหญ่ในประเทศ
สำหรับข้อเสนอต่อภาครัฐก็คือ อยากให้พิจารณาการสุ่มตรวจหาเชื้อให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอาการของระบบการหายใจที่คล้ายหวัด โดยอาจเลือกทำในสถานพยาบาลเฉพาะบางแห่ง เพื่อเป็นการเฝ้าระวังโรค (อันนี้ไม่แน่ใจว่ามีการปฏิบัติอยู่แล้วหรือไม่) เนื่องจากการรอจนกว่าจะพบผู้ป่วยที่มีอาการชัดเจนและมีปัจจัยเสี่ยงอาจไม่ทันต่อสถานการณ์ การตรวจพบช้าไปแม้ 1 สัปดาห์อาจหมายถึงการระบาดในประชากรจำนวนหลักสิบหรือหลักร้อยคนได้
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ยากลำบาก เพราะประเทศกำลังประสบปัญหารุมเร้าหลายเรื่อง การจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ต้องอาศัยการมีวินัยของคนไทยทั้งประเทศ แต่ถ้ามองย้อนหลัง ประเทศไทยเราก็ผ่านวิกฤตมาได้โดยตลอด เชื่อว่าครั้งนี้ก็เช่นกัน
ถ้าเราทุกคนมองถึงประโยชน์ต่อ “ประเทศ” เป็นสำคัญ
โฆษณา