6 ก.ย. 2020 เวลา 11:14 • ท่องเที่ยว
#บันทึกการเดินทาง ไป Dali ครั้งแรกในชีวิต
หลังจากห่างหายไปนานกับการเขียนรีวิวการไปจีนครั้งแรกของผม กับชื่อ ไปคุนหมิงกับคนคุนหมิง ด้วยความขี้เกียจ ทำให้ดองคอนเท้นนี้ไปครึ่งปี เพราะทริปนี้ไปมาก่อนโควิดจะระบาดที่จีนอีก พอถึงตอนนี้ก็ทำใจได้แล้วว่าถึงเวลา ที่ควรกลับมาเขียนต่อเพราะกำลังใจจากคนในคอมเม้นที่คอยติดตาม ถึงแม้ว่าจะมีเพียง 1 คน ก็ดีใจแล้ว เพราะปกติผมเป็นคนชอบอ่านไม่ถนัดด้านเขียน
เอาหล่ะหลังจากเกริ่นมาอย่างยืดยาว เรามาต่อกับกับเช้าวันที่สองของทริปจีน ในตอน ไปคุนหมิงกับคนคุนหมิง
(อ่านต่อ ในคำบรรยายใต้รูปแต่ละรูป)
คุณหมิง-ต้าลี่ EP.0 ไปจีน ต้องเตรียมอะไรบ้าง https://bit.ly/2HbYLJX
คุณหมิง-ต้าลี่ EP.1 เที่ยวคุนหมิงกับคนคุนหมิง https://bit.ly/2ZblkrA
FACEBOOK - @Emproud เที่ยวถ่ายรูป
INSTAGRAM - @emproudchannel
YOUTUBE CHANNEL - https://bit.ly/2OSU9gr
Photographer @Sakkarach MObb
#emproudchannel #china #คุนหมิง #เที่ยว #kunming #Dali #ต้าหลี่
#เที่ยวจีน #ต้าลี่
ตื่นมากับเช้าวันที่สอง ด้วยนาฬิกาปลุกจากแสงแดดที่ผ่านมาทางหน้าต่างห้อง (เพื่อน) ถ้าอยู่ที่เมืองไทยเราคงลุกขึ้นมาปิดแอร์ แต่อยู่ที่คุนหมิง ในฤดูหนาวปลายเดือนพฤศจิกายน ผมกลับต้องลุกมาโดยไม่ต้องปิดอะไร แม้แต่อีทเตอร์ที่กำลังทำงานอยู่ เพราะในตอนเช้าอากาศก็เย็นต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ซึ่งหนาวกว่าอุณหภูมิ 25 ที่คนไทยหลายคนเปิดไว้เพราะเค้าบอกมาว่ามันช่วยประหยัดไฟ
วันนี้เราผม และชู เพื่อนคนจีน วางแผนกันไว้ว่า จะเดินทางไปที่เมือง Dali หรือ ต้าหลี่ ที่คนไทยรู้จัก ด้วยรถไฟความเร็วสูง ซึ่งนั่นหมายความว่านี่คือการขึ้นรถไฟความเร็วสูงครั้งแรกของผมด้วย โดยการจองตั๋วรถไฟนั่น เพื่อนของผมเป็นคนจัดการเองทั้งหมด และเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่คืนก่อนหน้า โดยวิธีการจองก็ทำผ่านเว็บ ซึ่งมีอยู่หลายเว็บ สามารถลองหาได้ใน Google โดยพิมว่า china high speed train booking โดยค่าโดยสาร จาก คุนหมิง ไป ต้าหลี่ อยู่ที่ 145 หยวน (650 บาทไทย) ต่อคน
เริ่มออกเดินทาง
รอบที่เราได้ก็คือ รอบ 9.56 แต่กว่าเราจะเตรียมตัวกันเสร็จและออกจากห้องกันตอน 8.50 นั่นหมายถึง การเดินทางเร่งรีบแข่งกับเวลา ได้เริ่มต้นแล้ว ความเร่งรีบทำให้แผนเดิมที่เราจะโดยสารไปสถานีรถไฟด้วยรถเมล์ต้องพับทิ้งไว้ และเปลี่ยนมาใช้บริการ แท็กซี่กะว่าจะไปขึ้นรถเมล์ ระยะทางจากที่พักไปยังสถานีรถไฟ ประมาณ 20 กิโลเมตร แต่ต้องเดินทางผ่านรถติดด้วย เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนออกเดินทางไปทำงาน แต่โชคยังดีที่ลุงโชเฟอร์รู้ทางพาขึ้นทางด่วน
นั่งแท๊กซี่ แต่ไม่เห็นหน้าคนขับเลย
ขึ้นรถไฟความเร็วสูง ครั้งแรก
หลังจากกล่าวอำลากับลุงโชเฟอร์ ผมและชูก็แบบกระเป๋าเดินกันมาอีกไม่กี่ก้าวก็มาถึงสถานีรถไฟ Kunming railway station นั่นทำให้เรารู้ว่าการเลือกใช้ แท็กซี่นั้น เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและ เพราเราทั้งสอง มาถึงจุดหมายได้ ก่อนเวลารถออก 30 นาที
สิ่งแรกที่เราต้องเจอนั่นคือด่านตรวจสัมภาระ เหมือนในสนามบิน ซึ่งผมก็ยกทุกอย่างลงสายพานอย่างไว เพราะกลัวเจ๊แกจะพูดภาษาจีนอะไรมาอีก หลังจากผ่านมาได้ ก็จะมาเจอกับป้ายขนาดใหญ่ที่จะบอก ตารางเวลารถไฟ และหมายเลขชานชาลาของรถแต่ละเที่ยว ซึ่งก็ต้องเช็ดดูว่าตรงกับตั๋วที่เราจองมาหรือป่าว จากนั้นก็เดินไปตามป้ายเลย มันจะมีเลขบอกอยู่มันให้อารมณ์เหมือนเดินมารอขึ้นเครื่องบินยังไงยังงั้น
มื้อเช้าวันแห่งความเร่งรีบ ตอนแรกคิดว่านมจืด กินไปเป็นนมเปรี้ยวสะอย่างงั้น
รอได้ไม่นานก็มีเสียงประกาศอะไรบางอย่างดังขึ้น เหล่ามวลมหาชาวจีนก็ลุกขึ้นจากเก้าอี้และมาตั้งแถวตามช่องตรวจเอกสาร ลืมบอกไปว่า จากตรงที่เรานั่งรอจะมีด่านอีก 1 ด่าน สำหรับตรวจเอกสาร ไม่ใช่ตั๋วนะครับ แต่เป็นบัตรประชาชนสำหรับคนจีน และพาสปอร์ตสำหรับชาวต่างชาติอย่างเรา ซึ่งอันนี้ผมว่ามันดีมากเลยนะเหมือนระบบเค้าเชื่อมโยงกับข้อมูลทางราชการเราเลย ว่าเออคุณได้จองรถไฟเที่ยวนี้มานะ โดยไม่ต้องโชว์ตั๋วหรือปริ้นท์ตั๋วกระดาษให้เปลืองทรัพยากรธรรมชาติ
วิธีเดินผ่านประตูสำหรับชาวต่างชาติก็แค่เปิดหน้าพาสปอร์ตที่มีรูปหน้าเรา แล้วแตะตรงเครื่องสแกน
สิ่งที่ได้ระหว่างยืนรอคือ คนจีนรุ่นใหม่ จะเดินเข้าแถวกันเป็นระเบียบเรียบ ต่างจากคนรุ่นเก่าที่ยังมีการเดินแซงคิวอยู่บ้าง บางที่ผมก็ได้ยินเพื่อนมันบ่นนะเวลาเห็นป้าเดินมาแทรกแถว
และแล้วก็ถึงเวลาที่ชายหนุ่มจากเมืองที่มีรถไฟความเร็วต่ำ จะต้องมาขึ้นรถไฟความเร็วสูงเป็นครั้งแรก เมื่อขึ้นมาก็หาที่นั่งตามหมายเลขที่จองมาเลย แต่ก็ยังดูวุ่นวายอยู่หน่อยๆ เพราะเหล่ากงเหล่าอี๊ก็ยังมีปัญหาในการหาที่นั่งของตัวเอง
เมื่อผมและชูหาที่นั่งเจอและ ชูบอกกับผมว่า ยูนั่งริมหน้าต่างสิ จะได้ชมวิวข้างทาง ผมก็ตอบตกลง เป็นใครก็ต้องอยากเห็นอยู่แล้ว หรือเป็นเพราะว่าเค้าอาจจะเห็นจนเบื่อไปแล้วมั่ง
เมื่อรถไฟเริ่มออกเดินทาง ผมก็นึกสนุกจะออกไปเดินสำรวจรถไฟความเร็วสูงสักหน่อย ผมเริ่มเดินสำรวจและยกกล้องถ่ายรูปไปเรื่อยตั้งแต่หน้าต่างยันส้วมในห้องน้ำ ก็แหมมันครั้งแรกอ่ะแต่ทันใดนั่นก็มีสายตาคู่หนึ่งมองมาแล้วพูดว่า “ฉงฉิ้งนี่ปาหว่อเยานากลัวหรอยดเบดนฟเหนแบนดก” นาทีนั้นถึงพี่เค้าจะพูดด้วยคำที่หยาบที่สุดในภาษาจีน ผมก็คงไม่รู้สึกเจ็บ แต่เพราะเดาออกว่า “มึงไฟนั่งที่สิ จะมาเดินเพลนพล่านทำไม” ผมก็กลับไปนั่งที่ แต่พี่แกก็ยังตามมาบ่นถึงที่นั่ง และชูก็บอกว่า
ชู : เค้าให้นั่นเฉยๆ นะยู
ผม: เออรู้ แล้ว ไอจะนั่งอย่างสงบเสงี่ยมเลยนะ
ด้านหน้าแต่ละโบกี้จะมีจอแสดงความเร็วของรถไฟ ซึ่งตอนนั้นความเร็วรถไฟอยู่ที่ประมาณ 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแต่ผมไม่รู้สึกเลยว่ามันน่ากลัวหรือมันเร็วกว่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งบ้านเราปกติ นั่นคงเป็นเพราะการวางรางที่ดีทำให้รถไฟวิ่งได้ไหลลื่นไม่มีการสะดุดขนาดวางขวดนมเปรี้ยวอาหารเช้า ไว้ข้างหน้าน้ำนมเปรี้ยวในขวดยังแทบไม่ขยับ
เพื่อนร่วมทางตัวน้อย
วิวริมหน้าต่างส่วนใหญก็จะเป็นทุ่งนา หมู่บ้านเล็กๆ และก็สีดำ อ่อรถมันลอดอุโมงค์ครับ ครูสอนภาษาอังกฤษคนหนึ่งซึ่งเค้าเป็นฝรั่งจากยุโรปที่หลงไหลในวัฒนธรรมเอเชีย และเคยมา ต้าหลี่ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดยใช้เวลาเดินทางจากคุนหมิงระยะเวลาทั้งสิ้น 1 เดือน เพราะถนนที่คดเคี้ยวบนสันเขา นั่นจึงเป็นเหตุให้รางรถไฟต้องตัดผ่านเขาหลายยอด และรถก็มืดหลายรอบเหมือนกัน เพราะต้องผ่านอุโมงค์นี่แหละ
วิวในอุโมงค์
ถึงสักที ต้าหลี่
ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้รถไฟพาเรามาถึง ต้าลี่ภายใน 1 ชั่วโมง 30 นาที และด่านต่อไปที่ต้องเจอคือ การต่อรถเข้าเมืองนั่นเอง เมื่อเดินออกจากสถานีจะเห็นท่ารถบัสเข้าเมือง พร้อมโลโก้ตัวการ์ตูนแสนน่ารัก แต่ดูตรงข้ามกับบริษัท ซึ่งกิจการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน สิ่งที่น่าแปลกคือ อัตราค่าโดยสารระหว่างขาไปและขากลับนั้นไม่เท่ากัน โดยขาไปราคา 5 หยวน ขณะที่ ขากลับราคา 10 หยวน สาเหตุที่ราคาไม่เท่ากัน เนื่องจากรัฐบาลจ่ายค่าโดยสารเฉพาะขาไปให้ครึ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจีน หรือต่างชาติ แต่ขากลับนั้นเราต้องจ่ายเองทั้งหมด ช่างเป็นนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงบังคับว่าไปแล้วอยู่นั่นนานๆนะ แล้วอย่าพึ่งกลับออกมานะ
เจอสาวจีน แจก wechat
เมื่อขึ้นมาบนรถบัส ก็จะเจอกับไกด์สาวชาวจีน หน้าตาน่ารักตามแบบฉบับสาวยูนนาน เธอขึ้นมาบนรถ และอธิบายถึงข้อมูลการท่องเที่ยวของต้าลี่ และการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ แต่ด้วยความสามารถในการพูดของเธอ ทำให้เธอสามารถพูดไปเรื่อยๆ ไม่ว่าคนจะสนใจหรือไม่ แต่ผมก็นั่งฟังนะถึงแม้จะฟังไม่ออก จนแอบพูดกับเพื่อนว่าขากลับเราคงต้องซื้อน้ำมาให้เธอแล้วแหละ ถ้าจะพูดเยอะขนาดนี้
แต่หลังจากเธอพูดไปได้ประมาณ 15 นาที ก็เกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันนั่นคือ เธอเอาป้ายชื่อที่ห้อยคอ มาแจกโค๊ด we chat ให้ทุกคนได้แอดเป็นเพื่อนเธอ ผมตกใจเล็กน้อย และหันไปถามเพื่อนว่า
ผม : ทำไมเขาต้องทำแบบนี้
ชู : อ่อ เอาไว้ให้สอบถามเค้าไงว่าจะเดินทางไปจุดนั้น จุดนี้ยังไง รถมีรอบกี่โมงบ้าง ราคาเท่าไหร่ ประมาณนี้แหละ
ผม : …..
เวลาผ่านไปราว 40 นาที ก็มาถึงจุดหมาย
โลโก้ น่ารักๆ ของบริษัทรถบัส พร้อมด้วยสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของต้าหลี่
เจอพี่สาวชาวจีนพูดถึงเมืองไทย
จากท่ารถบัส ยังมีท่าเลือกให้เราอีก 2 ทางเพื่อนไปยังที่พัก นั่นคือนั่งรถไป ในราคา 2.5 หยวนต่อคน หรือไปฟรี ด้วยขาทั้งสองข้างของเรา และเราทั้งสองคนเลือกที่จะประหยัดเงิน 5 หยวน ด้วยการเดินไปยังที่พัก แต่จริงๆคือ อยากเดินดูบ้านเมืองเค้ามากกว่า
วิวจากท่ารถจะเห็นยอดเขาชางซานตั้งสูงตระหง่านเป็นฉากหลัง
ส่วนฉากหน้าก็เป็นอาคารบ้านเรือนที่ไม่สูงมากและท่าด้วยสีโทนขาว พร้อมระบายลวดลายจีนตามผนังและหน้าจั่วหลังคา และแล้วเราก็เดินมาถึงประตูเมืองเก่า ซึ่งอยู่ติดกับโรงแรมที่เราจะมาพักกันในคืนนี้ โรงแรมนี้มีชื่อว่า “Travelling with hidden hotel”
Lobby โรงแรม
ซึ่งชูบอกว่าเคยมาที่นี่กับเพื่อน และเจ้าของที่นี่เป็นพี่สาวชาวจีนใจดี และชอบกรุงเทพมากเพราะเคยไปเที่ยวมาหลายครั้ง ซึ่งผมก็ได้ถามเธอว่าทำไมถึงชอบกรุงเทพ เธอตอบว่าเพราะกรุงเทพมีของกินเยอะและอร่อยมาก และก็เป็นเมืองที่มีทั้งเอเชียและยุโรปอยู่ในเมืองเดียวกัน ผมก็แอบคิดในใจว่า กรุงเทพที่ผมอยู่มาตั้งแต่เกิดมันมีความยุโรปด้วยหรอ แต่ก็คงเป็นเรื่องปกติของคนที่เห็นสิ่งเดิมทุกวันที่จะมีมุมมองต่างจาก คนที่มาเห็นเพียงไม่กี่วัน แต่ก็รู้สึกดีใจนะที่เค้าชอบเมืองหลวงพวกเราขนาดนี้
จากนั้นเราสองคนก็เอากระเป๋าสัมภาระไปเก็บ พร้อมออกเดินทางสำรวจเมือง ต้าหลี่
เรื่องเศร้า
ต้าหลี่เป็นเมืองโบราณ เมืองหนึ่งของจีน เพราะยังมีสิ่งปลูกสร้างสถาปัตยกรรมแบบจีนโบราณ ถ้าเทียบกับเมืองไทยก็คงเหมือนไปอยุธยา เพราะนอกจากอาคารแบบโบราณแล้ว ยังมีวัด และทะเลสาบ เออไห่ ที่เคยมีตำนาน ความเชื่อว่าเป็น ต้นกำเนิดของ ชนชาติไต ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงมี ชนกลุ่มน้อยที่คนที่นี่เรียกว่า ชนเผ่าไบ (Bai) ยังคงอาศัยอยู่รอบทะเลสาบ และตามภูเขา
ขนม Xi chou ราคา 6 หยวน (25 บาท)
ชูเล่าให้ผมฟังถึงเรื่องน่าเศร้าบางอย่างเกี่ยวกับอาคารโบราณเหล่านี้ ว่าเมื่อก่อนเมื่อนี้ยังไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้บ้านเป็นที่อยู่อาศัยของคนพื้นเมืองจริงๆ ของที่ขายก็เป็นของพื้นเมือง ที่ชาวไบ ทำเองและนำมาขายเอง แต่เมืองเมืองนี้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว ก็เริ่มมีนายทุนมาซื้ออาคารเหล่านี้ และเริ่มนำของจากในเมืองมาขาย และเริ่มรื้ออาคารโบราณและสร้างใหม่ โดยเลียนแบบ ให้เหมือนอาคารโบราณ ทำให้คนในท้องถิ่นจริง ต้องเริ่มย้ายออกไปอยู่ตามชานเมือง บ้างพื้นที่ที่เห็นดูเป็นตึกเก่าๆ แต่จริงคือสร้างใหม่ บางจุดเป็นหมู่บ้านจัดสรร แบบมีห้องใต้ดิน สำหรับขายให้พวกเศรษฐีก็มี
ฟังแล้วก็รู้สึกเศร้าอยู่เหมือนกัน แต่มองย้อนมาที่บ้านเรา อาคารในกรุงเทพชั้นในก็มีชะตากรรมแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะที่ไหนๆ เมืองพื้นที่นั้นสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้มาก เมืองก็ต้องถูกขยายไปโดยปริยาย
Er si
ระหว่างที่เดินผ่านกลางเมืองเก่าต้าหลี่ บริเวณสองข้างทางก็เต็มไปด้วย สินค้า OTOP งาน handmade เหมือนที่อยุธยาอย่างที่บอกไปตอนแรกแหละ แต่สินค้าอาจจะแต่งต่างกัน ส่วนพวกร้านของกิน ก็จะมีคนมายืนตามถนนและแจกให้เราชิมฟรี ถ้าเดินผ่านหลายๆ รอบก็ประหยัดเงินค่าอาหารเย็นได้ได้เลย เมื่อพูดถึงของกินขึ้นมา เราสองคนก็เริ่มรู้สึกหิว ชูพาไปลองกิน ก๋วยเตี๋ยวอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า Er si
ลุงเจ้าของร้าน
เวลาอยู่เมืองไทยอะไรๆ ที่มีเส้นก็เรียกก๋วยเตี๋ยวกันหมด ไม่ว่าจะก๋วยเตี๋ยวไก่ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก แต่ที่จีนจะเรียกก๋วยเตี๋ยวว่า Mian tiao แต่เมื่อเปลี่ยนลักษณะเส้นและเนื้อสัตว์ ก็จะมีชื่อเรียกเป็นอีกชื่อ ซึ่ง Er si ก็คือหนึ่งในนั้น Er si ก๋วยเตี๋ยวสไตล์ยูนนานดั้งเดิม เพราะเนื้อสัตว์ที่ใส่ก็จะเป็นเนื้อจากขาหมูแบบยูนนาน ส่วนเส้นจะมี
ลักษณะเป็นภายนอกเหมือนเส้นเล็กแต่เนื้อสัมผัสมีความเหนียวนุ่มแบบเส้นก๋วยจั๊บญวน และก็จะมีไห ท็อปปิ้งวางไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผักดอง ทำให้นึกถึงขนมจีนบ้านเราเหมือนกันที่มีผักตั้งวางไว้ให้เป็นส่วนหย่อม ย่อมๆ
มาถึงรสชาติ ผมว่ามันจืดไปหน่อยสำหรับคนไทย ถึงแม้ว่าจะใส่พริกป่นไปแล้วก็ตาม แต่ก็ถือว่าอร่อยตามแบบฉบับอาหาร
จีน
ระหว่างที่กินนั้น มีโต๊ะเรานั่งกินอยู่เพียงโต๊ะเดียว นั่นหมายถึง คนจีน 2 คน และ คนไทยหนึ่งเดียวอยู่ในร้านนี้นั่นคือผมเอง เพื่อนผมกับเจ้าของร้านก็เริ่มสนทนาภาษาจีนกันอย่างเมามัน ซึ่งก็แน่นอนว่าผมฟังไม่ออก แต่สักพักเพื่อนผมกันหันมาและถามผมว่า
ชู : ที่เมืองไทยหมูกิโลละกี่บาท
ผม : เออ...... 100 กว่าบาทมั่ง (ในใจคิดว่าตกลงมันเท่าไหร่ว่ะ เพราะเคยเห็นแต่ในโฆษณา บิ๊กซี โลตัส ตอนโปรโมชั่น ซึ่งก็ไม่เคยจำ)
ชู : โฮ้ ถูกกว่าที่นี่อีก เมื่อกี้เจ้าของร้าน บอกหมูโลละ 150 บาท
ผม: จริงหรอ... เมื่อกี้ยูนั่งเถียงกันเรื่องราคาหมูหรอ
ชู : ใช่ เพราะรัฐบาลที่นี่.........(งดออกอากาศเพื่อความปลอดภัยของเพื่อน)……….
ปล. ราคาสุกรของประเทศไทยปัจจุบัน (ปี 2563) หน้าฟาร์มที่ไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม ราคาสุกรเนื้อแดงสะโพกหัวไหล่ไม่เกินกิโลกรัม 150 บาท สันนอกไม่เกินกิโลกรัมละ 160 บาท จริงๆ มันก็ไม่ได้ต่างกับที่จีนเลยนะ
วิวข้างทาง ระหว่างเดินย่อย Er Si
ประตูเมือง ใกล้ที่พัก
เจอเพื่อนใหม่
นอกจากอาคารโบราณที่ต้าหลี่ มีแกลอรี่ แสดงงานศิลปะแบบจีนโบราณและจีนร่วมสมัยอยู่ด้วย ผมและชู เดียวอยู่ในแกลอลี่ แล้วก็มีสาวชาวจีน ทักทายและชวนมานั่งดื่มชา ผมขอเรียกเธอว่า “เชียวซิน”
เธอเป็นคนหลงไหลในงานศิลปะ จึงเลือกมาทำงานอยู่ที่นี่ และแน่นอนว่าเธอเคยไปเมืองไทย และอยู่ที่เชียงใหม่ หลังจากที่ได้นั่งคุยกันพร้อมกับการดื่มน้ำชาไปด้วย ผมก็ไปสะดุดตากับชุดน้ำชาของเธอ
ชุดน้ำชาของเธอ
เพราะว่ามีอุปกรณ์เยอะแยะเต็มไปหมด และแต่ละชิ้นก็มีการสอดแทรกศิลปะเข้าไปด้วย พวกเราสามคนคุยกันไปเรื่อยเปื่อยจนเมื่อถึงเวลาที่ต้องแยกย้าย ผมบอกกับเธอว่า
ผม :ถ้ายูมีโอกาสไปเที่ยวกรุงเทพ บอกผมได้นะ จะเป็นไกด์นำเที่ยวให้
เชียวซิน : โอเคร ต้องรบกวนยูอย่างแน่นอน
หลังจากการดื่มน้ำชาร่วมสาบานครั้งนี้ เฮ้ย น้ำชาเฉยๆ ทำให้ผมเข้าใจว่า บางครั้งคนเราก็สามารถเป็นเพื่อนกันได้ ถ้าเราไม่คิดอะไรเยอะ แค่การทักทายชวนคุยก็สามารถสร้างมิตรภาพใหม่ๆ ได้แม้จะต่างเชื้อชาติและศาสนา
สุดยอดกับแกล้ม
หลังจากออกจากแกลอรี่ พระอาทิตย์ก็ลาลับขอบฟ้าไปแล้ว พร้อมกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงเหลือเพียง 3 องศา ต้าหลี่ยามค่ำคืนก็เปลี่ยนไปจากตลาดสินค้าแม่บ้านทหารบก ไปเป็น ร้านเหล้า บาร์ และอาหารข้างทาง ที่เหมือนกับเป็นกับแกล้มเครื่องดื่ม ชั้นดี
ถึงแม้ว่า ต้าหลี่ จะเป็นเมืองดูเก่าๆ หน่อย แต่มีเบียร์เป็นแบรนด์ของเมืองตัวเอง (อยากรู้ว่าหน้าตาเป็นยังไง ไปลอง search ในอากู๋ว่า Dali beer) แน่นอนว่ามาถึงถิ่นก็ต้องลองสักอึก คงไม่พอ ต้องหลายขวดหน่อย แต่ก่อนหน้านั้นต้องไปหากับแกล้มกันก่อน
อย่างแรกที่ ชูแนะนำคือ Tofu หรือ เต้าหู้ย่าง กินกับน้ำจิ้มหม่าล่า (ที่นี่กินทุกอย่างกับหม่าล่า) พอกัดเข้าไปแล้วข้างนอกจะมีความกรอบๆ แต่ข้างในนั้นยังมีความนิ่มอยู่ ต้องบอกว่าอันนี้อร่อยจริงอยากให้มาลองกัน
อย่างที่สองคือพวกเนื้อสัตว์ย่าง คลุกกับผงหม่าล่า ซึ่งในเมืองไทยตอนนี้ก็มีอยู่หลายร้าน แต่มองถึงถิ่นก็ต้องมาลองถูกไหม ซึ่งผมว่าผงหม่าล่าที่นี่มันอร่อยกว่าที่บ้านเรานะ
อ่อ เบียร์ Dali ซื้อร้านนี้ได้เลย แปลกดีเหมือนกันเป็นร้านกาแฟ แต่มีเบียร์ขาย
และอย่างสุดท้าย คือ Yang yu เป็นมันฝรั่งทอดแบบยูนนาน ที่ต่างจากที่อื่นคือเค้าไม่ได้ทอดจนมันกรอบ แต่มันยังมีความนิ่มอยู่ ซึ่งพอกินกับหม่าล่าแล้วมันเข้ากันดี พอเคี้ยวแล้วจะละลายเข้าไปในปากทันที อันนี้เป็นอันที่ชอบที่สุด และเข้ากันกับเบียร์ เฮ้ย เครื่องดื่มมาก และนี่คือ 3 อย่างที่อยากให้ทุกคน มาลอง
ป้ากำลังเอามันฝรั่งที่ทอดแล้วไปคลุกซอสหม่าล่า พอป้ารู้ว่าเราเป็นคนไทยก็แถมให้อีก
บาร์
บาร์ที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นร้านนั่ง กิน ดื่ม แบบสบายๆ พร้อมด้วยดนตรีสด เพลงจีน ชูบอกว่าเพลงที่ดังที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเพลงจากไต้หวัน ซึ่งจริงบรรยากาศก็เหมือนนั่งชิวอยู่เชียงใหม่ ตอนหน้าหนาว แต่ที่ต่างกันคือวิธีเรียกแขกของสาวเชียร์เบียร์ที่นี่ ระหว่างที่เราสองคนเดินผ่าน ก็มีสาวหมวยเดินมาแล้วพูดภาษาจีนด้วยเสียงอ้อน อ่อนหวาน ว่า ว่า ว่า อะไรไม่รู้ฟังไม่ออก เราสองคนเดินผ่านไป จากนั้นผมหันไปถามชูว่า
ผม : เมื่อกี้เธอพูดอะไรหรอ (ผมคิดในใจว่าเธอคงพูดเชิญร้านนี้ก่อนค่ะ มีโปรโมชั่นค่ะ)
ชู : เมื่อกี้เธอพูดว่า “สองหนุ่ม คุณสามารถหาความรักจากที่นี่ได้นะ”
ผม : หัวเราะ
เป็นวิธีเรียกลูกค้าที่เพิ่งเคยเจอเหมือนกัน
จบวันแรก
หลังจากเมาได้ที่ ไม่อิ่มได้ที่ เราก็กลับไปนอน ไม่สิยังไม่ได้นอน เพราะเราต้องนั่งคุยกันว่า พรุ่งนี้จะไปที่ไหน กี่โมง ซึ่งชูแนะนำให้ไปทะเลสาบ เอ่อไห่ ที่ผมบอกไปตอนแรกแหละ แล้วจากนั้นชูก็โทรหาใครบางคนผ่าน We chat หลังจากที่ได้ยินเสียง ผมจำได้ทันทีว่าเธอคือไกด์สาวชาวจีนนั่นเอง เธอก็พูดแนะนำ เที่ยวรถพร้อมราคา
พร้อมส่งรายละเอียดมาใน wechat ผมตกใจกับการให้ข้อมูลการท่องเที่ยวของที่นี่ ไม่รู้ว่าที่ไทยมีไหม
หลังจากชูวางสายจากเธอ เราก็ได้ข้อสรุปว่าพรุ่งนี้เราจะออกแต่เช้าไปยังทะเลสาบ และกลับมาต้าหลี่ช่วงบ่ายๆ เพื่อต่อรถกลับไปสถานีรถไฟ เพื่อกลับคุนหมิง
ขอจบแต่เพียงเท่านี้ เดี๋ยวตอนต่อไปจะพาไปเที่ยวจะเลสาบนะครับ
โฆษณา