กบฏเงี้ยว เหตุการณ์กบฏเงี้ยวปล้นเมืองแพร่
แพร่ เมืองเก่าแก่ที่มีอายุมากถึงพันปี ปกครองด้วยเจ้าเมือง แต่มีการเปลี่ยนแปลงในปี พ.ศ. 2440 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนจากการปกครองจากเจ้าเมืองเป็นเทศาภิบาล และได้โปรดเกล้าให้พระยาไชยบูรณ์ ไปดำรงตำแหน่งข้าหลวงกำกับการปกครองเมืองแพร่เป็นคนแรก ช่วงปี พ.ศ. 2445 เกิดเหตุการณที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองแพร่ เพราะได้เกิดการจลาชลจากกลุ่มคนที่ชาวล้านนาเรียกว่า “เงี้ยว” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากพม่าเข้ามาในจังหวัดแพร่เพื่อมาทำงานกับบริษัทที่รับสัมปทานตัดไม้ พวกเงี้ยวมีการซ่องสุมกำลังจำนวนมากในการวางแผนปล้นเมืองแพร่ ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นจากเกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ โดยฝั่งเงี้ยวมีพะกาหม่องและสะลาโปไชยเป็นหัวหน้าโจร
วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 พวกเงี้ยวได้เริ่มเข้าบุกเข้าเมืองแพร่ โดยมีจำนวนคนประมาณ 50 คน ได้บุกเข้าทางด้านประตูชัยจู่โจมสถานีตำรวจเป็นจุดแรก ขณะนั้นในสถานีตำรวจเมืองแพร่มีตำรวจอยู่แค่ไม่กี่คนจึงไม่สามารถต้านทานได้ พวกเงี้ยวจึงเข้ายึดอาวุธตำรวจได้แล้วพากันเข้าโจมตีที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ตัดสายโทรเลขและทำลายอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ เพื่อตัดการสื่อสาร จากนั้นก็บุกไปที่บ้านพักข้าหลวงที่พระยาไชยบูรณ์อาศัยอยู่ แต่ก่อนที่กองเงี้ยวจะไปถึงบ้านพักข้าหลวงนั้นพระยาไชยบูรณ์ได้พาครอบครัวหลบหนีออกจากบ้านพักไปก่อนแล้ว พระยาไชยบูรณ์ไปยังคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ เพื่อหวังขอความช่วยเหลือจากเจ้าพิริยเทพวงษ์ แต่ถูกปฏิเสธ เจ้าหลวงกล่าวว่า ฉันก็จะหนีเหมือนกัน พระยาไชยบูรณ์จึงตัดสินใจพาครอบครัวหนีออกจากเมืองแพร่ เพื่อหวังไปขอความช่วยเหลือและกำลังพลจากเมืองอื่นมาปราบพวกโจรเงี้ยว ส่วนเจ้าเมืองแพร่นั้นก็ไม่ได้หลบหนีตามคำอ้างแต่ยังคงอยู่ที่คุ้มตามเดิม ส่วนพวกโจรเงี้ยวเมื่อไปถึงบ้านพักข้าหลวงไม่พบพระยาไชยบูรณ์ จึงบุกเข้าปล้นทรัพย์สินและสังหารคนใช้ที่หลงเหลืออยู่จนหมด จากนั้นก็ยกกำลังเข้ายึดที่ทำการเข้าสนามหลวงเอาเงินสดและทำลายคลังหลวง และมุ่งไปยังเรือนจำเพื่อปล่อยนักโทษเพื่อให้เข้าร่วมกับตนและแจกจ่ายอาวุธที่ขโมยมาให้แก่นักโทษเหล่านั้น ทำให้พวกเงี้ยวมีกำลังคนเพิ่มขึ้นมากถึง 300 คน พวกเงี้ยวเข้าโจมตีสถานที่ราชการไปเรื่อยๆ ชาวเมืองต่างตื่นตกใจและหวาดกลัวอย่างมาก ทำให้หลายๆครอบครัวหนีไปอยู่นอกเมือง พวกเงี้ยวจึงประกาศบอกชาวเมืองว่าจะไม่ทำร้ายชาวเมืองแพร่
จะฆ่าเฉพาะคนไทยภาคกลางที่มาปกครองเมืองแพร่เท่านั้น ชาวเมืองบางส่วนจึงได้เข้าร่วมกับพวกเงี้ยวทำให้พวกโจรเงี้ยวมีคนเพิ่มมากขึ้น
วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 พวกโจรเงี้ยวสามารถเข้ายึดเมืองแพร่ได้สำเร็จ พะกาหม่องและสลาโปไชยได้เดินทางไปยังคุ้มเจ้าหลวง เพื่อบอกให้เจ้าเมืองขึ้นปกครองบ้านเมืองได้ตามเดิม แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องดื่มน้ำสาบานและมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะร่วมกันต่อต้านกองทัพของรัฐบาลไทย โดยพวกโจรเงี้ยวจะเป็นแนวหน้าออกสู้รบเอง ส่วนเจ้าเมืองและคนอื่น ๆ คอยส่งอาหาร อาวุธและกำลังคนเข้าร่วม
วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 พวกเงี้ยวเริ่มลงมือตามล่าฆ่าข้าราชไทยและคนไทยภาคกลางทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือสตรี
วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 พระยาไชยบูรณ์ได้ออกมาจากที่หลบซ่อนหลังจากที่อดอาหารมาเป็นเวลา 3 วันเพื่อที่จะขออาหารและความช่วยเหลือจากชาวบ้านบ้านร่องกาศ เมื่อมีคนเห็นจึงนำความไปแจ้งต่อพวกโจรเงี้ยว เพื่อหวังจะเอาเงินรางวัล เมื่อพวกโจรเงี้ยวรู้ที่อยู่ของพระยาไชยบูรณ์ก็นำกำลังไปล้อมจับทันที เมื่อจับตัวได้ก็คุมตัวกลับเข้าเมืองแพร่ พวกโจรเงี้ยวได้บังคับขู่เข็ญพระยาไชยบูรณ์ต่างๆนาๆ พระยาไชยบูรณ์จึงท้าทายให้พวกโจรเงี้ยวฆ่าตนเสีย โจรเงี้ยวชื่อ จองเชิน จึงฆ่าพระยาไชยบูรณ์ทันที สถานที่ที่พระยาไชยบูรณ์ถูกฆ่านั้นปัจจุบันเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ นอกจากนั้นแล้วพวกโจรเงี้ยวยังได้จับข้าราชการไทยที่มีบทบาทสำคัญๆอีกหลายคนมาฆ่าอีกจำนวนมาก
เมื่อทราบเหตุการณ์การก่อเหตุของพวกโจรเงี้ยว รัฐบาลไทยจึงได้ส่งกองทัพจากเมืองใกล้เคียงเข้ามาปราบปรามพวกโจรเงี้ยวในเมืองแพร่พร้อมกันทุกด้าน โดยได้มอบหมายให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี นำกองทัพหลวงขึ้นมาปราบปรามและดำเนินการสอบสวนสาเหตุการปล้นครั้งนี้
วันที่ 1 สิ่งหาคม พ.ศ.2445 พวกโจรเงี้ยวได้ข่าวว่าจะมีกองทัพรัฐบาลมาปราบปราม จึงได้แบ่งกำลังออกเป็น 2 กอง โดยสะลาโปไชยแบ่งกำลังคนไปทางใต้ ส่วนพะกาหม่องยกกำลังไปโจมตีนครลำปาง
วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2445 พวกโจรเงี้ยวจะเข้ายึดเมืองลำปางแต่ล้มเหลว เพราะนครลำปางได้เตรียมกำลังไว้พร้อมที่จะต่อสู้กับกองโจรเงี้ยว เมื่อนครลำปางโต้กลับทำให้กองโจรเงี้ยวแตกพ่าย พะกาหม่องต้องสูญเสียชีวิต เพราะถูกยิงในระหว่างการต่อสู้ ส่วนพวกกองโจรเงี้ยวที่นำโดยสะลาโปไชยก็พ่ายแพ้ให้กับทัพเมืองสวรรคโลก และสุโขทัย จึงถอยกลับไปตั้งหลักที่เมืองแพร่ แต่ในที่สุดพวกโจรเงี้ยวก็หนีกระจัดกระจายไป เพราะต่อสู้ไม่ไหว
วันที่ 14 สิงหาคม พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย จึงนำกองกำลังตำรวจภูธรและทหารจำนวนหนึ่งบุกเข้าเมืองแพร่ได้สำเร็จ
วันที่ 20 สิงหาคม เมื่อเหตุการณ์สงบลง เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี จึงทำการสอบสวนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยได้สอบสวนพยานหลายคน เมื่อสอบสวนพยานเสร็จไปหลายคน ก็พบหลักฐานต่างๆ ผูกมัดเจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบุตรหลานบางคนที่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับกบฏครั้งนี้ ดังคำให้การของพระยาเขื่อนขัณฑ์อดีตนายแคว้นเมืองสอง เป็นคนที่เจ้าเมืองแพร่ไว้วางใจ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“เจ้าแพร่พูดว่า เมืองแพร่ต่อไปจะไม่เป็นของไทยนานเท่าใด จะต้องเป็นเมืองของเงี้ยว เจ้าแพร่จะคิดให้พะกาหม่อง สะลาโปไชย ซึ่งเป็นหัวหน้าเงี้ยวบ่อแก้วเข้ามาตีปล้นเมืองแพร่ พวกเงี้ยวจะจับคนไทยฆ่าเสียให้หมด แต่พะกาหม่องและสะลาโปไชยจะยกเข้าตีเมืองแพร่เมื่อใดยังไม่มีกำหนด ถ้าจะให้พะกาหม่องและสะสลาโปไชยยกเข้าตีเมืองแพร่วันใดจะได้มีหนังสือไปนัดพะกาหม่อง และสะลาโปไชยทราบ เจ้าแพร่ได้สั่งว่า ข้าพเจ้าว่า เมื่อออกนอกราชการแล้ว อย่ามาเที่ยวเกะกะวุ่นวายทำราชการกับไทย เมื่อเงี้ยวมันเข้าตีบางทีจะถูกปืนตายเสียเปล่า ผู้ที่ร่วมคิดให้เงี้ยวเข้าปล้นเมืองแพร่คราวนี้ เจ้าหลวงบอกข้าพเจ้าว่า พระยาราชบุตรพระไชยสงคราม เป็นผู้ร่วมคิดด้วย”
และยังมีคำให้การของหลวงจิตรจำนงค์ เจ้าของสัมปทานป่าไม้ และผู้ดูแลคุ้มหลวงที่เป็นเครื่องยืนยันว่าเจ้าเมืองแพร่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับพวกโจรเงี้ยว จากหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวมาทำให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เข้าใจว่า เจ้าเมืองแพร่ มีส่วนสนับสนุนให้กองโจรเงี้ยวก่อการกบฏขึ้นอย่างแน่นอน และเชื่อว่าต้องมีการตระเตรียมการล่วงหน้ามาช้านานพอสมควร ก่อนที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจะลงโทษผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ครั้งนี้ เจ้าราชวงศ์และภริยาที่ตกใจกลัวความผิดก็ได้ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเกรงว่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจผิดกันว่า รัฐบาลกระทำการรุนแรงต่อเจ้านายเมืองแพร่ ครั้นจะสืบหาพยานต่อไปอีก หลักฐานก็จะผูกมัด เจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบุตรหลานที่เกี่ยวข้องยิ่งขึ้นจนในที่สุดจะต้องถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหากบฏอย่างแน่นอน หากคดีจบในรูปนั้นย่อมกระทบกระเทือนใจเจ้านายเมืองเหนือทุกเมือง เพราะต่างเกี่ยวพันธ์ฉันท์ญาติผู้สืบสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนด้วยกัน ทั้งยังสร้างความสะเทือนใจแก่ราษฎรทั้งหลายในล้านนาไทย
ดังนั้นเจ้าพระยาสุรศักด์มนตรี จึงพยายามคิดวิธีหาทางออกให้แก่เจ้าเมืองแพร่ ในที่สุดเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีก็ใช้วิธีปล่อยข่าวว่า จะมีการจับกุมตัวเจ้าเมืองแพร่และเจ้าราชบุตร ข่าวลือนี้ได้ผล เพราะตอนดึกคืนนั้นเจ้าเมืองแพร่พร้อมด้วยคนสนิทอีกสองคนก็หลบหนีออกจากเมืองแพร่ทันที อย่างไรก็ดี การหลบหนีของเจ้าเมืองแพร่ในคืนนั้นได้รับการสนับสนุนจากเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี โดยมีคำสั่งลับมิให้กองทหารที่ตั้งสกัดอยู่รอบเมืองแพร่ขัดขวาง ทำให้การหลบหนีของเจ้าเมืองแพร่เป็นอย่างสะดวกจนถึงหลวงพระบางอย่างปลอดภัย
เมื่อเจ้าเมืองแพร่หนีไปได้ 15 วัน ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ จึงเป็นโอกาสให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีสามารถออกคำสั่งถอดเจ้าพิริยเทพวงศ์ออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองแพร่ทันที ดังนั้น
เจ้าพิริยเทพวงษ์จึงเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย เพราะตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้นจังหวัดแพร่ก็ไม่มีเจ้าผู้ครองเมืองอีกเลย