"เจ้าหลวงรับคำมาปรึกษากับเจ้าราชบุตร หรือบุตรเขยของท่าน ตกลงกันว่าจะเอาเจ้าวังซ้ายมาร่วมงานด้วย เรียกเจ้าวังซ้ายมาบอกว่าถ้าจะร่วมงานต้องดื่มน้ำสาบาน ถึงตอนนี้มีคนรู้แผนนี้ ๖ คน ที่กรุงเทพฯ มี ๓ คน คือ รัชกาลที่ ๕ กรมดำรงราชานุภาพ และกรมหมื่นพิชิตปรีชากร ที่แพร่มี ๓ คน คือ เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าราชบุตร ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช เจ้าเมืองน่าน และเจ้าวังซ้าย"
"อังกฤษบอกให้เจ้าหลวงอยู่เฉยๆ ไม่เอาอาวุธด้วย แต่ขอกำลังคนเมืองแพร่ เจ้าหลวงเลยหารือว่าให้เอาชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธไปซ่อนในป่า ป้องกันไม่ให้เงี้ยวมาขอกำลังเสริม ท่านก็หารือกันว่าต้องมีคนคุมกำลังในป่า เจ้าวังซ้ายเสนอชื่อไปว่ามีสองคนคือไม่ลูกก็เมีย ในที่สุดท่านเลือกลูก คือเจ้าน้อยหมวกมาคุมกำลังรบ เจ้าน้อยหมวกนี้คือพ่อของผมเอง ท่านก็เรียกเจ้าน้อยหมวกไปดื่มน้ำสาบาน"
"เจ้าน้อยหมวกคิดเรื่องคนดูแลเสบียง เลยเลือกเมียคือเจ้าแสงแก้ว ก็กลับมาบอกสามคนแรกว่าได้ปรึกษาเมียแล้ว เขายอม ทางนี้จะยอมไหม เลยเรียกเจ้าแสงแก้วมาดื่มน้ำสาบานอีกที ตอนนี้มีคนรู้ความลับทั้งหมด ๘ คน"
"แต่การบอกเมียถือเป็นการเปิดเผยความลับแม้จะไม่ตั้งใจ พ่อผมเลยโดนอาถรรพณ์เป็นคนแรก คือพอแม่คลอดผมได้เพียง ๘ เดือน พ่อก็ถูกช้างเหยียบตาย ทั้งที่พ่อเป็นผู้เชี่ยวชาญการจับช้างตกมัน พ่อยังบอกว่ากลัวควายมากกว่าช้าง"
"เจ้าแสงแก้วรวบรวมลูกเมียข้าราชการไทยมาไว้ที่คุ้มของเจ้าวังซ้าย ซ่อนไว้บนเพดาน คืนนั้นก็เกณฑ์คนกับอาวุธมาเก็บไว้ในคุ้ม ป้องกันไม่ให้ทั้งสู้เงี้ยวและสู้ไทย ประมาณตีสองตีสาม เจ้าแสงแก้วจัดคนไปบ้านข้าราชการไทย เอาผู้หญิงที่เคยรับใช้บ้านข้าราชการมาเพื่อให้คนไทยเมืองใต้ไว้ใจ แต่มีจำนวนหนึ่งไม่มาเพราะพวกนี้ไม่ค่อยชอบเจ้าหลวง พวกที่มาก็เป็นห่วงสามียอมตายด้วยกัน"
"พอเงี้ยวปล้นโรงพัก ปล้นไปรษณีย์ ยึดศาลากลางจังหวัด ก็ยึดได้สบายเพราะไม่มีการต่อต้าน พวกเงี้ยวออกสำรวจทุกบ้านว่ามีคนไทยเท่าไร จะจับมาฆ่าให้หมด"
"จนไปถึงบ้านเจ้าวังซ้าย ซึ่งเจ้าแสงแก้วกำลังทำกับข้าวให้คนไทยที่หลบซ่อนตัวอยู่ มันก็ถามว่าทำให้ใครกินมากมาย แม่ผมบอกว่าตอนแรกก็ตกใจ แต่ทำใจดีสู้เสือ เพราะมันจะขอค้นว่ามีคนไทยไหม แม่บอกค้นไม่ได้ เจ้าหลวงกับเจ้าวังซ้ายสั่งห้ามค้น แล้วแม่ก็พูดไปว่าทำอาหารให้พวกสูกินนั่นละ เจ้าหลวงให้ทำ ถ้าพวกสูเสร็จธุระให้ไปรอที่ศาลากลางเดี๋ยวเอาไปให้ แล้วแม่ก็เรียกกำลังออกมา แกล้งพูดว่าจะเลี้ยงอาหารแล้วมันยังมาข่มขู่ ถ้าจะค้นบ้านก็ให้จัดการสู้กัน เงี้ยวฟังแล้วจึงยอมไป เจ้าแสงแก้วรีบส่งคนไปบอกเจ้าหลวง ท่านบอกให้ทำอาหารเพิ่มแล้วเอาไปเลี้ยงมันอย่างที่บอก"
"ในเอกสารจดหมายเหตุที่ว่ามีการส่งเสบียงให้พวกเงี้ยว สาเหตุที่แท้จริงเป็นอย่างนี้"
"ปรากฏว่าพวกเงี้ยวฆ่าผู้หญิงกับเด็กคนไทยที่ไม่ได้มาอยู่กับเรา เจ้าหลวงโกรธมาก เรียกหัวหน้าเงี้ยวมาคุย ชื่อพะกาหม่อง มาบอกว่าผิดสัญญา ท่านก็มีกำลังอยู่นะ พะกาหม่องขอโทษขอโพย พอรู้ว่าเจ้าหลวงพูดว่ามีกำลังก็เริ่มกลัว มันเลยเรียกเจ้าหลวงกับเจ้าวังซ้ายไปทำสัญญาร่วมรบกัน บอกเจ้าหลวงว่าถ้าเราทำตามที่ตกลงก็จะไม่มีอะไร แต่ถ้าเจ้าหลวงเอากำลังมาสู้เมื่อไร เงี้ยวจะเอาสัญญานี้ไปแฉให้รัชกาลที่ ๕ ทรงทราบ ซึ่งเจ้าหลวงได้บอกกับรัชกาลที่ 5 ว่าเงี้ยวบังคับทำ จำเป็นต้องทำ รัชกาลที่ ๕ ก็รู้"
"หลายวันต่อมากรุงเทพฯ ส่งกำลังมาปราบกบฏ โดยที่ได้เตรียมกำลังแถวอุตรดิตถ์ พิษณุโลก ไว้แล้ว จึงปราบได้ภายใน ๓-๔ วัน"
"รัชกาลที่ ๕ เอาประกาศนียบัตรกบฏของเจ้าหลวงไปอ้างกับอังกฤษ ตามกฎแล้วผู้เป็นกบฏต้องถูกประหารเจ็ดชั่วโคตร แต่มีการช่วยเหลือทางลับ คือรัชกาลที่ ๕ สั่งแม่ทัพว่าห้ามตั้งข้อหากับเจ้าหลวงและลูกหลานว่าเป็นกบฏ แต่ไม่บอกเหตุผล ท่านยังกำชับว่าการพิจารณาโทษกบฏต้องส่งเรื่องให้ท่านสั่งการเอง แล้วท่านยังให้นำลูกหลานของเจ้าหลวงไปเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ในบรรดานี้มีคนสกุลศรุตานนท์ด้วย"
"ในสัญญาที่อังกฤษทำกับเจ้าหลวงระบุว่าถ้าทำการกบฏไม่สำเร็จจะพาเจ้าหลวงหนีไปที่กองบัญชาการใหญ่ของเงี้ยวที่หลวงพระบาง เมืองลาว ถ้าเจ้าหลวงไม่ยอมเป็นกบฏก็คงได้ตำแหน่งนายพล เพราะว่าตอนหลังเจ้าหลวงทางตอนเหนือได้เป็นนายพลกันหมดทุกคน"
"รัชกาลที่ ๕ ตอบแทนเจ้าหลวงในทางลับ นอกจากนี้ท่านยังเลี่ยงอาญาให้คนคุมตัวเจ้าหลวงไปส่งนอกประเทศ คือหลวงพระบาง ซึ่งนี่ก็เป็นแผนอีกข้อหนึ่ง รัชกาลที่ ๕ ต้องการให้เจ้าราชบุตรผูกสัมพันธ์กับเงี้ยว เพื่อเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างเจ้าหลวงกับรัชกาลที่ 5 ท่านให้เจ้าราชบุตรเอาเงินเดือนไปจ่ายให้เจ้าหลวงทุกเดือน แต่เป็นในนามว่าเจ้าราชบุตรเอาเงินไปให้พ่อตาใช้"
"อยู่ทางโน้นเจ้าหลวงก็ทำบันทึกใส่สมองเจ้าราชบุตรกลับมารายงานรัชกาลที่ ๕ เพราะรัชกาลที่ ๕ กำชับว่าอย่าบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เจ้าหลวงคอยรายงานแผนการของเงี้ยวที่จะพยายามไปเกลี้ยกล่อมเจ้าหลวงล้านนาอื่นๆ พอรู้ข่าวก่อนว่าจะไปจังหวัดไหนก็เตรียมการรับทัน ทำให้ไม่มีเหตุการณ์เงี้ยวกบฏได้สำเร็จ และเจ้าหลวงจังหวัดอื่นๆ ก็ได้เป็นนายพล"
"ผมยังมีหลักฐานบันทึกของพันตำรวจเอกชาวฝรั่งชื่อ พ.ต.อ.พระแผลงสะท้าน หรือ C.N Springer เขาแปลกใจว่าทำไมเห็นเจ้าหลวงเดินจากคุ้มหนีออกไปทางประตูศรีชุมคนเดียว บันทึกนี้ลูกของตำรวจฝรั่งผู้นี้เอามาให้ผม เป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนป่าไม้ ชื่อ อ.เทิด สุขปรีชากร"
"ตัวผมเองยังมีปืนสำคัญ ๒ กระบอกที่ ร.ต.ตาดกับภรรยาคือนางคำใช้ยิงต่อสู้กับพวกเงี้ยวจนตัวตาย เดี๋ยวนี้ทางจังหวัดก็ทำประตูตาดคำเป็นอนุสรณ์ให้ท่าน ปืนนี้เป็นมรดกตกทอดมาถึงผม และผมก็ได้ส่งมอบให้กับผู้ว่าฯ เพราะทราบมาว่าท่านมีโครงการบูรณะคุ้มเจ้าหลวงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ผมจึงอยากมอบเป็นสมบัติของส่วนรวม"
"เรื่องปืนนี่ก็มีที่มาเบื้องลึก เพราะเจ้าหลวงท่านขอให้ไม่ฆ่าตำรวจ แต่ท่านรู้นิสัยของ ร.ต.ตาด ว่าจะไม่ยอมหนี ปืนยาวนี้เจ้าหลวงมอบให้เจ้าวังซ้าย แล้วเจ้าวังซ้ายทำทีมามอบให้ ร.ต.ตาด ไว้ป้องกันตัว แต่จะบอกตรงๆ ไม่ได้ เลยบอกว่าปืนเสียให้ ร.ต.ตาด ช่วยซ่อมและให้ทดลองยิงดูจนแน่ใจว่าใช้การได้แล้ว คือให้กระสุนมาอีกเป็นย่าม ร.ต.ตาดก็ได้ใช้ปืนยาวนี้สู้เงี้ยว แล้วเอาปืนสั้นของตัวเองให้นางคำไว้ป้องกันตัว ในที่สุดเงี้ยวยิงถูก ร.ต.ตาด ตาย นางคำวิ่งหนีก็ถูกเงี้ยวไล่เอาดาบฟันตาย"
"ตามเอกสารจดหมายเหตุบอกว่าพระยาไชยบูรณ์ที่เป็นข้าหลวงวิ่งไปหาเจ้าหลวงให้ช่วย แต่เจ้าหลวงช่วยไม่ได้ ความจริงก็คือเจ้าหลวงส่งตัวลงเรือไปฝากไว้ที่บ้านกำนันบ้านร่องกาศ กลางคืนนอนบนบ้าน กลางวันลงไปซ่อนในป่า จนเงี้ยวประกาศล่าตัวให้ค่าหัว ๔๐ บาท นายวงศ์คนบ้านร่องกาศไปพบโดยบังเอิญเลยแจ้งพวกเงี้ยว พระยาไชยบูรณ์เลยถูกจับตัวไปตัดหัวที่บ้านร่องคาว...”
บทความดังกล่าวกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเมืองแพร่ในหมู่ผู้นิยมศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยเฉพาะคนในท้องถิ่นเอง เพราะเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากบุคคลที่ได้รับการนับถือเป็นอย่างยิ่งในเมืองแพร่คนหนึ่ง และเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้
ชาวเมืองแพร่หลายท่านเชื่อบทความและเรื่องเล่าของนายรัตน์ วังซ้าย มากกว่า และสิ่งเหล่านี้ถูกบอกเล่าปากต่อปากสู่กันฟังในเมืองแพร่ จนกลายเป็นความเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบทใหม่ โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองผู้มีเชื้อสายเจ้านายเก่าในเมืองแพร่ และผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์บาดแผลของตนเอง อันเป็นปฏิกิริยาตอบโต้การเขียนประวัติศาสตร์ของรัฐอย่างชัดเจน และถูกนำมาตอกย้ำเรื่องราวของเจ้าหลวงไม่ได้เป็นกบฏอีกหลายครั้งในงานประชุมหรืองานชุมนุมต่างๆ เพราะเชื่อว่าเป็นความจริงของผู้เล่าก่อนที่จะสิ้นใจ
อาจารย์ผู้ศึกษาเรื่องราวของท้องถิ่นท่านหนึ่งกล่าวว่า
“การเกิดเหตุกบฏเงี้ยวเพราะรัฐบาลทางกรุงเทพฯ ส่งข้าหลวงเข้ามาปกครองเมืองแพร่ คนแพร่และชนกลุ่มน้อย เช่น เงี้ยวที่ไม่สามารถรับข้อบังคับที่กดดันและเข้มงวดไหวจึงได้ลุกขึ้นต่อต้าน เชื่อว่าเจ้าหลวงน่าจะสนับสนุนให้เงี้ยวมาปล้น เพื่อที่ตนเองจะได้เป็นอิสระ มีอำนาจเหมือนเดิม เพราะเมื่อข้าหลวงจากภาคกลางเข้ามาปกครอง เจ้าหลวงก็ถูกลิดรอนอำนาจ แต่กระแสของคนในเมืองแพร่ก็มีบางกลุ่มที่เชื่อว่าเจ้าเมืองแพร่ไม่ได้เป็นกบฏ เพราะเมื่อเจ้าหลวงจะไปอยู่ที่หลวงพระบางได้มีกองทหารส่งเสด็จ และเจ้าหลวงก็เดินคู่ไปกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี จึงทำให้เชื่อกันว่าถ้าเจ้าหลวงเป็นกบฏจริง ทำไมถึงต้องมีกองทหารส่งเสด็จ และสามารถเดินคู่ไปกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้
เรื่องเล่าที่ว่าทางกรุงเทพฯ ได้รับแม่เจ้าบัวไหลไปอยู่ด้วยที่กรุงเทพฯ นั้นก็แบ่งเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่เชื่อว่าเจ้าหลวงไม่ได้เป็นกบฏ หากเจ้าหลวงเป็นกบฏจริง ทำไมทางกรุงเทพฯ จึงรับแม่เจ้าบัวไหลไปอยู่ด้วย คนเมืองแพร่บางท่านเห็นว่าเป็นกุศโลบายของทางกรุงเทพฯ เพราะเมืองแพร่มีทรัพยากรที่สำคัญมาก คือ ไม้สักทอง ซึ่งเป็นที่ต้องการของต่างชาติ หากตัดสินประหารเจ้าเมืองแพร่ก็อาจจะทำให้ต่างชาติที่รออยู่สามารถเข้าแทรกแซงได้ง่าย จึงต้องการเอาใจเพื่อทรัพยากรที่มีค่ามหาศาล3
ชาวเมืองบางท่านกล่าวว่า
“ปัจจุบันมีการตื่นตัวกันมากในปัญหานี้ ทั้งหาข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ มาพิสูจน์ว่าเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ฯไม่ได้เป็นกบฏ ในกรณีของลุงรัตน์ที่เป็นลูกหลานของเจ้าหลวงนั้น เปิดเผยคำพูดที่ว่าท่านไม่ได้เป็นกบฏอย่างที่ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ เป็นการกู้ศักดิ์ศรีของเมืองแพร่ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ เพราะการเป็นกบฏลึกๆ แล้วก็เหมือนกับเป็นการคิดไม่ดีกับประเทศชาติ และถ้ามีหลักฐานที่ว่าเจ้าหลวงไม่ได้เป็นกบฏก็คงจะทำให้เป็นศักดิ์ศรีของเมืองแพร่ถูกกู้กลับคืนได้” 4
แต่ชาวบ้านบางคนคิดว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างภาษา เพราะทางกรุงเทพฯ ต้องการกลืนชาติหรือต้องการรวมเอาเมืองแพร่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยาม
“เจ้าหลวงท่านยังคงรักษาไว้ซึ่งภาษา แต่ก่อนทางในเมืองบังคับให้ท่านเรียนเขียนภาษาไทย แต่ท่านคิดว่าเมืองแพร่มีภาษาของตนเองอยู่แล้ว จึงมีความรู้สึกว่าเป็นการกลืนภาษาคือกลืนชาติ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหา โดยขณะนั้นก็มีปัญหาเรื่องเงี้ยวกบฏเมืองแพร่ขึ้นมา เพราะเงี้ยวได้สัมปทานป่าไม้ และถ้ามีปัญหากับเงี้ยวจะไม่สามารถเอาผิดได้ ต้องไปขึ้นศาลที่อังกฤษเพราะเป็นเมืองขึ้นอยู่ จึงเอาเรื่องกบฏเงี้ยวเมืองแพร่มาเป็นข้อพิพาท”5
จากความรู้สึกของคนที่เป็นลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าหลวง ที่ประวัติศาสตร์ถือว่าท่านเป็นกบฏนั้น
“เมื่อก่อนไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าตนเป็นลูกหลาน เพราะมีความรู้สึกว่า อดีตหรือประวัติความเป็นมาของบรรพบุรุษเป็นสิ่งที่คลุมเครือ เพราะประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้แล้วว่าเจ้าหลวงที่เป็นบรรพบุรุษของเรานั้นเป็นกบฏ แต่ในปัจจุบันก็ได้มีลูกหลานหรือคนที่อยู่ในเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่นำเรื่องราวของตนมาตีแผ่ให้ลูกหลานได้รับรู้ จึงทำให้ลูกหลานในปัจจุบันมีความรู้สึกที่ดีขึ้น เมื่อเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนไม่ได้เป็นกบฏ เพราะอย่างไรเสียประวัติศาสตร์ก็บอกไว้ว่าเจ้าหลวงเป็นกบฏ เพียงแค่ชาวแพร่มีความรู้สึกว่าเจ้าหลวงพิริยะฯ ไม่ได้เป็นกบฏก็เพียงพอแล้ว6
แต่ไม่ใช่คนเมืองแพร่ทั้งหมดที่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกับปรากฏการณ์ความเชื่อถือในข้อมูลเรื่องเจ้าหลวงเมืองแพร่ไม่ได้เป็นกบฏดังคำสัมภาษณ์ของนายรัตน์ วังซ้าย แต่ก็มีอีกหลายคนที่เห็นว่า
“เรื่องราวของกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ไม่ค่อยมีผลกระทบกับคนที่นี่เท่าไหร่ แต่จะมีคำถามอยู่ในใจเท่านั้นว่า ทำไมเมืองแพร่ถึงไม่มีนามสกุล ณ แพร่ เพราะเมืองอื่นที่มีเชื้อสายของเจ้าก็มีกันหมด ผลกระทบที่ว่าเจ้าหลวงเป็นกบฏเงี้ยวน่าจะมีผลกับลูกหลานของเจ้าหลวงมากกว่า ภาพรวมที่มองหรือความรู้สึกของคนทางเหนือก็ไม่แตกต่างกัน เพียงแค่มีความรู้สึกที่ว่า ณ แพร่ หายไปไหนเท่านั้น ในขณะนั้นทางกรุงเทพฯ ได้ส่งข้าหลวง คือพระยาไชยบูรณ์มาปกครองเมืองแพร่ คนภาคกลางจึงเข้ามากันเยอะ มีหลายคนที่เป็นลูกหลานของข้าราชการจากภาคกลางที่แต่งงานกับสาวชาวเมืองแพร่และกลายเป็นคนแพร่ไปในที่สุด จึงไม่ได้รู้สึกมากมายกับเรื่องเจ้าหลวงนัก”7
เมื่อพระยาไชยบูรณ์หนีไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าพิริยะเทพวงศ์ฯ เจ้าหลวงเมืองแพร่ที่คุ้มแต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ข้อมูลจากกวี ศรีวิไจย โข้ ที่แต่ง ค่าวเรื่องประวัติเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ ในปีต่อมาหลังจากเกิดเหตุและเป็นบุคคลร่วมสมัยที่เห็นเหตุการณ์ก็ยืนยันว่า เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ฯ ไม่ได้ช่วยพระยาไชยบูรณ์ที่คิดจะสู้รบกับโจรแต่อย่างใด ทั้งยังบ่ายเบี่ยงและหนีหน้าหายไปจากคุ้มเจ้าหลวง ค่าวของศรีวิไจย โข้ เป็นเอกสารร่วมสมัยที่เขียนขึ้นภายหลังเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่ประมาณหนึ่งปี กล่าวถึงเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ฯ ว่าไม่ช่วยเหลือพระยาไชยบูรณ์จริง ซึ่งก็มีข้อเท็จจริงตรงกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ แต่ค่าวเรื่องนี้ผู้แต่งหนังสือ “เล่าเรื่องเมืองแพร่ในอดีต พระยาพิริยวิไชยอุดรวิไสยวิปผาระเดช บรมนฤเบศร์สยามมินทร์สุจริตภักดีฯ เจ้าหลวงผู้ครองนครเมืองแพร่” พระครูวิทิตพิพัฒนาภรณ์ (มนตรี ธมมฺเมธี) เห็นว่า ศรีวิไจย โข้ “แต่งโดยห่างความจริงและไม่ใคร่ครวญเหตุผลความเป็นไป ตอนท้ายซอค่าวยิ่งพูดทับถมหนักยิ่งขึ้น” การที่กวีผู้นี้เป็นผู้มีชื่อเสียงมากทำให้คนทั่วไปเชื่อว่าเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ฯ เป็นกบฏ8