8 ก.ย. 2020 เวลา 13:32 • ธุรกิจ
ทักษะการบริหารการเงินส่วนบุคคล
1
เพราะการบริหารจัดการเรื่องการเงินถือเป็นทักษะที่สำคัญในโลกยุคใหม่ และการเงินเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้น วันนี้เราจะพาไปเสริมทักษะด้านการบริหารการเงินกันค่ะ เพื่อให้เรามีความพร้อมอยู่เสมอ ไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ถ้าการเงินเราดี ก็ไม่มีอะไรต้องน่ากังวล จริงไหมคะ 😃
ซึ่งการบริหารการเงินอาจจะมีหลายวิธี สำหรับบทนี้ ผู้เขียนจะขอนำเสนอด้วยวิธี การวางแผนการเงินกันค่ะ
ทำไมต้องวางแผนการเงิน
👉 เพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอกับรายจ่ายที่จำเป็น
👉 เพื่อให้มีเงินเหลือไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
👉 เพื่อให้มีเงินออม ไว้เก็บเกี่ยวกินดอกผล
ถ้าเป็นไปตามแผนดังนี้ รับรองว่าอนาคตต้องสดใสมั่นคงแน่นอนค่ะ 😉
การวางแผนการเงินที่ดี มีขั้นตอนจัดการดังนี้ค่ะ
📌 ประเมินฐานะการเงินของตนเอง
📌 ตั้งเป้าหมายทางการเงิน
📌 จัดทำแผนสู่เป้าหมาย
📌 ปฏิบัติตามแผน
📌 ตรวจสอบและปรับปรุงแผน
⛳ ประเมินฐานะการเงินของตนเอง
การประเมินฐานะของตนเอง สามารถทำได้โดยการ ประเมินความมั่งคั่งสุทธิ และการตรวจสอบพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเองค่ะ
คนส่วนใหญ่ใฝ่ฝันที่จะร่ำรวย มั่งคั่ง แล้วอย่างไรจึงจะเรียกว่า ร่ำรวย มั่งคั่ง บางคนเข้าใจว่า ทรัพย์สินที่มีสะท้อนความมั่งคั่งของบุคคล แต่จริงๆ แล้ว “ความมั่งคั่งสุทธิ” ต่างหาก ที่สะท้อนความมั่งคั่งของบุคคลค่ะ (สามารถย้อนไปอ่านบทความนี้เพิ่มได้นะคะ “ สมการแห่งความมั่งคั่ง “ ผู้เขียนแปะลิ้งไว้ข้างล่างนี้ให้แล้วค่ะ)
ตรวจสอบพฤติกรรมการใช้จ่าย
การตรวจสอบพฤติกรรมการใช้จ่ายของเราเองง่ายๆ ก็คือการจัดทำบันทึกรายได้-รายจ่ายประจำวัน และสรุปอีกทีเมื่อสิ้นเดือน จะช่วยให้เรามองเห็นตัวเลขรายได้ รายจ่าย ได้อย่างชัดเจน และสามารถวางแผนปรับพฤติกรรมของเราได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างการบันทึกรายได้-รายจ่ายประจำวัน แบบง่าย
ถ้าอยากให้เห็นภาพมากขึ้น อาจจะกำหนดค่าใช้จ่ายลงปฏิทินไว้ เพื่อที่จะได้เห็นภาพโดยรวมทั้งเดือน ว่าจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และจะต้องจ่ายวันไหนบ้าง
⛳ ตั้งเป้าหมายทางการเงิน
โดยการตั้งเป้าหมายให้ชัด สอดรับกับความสามารถทางการเงิน การตั้งเป้าหมายที่ดี ควรให้อยู่ในกรอบที่เป็นไปได้และต้องกำหนดเป็นตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่งเรามีวิธีการตั้งเป้าหมายที่ดี ตามหลัก SMART ดังนี้ค่ะ
Specific >> เจาะจงชัดเจน
Measurable >> วัดผลได้
Achievable >> ทำสำเร็จได้
Realistic >> เป็นไปได้
Time Bound >> มีกรอบเวลาที่แน่ชัด
ตัวอย่างการตั้งเป้าหมาย
❌ ฉันจะเก็บเงินให้ได้ภายในปีนี้ >> ไม่ชัดเจน
✔ ฉันจะเก็บเงินให้ได้ 100,000 บาทในปีนี้ เพื่อปรับตกแต่งบ้านใหม่ >> ที่ควรเป็น
❌ ฉันมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท ในปีหน้าฉันจะเป็นเจ้าของ Super car มูลค่า 40 ล้านบาท >> เกินจริง ไม่อยู่ในกรอบของความเป็นไปได้
✔ ฉันจะเก็บเงิน 20% ของเงินเดือนทุกเดือน เป็นเวลา 1 ปี เพื่อพาครอบครัวไปท่องเที่ยวต่างประเทศ >> ที่ควรเป็น
⛳ จัดทำแผนสู่เป้าหมาย
โดยการแบ่งเป้าหมายตามระยะเวลา เช่น
แผนท่องเที่ยว ภายใน 1 เดือน
แผนซื้อรถยนต์ ภายใน 3 ปี
แผนซื้อบ้าน มากกว่า 3 ปี
⛳ ปฏิบัติตามแผน
ก็คือการลงมือปฏิบัติจริง ตามแผนที่วางไว้เลยค่ะ
⛳ ตรวจสอบและปรับปรุงแผน
หลังจากลงมือปฏิบัติจริงแล้ว ก็ทำการตรวจสอบประเมินสิ่งที่ได้ทำไปแล้วว่าเป็นอย่างไรบ้าง อาจจะทำง่ายๆ โดยการ ทำเครื่องหมาย ✔❌ หลังรายการ โดย
✔ หมายถึง ทำได้ตามเป้าหมาย
❌ หมายถึง ทำไม่ได้ตามเป้าหมาย
ตัวอย่างการประเมินการใช้จ่าย
นอกจากการบริหารโดยการวางแผนการเงินข้างต้นแล้ว เรายังมีวิธีการสร้างวินัยทางการเงิน มาฝากอีกด้วย ดังวิธีการต่อไปนี้ค่ะ
✔ สะสางหนี้สินระยะสั้น ซึ่งเป็นตัวบั่นทอนความสามารถในการออม
✔ เมื่อมีรายได้เข้ามา ให้กันเงินออมไว้ก่อน ที่เหลือค่อยนำมาใช้จ่าย
✔ ถือเงินสดแค่พอใช้จ่าย และ ใช้บัตรเครดิตเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
✔ ลดการไปห้าง ร้านค้า หรือ ตลาดนัด กำหนดวันช้อปปิ้งของครอบครัว
✔ ลิสรายการซื้อของล่วงหน้า เพื่อประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย
✔ ก่อนซื้อของ ถามตัวเองก่อนว่า จำเป็นหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นถูกแค่ไหนก็ไม่ซื้อ
✔ ในการซื้อของ ใช้เวลาศึกษาข้อมูล และเปรียบเทียบราคาเพื่อให้ได้ของดี มีคุณภาพ ราคาสมเหตุสมผล
✔ ดูแลรักษาของ ไม่ต้องซื้อใหม่ ให้เปลืองเงิน
✔ บันทึกรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ
ปิดท้ายด้วยอัตราส่วนเพื่อความมั่นคงทางการเงินนะคะ มาดูกันว่าอัตราส่วนตัวเลขเท่าไร จึงจะดีและเหมาะสมในการจัดการการเงินของเราค่ะ
👉 พยายามออมเงินให้ได้อย่างน้อย 1 ใน 4 (หรือ 25%) ของรายได้ต่อเดือน
👉 ภาระหนี้ในแต่ละเดือน ไม่ควรเกิน 1 ใน 3 (ประมาณ 30%) ของรายได้ต่อเดือน
👉 ควรทยอยสะสมเงินออมเผื่อยามฉุกเฉินให้ครอบคลุมรายจ่ายประจำอย่างน้อย 6 เดือน
👉 สมการสู่ความมั่นคงทางการเงิน : รายได้ - เงินออม = ค่าใช้จ่าย
ไม่ว่าตอนนี้สภาวะเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างไร ก็ขอให้คุณผู้อ่านโชคดี มีความมั่นคงทางการเงิน และก้าวเข้าสู่อิสรภาพทางการเงินกันทุกคนนะคะ 🙏
Cr. ธนาคารแห่งประเทศไทย
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณสำหรับการติดตามเช่นเคยนะคะ 🙏🙏😘😘

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา