13 ก.ย. 2020 เวลา 06:50
จักรวาลเรื่องเล่าจากชมรมศิลป์ : #3
Untold Story เรื่องจริงที่ไม่ได้เล่า...
หากคุณเชื่อในเรื่องหนึ่ง แล้ววันหนึ่งมีใครมาบอกว่ามันไม่จริง คุณจะคิดว่ามันคือเรื่องจริงที่ไม่เคยเล่า หรือเขากำลังโกหกคุณ....
ณ สถาบันประมูลกลางมหานครใหญ่
"ภาพที่จะประมูลต่อไปนี้ เป็นภาพหมายเลข Lot 7 นะครับ ภาพชื่อ Untitled นี้เป็นผลงานหนึ่งของ Chirstopher Wool ขนาดของภาพสูง 274.3 ซ.ม. กว้าง 182.9 ซ.ม. โดยเป็นภาพที่มาจากคอลเลคชั่นส่วนบุคคลที่นำออกมาประมูล ผู้เชี่ยวชาญของเราได้กำหนดราคาเริ่มต้นประมูลของภาพนี้ไว้ที่ 12 ล้านเหรียญ ขอเริ่มการประมูลเลยครับ" เสียงของผู้ดำเนินการประมูลที่ยืนอยู่ที่โพเดียมบนเวทีประกาศเสียงดังฟังชัด
ภาพหมายเลข Lot 7 ปรากฎขึ้นบนจอทั่วห้องเพื่อให้ผู้สนใจเข้าประมูลเห็นชัดเจน ภาพนี้แตกต่างจากภาพก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง ภาพทั้งหมดมีตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่สีดำเพียง 4 ตัวอยู่บนพื้นทีขาว อักษรแถวบนเป็นคำว่า "FO" และแถวล่างเป็นคำว่า "OL"
"Fool"
คำศัพท์ง่ายๆ ที่มีความหมายว่า คนโง่ โง่ หรือหลอกลวง
"คนที่ประมูลภาพนี้ ถ้าไม่ใช่คนโง่...ก็ต้องเป็นคนที่ฉลาดมากเลยล่ะ " เสียงคนนั่งแถวข้างหน้าของผมหันมาคุยกันแบบขำๆ "ศิลปินคือ Chirstopher Wool ที่มีภาพผลงานคล้ายๆ กับนี้เยอะมาก ภาพของเขาเคยมีคนประมูลไปในราคา 26.9 ล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว ภาพนั้นคล้ายกับภาพนี้ ทั้งภาพมีตัวอักษร 4 ตัวคือ R.I.O.T. เรามาดูกันดีกว่าว่าภาพ Fool จะจบประมูลที่ราคาเท่าไหร่" เสียงอีกคนพูดตอบเพื่อน จากนั้นทั้งคู่ก็หันกลับไปมองภาพบนเวที
ผมหันมองรอบๆ ห้อง มีผู้เข้าร่วมงานเต็มห้อง แต่ที่แปลกตาก็คือด้านข้างเวทีทั้ง 2 ข้างมีระเบียงยาวๆ มีคนจำนวนหนึ่งยืนอยู่หลังระเบียง ดูแต่ละคนกำลังวุ่นกับการคุยโทรศัพท์ หลายคนยกมือเพื่อเคาะประมูลเพิ่มราคา
"คนกลุ่มนั้นเป็นตัวแทนของผู้ประมูลที่เข้ามาทำหน้าที่ประมูลแทนผู้ต้องการซื้อภาพครับ" แดนคงเห็นคิ้วที่ขมวดแทบเป็นปมของผมเลยพูดขึ้นเพื่ออธิบายให้ผมหายสงสัย
Credit : The New York Times
"14.0 ล้านเหรียญ มีใครจะให้ราคาเพิ่มหรือไม่ครับ ถ้าไม่มีผู้ให้ราคาเพิ่ม...ผมจะปิดการประมูลนะครับ" "ปึ้งๆ .." เสียงค้อนในมือผู้ดำเนินการประมูลเคาะปิดประมูลภาพ Lot 7 นี้ "คุณผู้ชายที่ให้ราคา 14.0ล้านเหรียญเป็นผู้ชนะการประมูลครับ ยินดีด้วยครับ" เสียงปรบมือดังทั่วทั้งห้อง จากนั้นการประมูลภาพชิ้นต่อไปก็เริ่มดำเนินการต่อไปตามปกติ
"อย่าว่าผมเบาปัญญานะครับ แต่ผมไม่เข้าใจว่าภาพที่มีอักษรตัวพิมพ์ใหญ่สีดำจำนวน 4 ตัวอักษรบนพื้นขาวแบบนี้ มีราคา 14.0ล้านเหรียญได้ยังไงกัน" ผมหันไปพึมพำกับแดนที่นั่นอยู่ข้างๆ แดนหันมามองผมแบบยิ้มๆ แต่ไม่พูดหรือตอบคำถามอะไร
แดน มีอาชีพเป็น Art Advisor ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเข้าประมูลภาพแทนลูกค้าเช่นเดียวกับกลุ่มคนที่ยืนบนระเบียงยาว จึงมาร่วมการประมูลภาพเป็นประจำ
ส่วนผมมาทำไมหรือครับ... ผมคงไม่มีเงินมาประมูลภาพกับเขาหรอกครับ แต่หลังจากที่เจอกับโรเบอร์โต้ที่ MOMA หลายสัปดาห์ต่อมาโรเบอร์โต้เดินมาถามผมว่าสนใจจะไปดูบรรยากาศการประมูลภาพบ้างหรือเปล่า แดนเพื่อนของเขาได้รับมอบหมายจากลูกค้ารายหนึ่งของบริษัทเราให้เป็นตัวแทนเข้าประมูลภาพแทนลูกค้า โอกาสดีแบบนี้คงไม่มีบ่อยๆ ผมจึงรีบรับปากทันที
หลังภาพ Lot 10 แดนก็ขอตัวเพื่อไปทำหน้าที่ประมูลภาพในลำดับต่อไปตามที่เขารับมอบหมาย ผมจึงกล่าวขอบคุณและอำลาแดนเพื่อกลับบ้าน
กลับจากงานประมูลผมยุ่งกับงานที่ได้รับมอบหมายจนลืมความสงสัยเรื่องราคาภาพไปเสียสนิท จนเวลาผ่านไปหลายเดือน....
เช้าวันศุกร์ เวลา 8.58น ณ ท่าอากาศยานนานาชาติวอชิงตัน ดัลเลส กรุงวอชิงตัน ดีซี
พวกเรา 3 คนรับหน้าที่มาพบลูกค้าวีไอพีคนหนึ่ง เพื่อนำเสนอแผนการด้านภาษีที่มีอลิซเป็นหัวหน้าทีม โรเบอร์โต้และผมร่วมเดินทางมาด้วยเพื่อช่วยสนับสนุนข้อมูลด้านการลงทุน เรานัดพบกับ มิสเตอร์โรเบิร์ต สโตน ในเวลา 10.00น ที่บ้านของมิสเตอร์สโตนในเมืองหนึ่งที่อยู่ห่างจากสนามบินประมาณครึ่งชั่วโมง
"สวัสดีค่ะ คุณสโตน ยินดีที่ได้พบกันอีกครั้งนะคะ" อลิซกล่าวทักทายคุณสโตนพร้อมแนะนำ โรเบอรโต้และผม
"สวัสดีครับทั้งสามคน เรียกผมว่า โรเบิร์ตดีกว่าครับ" "ปีนี้ต้องขอโทษด้วยนะครับที่ผมไม่สามารถเดินทางเข้าไปฟังข้อมูลที่สำนักงานของพวกคุณ และต้องให้ทั้งสามคนเดินทางมานำเสนอผมที่นี่"
หลังการทักทาย โรเบิร์ตให้พวกเรานำเสนอแผนและข้อมูลที่เตรียมมาและตอบข้อซักถามต่างๆ ของโรเบิร์ต "ขอบคุณครับ จากประมาณการรายได้ที่ผมจะมีในปีนี้ หากผมสามารถบริจาคเงินได้ประมาณ 15 ล้านเหรียญ ผมจะลดภาษีได้ประมาณ 4.5 ล้านเหรียญนะครับ" โรเบิร์ตกล่าวด้วยความพอใจ
โรเบิร์ตกำลังยุ่งอยู่กับการจัดทำพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอกชน ที่เขาเพิ่งได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเมื่อไม่นานนัก หลังการนำเสนอแผนภาษีเสร็จเรียบร้อยโรเบิร์ตชวนพวกเราเดินชมพิพิธภัณฑ์ที่ใกล้จะเสร็จเรียบร้อยของเขาด้วยน้ำเสียงภูมิใจ
Credit : Glenstone Museum
โรเบิร์ตซื้อที่ดินผืนใหญ่ที่เดิมเคยเป็นไร่เกษตรกรรมมาก่อน เขาสร้างบ้านพักหลังงามและปรับปรุงบ้านอิฐหลังเดิมที่มีอายุเกือบร้อยปีให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย เมื่อเราเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์ พบว่ามีการจัดวางงานศิลปะแบบโล่งๆ และยังมีพื้นที่ว่างอีกมากทีเดียว
โรเบิร์ตชี้ไปที่ผนังโล่งด้านหนึ่ง "ผมมีภาพที่จะนำมาจัดแสดงบนผนังนี้ 3 ภาพ ตอนนี้เก็บอยู่ใน Free port มาหลายปี ผมซื้อมาในราคา 3 ล้านเหรียญ ผมประเมินราคาตอนนี้ไว้ 10 ล้านเหรียญ แต่คงจะต้องปรับราคาเป็น 15 ล้านตามแผนภาษีที่นำเสนอมา คงต้องนำเข้าไปประมูลในกลางเดือนหน้าให้ทันการนำมาติดตั้งก่อนเปิดพิพิธภัณฑ์ตอนปลายเดือน ทำให้ต้องรบกวนพวกคุณให้รีบมานำเสนอในวันนี้" โรเบิร์ตพูดกับอลิซระหว่างพาเราเดินชมทั่วพิพิธภัณฑ์
ผมเก็บความสงสัยในสิ่งที่โรเบิร์ตพูด จนกระทั่งเราสามคนกลับมาถึงสนามบินเพื่อรอเดินทางกลับนิวยอร์คในช่วงบ่าย
"พีร์รู้หรือเปล่าว่า ลูกค้าของเราส่วนใหญ่วางแผนภาษีเพื่อลดหย่อนภาษีรายได้ที่มีจำนวนมากในแต่ละปี การบริจาคเพื่อสาธารณะประโยชน์สามารถลดหย่อนภาษีได้มาก สมัยก่อนพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ไม่มีงบซื้อของเก่าหรืองานศิลปะราคาแพง การบริจาคสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์กับพิพิธภัณฑ์มาก แล้วยังทำให้มหาเศรษฐีได้ทั้งภาพลักษณ์ที่ดีและยังนำมูลค่าของการบริจาคไปลดภาษีได้ด้วย นายลองศึกษาประวัติของพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ดูสิ" โรเบอร์โต้พูดกับผม
"แต่สมัยนี้พิพิธภัณฑ์ใหญ่จะเลือกชิ้นงานที่รับบริจาคเพราะเริ่มไม่มีสถานที่จัดเก็บ ทำให้มีการตั้งพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กแบบเอกชนขึ้นมาจำนวนมากเพื่อรับบริจาคของเก่าและงานศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ใหญ่ไม่รับ" อลิซพูดเสริมขึ้น
Credit : Brant Foundation
"พอมีพิพิธภัณฑ์แบบนี้ หลายคนพอใจมากที่เขาได้ลดภาษีโดยที่งานศิลปะยังคงอยู่ไม่ไกลจากตัวเขา" โรเบอร์โต้พูดเสริมอลิซว่า "แทนที่จะต้องเสียเงินเช่าพื้นที่ตาม Free port เพื่อเก็บงาน ก็สามารถนำงานศิลปะที่เก็บไว้นาน มาผ่านกระบวนการประมูลให้ได้ราคาที่ต้องการและเป็นหลักฐานสำหรับใช้ลดหย่อนการบริจาค"
"เรื่องแบบนี้ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญในวงการศิลปะมาช่วย แดนที่เคยพาคุณไปชมงานประมูลเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญนะ เขาไม่ได้เล่าอะไรให้คุณฟังหรือครับ" โรเบอร์โต้พูดจบ ผมนึกถึงภาพในวันนั้นทันที
"ช่องทางลดหย่อนภาษีแบบนี้เป็นโอกาสของเศรษฐีเลยนะ" ผมพูดแบบกลาง
"ฉันเข้าใจความหมายของคุณนะ" อลิซยิ้มกว้างแบบสาวอเมริกันแล้วพูดขึ้นว่า "หากมองในแง่ประโยชน์ของสังคม เป็นการสร้างความรักด้านศิลปะให้ประชาชน ที่สำคัญเป็นการส่งเสริมให้อาชีพศิลปินและส่งเสริมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ นะ รัฐไม่มีงบประมาณสนับสนุนเรื่องเหล่านี้มากมาย และคนก็ชอบตั้งคำถามว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ ไม่จำเป็น เอาเงินไปช่วยประชาชนที่เดือดร้อนดีกว่า" ผมพูดขึ้นว่า "เป็นเหมือนกันทุกประเทศเลย" ทำให้ทุกคนหัวเราะขึ้นพร้อมกัน
"เรื่องแบบนี้มีมานานตั้งแต่ยุคโบราณแล้วล่ะ เพียงแต่มีรูปแบบที่เปลี่ยนไปตามจารีตและข้อบังคับในแต่ละยุค" โรเบอร์โต้พูดขึ้นบ้าง "ในยุคเรอแนซ็องส์ สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ศิลปินจะสร้างงานตามการจ้างของผู้ว่าจ้างไม่ได้ผลิตงานเพื่อขายแบบสมัยนี้ คนที่จะจ้างศิลปินได้ก็คือคนรวยหรือขุนนางที่มีเงิน"
"บางทีเงินที่ได้มาก็เป็นแบบเทาๆ คนรวยจะจ้างศิลปินทำงาน หลายครั้งจะมอบให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ด้วย หรือมอบให้ศาสนาจักรที่มีบทบาททางการปกครองในเวลานั้น ทุกวันนี้งานศิลปะเหล่านี้กลายเป็นสมบัติล้ำค่าของอิตาลีอย่างที่เห็น" โรเบอร์โต้พูดต่อ
"สมัยนี้ยุคของโมเดิร์นอาร์ต ที่ศิลปินสร้างผลงานหลากหลายแนวทางตามจินตนาการของตัวเอง ก็แค่เปลี่ยนวิธีการแต่หลักการไม่ต่างกัน ยิ่งมีสถาบันประมูลมาทำหน้าที่คนกลางและไม่ต้องมีการแสดงตัวเจ้าของภาพทุกอย่างก็ง่ายเลย จริงหรือเปล่า" โรเบอร์โต้ทิ้งท้ายให้ผมต้องคิด "แทนที่งานศิลปะดีๆ จะถูกเก็บในบ้านของมหาเศรษฐีหรือเก็บตาม Free port ที่เป็นโกดังลับต่างๆ ก็ทำให้คนมีโอกาสสามารถเห็นงานศิลปะเหล่านี้"
"สำหรับพวกเราทำหน้าที่แค่ให้คำแนะนำข้อมูลการเงินเท่านั้น ลูกค้าจะมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ ดำเนินการให้เขา ซึ่งเราจะไม่เกี่ยวข้องด้วย" อลิซกล่าวเพื่อให้ผมรู้สึกสบายใจ ได้เวลาขึ้นเครื่องพอดี
ุกลับถึงนิวยอร์คเย็นวันนั้น นอกจากความรู้ใหม่ที่ได้ ช่วยให้เข้าใจโลกของศิลปะในมุมคิดของคนรวย ตอนนี้ผมเข้าใจกระจ่างถึงความหมายของตัวอักษรในภาพที่ศิลปินต้องการสื่อแล้ว.... โลกศิลปะนอกจากเป็นโอกาสของผู้มีจินตนาการทางศิลปะแล้วยังเป็นโอกาสของผู้มีจินตนาการทางการเงินจริงๆ
โฆษณา