17 ก.ย. 2020 เวลา 04:45 • ประวัติศาสตร์
“มิลตัน เฮอร์ชีย์ (Milton Hershey)” ผู้สร้างตำนานช็อคโกแลตที่โด่งดังที่สุดในโลก
“เฮอร์ชีย์ (Hershey)” หลายคนน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี
นี่คือช็อกโกแลตแสนอร่อย และเป็นที่นิยมของผู้คนทั่วโลก และเชื่อว่าแทบทุกคนที่อ่านบทความนี้ น่าจะต้องเคยกินมาบ้างแล้ว
ความยิ่งใหญ่ของช็อกโกแลตแบรนด์นี้ เริ่มต้นจากชายที่ชื่อว่า
“มิลตัน เฮอร์ชีย์ (Milton Hershey)”
เขาเกิดในวันที่ 13 กันยายน ค.ศ.1857 (พ.ศ.2400) ที่เมืองฮอกเกอร์สวิลล์ รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา
มิลตันในวัยเด็ก
พ่อแม่ของเขาคือ “เฮนรี่ (Henry Hershey)” และ “แฟนนี (Fanny Hershey)”
เฮนรี่ พ่อของมิลตันนั้นเป็นคนช่างฝัน เขามักจะคิดประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาเสมอ ถึงแม้สิ่งที่เขาคิดนั้นจะทำไม่ได้จริงก็ตาม
ต่อมาในปีค.ศ.1860 (พ.ศ.2403) ฟาร์มของเฮนรี่นั้นเจ๊ง ล้มเหลวไม่เป็นท่า ครอบครัวเฮอร์ชีย์จึงได้ย้ายไปยังเมืองทิทุสวิลล์ ซึ่งเป็นเมืองที่มีการค้นพบน้ำมัน
เฮนรี่ (Henry Hershey)
แฟนนี (Fanny Hershey)
เฮนรี่คิดว่าบางทีตนอาจโชคดี ขุดเจอน้ำมันเหมือนคนอื่นๆ นอกจากนั้น เขายังขายเสบียงอาหารให้แก่คนที่เข้ามาในบริเวณนี้ หวังขุดหาน้ำมันเหมือนกับเขา
หากแต่ทั้งการขุดหาน้ำมันและธุรกิจขายเสบียงของเฮนรี่นั้นล้มเหลว ผ่านไปเพียงแค่ปีครึ่ง ครอบครัวของแฟนนีก็ต้องมาช่วยจ่ายหนี้สิน และย้ายกลับไปยังเมืองเดิม
ครอบครัวเฮอร์ชีย์ได้พยายามทำฟาร์มอีกครั้ง ซึ่งมิลตันเองก็ชอบชีวิตในฟาร์ม เขาชอบการให้อาหารไก่และเก็บผลเบอร์รี และเขาก็ช่วยพ่อแม่ด้วยการขายเบอร์รีให้เพื่อนบ้าน
ด้วยความที่พ่อแม่ไม่มีเงินมากนัก มิลตันจึงระมัดระวังเรื่องการใช้เงิน ในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองในปีค.ศ.1863 (พ.ศ.2406) มิลตันได้นำเหรียญไปใส่กระป๋องและนำไปฝังในสวน แต่ภายหลัง เขาก็หากระป๋องใส่เหรียญไม่เจอ
ภายหลังที่พ่อและแม่ได้ให้กำเนิดลูกอีกคน นั่นคือน้องสาวที่ชื่อ “ซาเรน่า (Sarena)” ครอบครัวเฮอร์ชีย์ก็ได้ย้ายที่อยู่อีกครั้ง
ครอบครัวของแฟนนีได้ช่วยเหลือพวกเขา ด้วยการซื้อฟาร์มที่ชื่อ “ไนน์พอยน์ทส์ (Nine Points)” ให้พวกเขา ทำให้มิลตันต้องย้ายโรงเรียนอีกครั้ง
มิลตันนั้นไม่ใช่เด็กเรียนดีและไม่ได้ชอบการไปโรงเรียนนัก ขณะอายุได้เก้าขวบ เขาก็ย้ายมาหลายโรงเรียนแล้ว
ที่ไนน์พอยน์ทส์ เฮนรี่ได้พยายามทำฟาร์มอีกครั้ง แต่ก็ยังคงล้มเหลว และถึงแม้แฟนนีจะช่วยหารายได้เพิ่มด้วยการขายไข่ และมิลตันก็ช่วยงานเท่าที่ช่วยได้ แต่ชีวิตของครอบครัวเฮอร์ชีย์ก็ยังคงลำบาก
ค.ศ.1867 (พ.ศ.2410) ซาเรน่า น้องสาวของมิลตันได้ล้มป่วยด้วยไข้อีดำอีแดง และเสียชีวิตขณะที่อายุยังไม่ถึงห้าขวบดี
การตายของซาเรน่าเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายสำหรับแฟนนี เธอได้แยกทางกับเฮนรี โดยมิลตันอยู่กับเธอ
ค.ศ.1870 (พ.ศ.2413) มิลตันต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาหางานทำ
งานแรกของมิลตันคืองานในโรงพิมพ์ ซึ่งหลังจากที่มิลตันทำหมวกตกลงไปในเครื่องพิมพ์ ทำให้เครื่องพิมพ์ใช้งานไม่ได้ มิลตันก็ถูกไล่ออกในทันที
แฟนนีได้แนะนำให้มิลตันไปทำงานในร้านไอศครีม มิลตันจึงได้ไปทำงานในร้าน “Royer’s Ice Cream Parlor and Garden” ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแลนแคสเตอร์ เพนซิลเวเนีย
มิลตันสนุกกับงานนี้มากกว่างานที่โรงพิมพ์ อีกอย่าง แลนแคสเตอร์ก็เป็นเมืองใหญ่ ผู้คนมากมาย
มิลตันนั้นถูกแม่ฝึกให้ทำงานหนักมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นในขณะที่ทำงานอยู่ร้านไอศครีม มิลตันจึงทำแทบทุกอย่าง ทั้งทำไอศครีม บรรจุหีบห่อ และขายสินค้าของทางร้าน นั่นคือไอศครีม น้ำผลไม้ ขนมหวาน
แต่ในขณะเดียวกัน มิลตันก็ได้นิสัยชอบทดลองอะไรใหม่ๆ มาจากพ่อ เขาเห็นเจ้าของร้านที่ทำงานผสมสูตรต่างๆ เข้าด้วยกัน กลายเป็นขนมแบบใหม่ ทำให้มิลตันอยากจะทำขนมของตัวเองบ้าง เขาจึงเริ่มทดลอง
ในเวลานั้น ร้าน Royer’s Ice Cream ที่มิลตันทำงาน ตั้งอยู่ในบริเวณที่คึกคักของเมือง มีนักศึกษาจำนวนมากมาซื้อไอศครีมและขนม และในเวลาเที่ยง ก็จะมีคนทำงานแวะมาหาของกิน
ภายหลังจากทำงานที่ร้านนี้เป็นเวลากว่าสี่ปี แฟนนีก็ได้สนับสนุนให้ลูกชายก้าวต่อไปข้างหน้า ไม่จมอยู่กับแค่อาชีพพนักงานร้าน
ค.ศ.1876 (พ.ศ.2419) มิลตันมีอายุเพียง 19 ปี แต่เขาก็ได้เปิดร้านขนมเป็นของตนเองในฟิลาเดลเฟีย
ธุรกิจแรกของมิลตัน
มิลตันยืมเงินจากป้ามาเปิดร้านขนม และร้านของเขาที่ตั้งอยู่บนถนนสปริงการ์เด้นก็ขายดี เป็นร้านฮอตฮิตตั้งแต่เปิดใหม่
มิลตันนั้นรู้ว่าทำยังไงถึงจะดึงดูดลูกค้า เขาต่อท่อจากห้องใต้ดิน ซึ่งเป็นห้องที่เขาใช้ทำขนม ต่อท่อขึ้นมายังชั้นบน ทำให้คนที่เดินผ่านไปมาได้กลิ่นน้ำตาลและขนมที่เขาทำ และทำให้คนจำนวนมากต้องแวะเข้ามาในร้านของเขา
1
ร้านของมิลตันนั้นขายขนมที่เขาทำเอง รวมทั้งผลไม้และไอศครีม
แต่ในเวลานั้นมิลตันยังไม่ได้ขายช็อกโกแลต เนื่องจากในเวลานั้น ช็อกโกแลตจัดว่าเป็นของหรู การทำช็อกโกแลตนั้นมีต้นทุนสูง อีกทั้งช็อกโกแลตยังละลายง่าย จะขายในหน้าร้อนก็ไม่ได้
คนอเมริกันส่วนมากยังไม่เคยชิมช็อกโกแลตด้วยซ้ำ
ช็อกโกแลตในสมัยศตวรรษที่ 19
แต่ถึงแม้ยอดขายจะดีในช่วงแรก มิลตันเองก็ทำขนมได้ยอดเยี่ยม หากแต่เขาก็ไม่ใช่นักธุรกิจที่เก่งกาจ ร้านของเขานั้นทำกำไรไม่ได้เลย
แต่ถึงอย่างนั้น มิลตันก็ทุ่มเทกับร้านมากจนล้มป่วย และต้องพักเป็นเดือน
ค.ศ.1882 (พ.ศ.2425) มิลตันต้องปิดกิจการและเดินทางกลับบ้าน
เมื่อล้มเหลวจากการทำร้าน มิลตันจึงคิดจะลองเชื่อพ่อของตนดูบ้าง
เฮนรี่ได้เขียนจดหมายมาบอกว่าตัวเขากำลังขุดทองอยู่ที่โคโลราโด และมิลตันน่าจะไปช่วยเขา มิลตันจึงลองเดินทางไปหาพ่อ
แต่เมื่อมาถึงโคโลราโด ทองก็ได้ถูกขุดไปหมดแล้ว มิลตันจึงหางานทำ และได้งานในบริษัทขนม
ร้านของบริษัทที่มิลตันทำงานนั้น ขายสิ่งที่เรียกว่า “คาราเมล (Caramel)”
มิลตันนั้นเคยเห็นคาราเมล แต่ไม่ใช่แบบนี้ คาราเมลที่มิลตันได้สัมผัสนี้มีความนุ่ม มีลักษณะเหมือนครีม และไม่เหม็นอับ
คาราเมล (Caramel)
มิลตันได้รู้ว่าคาราเมลของที่นี่จะใช้การผสมในนมสด ซึ่งมิลตันก็จดจำทุกวิธีการทำคาราเมลที่ดี
ค.ศ.1883 (พ.ศ.2426) มิลตันได้เดินทางไปนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา
ในทีแรก มิลตันก็ทำงานเป็นพนักงานในร้านค้าทั่วๆ ไป แต่เขายังไม่ยอมแพ้ต่อการทำธุรกิจ ในเวลาว่าง มิลตันจะออกสำรวจรอบๆ เมือง หาทำเลเปิดร้านของตนเองอีกครั้ง
ที่ๆ เหมาะคือบริเวณที่ไม่มีร้านขนม
นิวยอร์กในยุคค.ศ.1880 (พ.ศ.2423-2432)
มิลตันตัดสินใจเลือกบริเวณซิกท์อเวนิวเป็นที่ตั้งร้านใหม่ โดยในเวลานั้น บริเวณนั้นยังไม่คึกคักมากนัก มีเพียงสวนสาธารณะกับตึกไม่กี่หลัง
ร้านใหม่ของมิลตันขายดีไม่ต่างจากร้านแรก ผู้คนที่ไปโรงละครมักจะแวะซื้อขนมที่ร้านของมิลตัน อีกทั้งมีโรงแรมเปิดใหม่ในบริเวณใกล้เคียง ทำให้มีลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาในร้านของมิลตัน
แต่สุดท้าย มิลตันก็ต้องปิดร้านนี้ในปีค.ศ.1886 (พ.ศ.2429) โดยสาเหตุก็มาจากเฮนรี่ พ่อของมิลตัน
เฮนรี่ได้เดินทางมานิวยอร์กและขอให้มิลตันลองทำลูกอมแก้ไอออกมาขาย แต่ปรากฎว่าเครื่องจักรที่ใช้ผลิตนั้นมีราคาแพงมาก ทำให้มิลตันต้องปิดร้านในที่สุด
มิลตันไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเดินทางกลับบ้านที่เพนซิลเวเนีย แต่เขาก็ยังไม่ยอมแพ้ เขายังมีสูตรการทำคาราเมลรสเลิศ
นอกเหนือจากสูตรการทำคาราเมลแล้ว มิลตันยังได้เรียนรู้ด้วยว่าการขายคาราเมลเป็นจำนวนมากๆ ให้กับร้านอาหารหรือโรงแรมนั้น ทำเงินได้ดีกว่าการขายให้กับลูกค้ารายบุคคล
มิลตันได้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อตั้งโรงงานเล็กๆ ผลิตคาราเมลในแลนแคสเตอร์
แต่ขณะที่เริ่มผลิตและขายคาราเมลนั้นเอง ดูเหมือนโชคเริ่มจะเข้าข้างมิลตัน
ได้มีชายจากอังกฤษคนหนึ่ง เดินทางมาเยี่ยมชมแลนแคสเตอร์ และได้ชิมคาราเมลของมิลตัน และเกิดชอบมาก จึงได้ทำการออเดอร์คาราเมลของมิลตันเป็นจำนวนมาก และให้ส่งไปอังกฤษภายในสามเดือน
ด้วยความที่เป็นออเดอร์ก้อนใหญ่ มิลตันจึงได้รับเงินก้อนโต มากพอที่จะจ่ายเงินที่กู้มาจากธนาคารและซื้อเครื่องจักรเพิ่ม
โรงงานของมิลตันผลิตคาราเมลและส่งสินค้าไปยังอังกฤษ
ในที่สุด มิลตันก็ประสบความสำเร็จ บริษัท “Lancaster Caramel Company” กลายเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง และมิลตันก็ยังคงทดลองการทำคาราเมลไปเรื่อยๆ และคาราเมลของเขาก็มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มิลตันสามารถขายคาราเมลให้แก่ร้านอาหารและร้านค้าทั่วไปได้เป็นจำนวนมาก
นับว่าแลนแคสเตอร์นั้นเหมาะต่อการตั้งโรงงานของมิลตัน
หนึ่งก็คือวัวในฟาร์มที่นั่นสามารถให้น้ำนมได้มากพอต่อการผลิตคาราเมล อีกข้อก็คือแลนแคสเตอร์นั้นอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าที่เพิ่งสร้างใหม่ ทำให้เครื่องจักรในโรงงานของมิลตันมีพลังงานเพียงพอที่จะผลิตคาราเมล
นอกจากนั้น ที่นี่ก็มีรางรถไฟไว้ใช้ขนส่งวัตถุดิบ อีกทั้งผู้คนในแลนแคสเตอร์ก็มาทำงานกับมิลตันเป็นจำนวนมาก
มิลตันนั้นชอบการทำขนม และเขาก็ใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวันเพื่อหาวิธีใหม่ๆ ในการทำคาราเมล โดยเขาได้พยายามที่จะทำให้คาราเมลมีราคาถูกลง คนส่วนใหญ่จะได้ซื้อได้
ภายในต้นยุคค.ศ.1890 (พ.ศ.2433-2442) โรงงานของมิลตันก็ได้ขยายใหญ่ แตกออกเป็นสองโรงงาน และมีคนงานกว่า 1,300 คน
ในเวลานี้ มิลตันได้กลายเป็นหนึ่งในคนที่รวยที่สุดในแลนแคสเตอร์ โดยเขาได้ซื้อบ้านให้ตัวเองหลังหนึ่ง และซื้อให้แม่อีกหลังหนึ่ง
ช่วงเวลานี้ มิลตันยังได้เดินทางไปยุโรป โดยขณะอยู่ที่อังกฤษ มิลตันได้เห็นว่าบริษัทขนมในอังกฤษบางแห่งได้เริ่มขายช็อกโกแลต และแต่ละบริษัทก็กำลังหาวิธีใหม่ๆ ในการผลิตช็อกโกแลต
มิลตันเฝ้ามองอย่างสนใจและครุ่นคิด
ค.ศ.1893 (พ.ศ.2436) มิลตันได้เดินทางไปชมงานนิทรรศการ “World Columbian Exposition” ซึ่งจัดขึ้นที่ชิคาโก้ โดยงานนี้เป็นงานที่จัดเพื่อฉลองครบรอบ 400 ปีที่โคลัมบัสค้นพบโลกใหม่
World Columbian Exposition
งานนี้จัดอย่างอลังการ มีการสร้างตึกจำลองมากมาย มีการจัดแสดงสิ่งต่างๆ จากทั่วโลก มีทะเลสาปเทียมให้คนพายเรือ มีการแนะนำอาหารใหม่ที่ชื่อ “แฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger)” และยังเป็นงานเปิดตัวชิงช้าสวรรค์แห่งแรกของโลก
มิลตันได้หยุดดูงานที่จัดแสดงเกี่ยวกับอาหาร
บริษัทขนมในเยอรมนีแห่งหนึ่งได้สร้างวิหารที่ทำมาจากช็อกโกแลต โดยวิหารนี้มีความสูงราว 10 เมตร สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่มิลตัน
วิหารที่ทำจากช็อกโกแลต
ส่วนในตึกที่จัดแสดงเครื่องจักร มิลตันก็ได้ชมเครื่องผลิตช็อกโกแลต
เครื่องจักรนี้เป็นของบริษัท “J.M. Lehman Company” จากเยอรมนี
มิลตันได้ชมเครื่องจักรนี้เป็นเวลาหลายชั่วโมง และเขาก็สนใจมาก ถามผู้ดูแลเรื่องเครื่องจักรนี้หลายคำถาม
มิลตันได้กลับมาชมงานนี้อีกหลายครั้ง โดยได้พาเพื่อนและพนักงานในบริษัทมาชมด้วย
เครื่องผลิตช็อกโกแลต
มิลตันเริ่มคิดว่าธุรกิจคาราเมลของตนนั้นเป็นธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน ซักพักคนก็จะเริ่มเสื่อมความนิยม แต่ช็อกโกแลตเป็นธุรกิจที่จะขายได้ตลอดไปเรื่อยๆ
มิลตันจัดการซื้ออุปกรณ์ของบริษัท J.M. Lehman ที่มีในชิคาโก้ และสั่งเครื่องจักรมาจากเยอรมนี จากนั้นก็ขนทุกอย่างกลับไปแลนแคสเตอร์และตั้งบริษัทช็อกโกแลต นั่นคือ “Hershey Chocolate Company” ในบริเวณโรงงานคาราเมลของตนนั่นเอง
มิลตันนั้นทดลองชิมช็อกโกแลตที่ผลิตจากเครื่องจักร และพบว่ามันมีรสชาติอร่อย หากแต่ก็ยังคงมีรสขมอยู่นิดๆ
มิลตันต้องจากจะผลิตช็อกโกแลตนมเหมือนของบริษัท “Nestle” ซึ่งช็อกโกแลตนมจะมีความหวานและเก็บได้นานกว่าช็อกโกแลตอื่นๆ ที่มีในสมัยนั้น และยังสามารถปั้นเป็นรูปทรงต่างๆ ได้
แต่ปัญหาสำคัญก็คือ Nestle ไม่ยอมบอกสูตรแน่นอน
โรงงานช็อกโกแลตของมิลตัน
มิลตันได้พยายามทดลองหลายสูตร และหลังจากทดลองอยู่นาน เขาก็พบสูตรการทำช็อกโกแลตนม
เมื่อได้สูตรช็อกโกแลตนมแล้ว มิลตันก็ได้ตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง
มิลตันตัดสินใจขายบริษัทคาราเมลของตนเพื่อทุ่มให้กับการทำช็อกโกแลต ซึ่งนับว่าเสี่ยงมาก
แต่ถึงจะเสี่ยง แต่มิลตันก็มั่นใจว่าช็อกโกแลตคือธุรกิจที่มีอนาคต
ในปีค.ศ.1897 (พ.ศ.2440) มิลตันได้พบกับ “แคทเทอรีน สวีนีย์ (Catherine Sweeney)” หรือ “คิตตี้ (Kitty)” ขณะเดินทางไปขายคาราเมลที่นิวยอร์ก
ทั้งคู่ตกหลุมรัก และได้แต่งงานกันในปีค.ศ.1898 (พ.ศ.2441)
ในเวลานั้น มิลตันมีอายุ 41 ปีแล้ว และเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่คิตตี้มีอายุ 26 ปี และยังสนุกกับการเที่ยวเล่น
แคทเทอรีน สวีนีย์ (Catherine Sweeney)
ค.ศ.1900 (พ.ศ.2443) มิลตันได้ขายธุรกิจคาราเมลไปเป็นเงินหนึ่งล้านดอลลาร์ (ประมาณ 30 ล้านบาท) และตั้งใจจะลุยธุรกิจช็อกโกแลตเต็มที่
ภายหลังจากขายกิจการ มิลตันก็ได้พาคิตตี้ไปยุโรป โดยได้ไปหลายประเทศ ทั้งฝรั่งเศส เยอรมนี และออสเตรีย และยังได้ไปอียิปต์อีกด้วย
ในทริปเหล่านี้ มิลตันไม่ยอมพลาดที่จะชิมขนมของแต่ละแห่งเพื่อหาไอเดียใหม่ๆ
มิลตันและคิตตี้
มิลตันนั้นมีความสุขเวลาอยู่กับคิตตี้ เขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ และผ่อนคลาย
แต่คิตตี้เองนั้นก็สุขภาพไม่แข็งแรงนัก เธอเป็นโรคที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และมิลตันก็ได้พยายามช่วยคิตตี้เต็มที่ โดยพาคิตตี้ไปหาหมอที่ดีที่สุดของแต่ละที่
แต่หมอก็ไม่สามารถรักษาคิตตี้ให้หายดีได้ และคิตตี้ก็ไม่สามารถมีลูก ซึ่งมิลตันก็ผิดหวังและเสียใจมาก หากแต่เขาก็ไม่ปล่อยให้ตัวเองเศร้านาน เขายังคงมุ่งมั่นกับงาน
อันที่จริงแล้ว การขายกิจการคาราเมลของมิลตันก็นับเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงแล้ว หากแต่จริงๆ แล้ว ก่อนที่เขาจะได้สูตรในการทำช็อกโกแลต มิลตันก็ได้ทำสิ่งที่เสี่ยงอีกอย่างหนึ่ง
มิลตันได้ซื้อที่ดินจำนวน 3,000 ไร่ในเพนซิลเวเนีย โดยเขาตั้งใจจะสร้างโรงงานช็อกโกแลตขนาดใหญ่ และสร้างเมืองสำหรับคนงานด้วย
เมืองของมิลตัน
ก่อนที่โรงงานช็อกโกแลตของมิลตันจะทำการผลิตช็อกโกแลต มิลตันก็ได้เริ่มปรับพื้นที่ ทำถนนและสร้างสวนสาธารณะในเมืองของตน
มิลตันจ้างสถาปนิกมาออกแบบตึกและบ้านแต่ละหลัง และยังมีการสร้างธนาคาร สวนสัตว์ และโรงเรียนในเมืองอีกด้วย
จากนั้นมิลตันก็สร้างโรงงานขนาดยักษ์ และได้ทำสิ่งแปลกใหม่
โรงงานของเขาทำช็อกโกแลตบนสายพานการผลิต ทำให้การผลิตทำได้อย่างรวดเร็วและผลิตได้จำนวนมาก
ในไม่ช้า โรงงานของมิลตันก็ได้ส่งกลิ่นหอมของช็อกโกแลตไปทั่วหุบเขาในบริเวณนั้น และคนงานที่ย้ายเข้ามา ต่างก็ชอบกลิ่นช็อกโกแลตที่หอมฟุ้ง
ถึงแม้เมืองนี้จะยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่ผู้คนก็เริ่มจะเรียกเมืองนี้ว่า “สถานที่ๆ หวานที่สุดในโลก”
ในขณะที่โรงงานและเมืองในฝันของมิลตันกำลังขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มิลตันก็คิดค้นสูตรช็อกโกแลตนมที่สามารถขนส่งได้อย่างปลอดภัยสำเร็จในปีค.ศ.1904 (พ.ศ.2447)
ช็อกโกแลตของมิลตันนั้นหวาน และสามารถขึ้นรูปเป็นแท่งได้ และอยู่ได้นานหลายวันโดยไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ในที่เย็นๆ
ช็อกโกแลตแต่ละแท่งจะห่อด้วยกระดาษสีน้ำตาลแดง ปั๊มด้วยอักษรที่เขียนว่า “Hershey” และขายในราคาเพียงห้าเซ็นต์
ช็อกโกแลต Hershey ในยุคแรก
ภายในปีค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) โรงงานของมิลตันก็ผลิตช็อกโกแลตวันละกว่า 45 ตัน
ไม่เพียงแค่ช็อกโกแลตเท่านั้นที่มิลตันทำได้ดี หากแต่เขายังสร้างเมืองได้ดีอีกด้วย
ความคิดเรื่องการสร้างเมืองสำหรับคนงานนั้นไม่ใช่แนวคิดใหม่ เหมืองแร่บางแห่งก็ทำมานานแล้ว แต่เมืองเหล่านั้นก็ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนเมืองของมิลตัน
เมืองของมิลตันที่ตั้งอยู่ในเพนซิลเวเนีย มีทั้งสวนสาธารณะ โรงละคร บ้านแต่ละหลังก็น่าอยู่ มีไฟฟ้าและระบบประปา และมีการเพิ่มสิ่งต่างๆ เข้ามาในเมือง ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด ธนาคาร สวนสัตว์ ร้านค้า
เมือง Hershey
มิลตันนั้นมีฐานะร่ำรวย แต่เขาก็ไม่หวงเงินไว้กับตัว เขาต้องการจะตอบแทนผู้อื่น
คนงานทำช็อกโกแลตให้เขา ทำให้เขาร่ำรวย เขาจึงต้องการให้คนงานประสบความสำเร็จเช่นกัน มีการให้โบนัสเหล่าคนงานแทบจะทุกปี
ในปีค.ศ.1906 (พ.ศ.2449) ในที่สุด เมืองของมิลตันก็ได้มีชื่ออย่างเป็นทางการ
เมืองนี้มีชื่อว่า “Hershey”
สวนสาธารณะในเมือง Hershey
ภายหลังจากเปิดโรงงานได้ไม่กี่ปี โรงงานของมิลตันก็ทำยอดขายได้มากกว่าปีละห้าล้านดอลลาร์ (ประมาณ 123 ล้านดอลลาร์ตามค่าเงินปัจจุบัน หรือราว 3,600 ล้านบาท)
ด้วยความสำเร็จที่มากมาย ทำให้มิลตันไม่ได้คิดที่จะแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ผลิตแต่ช็อกโกแลตแท่งอย่างเดียว
แต่ในปีค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) มิลตันก็ได้ออกผลิตภัณฑ์อีกตัวที่โด่งดังยิ่งกว่าเดิมซะอีก
มิลตันมีเครื่องจักรที่คอยหยอดช็อกโกแลตจำนวนเล็กน้อย เป็นหยดเล็กๆ ลงบนสายพาน
ผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท Hershey ได้เกิดขึ้น นั่นคือ “Hershey’s Kisses”
Hershey’s Kisses
Hershey’s Kisses ได้รับการผลิตจำนวนนับล้านชิ้น คนงานต่างต้องห่อ Hershey’s Kisses ด้วยมือ
มิลตันเน้นความสำคัญเรื่องราคาช็อกโกแลต เขาต้องการให้ทุกคนสามารถซื้อได้โดยไม่เดือดร้อน ช็อกโกแลต Hershey จึงแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านราคาเลยเป็นเวลากว่า 60 ปี
นอกจากนั้น มิลตันยังต้องการให้ช็อกโกแลตหาซื้อได้ง่าย โดยปกติ ช็อกโกแลตจะมีขายเพียงที่ร้านขนม แต่มิลตันบอกให้พนักงานขายของตนไปในทุกๆ ที่ ทั้งร้านขายยา ร้านขายของชำ ร้านกิ๊ฟท์ช็อปก็ไป
มิลตันและคิตตี้ในเวลานั้นร่ำรวยและเป็นที่เคารพของผู้คนในเมือง
ค.ศ.1909 (พ.ศ.2452) มิลตันตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กกำพร้า คอยสอนการงานอาชีพและให้ที่พักแก่เด็กด้อยโอกาส
มิลตันและเด็กๆ
มิลตันและคิตตี้ยังคงชอบการเดินทางท่องเที่ยว โดยในปีค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) มิลตันและคิตตี้ก็เตรียมไปทัวร์ยุโรปอีกครั้ง โดยขากลับนั้น มิลตันได้ซื้อตั๋วเรือสุดหรูเพื่อเดินทางกลับบ้าน
เรือลำนั้นคือ “ไททานิก (Titanic)”
แต่เนื่องจากมิลตันมีประชุมธุรกิจ ทำให้เขาต้องเดินทางกลับก่อนกำหนดโดยเรือลำอื่น ทำให้เขารอดจากการอับปางของไททานิกมาได้อย่างหวุดหวิด
ไททานิก (Titanic)
แต่หลังจากนั้น ค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) คิตตี้ก็ได้เสียชีวิตหลังจากล้มป่วยเป็นเวลาหลายปี
ภายหลังจากการเสียชีวิตของคิตตี้ มิลตันก็ไม่ยอมแต่งงานใหม่
ตลอดชีวิตของเขา เขาเก็บรูปของคิตตี้ไว้ในทุกๆ ห้องในบ้านของเขา
แคทเทอรีน สวีนีย์ (Catherine Sweeney) หรือ “คิตตี้ (Kitty)”
ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) มิลตันได้ยกหุ้นทั้งหมดในบริษัท Hershey ให้แก่โรงเรียนที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง
เรื่องนี้ไม่มีใครในบริษัททราบ กว่าคนอื่นๆ จะรู้ ก็ผ่านไปกว่าห้าปีแล้ว
สาเหตุที่มิลตันยกหุ้นทั้งหมดให้แก่โรงเรียน เนื่องจากเขาอยากให้โรงเรียนยังคงดำเนินต่อไปได้ แม้วันหนึ่งเขาจะไม่อยู่แล้ว
ในทุกวันนี้ โรงเรียนของมิลตันก็ยังคงเป็นเจ้าของหุ้นในบริษัท Hershey โดยหุ้นที่โรงเรียนถือครอง มีมูลค่ากว่า 9,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 270,000 ล้านบาท)
โรงเรียน Milton Hershey School
ตลอดชีวิตของมิลตัน เขาให้ความใส่ใจโรงเรียนที่ตนเป็นผู้ก่อตั้ง เขาเอ็นดูเหล่านักเรียนเหมือนลูก และมักจะไปเยี่ยมนักเรียนอยู่เสมอ
มิลตันนั้นชอบประเทศคิวบา ดังนั้นเมื่อแม่ของเขาเสียชีวิตในปีค.ศ.1920 (พ.ศ.2463) มิลตันจึงเริ่มจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในคิวบา และเริ่มสร้างโรงงานน้ำตาลเพื่อส่งให้บริษัท Hershey
ในยุค 30 (พ.ศ.2473-2482) เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนตกงานและลำบาก แต่บริษัท Hershey ยังคงดำเนินไปได้อย่างดี เนื่องจากช็อกโกแลตของเขามีราคาถูก คนยังสามารถซื้อได้โดยไม่ลำบาก
ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐอเมริกา
ในยุค 30 นี้เอง มิลตันซึ่งมีอายุมากแล้ว เริ่มจะค่อยๆ ลงจากการบริหารบริษัท และเริ่มปล่อยให้ผู้จัดการของตนบริหารบริษัทไปตามแนวทางของตน
ภายในค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) ยอดขายของบริษัท Hershey นั้นสูงถึง 44 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,320 ล้านบาท) และภายในเวลาเพียงสี่ปีหลังจากนั้น ยอดขายก็พุ่งไปกว่า 80 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,400 ล้านบาท)
มิลตันใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสงบ ก่อนที่จะเสียชีวิตในวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) ด้วยอาการปอดบวมขณะมีอายุได้ 88 ปี
งานศพของมิลตัน
มิลตัน เฮอร์ชีย์ เสียชีวิตมานานกว่า 70 ปีแล้ว หากแต่ผลิตภัณฑ์ของบริษัท Hershey ยังคงออกจำหน่าย และบริษัท Hershey ก็ยังคงดำเนินต่อไปจนทุกวันนี้
เชื่อว่าหลายคนที่อ่านบทความนี้จบ คงต้องหาซื้อช็อกโกแลต Hershey มาทาน
แต่ก่อนจะทาน ก็ขอให้ทราบว่าช็อกโกแลตที่อยู่ในมือท่าน เป็นช็อกโกแลตที่ผลิตโดยบริษัทที่ผ่านร้อนผ่านหนาว หยาดเหงื่อ คราบน้ำตามานานกว่า 100 ปี
และทั้งหมดนี้ก็เกิดขึ้นได้โดยชายผู้เดียว
นั่นคือ “มิลตัน เฮอร์ชีย์ (Milton Hershey)”
โฆษณา