9 ก.ย. 2020 เวลา 01:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เกือบครึ่งศตวรรษที่มนุษย์ไม่ได้ไปเหยียบดวงจันทร์
เหตุใดนาซ่าจึงต้องส่งมนุษย์กลับไปอีกครั้ง
ภาพจำลองสถานีอวกาศ Gateway - ที่มา NASA
ในปี 1969 การแข่งขันส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์ระหว่างสองมหาอำนาจในยุคสงครามเย็นจบลงด้วยชัยชนะของอเมริกาเมื่อนีล อาร์มสตรองประทับรอยเท้าแรกของมนุษยชาติลงบนดวงจันทร์ แม้โครงการอะพอลโลจะเผยให้เห็นศักยภาพในเชิงเทคโนโลยีของมนุษย์ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการไปดวงจันทร์ในสมัยนั้นมีการเมืองเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
โครงการอะพอลโลยังดำเนินต่อไปอีกกว่า 3 ปี แต่วิทยาศาสตร์ไม่เคยเป็นเหตุผลหลักในการไปเยือนดวงจันทร์ เห็นได้จากการที่นาซ่าไม่ได้ส่งนักวิทยาศาสตร์ไปดวงจันทร์จนกระทั่งภารกิจอะพอลโล 17 ซึ่งเป็นภารกิจสุดท้ายในโครงการอะพอลโล แฮร์ริสัน ชมิทท์ นักธรณีวิทยาชาวอเมริกันคือนักบินอวกาศคนที่ 12 และคนสุดท้ายที่ได้ไปเหยียบดวงจันทร์ และเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์เพียงคนเดียว
แฮร์ริสัน ชมิทท์ นักวิทยศาสตร์เพียงคนเดียวที่เคยไปเหยียบดวงจันทร์ กำลังเก็บตัวอย่างดินจากดวงจันทร์ในภารกิจอะพอลโล 17 ภารกิจสุดท้ายของมนุษย์บนดวงจันทร์ - ที่มา NASA
แล้วความตื่นเต้นสนใจต่อการสำรวจดวงจันทร์ ก็ค่อยๆ เหือดหายไปกับโครงการอะพอลโล
แต่แล้วในปี 2019 นาซ่าก็เปิดตัวโครงการอาร์เทมิส และประกาศแผนส่งมนุษย์กลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 ซึ่งครั้งนี้จะไม่ใช่แค่การไปเยือนเหมือนครั้งก่อน แต่นาซ่าจะตั้งฐานบนดวงจันทร์ เพื่อใช้เป็นสนามซ้อมและจุดตั้งต้นสำหรับปฏิบัติการที่ยากเย็นยิ่งกว่า นั่นคือการส่งมนุษย์ไปเยือนดาวอังคาร และอวกาศห้วงลึกในระบบสุริยจักรวาล โดยจะส่งผู้หญิงคนแรกไปเยือนดวงจันทร์ในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย
ภาพจำลองภารกิจบนพื้นผิวดวงจันทร์ในโครงการอาร์เทมิส - ที่มา NASA
การไปเยือนดวงจันทร์ในครั้งนี้ จะเป็นการไปตั้งฐานเพื่อการสำรวจเชิงวิทยาศาสตร์และการทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยจะใช้ทั้งหุ่นยนต์และมนุษย์ ทั้งจากพื้นผิวดวงจันทร์และจากสถานีอวกาศ Gateway ซึ่งเป็นสถานีเทียบยานที่นาซ่าวางแผนจะส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ โดยการพัฒนาเทคโนโลยีจะมุ่งเน้นการค้นหาและนำทรัพยากรในอวกาศมาใช้เพื่อเอื้อให้มนุษย์สามารถสำรวจอวกาศได้ไกลกว่าที่เคย จะมีการส่งเครื่องมือแบบใหม่ไปเพื่อช่วยค้นหาน้ำในรูปน้ำแข็งในหลุมอุกกาบาตขนาดยักษ์บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ เพื่อสกัดไฮโดรเจนสำหรับผลิตเชื้อเพลิงจรวดและอ๊อกซิเจนสำหรับมนุษย์ ทั้งหมดนี้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางสู่อวกาศห้วงลึก โดยมีดาวอังคารเป็นหมุดหมายแรก
ภาพจำลองหลุมอุกกาบาตแชคเคิลตัน กว้าง 21 กม. ลึก 4 กม. บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ เป็นหลุมที่อยู่ในเงามืดตลอดเวลาและอาจเป็นแหล่งน้ำแข็งขนาดมหึมาบนดวงจันทร์ - ที่มา NASA
ภาพจำลองหุ่น VIPER กำลังสำรวจใต้พื้นผิวดวงจันทร์เพื่อหาน้ำแข็ง - ที่มา NASA
ภารกิจอาร์เทมิส 1 (2021)
นาซ่าได้ร่วมกับบริษัทโบอิ้งพัฒนาระบบจรวด Space Launch System หรือ SLS ขึ้น ซึ่ง SLS จะเป็นจรวดที่ทรงพลังที่สุดในโลก ด้วยแรงขับเคลื่อน 4 ล้านกิโลกรัม เหนือกว่าจรวดระดับตำนานอย่าง Saturn V ในหลายด้าน ภารกิจแรกของ SLS คือภารกิจอาร์เทมิส 1 จะเป็นการนำส่ง European Service Module หรือ ESM และแคปซูลอวกาศโอไรออนซึ่งยังไม่มีมนุษย์โดยสารไปด้วยในภารกิจนี้ขึ้นสู่วงโคจร ก่อนที่ ESM จะนำโอไรออนไปยังดวงจันทร์โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 สัปดาห์ เพื่อโคจรรอบดวงจันทร์และทดสอบปฏิบัติการและระบบอุปกรณ์ต่างๆ
ภาพจำลอง SLS - ที่มา Nathan Koga / SpaceFlight Insider
ภารกิจอาร์เทมิส 2 (2023)
ภารกิจที่สองของโครงการจะมีนักบินอวกาศโดยสาร 4 คน โดยจะใช้เวลาประมาณ 21 วันด้วยเส้นทางที่แตกต่างจากอาร์เทมิส 1 และจะเป็นเพียงการบินผ่านดวงจันทร์ก่อนจะเดินทางกลับโลก โดยแคปซูลโอไรออนจะลงจอดในมหาสมุทรแปซิฟิก เปรียบได้กับการกิจอะพอลโล 8 ในอดีต ซึ่งเป็นภารกิจบรรทุกนักบินอวกาศภารกิจแรกในโลกที่ไปเยือนดวงจันทร์โดยไม่ได้ลงจอด
ภารกิจอาร์เทมิส 3 (2024)
นี่คือภารกิจในการส่งผู้หญิงคนแรกและผู้ชายคนต่อไปไปเยือนดวงจันทร์ โดยแคปซูลโอไรออนจะทำการเข้าเทียบสถานีอวกาศ Gateway (อยู่ระหว่างการพัฒนา) ซึ่งโคจรรอบดวงจันทร์เพื่อเตรียมปฏิบัติการ จากนั้นนักบินอวกาศ 2 คนจะโดยสารยาน lunar lander ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นบริเวณหลุมอุกกบาตแชคเคลตันบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยจะมีหุ่นยนต์สำรวจและโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกส่งมาล่วงหน้า เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ส่วนหนึ่งของยาน lunar lander จะกลับขึ้นไปยังสถานี Gateway ก่อนที่นักบินอวกาศจะโดยสารแคปซูลโอไรออนเดินทางกลับ
ภาพจำลองส่วนประกอบต่างๆ ของสถานีอวกาศ Gateway ที่จะทำการประกอบขึ้นในอวกาศเช่นเดียวกับ ISS หรือสถานีอวกาศนานาชาติ ทางด้านขวาสุดคือแคปซูลโอไรออนที่กำลังเข้าเทียบ Gateway - ที่มา นาซ่า
ภารกิจอาร์เทมิส 4-8 (2025-2028)
หากทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี โครงการอาร์เทมิสจะส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศ Gateway ทุกปี โดยมีภารกิจที่ใช้หุ่นยนต์นำส่งยาน lunar lander ไปยังสถานี Gateway ล่วงหน้า และเริ่มทำการสร้างโมดูลพักอาศัยและติดตั้งแขนกลให้กับสถานี Gateway รวมถึงลงไปปฏิบัติภารกิจบนพื้นผิวดวงจันทร์อย่างต่อเนื่อง
ภาพจำลองยาน Starship ลงจอดบนดวงจันทร์ SpaceX เป็นหนึ่งในสามบริษัทที่ได้รับเลือกจากนาซ่าให้ทำการพัฒนาระบบลงจอดบนดวงจันทร์ - ที่มา SpaceX
เห็นได้ชัดว่าแผนการในโครงการอาร์เทมิสมีความซับซ้อนและยากลำบากสูง แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่นาซ่าจะทำสำเร็จโดยลำพังภายในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะในยุคที่มีงบประมาณน้อยกว่ามากหากเทียบกับยุคอะพอลโล โชคดีที่อุตสาหกรรมการพัฒนาระบบขนส่งอวกาศกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเที่ยวบินพาณิชย์ที่เอกชนได้กลายเป็นผู้เล่นหลัก โดยมีผู้บุกเบิกรายใหม่อย่าง SpaceX และ Blue Origin ทำการพัฒนาระบบจรวดที่สามารถลงจอดและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับการสำรวจอวกาศในอนาคตได้อย่างมหาศาล ความร่วมมือของนาซ่าและภาคเอกชนจะถูกกล่าวถึงในตอนต่อๆ ไป

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา