12 ก.ย. 2020 เวลา 07:00 • การศึกษา
คําพิพากษาฎีกาที่ 5860/2562 (บทบรรณาธิการเนติ 1/73 เล่ม 5)
ประเด็น : บุคคลที่ศาลพิพากษาว่าไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดิน (เพราะเป็นผู้ครอบครองแทน) ให้ผู้ครอบครองคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่เจ้าของบุคคลดังกล่าวจะแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือทรัพย์สินแทนมาเป็นยึดถือเพื่อตนอันจะเป็นการแย่งการครอบครองได้หรือไม่
บุคคลผู้ยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองและเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป อันมีผลให้บุคคลผู้ยึดถือทรัพย์สินได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ประกอบมาตรา 1367 นั้น จะต้องเป็นการยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองโดยชอบหรือมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน และแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ทรัพย์สินแทนมาเป็นการยึดถือเพื่อตน จึงจะถือว่าเป็นการแย่งการครอบครอง ซึ่งผู้ครอบครองต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง
คดีก่อนโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ฟ้องขอให้จําเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์คืน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จําเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ส. ไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท พิพากษาให้จําเลยคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว จําเลยมีหน้าที่ปฏิบัติตามคําพิพากษาด้วยการคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่โจทก์ แต่จําเลยไม่ปฏิบัติตามคําบังคับ คงครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ตลอดมาอันเป็นการครอบครองโดยไม่ชอบ จําเลยจึงมิใช่บุคคลผู้ยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองตามความหมายของมาตรา 1381 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จําเลยไม่มีสิทธิที่จะแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือทรัพย์สินแทนมาเป็นการยึดถือเพื่อตนอันจะเป็นการแย่งการครอบครองตามบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาชอบที่จะบังคับคดีให้จําเลยปฏิบัติตามคําพิพากษาต่อไป ซึ่งศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแก่จําเลยตามคําขอของโจทก์แล้ว การที่จําเลยยื่นคําร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ภายหลังศาลฎีกามีคําพิพากษาจําเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท ต่อมาจําเลยมีหนังสือบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทแทนมาเป็นการยึดถือเพื่อตน เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อมิให้ตนต้องถูกบังคับคดีตามคําพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนนั่นเอง เมื่อจําเลยและบริวารไม่ออกจากที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมมีอํานาจฟ้องขับไล่จําเลยและบริวารให้ออกจากที่ดินพิพาทโดยไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง
โฆษณา