9 ก.ย. 2020 เวลา 05:30 • ประวัติศาสตร์
ครบ 35 ปี "รัฐประหาร" โค่นป๋า "นัดแล้วไม่มา" สุดท้าย "กบฏ"
- ครบ 35 ปี การพยายามทำ "รัฐประหาร" ต่อรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 9 ก.ย.2528
- 9 ก.ย.2528 จาก "รัฐประหาร" สู่โทษฐาน "กบฏ"
- ย้อนเหตุการณ์ "รัฐประหาร" 9 ก.ย. 2528 วันนี้เมื่อ 35 ปีที่แล้ว
วันนี้เมื่อ 35 ปีที่แล้ว "9 ก.ย.2528" เกิดการทำ "รัฐประหาร" รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จาก "กลุ่มทหารนอกราชการ" ประกอบด้วย พ.อ.มนูญกฤต รูปขจร น.ท.มนัส รูปขจร พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.อ.เสริม ณ นคร พล.อ.ยศ เทพหัสดิน พล.อ.อ.กระแส อินทรรัตน์ พล.ต.ทองเติม พบสุข พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิต พ.อ.สาคร กิจวิริยะ รวมถึงพลเรือนที่เป็นผู้นำแรงงาน เช่น นายสวัสดิ์ ลูกโดด นายประทิน ธำรงจ้อย โดยอาศัยช่วงเวลา พล.อ.เปรม และ "บิ๊กซัน" พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผบ.ทบ.ขณะนั้น ติดภารกิจในต่างประเทศ
ส่วนสาเหตุที่ผู้ก่อการใช้เป็นข้ออ้างในการ "ยึดอำนาจ" ครั้งนั้น คือ "รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาอาชญากรรม รวมทั้งยังล้มเหลวในการรักษาความเป็นเอกภาพและบูรณภาพของประเทศ"
กว่า 15 ชั่วโมง จาก "จุดเริ่มต้น-สู่บทสรุป" วันก่อการ
เวลา 03.00 น. รถถัง 22 คัน จากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน 4 รอ.) พร้อมกำลังทหารกว่า 400 นาย จากกองกำลังทหารอากาศโยธิน เข้าจับกุมตัว พล.อ.อ.เอกประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่บ้านพักเพื่อใช้เป็นตัวประกัน และกำลังทหารอีกส่วนหนึ่งเข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า เพื่อใช้เป็นกองบัญชาการคณะปฏิวัติ พร้อมยึดทำเนียบรัฐบาล ลานพระบรมรูปทรงม้า สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท) อีกทั้งยังตรึงกำลังส่วนหนึ่งไว้บริเวณหน้ารัฐสภา และพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ก่อนอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ ระบุ พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ
1
เวลา 04.00 น. ฝ่ายรัฐบาลได้รับรายงานการก่อการยึดอำนาจ แจ้งให้ พล.อ.เปรม และ พล.อ.อาทิตย์ ทราบก่อนมีคำสั่งให้ พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ รอง ผบ.ทบ. รักษาการตำแหน่ง ผบ.ทบ. พล.ท.ชวลิต ยงใจยุทธ รองเสนาธิการทหารบก พล.ท.พิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ประสานกับฝ่ายรัฐบาล ซึ่ง พล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ตั้งกองอำนวยการฝ่ายต่อต้านขึ้นที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) บางเขน เป็นฐานบัญชาการ และนำกองกำลังจาก พัน.1 ร.2 รอ. เข้าต่อต้าน และออกแถลงการณ์ตอบโต้ในนาม พล.อ.อาทิตย์ ซึ่งกองกำลังหลักของฝ่ายรัฐบาลคุมโดยกลุ่มนายทหาร "จปร.5" ประกอบด้วย พล.ท.สุจินดา คราประยูร พล.ท.อิสระพงศ์ หนุนภักดี และ พล.อ.ท.เกษตร โรจนนิล โดยรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
2
เวลา 07.30 น. พล.อ.เทียนชัย ออกประกาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงในเครือข่ายกองทัพ ให้กำลังทหารที่เคลื่อนย้ายกำลังออกมากลับเข้าที่ตั้ง ในเวลาใกล้เคียงกันฝ่ายผู้ก่อการก็ออกประกาศคณะปฏิวัติ เพื่อชี้แจงเหตุผลการก่อการทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ พร้อมออกคำสั่งคณะปฏิวัติตามมาอีกหลายฉบับ ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยังประกาศย้ำคำสั่งเดิมเป็นระยะๆ
เวลา 10.00 น. รถถังฝ่ายก่อการที่ตั้งอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เริ่มระดมยิงเสาอากาศวิทยุและอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ จนเสียหายใช้การไม่ได้ และยิงปืนกลเข้าไปในบริเวณวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ทำให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 2 คน เสียชีวิต คือ นายนีสเดวิส ชาวออสเตรเลีย และ นายบิล แรตช์ ชาวอเมริกัน
เวลา 11.00 น. พล.อ.เทียนชัย กล่าวทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ย้ำให้ทหารที่เคลื่อนกำลังออกมากลับเข้าที่ตั้ง และได้ประกาศให้ปลัดกระทรวงต่างๆ มารายงานตัวที่กรมทหารราบที่ 11 ปรากฏว่ามีมารายงานตัวทั้งหมด 21 คน ในเวลาไล่เลี่ยกันกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลได้เข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท คืนมาได้ ทำให้คณะปฏิวัติไม่สามารถส่งกระจายเสียงได้อีก
เวลา 12.00 น. กำลังของคณะปฏิวัติเริ่มถอยร่นกลับเข้าไปในสนามเสือป่า
เวลา 12.40 น. ผู้นำแรงงานหลายคนได้ขึ้นปราศรัยโจมตีการบริหารงานของรัฐบาลที่ลานพระบรมรูปทรงม้า
จากเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย เป็นทหาร 2 ราย ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 2 ราย ประชาชน 1 ราย มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 60 คน และมีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหา "กบฏ" จำนวน 39 คน หลบหนี 10 ซึ่งภายหลังได้รับการ "นิรโทษกรรม" เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2531
การกบฏครั้งนี้ยังถือเป็นการใช้ความพยายาม "รัฐประหาร" ที่ไม่ประสบความสำเร็จครั้งสุดท้าย ที่เรียกว่า "กบฏ" นอกจากนี้ยังถือเป็นความพยายามรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.เปรม ครั้งสุดท้าย ภายหลังความล้มเหลวในการก่อการของ "กบฏยังเติร์ก" เมื่อ 4 ปีก่อนหน้านี้ ใน พ.ศ. 2524 อีกด้วย
เรียบเรียงโดย : หงเหมิน
กราฟิก : Supassara Taiyansuwan
แหล่งที่มาข้อมูล : 1.silpa-mag.com 2.วิกิพีเดีย 3.สถาบันพระปกเกล้า
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา