9 ก.ย. 2020 เวลา 06:40 • ประวัติศาสตร์
วันที่ 9 เดือน 9 วันสถาปนาเกาหลีเหนือกับบทบาทของนายพลโซเวียตยุคก่อตั้ง
"อาชี..มึน พินนารา อี คังซัน
อึนกือ..เม ชาวอนโด คาดึกคัน" (아침은 빛나라 이 강산
은금에 자원도 가득한) - "ให้รุ่งอรุณสาดส่องเหนือภูผาและสายนที ในดินแดนที่มีแร่เงินและทองอันอุดม..."
เนื้อร้องท่อนแรกของเพลงชาติเกาหลีเหนือสะท้อนความหวังใหม่หลังได้รับเอกราชจากญี่ปุ่นและก่อตั้งเป็นรัฐเอกราชขึ้นในวันที่ 9 เดือน 9 ปี 1948 วันนี้เมื่อ 72 ปีที่แล้วอันเป็นวันสถาปนารัฐใหม่ในโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่มีชื่อว่า "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี" หรือ "Democratic People's Republic of Korea" หรือ "조선민주주의인민공화국" (โชซอนมินจูจูเอ อินมินกงฮวากุก" อันเป็นประเทศเกาหลีที่ปกครองในระบอบสังคมนิยม
หากพูดถึงเกาหลีเหนือเราคงจะนึกถึงแต่ผู้นำประเทศตระกูลคิมที่ปกครองกันมา 3 รุ่นแล้วตั้งแต่รุ่นปู่คิมอิลซอง รุ่นพ่อคิมจองอิล และรุ่นลูกคิมจองอึน ซึ่งผู้นำทั้งสามรุ่นที่เป็นที่เคารพรักและเทิดทูนอย่างสุดหัวจิตหัวใจของประชาชนชาวเกาหลีเหนือ ซึ่งตะกูลคิมก็ผ่านกระบวนการทำให้เป็น "คนวิเศษ" เป็นกึ่งเทพกึ่งมนุษย์มีความสามารถล้ำเลิศในทุก ๆ ด้านและไม่สามารถแตะต้องได้ ไม่แม้แต่จะเคยเอะใจตั้งคำถามใด ๆ ต่อเหล่าท่านผู้นำสูงสุด กระบวนการนี้มีมาจากรุ่นสู่รุ่นและผูกขาดตระกูลคิมให้มีสิทธิขาดในการปกครองประเทศ
แต่มีใครสงสัยหรือไม่ว่าก่อนที่ต้นตระกูลอย่างคิมอิลซองผู้ปู่จะมายืนในจุดนี้จุดที่เป็นประธานาธิบดีตลอดกาลได้ มีใครเป็น "ป๋าดัน" ให้ปู่คิมอิลซองขึ้นมาเป็นผู้นำคนแรกของเกาหลีเหนือ
ก่อนอื่นต้องท้าวความไปที่ความเป็นมาของการแบ่งเกาหลีออกเป็นสองส่วนหลังสงครามโลกครั้งที่สองก่อน เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงเมื่อญี่ปุ่นลงนามในข้อตกลงยอมจำนนในวันที่ 15 สิงหาคม 1945 มหาอำนาจผู้ชนะสงครามอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้ตกลงแบ่งพื้นที่ในการเข้าปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น โดยเหนือเส้นขนานที่ 38 ขึ้นไปเป็นเขตของโซเวียตที่รุกคืบมาจากแมนจูเรียและใต้เส้นขนานที่ 38 ลงมาเป็นเขตของสหรัฐและได้มีการเจรจาสองฝ่ายเพื่อให้มีการรวมเกาหลีสองส่วนกันอย่างสันติ แต่ปรากฏว่าล้มเหลว
ในที่สุดทางฝ่ายโซเวียตเองจึงได้จัดตั้ง "เขตบริหารรัฐการแผ่นดินโซเวียตแห่งเกาหลี" (Soviet Civil Administration [of Korea]) - SCA ในวันที่ 3 ตุลาคม 1945 ซึ่งถือเป็นรัฐบาลแรกสุดของเกาหลีฝ่ายเหนือโดยนายพลชาวโซเวียตก่อนที่จะมีการถ่ายโอนอำนาจไปสู่รัฐบาลเฉพาะกาลประชาชนเกาหลี (Provisional People's Committee of Korea) - PPCK ซึ่งจะเป็นการปกครองเกาหลี(เหนือ)เองโดยชาวเกาหลีเองในปีรุ่งขึ้นเพื่อเตรียมการรวมชาติกับฝั่งใต้ต่อไป
ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดของ SCA รัฐบาลแรกสุดก็คือพลเอกเตเรนตี้ ชตึโคฟ (Geneal Tarentii Shtykov) นายพลชาวโซเวียตเชื้อสายเบลารุสเป็นเพียง 1 ใน 3 ของนายทหารการเมือง (Political Commissar) ยศพลเอกของสหภาพโซเวียต โดยหลังจากที่ย้ายมาจากเสนาสภาของแนวรบเลนินกราดที่สิ้นสุดลงมาประจำการที่เสนาสภาภูมิภาคตะวันออกไกลที่มีบทบาทในการบุกทลายญี่ปุ่นจากแมนจูเรียจนถึงเกาหลี (เสนาสภามาจากคำว่า Военный Совет [วาเยนนึ่ย ซาเวี้ยต] Military Council อันเป็นปีกการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ที่คุมกองทัพ และบรรดานายทหารคอมมิสซาร์เหล่านี้เองที่มี connection สายตรงกับผู้นำระดับสูงในรัฐบาลโซเวียต] และในที่สุดนายพลชตึโคฟก็ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนโซเวียตในการเจรจากับฝ่ายอเมริกันในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดของ SCA (ซึ่งล้มเหลว)
ปี 1946 เมื่อถึงเวลาถ่ายโอนอำนาจ SCA สู่ รัฐบาลเฉพาะกาลฯ นายพลชตึโคฟผู้นี้ว่ากันว่าเป็นตัวแทนของสตาลินในเกาหลีเลยทีเดียว และเป็นตัวแปรสำคัญในการก้าวขึ้นสู่อำนาจของผู้นำหนุ่มไฟแรงคิมอิลซองในวัย 36 ปี โดยนายพลชตึโคฟเลือกคิมอิลซองเป็นผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาล คิมอิลซองเองเคยเป็นผู้นำกองทัพกองโจรเกาหลีตั้งแต่สมัยวัยรุ่นเข้าสู้กับกองทัพญี่ปุ่นโดยล่าสุดเคยประจำการอยู่ในกองทัพโซเวียตยศร้อยเอกในฐานที่มั่นในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซียแคว้นฆาบารอฟสก์ (Khabarovsky Krai) ในปัจจุบัน
อันที่จริงทางฝ่ายโซเวียตเองก็มี candidate ผู้ที่จะขึ้นเป็นผู้นำเกาหลีเหนืออยู่หลายคน หนึ่งในนั้นคือโชมันชิก (Cho Man Sik) นักชาตินิยมผู้เคลื่อนไหวต่อต้านการปกครองของญี่ปุ่นและค่อนข้างมีชื่อเสียงในหมู่ชาวเกาหลี แต่เมื่อเกิดการประชุมมอสโกในปี 1945 (1945 Moscow Conference) โดยมหาอำนาจผู้ชนะสงครามทั้งสี่ได้ตกลงกันเรื่องความเป็นรัฐเอกราชของเกาหลีอีกครั้งภายใต้ trusteeship โดยทางฝ่ายโซเวียตที่หมายมั่นปั้นมือจะได้โชมันชิกมาเป็นผู้นำเกาหลีฝ่ายโซเวียต แต่ไม่ว่าจะโน้มน้าวอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้โชมันชิกลงนามให้สิทธิ trusteeship แก่โซเวียตได้ ฝ่ายโซเวียตจึงผิดหวังอย่างแรงและเป็นผลให้โชมันชิกหลุดโผจาก candidate ผู้นำเกาหลีเหนือก่อนที่จะถูกกักบริเวณภายในบ้านพักและถูกอุ้มหายไปในกรุงเปียงยางในปี 1946
ในขณะที่คิมอิลซองมีท่าทีที่ให้ความร่วมมือกับโซเวียตมาโดยตลอด ดังนั้นตำแหน่งผู้นำเกาหลีเหนือจะเข้ามาสู่คิมอิลซองในที่สุดโดยนายพลชตึโคฟ ยิ่งไปกว่านั้นนายพลชตึโคฟยังมีความใกล้ชิดกับโยซิฟ สตาลินผู้นำสูงสุดโซเวียตและเป็นคนกลางระหว่างคิมอิลซองและสตาลิน โดยเฉพาะเมื่อคิมอิลซองมีดำริที่จะ "รวมชาติ" โดยการใช้กำลังทหาร นายพลชตึโคฟผู้นี้เองที่พยายามโน้มน้าวสตาลินผู้ที่ยังสองจิตสองใจให้อนุมัติกับปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อเป็นการขยายอำนาจฝ่ายคอมมิวนิสต์โซเวียตโดยเกาหลีเหนือจะกลายเป็นรัฐกันชน (Buffer state) ที่เป็นพันธมิตรโซเวียต
นอกจากนี้ผลงานอันเป็นที่ประจักษ์อีกอย่างคือนโยบาย "การปฏิรูปที่ดิน" เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อเกิดการปฏิวัติสังคมนิยมในที่ใด ๆ ก็ตามก็จะตามมาด้วยการปฏิรูปที่ดินยึดที่ดินจาก landlord มาเป็นของส่วนกลางแล้วรัฐบาลจะเป็นผู้จัดสรรการทำประโยชน์จากที่ดินนั้นให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ที่เกาหลีเหนือก็เช่นกัน นายพลชตึโคฟผลักดันให้มี "ปฏิรูปที่ดิน" ดังกล่าวในเกาหลีเหนือด้วยสร้างคะแนนนิยมในหมู่ชาวนาผู้ยากไร้เป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าคิมอิลซุงจะได้รับการสรรเสริญจากประชาชนต่อนโยบายปฏิรูปที่ดินนี้แต่จริง ๆ แล้วผู้ที่ควรได้รับเครดิตตัวจริงคือนายพลชตึโคฟรวมไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรกของเกาหลีเหนือก็ผ่านการ "ให้คำแนะนำ" จากชตึโคฟและสตาลิน
จนกระทั่งในปี 1948 การเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในการรวมชาติก็ยังตกลงกันไม่ได้และถึงเวลาที่โซเวียตต้องถอนทหารทั้งหมดออกจากเกาหลีแล้ว ทางฝ่ายสหรัฐเองก็ไม่รีรออีกต่อไปปล่อยให้ฝ่ายใต้จัดตั้งรัฐบาลอำนาจเต็มขึ้นมาสำเร็จในเดือนพฤษภาคมในนาม "สาธารณรัฐเกาหลี" อันมีรีซึงมานนักการเมืองฝ่ายขวาจัดรังเกียจคอมมิวนิสต์สุดขั้วเป็นประธานาธิบดีคนแรก ดังนั้นทางฝ่ายโซเวียตเองก็ไม่รอแล้วเช่นกัน ปล่อยให้รัฐบาลเฉพาะกาลฯ แปลงร่างสลายตัวกลายเป็น "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี" ในที่สุดโดยมีคิมอิลซองเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลโซเวียตให้การรับรองรัฐบาลเกาหลีฝ่ายเหนือทันทีและนายพลชตึโคฟก็ได้กลายเป็นเอกอัครรัฐทูตคนแรกของโซเวียตในเกาหลีเหนือ (และเป็นคนกลางระหว่างคิมอิลซองกับสตาลินดังที่กล่าวมา)
แต่ชีวิตคนเรามีขึ้นก็มีลง เมื่อฝ่ายอเมริกันและสหประชาชาติทำการยกพลขึ้นบกที่อินชอนเหนือความคาดหมายของฝ่ายคอมมิวนิสต์ เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่ทำให้ฝ่ายเกาหลีเหนือที่กำลังจะยึดทั้งคาบสมุทรได้แล้วต้องล่าถอยไปตามลำดับจนถึงชายแดนจีนและต้องพึ่งจีนช่วยในที่สุด นับเป็นข้อผิดพลาดต่อชีวิตการทูตของนายพลชตึโคฟยิ่ง นายพลชตึโคฟถูกลดยศและถูกส่งกลับไปโซเวียตไปเป็นผู้บริหารจังหวัดคาลูก้า โนฟโกรัด และแคว้นปรีโมเรีย (Kaluga Oblast', Novgorod Oblast', Promorskiy Krai) ถูกส่งไปเป็นทูตที่ฮังการีและกลับมาเป็นสมาชิกของคณะรัฐบาลของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย - RSFSR รัฐที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพโซเวียตและถึงแก่กรรมในขณะพักร้อนปี 1964 ปิดฉากป๋าดันคิมอิลซอง
Reference:
Terenti Shtykov: the other ruler of nascent N. Korea. https://www.koreatimes.co.kr/www/news/nation/2012/01/363_103451.html
Timothy Dowling (2011). "Terentii Shtykov". History and the Headlines. ABC-CLIO. Retrieved April 26, 2015.
Lankov, Andrei. ""North Korea in 1945-48: The Soviet Occupation and the Birth of the State,"". From Stalin to Kim Il Sung--The Formation of North Korea, 1945-1960.
Administrative Population and Divisions Figures (#26)" (PDF). DPRK: The Land of the Morning Calm. Permanent Committee on Geographical Names for British Official Use. April 2003. Archived from the original (PDF) on 25 September 2006. Retrieved 10 October 2006. http://www.pcgn.org.uk/North Korea- Land of the Morning Calm- 2003.pdf
Великие войны человечества: Корейская Война (1950-1953 годы) http://www.bibliotekar.ru/encW/100/90.htm
นายพลเตเรนตี้ย์ ชตึโคฟ ผู้เป็น "ป๋าดัน" ให้คิมอิลซองขึ้นปกครองเกาหลีเหนือหลังโซเวียตถอนทหารจากเกาหลีเหนือ
โฆษณา