11 ก.ย. 2020 เวลา 00:42 • ข่าว
🔥 เมื่อท้องฟ้ากลายเป็นสีแดงเพลิง เกิดอะไรขึ้นที่แคลิฟอร์เนีย ? 🇺🇸🌉
สะพาน"โกลเด้น เกท" จุดท่องเที่ยวแหล่งสำคัญของซาน ฟรานซิสโก ที่ฉากหลังเต็มไปด้วยไฟป่า (📷 : Noah Berger/AP)
บทความนี้ เราจะพูดถึง สาเหตุที่ทำไมไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียยังคงเพิ่มจำนวนขึ้น, รวมถึงสาเหตุที่ทำให้ท้องฟ้ากลายเป็นสีแดงเพลิง ? และอัพเดทสถานการณ์ไฟป่าในแคลิฟอร์เนียในตอนนี้ครับ
อันที่จริงแล้วสถานการณ์ไฟป่าเป็นปรากฎการณ์ที่พบได้ทุกปีในช่วงฤดูไฟป่า ในสหรัฐอเมริกา รัฐที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นรัฐที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา (West coast) ซึ่งหนีไม่พ้นรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งกินความยาวตลอดชายฝั่งทางตะวันตก โดยช่วงที่ไฟป่าโหมกระหน่ำนั้น จะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงพฤศจิกายน ที่เป็นช่วงฤดูร้อน ประกอบกับสภาพลมอันรุนแรง ทำให้เป็นปัจจัยชั้นดีที่ทำให้เกิดไฟป่า
(📷 : Étienne Laurent/EPA)
ขณะนี้พึ่งผ่านมาได้สองเดือน สถานการณ์เริ่มหนักขึ้นจากพยากรณ์อากาศในทุกๆปีแล้ว ฝนแรกที่จะมาเยือนรัฐแคลิฟอร์เนีย จะเริ่มในช่วงต้นเดือนตุลาคม
ณ วันที่ 10 กันยายน 2020 มีเหตุการณ์ไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีการรายงานแล้วมากถึง 7,606 เคส กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างไปมากกว่า 12,100 ตารางกิโลเมตร ทำให้ในปีนี้ถูกบันทึกว่า เป็นปีที่มีเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ที่สุด ในประวัติศาสตร์ของรัฐแคลิฟอร์เนีย จากข้อมูลของ California Department of Forestry and Fire Protection (CALFIRE) และยังคงแผ่บริเวณกว้างต่อไปอีกเรื่อยๆ
ปริมาณไฟป่าในปี 2020 ที่กินบริเวณกว้าง จนมากที่สุดในประวัติศาสตร์(📷 : Twitter The Weather Channel)
สำหรับสาเหตุที่ไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ยังคงเพิ่มจำนวนมากขึ้น
เพราะการเกิดไฟป่า ทำให้กลุ่มควันที่มีความร้อนและมีความหนาแน่นลอยตัวขึ้นไปในอากาศ ไปผสมกับอากาศเย็นที่ลอยอยู่ ทำให้เกิดกลุ่มเมฆที่ชื่อว่า ไพโรคิวมูโลนิมบัส (Pyrocumulunimbus) ซึ่งเป็นเมฆฝนที่ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง และแน่นอนเมฆฝนชนิดนี้ ทำให้เกิดฟ้าผ่า เมฆที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ปกคลุมไปทั่วทุกบริเวณ ทำให้เกิดฟ้าผ่าไปในบริเวณต่างๆ ร่วมกับปัจจัยในภายในป่าที่มีทั้ง ความแห้งแล้ง ความร้อน และต้นไม้ยืนต้นตายที่เป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ทำให้เกิดไฟป่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นวงจรต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
ภาพอธิบายการเกิดไฟป่าขึ้นใหม่อีกครั้ง (📷 : Bureau of Meteorology)
กลุ่มเมฆไพโรคิวมูโลนิมบัสที่ก่อตัวบริเวณรัฐแคลิฟอร์เนียในครั้งนี้ ซึ่งจับภาพได้เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมามีความสูงถึง 37 กิโลเมตร (📷 : Pierre Markuse)
กลุ่มเมฆไพโรคิวมูโลนิมบัส ครั้งที่ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในรัฐอริโซน่า (📷 : ERIC NEITZEL / WIKIMEDIA COMMONS)
ต่อมาเราจะมาอธิบายถึง สาเหตุที่ทำให้ท้องฟ้ากลายเป็นสีแดงเพลิงกัน
หลายคนอาจจะบอกว่าเป็นสีส้ม สีเหลือง ต่างๆกันไป การที่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ทุกอย่างล้วนมีเหตุของมันครับ
ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่า แสงอาทิตย์นั้นประกอบด้วยแสงสีต่างๆ มากมาย ซึ่งมีขนาดความยาวคลื่นไม่เท่ากัน โดยปกติเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบกับอนุภาคของอากาศ จะเกิดการกระเจิงของแสง ทำให้เรามองเห็นเป็นสีต่างๆ
ภาพอธิบายเกี่ยวกับการเดินทางของแสงสีส้มหรือแดง จนทำให้เราสามารถมองเห็นได้ในท้องฟ้า (📷 : Twitter NWS St. Louis)
การกระเจิงของแสงนั้นมีความแตกต่างกัน ขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่
ขนาดความยาวคลื่น: แสงสีน้ำเงินมีความยาวคลื่นสั้น แสงสีแดงมีความยาวคลื่นมากกว่า แสงคลื่นสั้นเกิดการกระเจิงได้ดีกว่าแสงคลื่นยาว
ขนาดของสิ่งกีดขวาง: อนุภาคของก๊าซในอากาศมีขนาดเล็ก ส่วนอนุภาคของไอน้ำและฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศมีขนาดใหญ่ อนุภาคขนาดใหญ่เหล่านี้จะทำให้แสงความยาวคลื่นสั้นไม่สามารถผ่านมาได้
ปริมาณสารแขวนลอยในอากาศ: กรณีที่มีฝุ่นละอองลอยอยู่ในอากาศมาก จะเป็นตัวกีดขวางทางเดินของแสง
จากปัจจัยข้างต้นจะทำให้ ในสภาวะปกติ เราสามารถเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้า แต่สำหรับเหตุการณ์ไฟป่าที่รัฐแคลิฟอร์เนียนั้น ปัจจัยทั้งหมดล้วนส่งผลซึ่งกันและกันคือ ปริมาณของฝุ่นและหมอกควันจำนวนมากและมีความหนาแน่นสูง ทำให้แสงความยาวคลื่นยาวเดินทางได้ดีกว่า จึงทำให้เราเห็นท้องฟ้ากลายเป็นสีแดงตามข่าวนั่นเอง
ลักษณะของควันและฝุ่นจากไฟป่าที่หนาแน่นจำนวนมาก ที่ลอยตัวขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ (ภาพ d) จนทำให้บดบังแสงความยาวคลื่นสั้น(📷 : Williamson et al., 2016)
เหตุการณ์ท้องฟ้าเปลี่ยนสีที่พบในแถบฝั่งแคลิฟอร์เนียนั้น ครอบคลุมตั้งแต่ เมืองซาน ฟานซิสโก (San francisco) เมืองโอคแลนด์ (Oakland) นอกจากนี้ยังแผ่วงกว้างไปยังบางส่วนของรัฐโอเรกอน (Oregon) และรัฐวอชิงตัน (Washington)
เมืองซาน ฟานซิสโก ที่ถูกปกคลุมไปด้วยกลุ่มควันจำนวนมาก จนท้องฟ้ากลายเป็นสีแดง(📷 : Brittany Hosea-Small/AFP/Getty Images)
ถึงตอนนี้แล้ว ทางสหรัฐยังคงไม่มีมาตรการที่แน่ชัด ในการป้องกันเหตุการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้น เพราะปัจจัยส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากธรรมชาติ ทำให้ยากต่อการควบคุม อย่างไรก็ตาม มีนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญหลายๆท่าน ได้ร่วมกันคิดค้นละพัฒนาโปรแกรม ที่ใช้ในการติดตาม, พยากรณ์การเกิดไฟป่าและทำนายทิศทางการเกิดไฟป่าในจุดต่อๆไป ซึ่งทำให้สามารถวางแผนเพื่อเข้าไปดับไฟก่อนที่จะลุกลามได้ทันท่วงที
📌 รอบโลกใน 3 นาที ขอขอบคุณผู้ติดตามทุกท่านที่ทำให้เพจได้เดินทางผ่านหลัก 500 คนมาแล้ว
📩 ทางเพจเรา ยินดีรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านต่างๆ รวมถึงคำติชม เพื่อนำมาพัฒนางานเขียนต่อไป และตั้งใจจะเขียนผลงาน มาให้ติดตามกันต่อไปเรื่อยๆ ขอขอบคุณอีกครั้งครับ 🙏🏻
สรุปเรื่องราวที่สามารถอ่านให้จบใน 3 นาที /โดย รอบโลกใน 3 นาที
Source: CNN, The Guardian, SF Gate, CALFIRE, LESA(Thailand)
10 กันยายน 2020
โฆษณา