อภิปรายปัญหาใหญ่ที่สุดของรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ คือ ที่มาและการตรวจสอบ องค์กรอิสระ
ผมอยากขอเริ่มจากข้อสรุปที่ว่า ปัญหาการเมืองไทย มาตลอด 20 ปีนี้ สาเหตุสำคัญเลย คือ องค์กรอิสระ ซึ่งแน่นอนครับว่า มันย่อมรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วย
เพราะเมื่อองค์กรอิสระ ขาดความชอบธรรม ประชาชนไม่เชื่อมั่นในองค์กรอิสระ ก็จะเกิดปัญหาวิกฤตการเมืองตามมาทุกครั้ง คือ การชุมนุมประท้วงทางการเมือง และ การรัฐประหาร เหตุผลเพราะว่ามันหมายถึง ไม่มีกลไกอื่นตามรัฐธรรมนูญที่จะเข้ามาช่วยคลี่คลายปัญหาวิกฤตการเมืองได้เลย
ดังนั้นผมคิดว่ามันคงถึงเวลาที่คนไทยทุกคน ทุกฝากฝ่ายการเมือง กลับมานั่งพิจารณาครับว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดและคำถามที่สำคัญที่สุด ของรัฐธรรมนูญ คือ กลไกที่มาและการถอดถอนขององค์กรอิสระ ควรจะเป็นอย่างไร ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้
ในเมื่อองค์กรอิสระ ที่ทุกคนคาดหวังและฝันอยากจะให้เป็นมาตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ 2540 คือ การเป็นองค์กรอิสระที่เป็นกลางทางการเมือง สำหรับ ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาล ไม่ให้ใช้อำนาจรัฐ สร้างความได้เปรียบในทางการเมือง หรือใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบกับประชาชน
แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ก็หนีไม่พ้นปัญหาที่ว่า องค์กรอิสระ ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง จนเกิดการชุมนุมและจบที่รัฐประหาร รัฐธรรมนูญ 2550 ก็หนีไม่พ้นปัญหาเดิมๆ และจบลงด้วยรัฐประหารแบบเดิมๆ
รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายที่สุด ที่ออกแบบมาให้ องค์กรอิสระส่วนใหญ่ ยึดโยงกับ คสช.ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะผ่าน ต่อวาระศาลรัฐธรรมนูญด้วยมาตรา 44 ของ คสช. หรือ การเลือก set zero กกต แต่ไม่ set zero ปปช ของ คสช. และ ศาลรัฐธรรมนูญ ของ คสช. หรือ การแต่งตั้งองค์กรอิสระผ่านสนช.ที่แต่งตั้งโดย คสช หรือ การแต่งตั้งองค์กรอิสระผ่าน สว. ที่แต่งตั้งโดยคสช.
ซึ่งก็คงไม่ต้องแปลกใจเลย สำหรับ ผลงานขององค์กรอิสระชุดปัจจุบัน ทั้ง นาฬิกายืมเพื่อน ยืมทรัพย์คงรูป สูตรบัญชีรายชื่อพิสดาร เงินโต๊ะจีนไม่ได้มาจากต่างชาติ ผลงานขององค์กรอิสระที่ยึดโยงกับ คสช. ล้วนเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งทำให้องค์กรอิสระปัจจุบัน ไม่มีความชอบธรรมหลงเหลือใดๆอยู่เลย และกลายเป็นเรื่องตลกที่จะคาดหวังให้ องค์กรอิสระที่มีความยึดโยง คสช. กับ มาตรวจสอบการใช้อำนาจของ รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากคสช.
ดังนั้นถ้าอยากให้ประเทศไทย หลุดออกจาก วัฎจักรวิกฤตการเมืองแบบเดิมๆ คือต้องออกแบบ กลไกที่มาและการตรวจสอบองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญใหม่ และควรทำตอนนี้ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก่อนที่จะกลายเป็นวิกฤตการเมืองรอบใหม่
ซึ่งผมอยากชวนให้ทุกท่าน เริ่มจากการยอมรับก่อนว่า องค์กรอิสระที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ มันคือ องค์กรการเมืองดีๆ องค์กรนึงครับ เป็นองค์กรที่ถืออำนาจใหญ่ทางการเมืองอำนาจหนึ่ง เพื่อช้อำนาจตรวจสอบรัฐบาล ดังนั้นการจะหา “คนกลาง” ให้เข้ามาทำหน้าที่องค์กรอิสระ จึงเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุด
และ “คนกลาง” ที่ว่านี้ จะหาจากไหน ผมว่าพวกเราคงต้องยอมรับและเชื่อได้แล้วละครับ ว่ากระบวนการสรรหา คนกลางที่ตรงไปตรงมาที่สุด คือ บุคคลที่เห็นพ้องตรงกันของ ฝ่ายการเมือง คู่แข่งขันทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็คือ ฝ่ายรัฐบาล และ ฝ่ายค้าน บุคคลใด ที่ทั้งสองฝ่ายการเมือง เห็นตรงกันว่า เหมาะสมกับตำแหน่งองค์กรอิสระนั้น บุคคลนั้น คือ บุคคลที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่สุดและเป็นคนกลางทางการเมืองที่สุด สำหรับองค์กรอิสระตำแหน่งนั้น
ซึ่งการเห็นพ้องตรงกันจากทั้งสองฝ่ายการเมือง ถ้ายกตัวอย่างให้ไม่ซับซ้อน ก็คือการกำหนด ให้องค์กรอิสระ ต้องได้มติ ⅔ จากสภาผู้แทนราษฎร หรือ 333 ส.ส. ขึ้นไป ซึ่งนั่นย่อมหมายถึง บุคคลนั้นย่อมได้รับการเห็นชอบจากฝากฝ่ายค้านด้วย กระบวนการสรรหาจะต้องมีการดึงฝ่ายการเมืองทุกฝ่าย เพื่อหาข้อสรุปและให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า บุคคลนั้นมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับตำแหน่งนั้น ถึงจะได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งเป็นองค์กรอิสระ
หรือให้กลไกการสรรหาให้ การสรรหาในขั้นแรก เป็นตัวแทนจาก พรรคการเมือง ทั้งฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล และ ฝ่ายพรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวนฝ่ายละเท่ากัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ที่มาและการสรรหาองค์กรอิสระ ได้รับการยอมรับจาก เสียงส่วนใหญ่ ของ หลากหลายพรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งขันกัน และจากทั้งฝากพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล และ ฝากพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ จะเป็นสัดส่วนผสมจากทั้งสองวิธี ก็ยังเป็นไปได้
นี่คือการปลดล็อคปัญหาเรื่อง ที่มาและกระบวนการสรรหา องค์กรอิสระที่เป็นกลางทางการเมือง และไม่ให้ฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายนึง เข้าครอบงำองค์กรอิสระได้ง่าย และยังทำให้องค์กรอิสระมีความยึดโยงกับประชาชนได้ด้วย
และ เฉกเช่น องค์กรการเมือง ที่ถืออำนาจทั่วไป ที่ต้องมีการตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้อำนาจ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบขององค์กรอิสระ และกลไกการตรวจสอบองค์กรอิสระที่ดีที่สุด คือ กระบวนการถอดถอนองค์กรอิสระครับ เพราะการถอดถอน คือ การยุติการใช้อำนาจโดยมิชอบขององค์กรอิสระได้ทันที เพื่อให้มีกระบวนการสรรหาใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาคลี่คลายปัญหาการเมืองได้
แต่กระบวนการถอดถอนที่ตรงไปตรงมาและยึดโยงกับประชาชน ผู้ทรงอำนาจสูงสุด คือการให้เป็นสิทธิกับประชาชนในการเข้าชื่อถอดถอนองค์กรอิสระได้โดยตรง คือเมื่อองค์กรอิสระใช้อำนาจโดยมิชอบและหมดความชอบธรรม ประชาชนยังคงมีกลไกในการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนองค์กรอิสระได้
ผมมั่นใจว่า ถ้าในรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 มีกลไกนี้ ประเทศไทยจะไม่เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้น เพราะประชาชนจะมีกลไกให้เป็นทางออก หันมาพึ่งกลไกเข้าชื่อเพื่อให้มีการถอดถอน เป็นการเรียนรู้วิถีทางประชาธิปไตย โดยไม่ต้องพึ่งกระบวนการนอกรัฐธรรมนูญอีกต่อไป
ผมอยากยกตัวอย่างให้เห็นภาพครับ หลังการเลือกตั้ง 2562 มีประชาชน รณรงค์แคมเปญ ที่ change.org เพื่อถอดถอน กกต และมีการร่วมแคมเปญนี้สูงถึง 850,0000 รายขื่อ นี่คือตัวอย่างผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุดของความไม่เชื่อมั่นในองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งผมก็มั่นใจครับว่า ต่อให้ในรัฐธรรมนูญ กำหนดจำนวนเข้าชื่อถึง 1,000,000 รายชื่อ ก็ย่อมเป็นไปได้ในโลกยุคที่การเข้าชื่อผ่านระบบออนไลน์นั้นทำได้
เพราะถ้าประชาชนมาเข้าชื่อกันเป็นล้านคน องค์กรอิสระ นั้นก็คงหมดความชอบธรรมในการใช้อำนาจนั้นอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้ทั้ง การสรรหา ที่มาและถอดถอน องค์กรอิสระ ล้วนมีการยึดโยงกับประชาชน ในทุกกระบวนการ
ผมอยากขอสรุปอีกครั้งว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็น กระบวนการที่มาและถอดถอน องค์กรอิสระ ให้มีความเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย เป็นหนทางเดียวเลยครับ ที่จะทำให้ประเทศไทยยุติความขัดแย้งรอบ 20 ปีลงได้ ไม่ปล่อยให้ความขัดแย้งของคนรุ่นก่อน กลายเป็นภาระของคนรุ่นถัด มากไปกว่านี้อีกต่อไป ผมว่ามันคงถึงเวลาที่พวกเราทุกคน เรียนรู้จากบทเรียนในอดีต ว่าวิกฤตการเมือง ล้วนเกิดจาก การที่ประชาชน ไม่เชื่อมั่นในความยุติธรรมขององค์กรอิสระ ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการที่มาขององค์กรอิสระ ใช่หรือไม่ และถ้าไม่แก้ไขปัญหานี้ ไม่มีทางที่ประเทศไทยจะก้าวข้ามความขัดแย้งนี้ไปได้เลย
เพราะที่สุดแล้ว สังคมใดที่ไม่มีความยุติธรรม สังคมนั้นย่อมไม่มีความปรองดอง