11 ก.ย. 2020 เวลา 11:53 • ประวัติศาสตร์
ลับแล - แม่ริม
Ep.012 ลับแล - แม่ริม
บทความนี้ สืบเนื่องมาจาก( Ep.001 วัดหนองก๋าย จ.เชียงใหม่)ในตอนที่ข้าพเจ้ากำลังหารายละเอียดเกี่ยวกับพระพุทธรูปที่มีอายุ 1,300 ปี(หลวงพ่อใหญ่ชัยมงคล)อยู่นั้น
มีพระรูปหนึ่งแนะนำให้ข้าพเจ้าไปดูหินเสมาโบราณ อยู่ในพื้นที่ของหมู่บ้านใกล้เคียง ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตรจากวัดหนองก๋าย ระหว่างทางไปวัดพระพุทธบาทสี่รอย
เมื่อเดินทาง ขึ้นไปทางเหนือจากเมืองเชียงใหม่ เข้าสู่ถนนแม่ริม -ฝาง(เส้นทางหลวงที่ 107) ประมาณ 30 กิโลเมตร จากตัวเมืองเชียงใหม่ ก็เข้าสู่เขตพื้นที่อำเภอแม่ริม หลังจากนั้นให้เลี้ยวซ้าย เพื่อมุ่งหน้าไปสู่วัดพระพุทธบาทสี่รอย (โดยใช้ GPS นำทาง)
จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของเรา คือบ้านห้วยส้มสุก ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกัน ก่อนถึงวัดพระพุทธบาทสี่รอย ประมาณ 12 กิโลเมตร
เมื่อเราขับรถตามถนนที่คดเคี้ยวไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเข้าสู่เส้นทาง ที่เป็นพื้นที่ป่าภูเขาในเขตอำเภอแม่ริม ทั้งสองข้างทางจะเป็นทุ่งนาขั้นบันได สลับกับสวนผลไม้หลากหลายชนิด และหมู่บ้านของคนในพื้นที่ ในบางแห่งจะมีรีสอร์ทสวยๆตั้งอยู่บนเนินเขา ทำให้มองเห็นวิวสวยๆของภูเขาได้ชัดเจน
ความเงียบสงบท่ามกลางขุนเขา และอากาศที่บริสุทธิ์ อำเภอแม่ริม จึงมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ อย่างเช่น “ม่อนแจ่ม” ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่ง ที่ผู้คนนิยมไปพักแรม เป็นอันดับต้นๆ ของจังหวัดเชียงใหม่
บ้านห้วยส้มสุก เป็นหมู่บ้านเล็กๆในพื้นที่ภูเขา ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวน ทำไร่ พื้นที่บริเวณแถบนี้ยังเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยป่าดิบชื้น ที่เขียวชะอุ่มชุ่มน้ำตลอดปี มีลำห้วยหลายสายไหลมาบรรจบ อันเป็นต้นสายของแม่น้ำแม่ริม และแม่น้ำสายอื่นๆของภาคเหนือ ทั้งยังมีน้ำตกที่สวยงามอย่าง น้ำตกสายหมอก ที่หลบลี้ ซ่อนตัว อยู่ในซอกเขา ท้าทายให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปสำรวจ
และหมู่บ้านนี้ ยังมีตำนานการเสด็จมาเยือนของพระพุทธเจ้า เหมือนกับตำนานการสร้างพระพุทธบาทสี่รอย อันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านนี้ โดยตำนานได้กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงพื้นที่แห่งนี้ ส้มและผลไม้ในย่ามของพระองค์ได้สุกเหมาะแก่การเสวยพอดี จึงเรียกว่าบริเวณนี้ว่า “ห้วยส้มสุก”
อีกหนึ่งตำนานของวัดป่าห้วยส้มสุก ได้กล่าวไว้ว่า เดิมวัดนี้เป็นวัดร้าง ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์พร้อมสาวกประมาณ 500 กว่ารูป ได้เสด็จมาถึงบริเวณพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งมีคนยาง คนม้ง คนแคระ ได้มาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ ในช่วงเวลานั้นปรากฏว่าส้ม และผลไม้ตามป่าสุกพอดี คนเหล่านี้จึงได้นำมาถวายพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกทั้งหมด
ภายหลังต่อมา หลวงปู่มั่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ตื้อ พระ กัมมัฏฐาน และพระธุดงค์ที่จะขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย มักจะแวะมาปักกลดภาวนาที่นี่เป็นประจำ
เมื่อเราเดินทางมาถึงหมู่บ้าน ข้าพเจ้าได้สอบถามกับชาวบ้าน ถึงที่ตั้งของกองหินโบราณ หรือเสมาหิน ซึ่งชาวบ้านจะเรียกบริเวณนั้นว่า “ต้นไม้ใหญ่” อยู่ห่างจากวัดห้วยส้มสุกประมาณ 300 เมตร
ไม่นานเราก็มาพบกับลานกว้างแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนเนินเขาไม่ไกลจากหมู่บ้าน เป็นสถานที่ ที่ชาวบ้านคอยดูแล รักษาไว้ เพื่อเป็นสถานปฏิบัติธรรม เจริญภาวนาของพระสงฆ์ และยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน
เมื่อเข้าไปภายในก็พบกับ “กลุ่มหินตั้ง” อันเป็นหลักเขตทางพิธีกรรม ของชุมชนโบราณ เสมือนเมืองลับแลที่หลบซ่อนผู้คนอยู่ในป่าใหญ่ ภายใต้หุบเขาอันสลับซับซ้อน ที่โอบล้อมไปด้วยป่า และธารน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขา ซึ่งมีน้ำไหลตลอดทั้งปี อันเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน
“วัฒนธรรมหินตั้ง” (จากบทความที่แล้ว EP011 ) คือคำอธิบายในใจ ของภาพแรกที่ข้าพเจ้าได้เห็น เป็นกลุ่มหินตั้งเหล่านี้ ที่มีลักษณะล้อมกันเป็นวงกลม เพื่อแสดงอาณาเขตสำหรับประกอบพิธีกรรม ของคนในชุมชนโบราณแห่งนี้
1
ก้อนหินเหล่านั้น ตั้งอยู่ล้อมรอบต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ที่ตายยืนต้น แต่ยังมีต้นที่เกิดขึ้นใหม่ โอบอุ้มเอาไว้ ไม่ให้มันล้มครืนลงมา และยังคงยืนต้นอยู่ได้ อย่างน่าอัศจรรย์
บริเวณใกล้ๆกัน ยังมีกองอิฐโบราณที่ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นเศษชิ้นส่วนเดิมของโบสถ์ หรือวิหาร ซึ่งกลุ่มหินตั้งที่เราเห็นนั้น ก็คือหินเสมาในพระพุทธศาสนา
แต่หากมองตามข้อเท็จจริงแล้ว เหล่าบรรดากองอิฐโบราณเหล่านี้ หากนำมารวมกันทั้งหมดนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างเป็นโบสถ์ได้แน่นอน หรือแม้กระทั่งจะสร้างสถูป และข้าพเจ้าก็ยังไม่เห็นร่องรอยของความเป็นพุทธแต่อย่างใด
พบบ่อน้ำโบราณบนเนินเขาแห่งนี้ ห่างจากกลุ่มหินตั้ง 30 เมตร ชาวบ้านเรียกว่า “บ่อน้ำทิพย์” อาจเป็นบ่อน้ำที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม เพราะเนินเขาแห่งนี้ถูกโอบล้อมไปด้วยธารน้ำ อันเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับใช้สอย ดังนั้นบ่อน้ำแห่งนี้ย่อมมีความสำคัญกับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เป็นแน่แท้
“ ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงความเชื่อส่วนบุคคลสักเล็กน้อย เมื่อข้าพเจ้าลองตักน้ำในบ่อนี้ขึ้นมา กลับพบว่าเป็นน้ำที่ใสสะอาด ไม่มีตะกอนใดๆ หลังจากกล่าวคำขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในที่แห่งนั้นแล้ว จึงใช้น้ำจากบ่อชำระล้างหัว และใบหน้า ทันใดก็เกิดปิติขึ้นมาในใจอย่างบอกไม่ถูก ความรู้สึกนั้น ทำให้เชื่อว่าหลังจากนี้ จะได้รับสิ่งดีดีเข้ามาในชีวิต ด้วยน้ำทิพย์นี้ ได้ช่วยชำระล้างใจ"
สิ่งนี้คือซากโบราณที่ชาวบ้านขุดพบในบริเวณนั้น ลักษณะเป็นเหมือนมือของมนุษย์ที่นำมาซ้อนต่อกัน ปัจจุบันอยู่ในครอบครองของผู้เฒ่าท่านหนึ่งในหมู่บ้าน ซึ่งท่านกรุณาให้เราถ่ายภาพ และสอบถามข้อมูลเล็กน้อย
จึงได้ทราบว่าบริเวณแห่งนี้ เคยมีชาวบ้านที่ไปขุดถางพื้นที่เพื่อทำสวน เคยพบโครงกระดูกมนุษย์ และของใช้โบราณ จึงทำให้เราสามารถเชื่อมโยงเกี่ยวกับพิธีกรรมของศาสนาผี ของชาวเผ่าภูเขา อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่มีมาก่อนการรับพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี
ที่ข้าพเจ้าได้เผยแพร่ไว้ในบทความที่แล้ว เรื่อง “วัฒนธรรมหินตั้ง”
“ลับแล-แม่ริม” คือคำที่ข้าพเจ้าใช้เรียกชุมชนโบราณในบทความนี้ มันอาจไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริง เพราะเรื่องราวต่างๆที่เราเคยได้รับรู้เกี่ยวกับหมู่บ้านลับแลนั้น ล้วนอยู่ในป่าลึก อันเป็นหมู่บ้านลี้ลับ หลบลี้ ซ่อนเร้น จากสายตาผู้คนภายนอก และไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใคร มาจากที่ไหน
ด้วยความลึกลับ พิศวงเกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชนโบราณแห่งนี้ กับบรรยากาศอันเงียบสงัดในวันที่ข้าพเจ้าไปสำรวจ ทำได้ให้เกิดความรู้สึก2อย่างที่ขัดแย้งกัน คือความรู้สึกสงบรื่นรมย์ และความรู้สึกหวาดหวั่น จนทำให้นึกถึงคำว่า"ลับแล”ขึ้นมาทันที
จริงๆแล้ว กลุ่มคนหินตั้งเหล่านี้ คือใครกันแน่ ?
ในตำนานท้องถิ่นของหมู่บ้าน ได้กล่าวเอาไว้ถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า และพระสาวก ในสมัยพุทธกาลนั้น ผู้คนบริเวณนี้คือกลุ่มคนยาง คนม้ง หรือคนแคระ ดังที่กล่าวไว้ในข้อความข้างต้น
ในตำนานของล้านนา ก็ได้กล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์เก่าแก่ กลุ่มหนึ่ง อย่างชาวลั๊ว หรือชาวละว้า ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เชื่อกันว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวล้านนา ที่อาศัยกระจัดกระจาย อยู่ในพื้นที่ป่าเขา บริเวณ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตั้งแต่สมัยบรรพกาล
และในตำนานพระนางจามเทวี แห่งอาณาจักรหริภุญชัย ได้กล่าวถึงขุนหลวงวิลังคะ หัวหน้าชนเผ่าลั๊ว ที่เป็นกลุ่มคนท้องถิ่นเดิมในแถบนี้ เมื่อครั้งได้ทำศึกกับทัพของพระนางจามเทวี แล้วพ่ายแพ้ ชาวลั๊วบางกลุ่มที่ยอมจำนน ก็ถูกกลืนเข้าไปเป็นคนของอาณาจักร และบางกลุ่มก็หนีเข้าป่า ภูเขา ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ต่างๆ อย่างเช่น เขตป่าในอำเภอแม่ริม
ปัจจุบันยังคงมีหมู่บ้านชาวลั๊วหลงเหลืออยู่ และยังมีการตั้งศาลของขุนหลวงวิลังคะ ปรากฎให้เห็นอยู่ในพื้นที่ภูเขาหลายแห่งของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งวัฒนธรรมการนับถือผี การบูชาเหล่าบรรพบุรุษที่ล่วงลับ และการบูชายัญนั้น ก็ยังคงปรากฎในพิธีกรรมของชาวลั๊วที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เนื้อความเหล่านี้เป็นเพียง ข้อวิเคราะห์ และข้อคิดเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าเท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแหล่งที่มาของ ชาวลับแล-แม่ริม ว่าเป็นใคร มาจากไหนนั้น คงต้องเป็นปริศนากันต่อไป
ขอเป็นกำลังใจ ให้ก้าวผ่านทุกปัญหา
............ไซตามะ
โฆษณา